เนื้อเรื่องสามก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนื้อเรื่องสามก๊ก เป็นเนื้อเรื่องฉบับย่อของวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. 2544 จำนวน 2 เล่ม

เนื้อเรื่อง[แก้]

ภาพวาดเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย พี่น้องร่วมสาบานในสวนท้อ

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1[แก้]

ภายหลังจากที่พระเจ้าฮั่นโกโจ ได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นจนมีการสืบทอดราชวงศ์มามากกว่าสี่ร้อยปี ในยุคสมัยของพระเจ้าเลนเต้เกิดการขัดแย้งกันเองภายในราชวงศ์ฮั่นจนถึงการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติ พระเจ้าเลนเต้ไม่ทรงตั้งตนในทศพิธราชธรรม ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันที เหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า "ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษาอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ"[1] เกิดกบฏชาวนาหรือกบฏโจรโพกผ้าเหลืองนำโดยเตียวก๊ก หัวหน้ากลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายไปทั่วราชสำนัก แตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าจำนวนมาก

เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สามพี่น้องร่วมคำสาบานในสวนท้อต่างชักชวนเหล่าราษฏรจัดตั้งเป็นกองทัพร่วมกับทหารหลวง ออกต่อสู้และปราบโจรโพกผ้าเหลืองได้สำเร็จ เล่าปี่ได้ความดีความชอบในการปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลืองเป็นแค่เพียงนายอำเภออันห้อกวน กวนอูและเตียวหุยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เป็นแค่เพียงทหารม้าถือเกาฑัณฑ์ระวังภัยแก่เล่าปี่ ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสทั้งสองพระองค์แต่ต่างพระชนนี พระเจ้าหองจูเปียนได้สืบทอดราชสมบัติโดยมีพระนางโฮเฮาผู้เป็นมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจากเหล่าขันทีทั้งสิบ

โฮจิ๋นผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางโฮเฮาจึงวางอุบายให้ตั๋งโต๊ะมาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่ข่าวการกำจัดสิบขันทีเกิดรั่วไหล โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกกำลังเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลังตั๋งโต๊ะยกทัพมาถึงวังหลวงและใช้กลยุทธ์ตีชิงตามไฟฉวยโอกาสในขณะที่เกิดความวุ่นวายยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนาพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นแทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้

ตั๋งโต๊ะถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารผู้ที่ไม่เห็นด้วยกันตนเองจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น โจโฉพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จจนต้องหลบหนีไปจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ มากำจัดตั๋งโต๊ะ แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว อ้องอุ้นจึงวางกลยุทธ์สาวงามยกเตียวเสี้ยนบุตรสาวบุญธรรมให้แก่ตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้นและฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากตั๋งโต๊ะตาย ลิฉุยและกุยกีได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกีและเหล่าทหาร

โจโฉเข้าปราบปรามกบฏและยึดอำนาจในวังหลวงไว้ได้ แต่เกิดความกำเริบเสิบสานทะเยอทะยานถึงกับแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจอีกครั้ง ข่มเหงรังแกเหล่าขุนนางที่สุจริต พระเจ้าเหี้ยนเต้เกิดความคับแค้นใจจึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ลับบนแพรขาวซ่อนไว้ในเสื้อ พระราชทานแก่ตังสินเพื่อให้ช่วยกำจัดโจโฉ โดยมีตังสินเป็นผู้รวบรวมเหล่าขุนนางที่จงรักภักดีคิดกำจัดโจโฉแต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกฆ่าตายหมด ความอสัตย์ของโจโฉแพร่กระจายไปทั่วทำให้บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ พากันแข็งข้อไม่ยอมขึ้นด้วย โจโฉจึงนำกำลังยกทัพไปปราบปรามได้เกือบหมด แต่ไม่สามารถปราบปรามเล่าปี่และซุนกวนได้

เล่าปี่เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่มีความยากจนอนาถา มีคนดีมีฝีมือไว้เป็นทหารหลายคนแต่มีกำลังไพร่พลน้อย ทำให้ต้องคอยหลบหนีศัตรูอยู่เสมอไม่อาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ จนได้พบกับตันฮกซึ่งต่อมากลายเป็นที่ปรึกษากองทัพแก่เล่าปี่ ภายหลังตันฮกถูกเทียหยกและโจโฉวางกลอุบายแย่งชิงตัวไปจากเล่าปี่ ก่อนจากไปตันฮกได้ให้เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยวางแผนกำลังรบ เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งที่กระท่อมหญ้าถึงสามครั้งจึงได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่กองทัพ และสามารถตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองเสฉวนได้ สำหรับซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งโดยการสืบสกุล เป็นเจ้าเมืองที่มีศีลธรรม ปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรมจึงเป็นที่เคารพนับถือและยอมสวามิภักดิ์มากมาย ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2[แก้]

โจโฉตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนทางภาคเหนือ ปกครองแคว้นวุยซึ่งเป็นแคว้นใหญ่สุด มีกำลังทหาร ที่ปรึกษาและกองทัพที่แข็งแกร่ง ซุนกวนตั้งตนเป็นใหญ่ทางดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ปกครองแคว้นง่อเริ่มจากบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีกองกำลังทหารจำนวนมาก และเล่าปี่ปกครองดินแดนทางภาคตะวันตก ปกครองแคว้นจ๊ก ซึ่งต่างคานอำนาจซึ่งกันและกัน เป็นพันธมิตรและศัตรูกันมาตลอด โดยร่วมทำศึกสงครามระหว่างแคว้นหลายต่อหลายครั้งเช่นศึกเซ็กเพ็กซึ่งเป็นการร่วมทำศึกสงครามระหว่างซุนกวนและเล่าปี่ในการต่อต้านโจโฉ , ศึกหับป๋าที่เป็นการทำศึกระหว่างซุนกวนและโจโฉ, ศึกด่านตงก๋วนที่เป็นการทำศึกระหว่างโจโฉและม้าเฉียวเป็นต้น และเมื่อโจโฉตาย โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหวินตี้ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย

เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ปกครองเมืองกังตั๋ง ทำให้ประเทศจีนในขณะนั้นแตกแยกออกเป็นสามอาณาจักรหรือที่เรียกขานกันว่าสามก๊กได้แก่ฝ่ายจ๊กก๊กของเล่าปี่ วุยก๊กของโจผีและง่อก๊กของซุนกวน ภายหลังจากเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งแต่เดิมเป็นของซุนกวน และโลซกรับเป็นนายประกันให้แก่เล่าปี่ขอยืม โดยจะยินยอมคืนเกงจิ๋วให้เมื่อตีได้เสฉวน ซุนกวนพยายามเป็นพันธมิตรต่อกวนอูด้วยการสู่ข่อบุตรสาวของกวนอูเพื่อผูกสัมพันธ์ แต่กวนอูปฏิเสธการสู่ขอของจูกัดกิ๋นซึ่งรับเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอ จนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรต่อโจโฉ และนำกำลังทหารมาโจมตีเกงจิ๋วจนกวนอูพลาดท่าเสียทีลกซุนและลิบองด้วยกลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลจนเสียชีวิต

การเสียชีวิตของกวนอู เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าปี่นำกำลังทหารไปโจมตีง่อก๊กเพื่อล้างแค้น และเป็นเหตุให้เตียวหุยเสียชีวิตในเวลาต่อมา พระเจ้าเล่าปี่ถูกลกซุนเผาค่ายทหารย่อยยับจนแตกพ่ายกลับเสฉวน และสิ้นพระชมน์ในเวลาต่อมา ขงเบ้งเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระเจ้าเล่าปี่ในการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง โดยเปิดศึกกับแคว้นวุยมาโดยตลอด รวมทั้งทำศึกสงครามกับเบ้งเฮ็กผู้ปกครองดินแดนทางใต้ พระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าซุนกวนสวรรคต เชื้อสายราชวงศ์เริ่มอ่อนแอ สุมาเจียวซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊ก สามารถเอาชนะจ๊กก๊กและควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของวุยก๊กมาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้ดั้งเดิม

อ้างอิง[แก้]

  1. บันทึกจดหมายเหตุประเทศจีน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 23

ดูเพิ่ม[แก้]