เนระพูสีไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนระพูสีไทย (Bat flower)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
ไม่ได้จัดลำดับ: Tracheophytes
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Dioscoreales
วงศ์: Dioscoreaceae
สกุล: Tacca
สปีชีส์: Tacca chantrieri
ชื่อทวินาม
Tacca chantrieri
André, 1901
ชื่อพ้อง[1]
  • Clerodendrum esquirolii H.Lév., 1912
  • Schizocapsa breviscapa (Ostenf.) H.Limpr., 1928
  • Schizocapsa itagakii Yamam., 1942
  • Tacca cristata Velen., 1913, nom. illeg.
  • Tacca esquirolii (H.Lév.)
    Rehder
    , 1936
  • Tacca garrettii Craib, 1912
  • Tacca lancifolia var.breviscapa Ostenf., 1904
  • Tacca macrantha H.Limpr., 1902
  • Tacca minor Ridl., 1907
  • Tacca paxiana H.Limpr., 1928
  • Tacca roxburghii H.Limpr., 1928
  • Tacca vespertilio Ridl., 1907
  • Tacca wilsonii H.Limpr., 1935

เนระพูสีไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca chantrieri) เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก มีเหง้าหัว เจริญตามแนวราบใต้พื้นดิน ใบรูปหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเฉียง แผ่นใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ก้านใบสีเขียวคล้ำชูขึ้นสูงเหนือพื้นดินยาวประมาณ 1 – 1.5 ฟุต ก้านดอกชูขึ้นมาสูงจากกลางกอ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุก ดอกออกแน่น ล้อมรอบด้วยใบประดับรูปไข่ 2 ใบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้และตัวเมีย มีสีดำสนิท มีกลีบดอก 2 กลีบ ลักษณะรีรูปทรงกลม รังไข่ใต้วงกลีบดอกด้านในจะเป็นเส้นยาวคล้ายด้ายยื่นห้อยลงมา ดูแล้วคล้ายเส้นด้ายสีดำ หน้าตาดอกเหมือนกับค้างคาวกำลังกระพือปีกในเวลากลางคืน ดอกมีกลิ่นสาบหืน พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม พบการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย และ อินโดเนเซีย[2]

การเพาะปลูก[แก้]

ปลูกในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี หรือดินที่ผสมทรายบ้างเล็กน้อยจะทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี ชอบที่ร่มมีแสงแดดรำไร รดน้ำเช้าและเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือใช้เหง้าปลูก[3]

ประโยชน์[แก้]

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าสารสกัดจากเหง้าของพืชชนิดนี้ สามารถยับยั้งอาการปวดทั้งผ่านกลไกของระบบประสาทรอบนอกและประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลการทดสอบยืนยันว่าสารสกัดมีผลสามารถแก้ปวด, ลดไข้ และต้านการอักเสบ[4] ในท้องถิ่นใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยมีฤทธิ์แก้เบื่อเมา แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะ บำรุงร่างกาย แก้โรคความดันต่ำ บำรุงกำลังทางเพศ บำรุงกำลังสตรีระหว่างตั้งครรภ์และแก้ผดผื่นคัน สารสกัดจากเหง้ายังสามารถใช้สำหรับป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยสามารถยับยั้งการกินของหนอนใยผักได้[5]

ชื่อพื้นเมือง[แก้]

ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ[6][7] ได้แก่

  • ค้างคาวดำ
  • คลุ้มเสีย
  • กลาดีกลามูยี
  • ดีงูหว้า (เหนือ)
  • ดีปลาช่อน (ตราด)
  • นิลพูสี (ตรัง)
  • มังกรดำ (กรุงเทพฯ)
  • ม้าถอนหลัก (ชุมพร)
  • ว่านพังพอน (ยะลา)
  • ว่านหัวลา, ว่านหัวฬา

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tacca chantrieri André". The Plant List. สืบค้นเมื่อ 2012-12-18.
  2. Rafael Govaerts. "World Checklist of Selected Plant Families". The Board of Trustees of the Royal Botanic Gardens, Kew. สืบค้นเมื่อ 2011-02-16.
  3. "ว่านค้างคาวดำ". vichakaset.com. 19 September 2016.
  4. Kittipong Keardrit; Chaiyong Rujjanawate; Duangporn Amornlerdpison (2010). "Analgesic, antipyretic and anti-inflammatory effects of Tacca chantrieri Andre". Journal of Medicinal Plants Research. 4 (19): 1991–1995. ISSN 1996-0875.
  5. มยุรฉัตร เกื้อชู ศิริพรรณ ตันตาคม และธรรมศักดิ์ ทองเกตุ. 2552. ฤทธิ์ควบคุมหนอนใยผัก (Plutella xylostella L.) ของสารสกัดจากเหง้าค้างคาวดำ(Tacca chantrieri Andre) เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 6 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
  6. "เนระพูสีไทย". ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. 11 กันยายน 2554.
  7. "ค้างคาวดำ". ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]