เนตรน้อย ศ.วรสิงห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนตรน้อย ศ.วรสิงห์
ชื่อจริงเนตร ลาดนอก
รุ่นไลท์ฟลายเวท
เกิด22 เมษายน พ.ศ. 2502
จังหวัดนครราชสีมา
เสียชีวิต2 ธันวาคม พ.ศ. 2525 (23 ปี)
จังหวัดสกลนคร
ชกทั้งหมด38
ชนะ29
ชนะน็อก15
แพ้7 ( แพ้น็อก 4 )
เสมอ2
ผู้จัดการธรรมนูญ วรสิงห์
เทรนเนอร์พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร
ออมทรัพย์ แหลมฟ้าผ่า
สุดใจ สัพพะเลข

เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ แชมป์โลกมวยสากลคนที่ 6 ของไทย

เริ่มจากมวยไทย[แก้]

เนตรน้อย มีชื่อจริงว่า เนตร ลาดนอก เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2502 ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่เนตรน้อยยังเด็ก

เนตรน้อยจบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 เนื่องจากครอบครัวยากจนมาก ได้ฝึกมวยไทยครั้งแรกกับ ปราบไพรี เทอดเกียรติพิทักษ์ ซึ่งเป็นเทรนเนอร์ของ เนตร ศักดิ์ณรงค์ นักมวยไทยมีชื่อของยุคนั้น ต่อมาเนตรน้อยได้ย้ายมาอยู่กับ "โกฮง" พงษ์ ถาวรวิวัฒน์บุตร ที่กรุงเทพมหานคร และได้ใช้ชื่อว่า "เนตรน้อย ศักดิ์ณรงค์" เนตรน้อยชกมวยไทยอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ครั้งสุดท้ายแพ้น็อกคู่ต่อสู้อย่างยับเยิน จึงหนีกลับบ้าน

หน้าปกนิตยสารเดอะริง ลงภาพ เนตรน้อย (ซ้าย) ก่อนขึ้นชกกับ สามารถ พยัคฆ์อรุณ (ขวา) เมื่อปี พ.ศ. 2525

ชกมวยสากล[แก้]

หลายเดือนต่อมา มีผู้ชักชวนให้กลับมาชกมวยใหม่ โดยย้ายไปอยู่กับค่าย "ศ.วรสิงห์" ของ ธรรมนูญ วรสิงห์ และชกใหม่ในแบบมวยสากล ซึ่งการชกในแบบมวยสากลนี้ เนตรน้อยทำได้ดี มีหมัดที่หนักที่โดยเฉพาะหมัดซ้าย ในปี พ.ศ. 2518 เนตรน้อยชกชนะรวดทั้ง 7 ครั้ง มีแพ้อยู่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น "เศียรสมิง" คอลัมนิสต์มวยชื่อดังในสมัยนั้น จึงแนะนำให้เนตรน้อยเปลี่ยนเทรนเนอร์ใหม่เป็น ออมทรัพย์ แหลมฟ้าผ่า

เนตรน้อยกลับมาชนะติดกัน 2 ครั้ง และได้โอกาสชิงแชมป์รุ่นจูเนียร์ฟลายเวทของเวทีมวยราชดำเนิน แต่ปรากฏว่าแพ้น็อกเพียงแค่ยก 2 เท่านั้น ทางฝ่ายผู้จัดการ ธรรมนูญ วรสิงห์ จึงได้เปลี่ยนเทรนเนอร์เป็น สุดใจ สัพพะเลข โดยไปฝึกซ้อมอยู่ที่ใต้ถุนยิมเนเซี่ยม 1 สนามกีฬาแห่งชาติ เนตรน้อยจึงมีฝีมือดีขึ้นเรื่อย ๆ การชกก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ จนกระทั่งได้มีโอกาสชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) กับ ชาง อิล ชุง นักมวยชาวเกาหลีใต้ ถึงถิ่นของแชมป์เอง เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ ชกได้ดี แต่เมื่อครบ 12 ยก กรรมการตัดสินให้เสมอกันอย่างค้านสายตา

ได้ชิงแชมป์โลก[แก้]

เมื่อกลับมา เนตรน้อยได้ครองแชมป์ของเวทีราชดำเนินโดยชนะคู่ปรับเก่า และได้แชมป์รุ่นเดียวกันของสนามมวยเวทีลุมพินีด้วย ต่อมาชนะน็อกยก 9 มนต์สยาม ฮ.มหาชัย นักมวยที่มีคิวชิงแชมป์โลก เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ จึงได้มีชื่อติดอันดับโลกเป็นครั้งแรก จากนั้นในปี พ.ศ. 2520 เนตรน้อยได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกครั้งแรกที่กรุงคารากัส ประเทศเวเนซุเอล่า กับ หลุยส์ เอสตาบ้า เจ้าของตำแหน่ง

หลุยส์ เอสตาบ้า ป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ถึง 10 ครั้งแล้ว มีประสบการณ์ รูปร่าง ช่วงชกได้เปรียบเนตรน้อยมากมาย แต่เมื่อได้ชกเข้าจริงแล้ว เนตรน้อยกลับทำได้ดี เกือบจะได้นับเอสตาบ้าหลายครั้ง แต่เมื่อครบ 15 ยกแล้ว กรรมการรวมคะแนนให้เอสตาบ้าชนะไปอย่างค้านสายตาอย่างที่สุด เมื่อกลับมาเนตรน้อยชกอุ่นเครื่องอีกหลายครั้ง จนโอกาสของเนตรน้อยมีอีกในครั้งที่ 2 เมื่อแชมป์เปลี่ยนเป็น เฟร็ดดี้ คัสติญโญ่ และเดินทางมาป้องกันตำแหน่งแชมป์ครั้งแรกกับเนตรน้อย ที่เวทีมวยชั่วคราว สนามกีฬากองทัพบก เมื่อปี พ.ศ. 2521 เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ จึงประสบความสำเร็จได้เป็นแชมป์โลก ด้วยการชนะคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์กับคัสติญโญ่ไป

แชมป์โลกคนที่ 6[แก้]

แต่เมื่อเนตรน้อยได้เป็นแชมป์โลกแล้ว ปรากฏความยุ่งยากเกิดขึ้นเมื่อผู้สนับสนุนรายหนึ่ง มีสัญญาว่าถ้าเนตรน้อยป้องกันแชมป์ชนะไปเรื่อย ๆ เงินรางวัลที่ได้ต้องแบ่งให้ 15 เปอร์เซนต์ทุกครั้ง สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อเนตรน้อยเสียแชมป์โลกแล้ว เนตรน้อยได้ป้องกันตำแหน่งไว้ได้เดียวครั้งเดียว และเสียแชมป์ให้แก่ ซัง จุน คิม นักมวยชาวเกาหลีใต้ไปอย่างง่ายดาย แค่ยกที่ 3 ที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ และไม่มีโอกาสจะได้แก้มืออีกเนื่องจากในสัญญาการชกไม่ได้ระบุเอาไว้ เนตรน้อยต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ด้วยกัน จึงจะได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนครราชสีมา กับ ฮิราริโอ ซาปาต้า แชมป์โลกชาวปานามา ผลการชกปรากฏว่าเนตรน้อยเสียเปรียบรูปร่างซาปาต้าเป็นอย่างมาก จึงเป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกที่ 10 เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ไม่สำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 เนตรน้อย ศ.วรสิงห์เป็นฝ่ายชนะน็อก มันส์ ส.จิตรพัฒนา นักมวยสร้างที่หวังว่าจะเป็นแชมป์โลกรายใหม่เพียงแค่ยกที่ 5

นอกจากนี้แล้วเนตรน้อยยังเป็นนักมวยที่มีรูปร่างเล็ก มีส่วนสูงเพียง 149.8 เซนติเมตรเท่านั้น อีกทั้งเมื่อได้เป็นแชมป์โลกยังได้สร้างสถิติเป็นนักมวยที่ครองแชมป์โลกด้วยอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น คือ 19 ปี 14 วัน

ร่วงโรย[แก้]

เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ เป็นนักมวยที่มีปัญาหาเรื่องสัญญาค่าตัวเสมอ ๆ และผู้จัดการ ธรรมนูญ วรสิงห์ ก็ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์อะไรของนักมวยได้ การชกมวยครั้งสุดท้ายของเนตรน้อย คือ ในปี พ.ศ. 2525 กับสามารถ พยัคฆ์อรุณ ที่หันมาชกมวยสากลเป็นครั้งแรก เนตรน้อยในวันชกครั้งนั้น ปล่อยร่างกายให้อ้วนท้วน พุงหลาม แต่ก็ยังชกได้ดี แต่เมื่อรวมคะแนนกันแล้ว ปรากฏว่าสามารถเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนไป ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของแฟนมวยที่ไม่พอใจคำตัดสิน

หลังจากนั้นอีก 4 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน เนตรน้อยเสียชีวิตจากการขับมอเตอร์ไซด์ชนเสาไฟฟ้าที่อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านของตัวเอง ด้วยอายุเพียง 23 ปี 7 เดือนเท่านั้นเอง โดยที่ทรัพย์สินเงินทองไม่มีเหลืออะไรเลย

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • "เสือเตี้ย" เนตรน้อย ศ.วรสิงห์. 22 แชมป์โลกชาวไทย, นิตยสารคนเด็ด ฉบับพิเศษ (กรุงเทพ, 2538, สำนักพิมพ์ดวงตา)
  • สถิติการชก

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]