เทอด เทศประทีป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รองศาสตราจารย์ เทอด เทศประทีป (18 มกราคม พ.ศ. 2486 – 21 เมษายน พ.ศ. 2563) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[1] และอดีตคณบดีคนแรกของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นพี่ชายของพลเอก พงษ์เทพ เทศประทีป อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ประวัติ[แก้]

เทอด เทศประทีป เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2486 ที่บ้านหอรัตนชัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของพุฒิและทวี เทศประทีป สำเร็จการศึกษาสัตวแพทย์ศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2510 ต่อมาปี พ.ศ. 2513 สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จาก the Royal Veterinary College, Stockholm, Sweden (P.G.Dilploma in Veterinary Pathology) และในปี พ.ศ. 2516 สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต ทางด้านพยาธิวิทยาการสัตวแพทย์ (Veterinary Pathology) College of Veterinary Medicine, Hannover, Germany และในปี พ.ศ. 2559 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำงาน[แก้]

เทอด เทศประทีป เริ่มรับราชการครั้งแรก สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2510 และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ใน พ.ศ. 2518 และเป็นรองศาสตราจารย์ ใน พ.ศ. 2528

ในด้านการบริหารสถาบันอุดมศึกษา เขาเคยเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2536 และเป็นคณบดีคนแรก ใน พ.ศ. 2537 ถึงปี พ.ศ. 2544 ต่อมาจึงโอนย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี จนกระทั่งใน พ.ศ. 2552 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2563 เป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พ.ศ. 2511 ในขณะที่เป็นอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ชนาญวัตร เทวกุล นายแพทย์ อุทัย รัตนิน และ น.สพ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ ในการดูแลรักษาโรคตาอักเสบของพระเศวตสุรคชาธาร ซึ่งเป็นช้างทรงคู่พระบารมีฯ เป็นระยะเวลารวม 40 วัน ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2525 – 2527 ได้ถวายงานในการชันสูตรซากช้างในพระบรมมหาราชวังที่ป่วยตายจากหลายสาเหตุอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 5

ในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายสัตวแพทย์เพื่อดำเนินการผ่าตัดรักษาเท้าของช้างโม่ตาลาซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเหยียบกับระเบิดในเขตชายแดนประเทศพม่าและได้รับการรักษาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างด้าน animal welfare ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้ช้างโม่ตาลาได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยและได้รับการใส่ขาเทียมโดยมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ เทอดชัย ชีวเกตุ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาการบริการสาธารณะ พ.ศ. 2551 เป็นผู้ประดิษฐ์ขาเทียม)

พ.ศ. 2537 – 2544 เป็นผู้นำในการดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

เทอด เทศประทีป ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากหัวใจวายเฉียบพลันจากโรคความดันโลหิตสูง ณ บ้านเลขที่ 28/4 หมู่ 11 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563 เวลา 09.00 น. สิริอายุ 77 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ วัดเม็งรายมหาราช อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

รางวัลและเกียรติยศ[แก้]

  • พ.ศ. 2544 – ได้รับการคัดเลือกโดย สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น “สัตวแพทย์ตัวอย่างของประเทศประจำปี 2544 สายงานเผยแพร่วิชาชีพและบริการสังคม”
  • พ.ศ. 2556 – ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2556 จากสมาคมนิสิตเก่าคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สาขาสัตวแพทย์อาวุโสดีเด่น”
  • พ.ศ. 2559 – ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๒๒ ข หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗๓, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๒, ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๙