เทรซี แม็คเกรดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทรซี แม็คเกรดี
แม็คเกรดีขณะเล่นให้ฮิวสตัน รอกเก็ตส์ปี 2006
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1979-05-24) พฤษภาคม 24, 1979 (44 ปี)
บาร์โลว์ รัฐฟลอริดา U.S.
ส่วนสูงที่ระบุ6 ft 8 in (2.03 m)
น้ำหนักที่ระบุ225 lb (102 kg)[1]
ข้อมูลอาชีพ
ไฮสกูล
การดราฟต์เอ็นบีเอ1997 / รอบ: 1 / เลือก: 9 โอเวอร์ออล
เลือกโดยโทรอนโต แรปเตอรส์
การเล่นอาชีพ1997–2013
ตำแหน่งชู้ตติ้งการ์ด/สมอลฟอร์เวิร์ด
หมายเลข1, 3
ประวัติอาชีพ
19972000โทรอนโต แรปเตอรส์
20002004ออร์แลนโด แมจิก
20042010ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์
2010นิว ยอร์ก นิก
2010–2011Detroit Pistons
2011–2012Atlanta Hawks
2012–2013Qingdao Eagles
2013San Antonio Spurs
สถิติอาชีพ
แต้ม18,381 (19.6 แต้มต่อเกม)
รีบาวด์5,276 (5.6 รีบาวด์ต่อเกม)
แอสซิสต์4,161 (4.4 แอสซิสต์ต่อเกม)
สถิติที่ Basketball-Reference.com
หอเกียรติยศบาสเกตบอลในฐานะผู้เล่น

เทรซี ลามาร์ แม็คเกรดี จูเนียร์ (อังกฤษ: Tracy Lamar McGrady, Jr.) เกิด 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ในเมืองบาร์โลว์ รัฐฟลอริดา ชื่อเล่น ที-แมค (T-Mac) เป็นนักบาสเกตบอลตัวจริง เล่นตำแหน่งชู้ตติ้งการ์ดให้ทีมฮิวส์ตัน รอกเก็ตส์ในลีกเอ็นบีเอ แต่เขายังสามารถเล่นตำแหน่งสมอลฟอร์เวิร์ดได้ด้วย

อาชีพการเล่นช่วงแรก[แก้]

แม็คเกรดี (6 ฟุต 8 นิ้ว 223 ปอนด์) เล่นตำแหน่งชู้ตติ้งการ์ดหรือสมอลฟอร์เวิร์ด เป็นหนึ่งในผู้เล่นคนแรก ๆ ที่เข้าสู่เอ็นบีเอจากไฮสกูลโดยตรงโดยไม่เข้าระดับมหาวิทยาลัย เขาจบจากไฮสกูลที่ชื่อ Mt. Zion Christian Academy โดยเล่นได้ผลงานดีใน ABCD Camp ของอะดีดาส ซึ่งเป็นค่ายกีฬาสำหรับนักกีฬาไฮสกูลที่เก่งที่สุดของประเทศ เขาได้รับการคัดเลือกตัวเป็นอันดับที่ 9 ในการดราฟรอบแรกของปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) โดยทีมโทรอนโต แรปเตอรส์ เจอร์รี ครอส (Jerry Krause) ผู้จัดการทีมชิคาโก บุลส์พยายามเทรดสกอตตี พิพเพน (Scottie Pippen) ไปยังแวนคูเวอร์ กริซลีส์ แลกกับอันดับการดราฟที่ 4 เพื่อจะเลือกแม็คเกรดี แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากไมเคิล จอร์แดนขู่ว่าจะเลิกเล่นหากมีการเทรดนี้เกิดขึ้น

แม็คเกรดีทำผลงานได้ดีขึ้นต่อเนื่องทุกปีที่เล่นให้กับแรปเตอรส์ แต่ไม่ดังเท่าเพื่อนร่วมทีมและลูกพี่ลูกน้อง วินซ์ คาร์เตอร์ (Vince Cartor) ซึ่งมีชื่อเสียงในการดังก์ เขายังเป็นผู้ช่วยคาร์เตอร์ในการแข่งเอ็นบีเอ สแลมดังก์ ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเขาก็แข่งในรายการนี้ด้วย คาร์เตอร์รับผิดชอบเป็นตัวทำคะแนนในทีมในขณะที่แม็คเกรดีรับหน้าที่ในการตั้งรับและขัดขวางการทำแต้มของฝ่ายตรงข้าม ทั้งคู่ช่วยให้แรปเตอรส์เข้าสู่รอบเพลย์ออฟเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 แต่ก็ตกรอบแรกโดยแพ้ให้กับทีมนิวยอร์ก นิกส์ในการแข่ง 4 เกม

การเริ่มต้นใหม่[แก้]

ชีวิตการเล่นของแม็คเกรดีก้าวหน้ามากขึ้นเมื่อเขาบังคับให้ทีมเทรดเขาไปยังออร์แลนโด แมจิกแลกกับสิทธิ์การดราฟรอบแรกในปี พ.ศ. 2543 เขาได้รางวัลผู้เล่นพัฒนาการดีที่สุด (NBA Most Improved Player Award) และได้เลือกเป็นผู้เล่นตัวจริงในเกมออลสตาร์ ในฤดูกาล 2000-01 (พ.ศ. 2543-44) ออร์แลนโดคาดหวังว่า เขาและแกรนท์ ฮิลล์ (Grant Hill) จะเป็นกำลังสำคัญให้ทีม แต่เพราะการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่องของฮิลล์ แม็คเกรดีกลายเป็นผู้เล่นสำคัญสุดของแมจิก ในฤดูกาล 2002-03 (พ.ศ. 2545-46) แม็คเกรดีได้ตำแหน่งผู้ทำคะแนนสูงสุดในเอ็นบีเอ โดยทำได้เฉลี่ย 32.1 คะแนนต่อเกม ฤดูกาล 2003-04 (พ.ศ. 2546-47) เขาก็ได้ตำแหน่งทำคะแนนสูงสุดอีกครั้งที่ 28 คะแนนต่อเกม และทำสถิติสูงสุดของฤดูกาลเมื่อชู้ตได้ 62 คะแนนในการแข่งกับวอชิงตัน วิซารดส์เมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547 และเป็นคนที่สี่ในรอบ 12 ปีที่ทำได้เกิน 60 แต้ม

แต่โชคก็ไม่เข้าข้างหลังจากสิ้นสุดฤดูกาล ออร์แลนโดชนะเพียง 21 เกมและได้อันดับสุดท้ายของลีก มีการกล่าวหาว่าเขาไม่ได้เล่นอย่างเต็มที่ตลอดเกม (ซึ่งเขาก็ยอมรับในเวลาต่อมา) ความสัมพันธ์ระหว่างแม็คเกรดีกับผู้จัดการทั่วไป จอห์น ไวส์บรอด (John Weisbrod) แย่ลง และไวส์บรอดตัดสินใจเทรดแม็คเกรดีแทนที่จะเก็บเขาไว้ เสี่ยงกับการที่ไม่สามารถเซ็นสัญญาต่อ และสูญเสียแม็คเกรดีโดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมา

ฮิวส์ตัน รอกเก็ตส์[แก้]

เมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2547 แม็คเกรดี, ฮวน ฮาวาร์ด (Juwan Howard) , ไทรอน ลู (Tyronn Lue) และ รีส เกเนส (Reece Gaines) ถูกเทรดไปยังฮิวส์ตัน รอกเก็ตส์ในการเทรดผู้เล่น 7 คนและได้ สตีฟ แฟรนซิส (Steve Francis) , คัททิโน โมบลี (Cuttino Mobley) กับ เควิน เคโต (Kelvin Cato) มายังแมจิก ในฤดูกาลแรกกับฮิวส์ตัน แม็คเกรดีร่วมกับเหยา หมิง (Yao Ming) เซ็นเตอร์ 7 ฟุต 6 นิ้วจากประเทศจีน ช่วยให้ทีมจบฤดูกาลที่อันดับห้าในสายตะวันตก ตอนเริ่มฤดูกาลทีมทำผลงานไม่ดีเมื่อแม็คเกรดูไม่เหมาะกับแผนการบุกของโค้ช เจฟ แวน กันดี (Jeff Van Gundy) แต่แม็คเกรดีก็ทำให้นักวิจารณ์ประทับใจโดยการปรับตัวให้เข้ากับทีมใหม่และเป็นผู้เล่นที่สมบูรณ์แบบ เมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เขาทำ 13 คะแนนในช่วง 35 วินาทีสุดท้ายในการแข่งกับซานแอนโตนิโอ สเปอรส์ เป็นผลงานช่วงสำคัญในเกมที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เอ็นบีเอ ฮิวส์ตันชนะไป 81 ต่อ 80

ถึงแม้ว่าแม็คเกรดีจะเล่นในรอบแรกของเพลย์ออฟดีกว่าคู่แข่ง เดิร์ก โนวิตส์กี (Dirk Nowitzki) ฮิวส์ตันตกรอบในเกมสุดท้ายของรอบแรกโดยแพ้ถึง 40 คะแนน

ฤดูกาล 2005-06 (พ.ศ. 2548-49) แม็คเกรดี พลาดลงเล่นในแปดเกมแรกจากปัญหาเจ็บหลัง อาการบาดเจ็บหลังก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 8 มกราคม ค.ศ. 2006 จนต้องออกจากเกมในช่วงพักครึ่ง นอนบนเปลส่งโรงพยาบาล หยุดเล่นไปอีก 5 เกม เจ็บหลังยังเป็นปัญหากับแม็คเกรดี รอกเก็ตส์ทำผลงานไม่ดีช่วงที่แม็คเกรดีบาดเจ็บ โดยชนะ 2 แพ้ 15 ในเกมที่เขาไม่ลงเล่น และ ชนะ 2 แพ้ 16 ในเกมที่แม็คเกรดีเล่นไม่จบเกม

ฤดูกาล 2006-07 แม็คเกรดีเริ่มต้นโดยพัก 7 เกมด้วยปัญหาเจ็บหลัง เขาเชื่อว่าเขาไม่สามารถเล่นได้ดีเท่าเมื่อก่อน และยกให้ เหยา หมิง ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่นในฤดูกาลนั้น เป็นตัวทำคะแนนหลักของทีม[2] แต่ช่วงที่เหยาบาดเจ็บที่ขา แม็คเกรดี ก็กลับมายกระดับการเล่นโดยรวม พาทีมให้ขึ้นสู่อันดับที่ 5 ของลีก แต่ในเพลย์ออฟ รอกเก็ตส์ยังคงตกรอบแรกโดยพ่ายให้กับทีม ยูทาห์ แจ๊ส สี่เกมต่อสาม

ข้อมูลผู้เล่น[แก้]

ที่อายุ 44 ปี แม็คเกรดีได้ตำแหน่งทำคะแนนสูงสุดสองครั้ง (ในปี พ.ศ. 2546 และ 2547) และยังติดในทีมออล-เอ็นบีเอทีมแรก สองครั้ง และออล-เอ็นบีเอทีมสอง สามครั้ง และยังถูกมองว่าเป็นผู้เล่นจากระดับไฮสกูลไปโปร ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่ง ตามหลังผู้เล่นอย่าง เควิน การ์เน็ต (Kevin Garnett) , โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) และ เจอร์เมน โอนีล (Jermaine O'Neal) แต่จุดที่ติของแม็คเกรดีคือทีมของเขาไม่เคยผ่านเข้ารอบสองของเพลย์ออฟได้เลยตลอดชีวิตการเล่นในเอ็นบีเอ

เมื่อปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) แม็คเกรดี ได้เซ็นสัญญาตลอดชีพกับอะดีดาส สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของอะดีดาส ให้ผลิตรองเท้าในชื่อ ที-แม็ค [3]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

เขาและแฟน แคลเรนดา แฮร์ริส (Clarenda Harris) มีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ เลย์ลา แคลรีส (Layla Clarice) และลูกชายชื่อ แลย์เมน ลามาร์ (Laymen Lamar) ถึงแม้ว่าเขาจะแยกกับทีมออร์แลนโดแมจิก เขายังคงมีบ้านอยู่ที่เมืองออร์แลนโด

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tracy McGrady". National Basketball Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 8, 2020. สืบค้นเมื่อ October 3, 2020.
  2. (TNT) McGrady discusses 2007 All-Star Game Selection
  3. NBA marketers look for next Mike, USA TODAY, 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 (เข้าถึงข้อมูล 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]