กวนอู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เทพเจ้ากวนอู)
กวนอู (กวาน ยฺหวี่)
關羽
ภาพวาดของกวนอูในซันไฉถูหุ่ย
ขุนพลกองหน้า (前將軍)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 219 (219) – ค.ศ. 220 (220)
กษัตริย์เล่าปี่ (ฮันต๋งอ๋อง) /
พระเจ้าเหี้ยนเต้ (ราชวงศ์ฮั่น)
ขุนพลปราบโจร(盪寇將軍)
(ในสังกัดของเล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ป. 211 (ป. 211) – ค.ศ. 219 (219)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าเมืองซงหยง (襄陽太守)
(ในสังกัดของเล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ป. 211 (ป. 211) – ค.ศ. 219 (219)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เพียนเจียงจวิน (偏將軍)
(ในสังกัดของโจโฉ ต่อมาในสังกัดของเล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 200 (200) – ค.ศ. ป. 211 (ป. 211)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
อำเภอไก่เหลียง เมืองฮอตั๋ง จักรวรรดิฮั่น (ปัจจุบันคือเมืองยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซี)
เสียชีวิตมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 220[a]
อำเภอหลินจฺหวี่ เมืองซงหยง จักรวรรดิฮั่น (ปัจจุบันคืออำเภอหนานจาง มณฑลหูเป่ย์)
บุตร
อาชีพขุนพล
ชื่อรองหุนเตี๋ยง/ยฺหวินฉาง (雲長)
สมัญญานามจฺวั้งโหมวโหว (壯繆侯)
บรรดาศักดิ์หั้นสือแต่งเฮา/ฮั่นโช่วถิงโหว
(漢壽亭侯)
เทพนาม
  • สังฆรามโพธิสัตว์/เฉียหลันผูซ่า (伽藍菩薩)
  • กวนตี้ (關帝; "จักรพรรดิกวน")
  • กวนกง (關公; "ท่านกวน")
  • กวนเซิ่งตี้จฺวิน (關聖帝君; "อริยมหาราชเจ้ากวน")
ชื่ออื่น ๆ
  • กวนเอ้อร์เหย่ (關二爺; "ท่านปู่รองกวน")
  • บีเยียงก๋ง/เหม่ยหรานกง (美髯公; "ท่านเครางาม")
  • ฉางเซิง (長生)
  • โซ่วฉาง (壽長)
กวนอู
"กวนอู (กวาน ยฺหวี่)" เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม關羽
อักษรจีนตัวย่อ关羽
ฮั่นยฺหวี่พินอินเกี่ยวกับเสียงนี้ Guān Yǔ

กวนอู (เสียชีวิต เดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 220)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า กวาน ยฺหวี่ (จีน: 關羽; พินอิน: Guān Yǔ) มีชื่อรองว่า หุนเตี๋ยง[b] หรือในภาษาจีนกลางว่า ยฺหวินฉาง (จีน: 雲長; พินอิน: Yúncháng) เป็นขุนพลของขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน กวนอูมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับเล่าปี่รวมถึงเตียวหุยและติดตามเล่าปี่ตลอดช่วงเริ่มตั้งตัว กวนอูมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่นำไปสู่ยุคสิ้นราชวงศ์ฮั่นและการสถาปนารัฐจ๊กก๊กของเล่าปี่ในยุคสามก๊ก กวนอูมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการตอบแทนบุญคุณของโจโฉด้วยการสังหารงันเหลียงขุนพลของอ้วนเสี้ยวข้าศึกของโจโฉในยุทธการที่แปะแบ๊โดยที่ตัวกวนอูยังคงภักดีต่อเล่าปี่ หลังจากเล่าปี่ยึดได้มณฑลเอ๊กจิ๋วในปี ค.ศ. 214 กวนอูยังคงอยู่ที่มณฑลเกงจิ๋วเพื่อปกครองและป้องพื้นพื้นที่เป็นเวลาประมาณเจ็ดปี ในปี ค.ศ. 219 ระหว่างที่กวนอูนำทัพไปรบกับกองกำลังของโจโฉในยุทธการที่อ้วนเสีย ซุนกวนพันธมิตรของเล่าปี่ได้ทำลายความเป็นพันธมิตรซุน-เล่าแล้วส่งขุนพลลิบองเข้ายึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว กว่าที่กวนอูซึ่งพ่ายแพ้ในการรบที่อ้วนเสียจะทราบข่าวการเสียมณฑลเกงจิ๋วก็สายเกินแก้ ภายหลังกวนอูถูกกองกำลังของซุนกวนซุ่มจับตัวได้และถูกประหารชีวิต[3]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์[แก้]

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของกวนอูที่เชื่อถือได้คือ จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่วในศตวรรษที่ 3 ครั้นศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือได้เพิ่มอรรถาธิบายให้กับจดหมายเหตุสามก๊ก โดยได้รวบรวมข้อมูลจากหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมให้กับงานต้นฉบับของตันซิ่ว และได้เพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวไปด้วย บันทึกส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเพิ่มอรรถาธิบายให้กับชีวประวัติของกวนอู ได้แก่ ฉู่จี้ (จดหมายเหตุจ๊กก๊ก) โดยหวัง อิ่น; เว่ย์ชู (จดหมายเหตุวุยก๊ก) โดยหวัง เฉิน, สฺวิน อี่ และ หร่วน จี๋; เจียงเปี่ยวจฺวั้น โดย ยฺหวี ผู่; ฟู่จื่อ โดย ฟู่ เสฺวียน; เตี่ยนเลฺว่ โดย ยฺหวี ฮฺว่าน; อู๋ลี่ (ประวัติศาสตร์ง่อก๊ก) โดย หู ชง; และ หฺวาหยางกั๋วจื้อ โดย ฉาง ฉฺวี

ลักษณะภายนอก[แก้]

ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มีข้อความที่บรรยายลักษณะภายนอกของกวนอูอย่างแน่ชัด แต่ในจดหมายเหตุสามก๊กได้บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงได้กล่าวถึงกวนอูว่ามี "เคราที่มิมีผู้ใดเทียบ"[c]

ตามความเชื่อดั้งเดิม กวนอูถูกบรรยายลักษณะว่าเป็นนักรบใบหน้าแดงที่มีเคราดกยาว แนวคิดเรื่องหน้าแดงนี้มาจากคำบรรยายลักษณะของกวนอูในตอนที่ 1 ของนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ซึ่งประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 ตามเนื้อความต่อไปนี้:

"เหี้ยนเต๊ก (เล่าปี่) มองไปที่บุรุษนั้นผู้มีสูงเก้าฉื่อ[d] และมีเครายาวสองฉื่อ[e] ใบหน้ามีสีเหมือนผลพุทราสุก[f] ริมฝีปากแดงและอวบอิ่ม ดวงตาเหมือนกับหงส์แดง[g] คิ้วคล้ายหนอนไหม[h] มีท่าทางสง่างามองอาจ"

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายลักษณะของกวนอูไว้ตามเนื่อตวามต่อไปนี้[7]:

"เล่าปี่เห็นผู้นั้นสูงประมาณหกศอกหนวดยาวประมาณศอกเศษ หน้าแดงดังผลพุทราสุก ปากแดงดังชาดแต้ม คิ้วดังตัวไหม จักษุยาวดังนกการะเวก เห็นกิริยาผิดประหลาทกว่าคนทั้งปวง"

ต้นชีวิต[แก้]

เล่าปี่ (ด้านซ้าย) กวนอู (ด้านหลัง) และเตียวหุย (ด้านขวา) ในภาพวาดโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ซากุไร เซกกัง (1715–90)

กวนอูเป็นชาวอำเภอไก่เหลียง(解縣 เสี่ยเซี่ยน) เมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น) ซึ่งในปัจจุบันคือเมืองยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซี ชื่อรองเดิมของกวนอูคือฉางเชิง (長生).[ซานกั๋วจื้อ 2] กวนอูมีความสนใจในตำราประวัติศาสตร์ยุคโบราณจั่วจฺวั้น และสามารถท่องจำได้อย่างแม่นยำ[ซานกั๋วจื้อจู้ 1] กวนอูหนีออกจากบ้านเกิดด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ทราบแน่ชัด และเดินทางไปยังเมืองตุ้นก้วน (涿郡 จัวจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจัวโจว มณฑลหูเป่ย์). เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการขึ้นในปี ค.ศ. 184 กวนอูและเตียวหุยเข้าร่วมกองกำลังทหารอาสาที่ก่อตั้งโดยเล่าปี่ และช่วยเหลือนายพลเจาเจ้งในการปราบจลาจล [ซานกั๋วจื้อ 3][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 1]

เมื่อเล่าปี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ ( เซียง) ของรัฐเพงงวนก๋วน (平原國 ผิงยฺเหวียนกั๋ว; ปัจจุบันคือเมืองเต๋อโจว มณฑลชานตง) กวนอูและเตียวหุยก็ได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเปี๋ยปู้ซือหม่า (别部司馬บัญชากองทหารสองกองแยกกันภายใต้สังกัดของเล่าปี่ ทั้งสามคนเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยมีความสนิทกันเหมือนเป็นพี่น้องกัน และนอนร่วมเตียงกัน กวนอูและเตียวหุยมักยืนให้ความคุ้มครองเล่าปี่อยู่ด้านหลังเมื่อเล่าปี่พบปะกับผู้อื่น ทั้งคู่ติดตามเล่าปี่ในการตั้งตัวและช่วยปกป้องเล่าปี่จากอันตราย[ซานกั๋วจื้อ 4]

รับราชการกับโจโฉเป็นเวลาสั้น ๆ[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

เล่าปี่และผู้ใต้บังคับบัญชาได้ติดตามโจโฉกลับไปเมืองหลวงฮูโต๋ ( สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) หลังจากทำศึกชนะลิโป้ในยุทธการที่แห้ฝือในปี ค.ศ. 198 ประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น เล่าปี่และผู้ติดตามได้หนีออกจากเมืองฮูโต๋ โดยอ้างว่าจะช่วยโจโฉนำทหารไปโจมตีอ้วนสุด เล่าปี่ไปยังมณฑลชีจิ๋ว สังหารกีเหมา (車冑 เชอ โจ้ว) ผู้เป็นข้าหลวงมณฑล และเข้าควบคุมมณฑลชีจิ๋ว เล่าปี่ย้ายไปอยู่เมืองเสียวพ่าย (小沛 เสี่ยวเพ่ย์; ปัจจุบันคืออำเภอเพ่ย์ มณฑลเจียงซู) ให้กวนอูอยู่รักษาเมืองแห้ฝือ (下邳 เซี่ยพี; ปัจจุบันคือเมืองพีโจว มณฑลเจียงซู) เมืองหลวงของมณฑลชีจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 5] [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 2][ซานกั๋วจื้อจู้ 2]

ในปี ค.ศ. 200 โจโฉยกทัพมาโจมตีเล่าปี่จนแตกพ่ายแล้วเข้ายึดมณฑลชีจิ๋วคืน เล่าปี่หนีไปทางภาคเหนือของจีนแล้วเข้าหลบภัยกับอ้วนเสี้ยวที่เป็นคู่ศึกกับโจโฉ ส่วนกวนอูถูกกองทัพของโจโฉจับตัวได้แล้วพากลับเมืองฮูโต๋ โจโฉปฏิบัติต่อกวนอูอย่างให้เกียรติ และได้ทูลขอพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้พระราชทานแต่งตั้งให้กวนอูมีตำแหน่งเพียนเจียงจฺวิน (偏將軍).[ซานกั๋วจื้อ 6][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 3]

ยุทธการที่แปะแบ๊[แก้]

ต่อมาในปีเดียวกัน อ้วนเสี้ยวให้ขุนพลงันเหลียงนำทหารเข้าโจมตีกองทหารรักษาการณ์ของโจโฉที่แปะแบ๊ (白馬 ปั๋วหม่า; ปัจจุบันอยู่บริเวณใกล้กับอำเภอหฺวา มณฑลเหอหนาน) ซึ่งป้องกันโดยเล่าเอี๋ยน (劉延 หลิว เหยียน) โจโฉให้เตียวเลี้ยวและกวนอูนำทหารกองหน้าไปรบกับข้าศึก ระหว่างการรบกวนอูจำสัปทนของงันเหลียงได้จึงมุ่งตรงไปหางันเหลียง ตัดศีรษะงันเหลียงได้แล้วหิ้วศีรษะนั้นกลับมา ทหารของงันเหลียงไม่สามารถต้านทานกวนอูไว้ได้ การล้อมที่แปะแบ๊จึงคลี่คลายไป โจโฉถวายคำแนะนำให้พระเจ้าเหี้ยนเต้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กวนอูเป็น "หั้นสือแต่งเฮา " (漢壽亭侯 ฮั่นโซ่วถิงโหว) [i][ซานกั๋วจื้อ 7]

ตีจากโจโฉ[แก้]

แม้ว่าโจโฉจะชื่นชมกวนอูเป็นอย่างมาก แต่ก็รู้สึกได้ว่ากวนอูคงไม่ตั้งใจจะรับราชการกับตนเป็นเวลานาน โจโฉได้บอกกับเตียวเลี้ยวว่า "ขอท่านจงใช้ความเป็นเพื่อนกับกวนอูไปเลียบเคียงถามถึงความต้องการของกวนอูด้วย" เมื่อเตียวเลี้ยวถามกวนอู กวนอูจึงตอบว่า "ข้าทราบดีว่าท่านโจดีต่อข้าเป็นอย่างมาก แต่ข้าก็ได้รับความกรุณาเป็นอย่างมากจากขุนพลเล่าและข้าได้สาบานว่าจะติดตามท่านไปจนสิ้นชีวิต ข้ามิอาจละคำสาบานได้ ท้ายที่สุดแล้วข้าจะจากไป ขอท่านโปรดช่วยข้านำความนี้ไปว่ากล่าวกับท่านโจด้วย" เตียวเลี้ยวนำความที่กวนอูกล่าวไปบอกกับโจโฉ โจโฉจึงยิ่งประทับใจในตัวกวนอูมากขึ้นไปอีก[ซานกั๋วจื้อ 8] ในฟู่จื่อมีรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยบันทึกไว้ว่าเตียวเลี้ยวมีความลำบากใจว่าจะนำความที่กวนอูกล่าวไปแจ้งกับโจโฉดีหรือไม่ หากนำความไปแจ้ง โจโฉอาจจะสั่งประหารกวนอู หากไม่แจ้ง โจโฉก็อาจจะปลดตนออกจากตำแหน่ง เตียวเลี้ยวถอนหายใจแล้วว่า "ท่านโจเป็นนายของข้าและเป็นเหมือนบิดาของข้า ส่วนกวนอูก็เป็นเหมือนพี่น้องของข้า" ในที่สุดเตียวเลี้ยวจึงตัดสินใจแจ้งโจโฉ โจโฉจึงว่า "ผู้ใดรับใช้นายแต่ก็ไม่ลืมรากเหง้าถือเป็นผู้ทรงธรรมโดยแท้ ท่านคิดว่าเขาจะจากไปเมื่อใดหรือ?" เตียวเลี้ยวตอบว่า "กวนอูได้รับความกรุณาจากนายท่าน เขาอาจจะจากไปหลังจากได้ตอบแทนบุญคุณท่านแล้ว"[ซานกั๋วจื้อจู้ 3]

หลังจากกวนอูสังหารงันเหลียงและสลายวงล้อมที่แปะแบ๊แล้ว โจโฉก็รู้ว่ากวนอูจะจากไปในไม่ช้าจึงมอบรางวัลให้กวนอูมากขึ้น กวนอูผนึกของขวัญทั้งหมดที่ได้รับจากโจโฉ เขียนหนังสืออำลาถึงโจโฉ และมุ่งหน้าไปยังอาณาเขตของอ้วนเสี้ยวเพื่อไปหาเล่าปี่ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉต้องการจะไล่ตามจับกวนอู แต่โจโฉห้ามไว้แล้วกล่าวว่า "เขาแค่ทำตามหน้าที่เพื่อนายของตน ไม่จำเป็นต้องไล่ตามจับ"[ซานกั๋วจื้อ 9]

เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า "โจโฉชื่นชมกวนอูอย่างมากแม้ตนจะรู้ว่ากวนอูจะไม่อยู่เป็นลูกน้องตนอีก จึงไม่ส่งคนไปไล่ตามกวนอูเมื่อกวนอูจากไป เปิดโอกาสให้กวนอูสำเร็จผลเพื่อความจงรักภักดี (ต่อเล่าปี่) หากเขามิใช่คนใจกว้างอย่างที่ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่เป็น เขาจะปล่อยให้เกิดเหตุเช่นนี้หรือ นี่เป็นตัวอย่างของคุณธรรมของโจโฉ"[ซานกั๋วจื้อจู้ 4]

กลับไปหาเล่าปี่[แก้]

ภาพจิตรกรรมของกวนอู "บุกเดี่ยวพันลี้" (千里走單騎) ที่พระราชวังฤดูร้อน กรุงปักกิ่ง

เมื่อโจโฉรบกับอ้วนเสี้ยวในยุทธการที่กัวต๋อในปี ค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวส่งเล่าปี่ไปติดต่อกับเล่าเพ็ก (劉辟 หลิว พี่) ผู้นำกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองในเมืองยีหลำ (汝南 หรู่หนาน) และช่วยเล่าเพ็กในการโจมตีเมืองหลวงฮูโต๋ ( สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ในขณะที่โจโฉอยู่ไกลถึงกัวต๋อ กวนอูกลับมาร่วมกับเล่าปี่ในช่วงเวลานี้ เล่าปี่และเล่าเพ็กพ่ายแพ้ให้กับโจหยินขุนพลของโจโฉ จากนั้นเล่าปี่จึงกลับไปหาอ้วนเสี้ยว เล่าปี่ลอบวางแผนจะตีจากอ้วนเสี้ยว จึงแสร้งทำเป็นเสนอให้อ้วนเสี้ยวเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียวผู้ครองมณฑลเกงจิ๋ว อ้วนเสี้ยวมอบหมายให้เล่าปี่ไปติดต่อกับก๋งเต๋า (共都/龔都 กงตู) ผู้นำกลุ่มกบฏอีกคนในยีหลำ และรวบรวมทหารได้สองสามพันคน ฝ่ายโจโฉหลังจากได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนืออ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อก็ยกทัพกลับมาโจมตีเมืองยีหลำและเอาชนะเล่าปี่ได้ เล่าปี่หนีลงทางใต้และเข้าหลบภัยกับเล่าเปียว เล่าเปียวมอบหมายให้เล่าปี่ดูแลอำเภอซินเอี๋ย (新野 ซินเหย่; ปัจจุบันตืออำเภอซินเหย่ มณฑลเหอหนาน) ที่ชายแดนทางเหนือของมณฑลเกงจิ๋ว กวนอูได้ติดตามเล่าปี่ไปอยู่ที่ซินเอี๋ย [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 4][ซานกั๋วจื้อ 10]

ยุทธการที่ผาแดงและผลสืบเนื่อง[แก้]

เล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 เล่าจ๋องบุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวสืบทอดตำแหน่งแทนและต่อมาก็ยอมจำนนมอบมณฑลเกงจิ๋วให้โจโฉเมื่อโจโฉเริ่มการทำศึกเพื่อปราบปรามกองกำลังฝ่ายตรงข้ามทางตอนใต้ของจีน เล่าปี่พร้อมด้วยผู้ติดตามอพยพจากซินเอี๋ยมุ่งไปยังแฮเค้า (夏口 เซี่ยโข่ว; ปัจจุบันคือเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์) ซึ่งรักษาป้องกันโดยเล่ากี๋บุตรชายคนโตของเล่าเปียวและเป็นอิสระจากความควบคุมของโจโฉ ในการเดินทางครั้งนั้นเล่าปี่ได้แบ่งคนของตนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยกวนอูให้แล่นเรือไปตามแม่น้ำมุ่งไปยังกังเหลง (江陵 เจียงหลิง; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) อีกกลุ่มนำโดยตัวเล่าปี่เองเดินทางไปทางบก ทหารส่งทหารม้าฝีมือดี 5,000 นายให้ไล่ตามกลุ่มของเล่าปี่และไล่ตามทันทีเตียงปัน (長坂 ฉางป่าน; ปัจจุบันคือเมืองตางหยาง มณฑลหูเป่ย์) แล้วเกิดยุทธการที่สะพานเตียงปันเกี้ยวขึ้น เล่าปี่และผู้ติดตามที่เหลือหนีกองกำลังของโจโฉจนมาถึงท่าน้ำฮันจิ๋น (漢津 ฮั่นจิน) ที่ซึ่งกลุ่มของกวนอูได้ช่วยพาทั้งหมดขึ้นเรือแล้วแล่นไปแฮเค้าด้วยกัน[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 5][ซานกั๋วจื้อ 11]

ในปี ค.ศ. 208 เล่าปี่เป็นพันธมิตรกับซุนกวนและเอาชนะโจโฉได้อย่างแตกหักในยุทธการที่ผาแดง โจโฉถอยหนีขึ้นทางเหนือหลังการพ่ายแพ้และมอบหมายให้โจหยินอยู่ป้องกันมณฑลเกงจิ๋ว ในระหว่างยุทธการที่กังเหลง กวนอูได้รับมอบหมายให้แทรกซึมไปสกัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของโจหยิน กวนอูจึงนำกองกำลังพิเศษเข้าโจมตีเมืองซงหยงที่มีงักจิ้นขุนพลของโจโฉเป็นผู้รักษา งักจิ้นเอาชนะกวนอูและซู เฟย์ (蘇非) ให้ล่าถอยไปได้[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 6] หลังเล่าปี่ยึดครองได้หลายเมืองของมณฑลเกงจิ๋วใต้ เล่าปี่ได้แต่งตั้งให้กวนอูเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองซงหยงและเป็นขุนพลปราบโจร (盪寇將軍 ต้างโค่วเจียงจฺวิน) และมอบหมายให้กวนอูไปตั้งกองกำลังที่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำแยงซี.[ซานกั๋วจื้อ 12]

ภายหลังกวนอูรบกับงักจิ้นและบุนเพ่งที่สฺวินโข่ว (尋口) และพ่ายแพ้ บุนเพ่งโจมตีคลังแสงและคลังเสบียงของกวนอูที่ท่าน้ำฮันจิ๋น (漢津 ฮั่นจิน) และเผาเรือของกวนอูที่จิงเฉิง (荊城).[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 7]

รักษาเกงจิ๋ว[แก้]

ระหว่างปี ค.ศ. 212 ถึง ค.ศ. 214 เล่าปี่เริ่มการศึกเพื่อยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและเมืองฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงที่เป็นผู้ครองมณฑล ผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมในการศึกนี้ ในขณะที่กวนอูยังคงอยู่รักษาดูแลอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 13]

กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตซุน-เล่า[แก้]

ในช่วงกลางทศวรรษ 210 เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างเล่าปี่และ ซุนกวนในมณฑลเกงจิ๋วใต้ ตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ เล่าปี่ได้ "ยืม" มณฑลเกงจิ๋วใต้จากซุนกวนเพื่อใช้เป็นฐานกำลังชั่วคราว เล่าปี่จะต้องคืนอาณาเขตนี้แก่ซุนกวนหลังจากได้ฐานที่มั่นอื่นแล้ว หลังจากเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว ซุนกวนได้ร้องขอต่อเล่าปี่คืนสามเมืองแต่เล่าปี่ปฏิเสธ ซุนกวนจึงให้ขุนพลลิบองนำทัพไปยึดสามเมือง เล่าปี่โต้กลับด้วยการให้กวนอูนำทัพไปหยุดลิบอง[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 8] กำเหลงหนึ่งในผู้ใต้บังคับบัญชาของลิบองได้จัดการขัดขวางกวนอูไม่ให้ข้ามธารน้ำตื้นใกล้อี้หยาง ธารน้ำตื้นนี้จึงได้ชื่อว่า 'ธารน้ำกวนอู' (關羽瀨 กวันยฺหวี่ไล่)[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 9] ภายหลังโลซก (แม่ทัพใหญ่บัญชาการกองกำลังของซุนกวนโดยรวมในมณฑลเกงจิ๋ว) ได้เชิญกวนอูมาพบเพื่อเจรจาจัดการกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขต ราวปี ค.ศ. 215 หลังจากโจโฉยึดได้เมืองฮันต๋ง เล่าปี่เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ต่อตนในมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงตัดสินใจสงบศึกกับซุนกวนและตกลงจะแบ่งมณฑลเกงจิ๋วใต้ส่วนหนึ่งให้ซุนกวนโดยกำหนดเขตแดนใหม่ตลอดแม่น้ำเซียง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงถอนกำลังไป[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 10]

ยุทธการที่อ้วนเสีย[แก้]

กวนอูจับตัวบังเต๊ก ในภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิงโดยชาง สี่, ป. ค.ศ. 1430

ในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่ได้ชัยชนะต่อโจโฉในยุทธการที่ฮันต๋ง จากนั้นเล่าปี่จึงสถาปนาตนขึ้นเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" (漢中王 ฮั่นจงหฺวาง) เล่าปี่แต่งตั้งให้กวนอูเป็นขุนพลกองหน้า (前將軍 เฉียงเจียงจฺวิน) และประทานขวานชั้นยศ ในปีเดียวกัน กวนอูนำทัพยกไปโจมตีโจหยินที่อ้วนเสีย (樊城 ฝานเฉิง; ปัจจุบันตือเขตฝานเฉิง เมืองเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์) และเข้าล้อมป้อมปราการไว้ โจโฉให้อิกิ๋มนำกองหนุนไปช่วยโจหยิน ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิและเกิดฝนตกหนักจนแม่น้ำฮันซุยล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมทำลายกองทหารเจ็ดสายของอิกิ๋ม อิกิ๋มยอมจำนนต่อกวนอู ส่วนบังเต๊กผู้ใต้บังคับบัญชาของอิกิ๋มไม่ยอมจำนนจึงถูกกวนอูสั่งประหาร กลุ่มโจรที่นำโดยเหลียง เจี๋ย (梁郟) และลู่ หุน (陸渾) ได้รับตราราชการจากกวนอูจึงมาเข้าร่วมและกลายเป็นผู้ติดตามของกวนอู ชื่อเสียงของกวนอูแพร่สะพัดไปทั่วแผ่นดิน[ซานกั๋วจื้อ 14]

ฉู่จี้ได้บันทึกว่าก่อนที่กวนอูจะเริ่มการศึกที่อ้วนเสีย กวนอูได้ฝันว่ามีหมูป่ามากัดที่เท้า กวนอูจึงบอกกวนเป๋งบุตรชายว่า "ปีนี้พ่ออ่อนแอลงมาก พ่ออาจจะไม่ได้กลับมาเป็น ๆ"[ซานกั๋วจื้อจู้ 5]

ดูถูกซุนกวน[แก้]

หลังจากความพ่ายแพ้ของอิกิ๋ม โจโฉคิดอ่านจะย้ายเมืองหลวงจากเมืองฮูโต๋ (許 สฺวี่; ปัจจุบันคือเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ขึ้นเหนือไปเหอเป่ย์เพื่อหลีกภัยจากกวนอู แต่สุมาอี้และเจียวเจ้ได้บอกกับโจโฉว่าซุนกวนคงต้องร้อนใจเมื่อได้ยินข่าวชัยชนะของกวนอู แล้วแนะนำให้โจโฉเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อให้ซุนกวนช่วยขัดขวางการรุกคืบของกวนอู และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนโจโฉก็ต้องยอมรับการอ้างสิทธิของซุนกวนเหนือดินแดนกังตั๋ง ด้วยแนวทางนี้การปิดล้อมที่อ้วนเสียก็จะคลี่คลายโดยอัตโนมัติ โจโฉทำตามคำแนะนำนี้ ก่อนหน้านี้ซุนกวนได้ส่งทูตไปพบกวนอูเพื่อเสนอให้มีการแต่งงานระหว่างบุตรชายของตนและบุตรสาวของกวนอู แต่กวนอูปฏิเสธข้อเสนอ ทั้งยังด่าว่าและหยามเกียรติของทูตอย่างรุนแรง ทำให้ซุนกวนโกรธมาก[ซานกั๋วจื้อ 15]

เผชิญหน้ากับซิหลง[แก้]

ต่อมาโจโฉให้ซิหลงนำทหารกองหนุนอีกกองไปช่วยโจหยินที่อ้วนเสีย ซิหลงบุกทะลวงผ่าวงล้อมของกวนอูในสนามรบ จึงสลายการโอบล้อมที่อ้วนเสียได้สำเร็จ [ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 11] เมื่อกวนอูเห็นว่าไม่อาจยึดอ้วนเสียได้จึงถอนทัพไป [ซานกั๋วจื้อ 16] ฉู่จี้ได้บันทึกเหตุการณ์การเผชิญหน้าของซิหลงและกวนอูในสนามรบไว้ ซิหลงเคยเป็นเพื่อนสนิทของกวนอู มักจะสนทนากันเรื่องต่าง ๆ นอกเหนือจากเรื่องการทหาร เมื่อทั้งสองได้พบกันอีกครั้งที่อ้วนเสีย ซิหลงได้ถ่ายทอดคำสั่งกับทหารของตนว่า "ใครตัดศีรษะกวนอูได้จะได้รับรางวัลเป็นทองคำ 1,000 ชั่ง" กวนอูตกใจจึงถามซิหลงว่า "พี่ท่านเหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้" ซิหลงตอบว่า "นี่เป็นเรื่องการของแผ่นดิน"[ซานกั๋วจื้อจู้ 6]

เสียเกงจิ๋ว[แก้]

แม้ว่ากวนอูจะเอาชนะและจับตัวอิกิ๋มได้ที่อ้วนเสีย แต่ในทัพกวนอูก็เกิดขาดแคลนเสบียง กวนอูจึงยึดข้าวสารจากยุ้งฉางแห่งหนึ่งของซุนกวนที่ด่านเซียงกฺวัน (湘關) ซุนกวนจึงลอบตกลงเป็นพันธมิตรกับโจโฉแล้วให้ลิบองและคนอื่น ๆ เข้ารุกรานมณฑลเกงจิ๋ว ตัวซุนกวนนำทัพหนุนตามไปในภายหลัง ที่ชิมเอี๋ยง (尋陽 สฺวินหยาง) ลิบองสั่งให้ทหารซ่อนตัวในเรือที่ปลอมให้เป็นเรือของพ่อค้าและพลเรือนแล่นมายังมณฑลเกงจิ๋ว ตลอดทางลิบองเข้าแทรกซึมและเข้ายึดหอสังเกตการณ์ที่กวนอูให้ตั้งไว้ตลอดริมแม่น้ำ กวนอูจึงไม่รู้เรื่องการบุกรุกครั้งนี้อย่างสิ้นเชิง[ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 12]

เมื่อกวนอูเริ่มต้นการศึกที่อ้วนเสีย ได้มอบหมายให้บิฮองและเปาสูหยินอยู่ป้องกันฐานกำลังสำคัญในมณฑลเกงจิ๋วคือเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันคือเมืองจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) และเมืองกังอั๋น (公安 กงอัน; ปัจจุบันคืออำเภอกงอัน มณฑลหูเป่ย์) กวนอูปฏิบัติต่อทั้งสองอย่างดูหมิ่น ระหว่างการศึก หลังจากที่บิฮองและเปาสูหยินส่งเสบียงให้ทัพกวนอูที่แนวหน้าไม่เพียงพอ กวนอูไม่พอใจจึงว่า "ข้าจะจัดการกับพวกมันเมื่อข้ากลับไป" บิฮองและเปาสูหยินรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อซุนกวนเข้ารุกรานมณฑลเกงจิ๋ว ลิบองได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบิฮองและสามารถเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ ส่วนยีหวนก็เกลี้ยกลอมเปาสูหยินได้เช่นกัน อาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋วจึงตกอยู่ใต้การควบคุมของซุนกวนหลังการยอมจำนนของบิฮองและเปาสูหยิน[ซานกั๋วจื้อ 17]

หลักฐานที่น่ากังขาจากเตี่ยนเลฺว่[แก้]

เตี่ยนเลฺว่ บันทึกว่า:

เมื่อกวนอูปิดล้อมอ้วนเซีย ซุนกวนได้สูงทูตไปพบกวนอูเพื่อเสนอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ลอบสั่งทูตให้หน่วงเวลาในการเดินทาง จากนั้นจึงส่งนายทะเบียนล่วงหน้าไปพบกวนอูก่อน กวนอูไม่พอใจที่ข้อเสนอส่งมาถึงช้าเพราะขณะนั้นกวนอูจับอิกิ๋มได้แล้ว กวนอูต่อว่าทูตว่า "เจ้าพวกตัวเหอ (貉 คือจิ้งจอกแร็กคูน) บังอาจทำเช่นนี้ หากข้าครองอ้วนเซียได้ คิดหรือว่าข้าไม่อาจทำลายล้างพวกเจ้าได้" แม้ว่าซุนกวนจะรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นโดยคำตอบของกวนอู แต่ยังคงเขียนหนังสือถึงกวนอูแสร้งทำเป็นให้อภัยและอนุญาตให้กวนอูผ่านอาณาเขตของซุนกวนได้อย่างอิสระ[ซานกั๋วจื้อจู้ 7]

เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวเนื้อความในเตี่ยนเลฺว่ว่า

แม้ว่าภายนอกเล่าปี่และซุนกวนจะดูสมัครสมานกันดี แต่แท้จริงแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน เมื่อซุนกวนโจมตีกวนอูในภายหลัง ซุนกวนได้ลอบส่งกองกำลังไปดังความที่ปราฏในชีวประวัติของลิบองว่า '[...] ทหารฝีมือดีซ่อนตัวในเรือที่แสร้งทำเป็นเรือพ่อค้าและพลเรือน' จากเหตุผลทั้งนี้ ต่อให้กวนอูไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากซุนกวน ซุนกวนก็จะไม่พูดเรื่องที่จะอนุญาตให้กวนอูผ่านทางในดินแดนของตน หากว่าทั้งสองฝ่ายต้องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจแล้ว เหตุใดทั้งสองฝ่ายจึงปิดบังการเคลื่อนไหวของตนไม่ให้อีกฝ่ายรู้เล่า [ซานกั๋วจื้อจู้ 8]

เสียชีวิต[แก้]

ขณะที่กวนอูถอยทัพจากเมืองอ้วนเสีย กองกำลังของซุนกวนได้เข้ายึดเมืองกังเหลง (江陵 เจียงหลิง; ปัจจุบันคืออำเภอเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์) และจับตัวครอบครัวของทหารกวนอูไว้ ลิบองถ่ายทอดคำสั่งให้ทหารปฏิบัติต่อราษฎรเป็นอย่างดีและให้อยู่ในความสงบปลอดภัย ทหารส่วนใหญ่ของกวนอูหมดกำลังใจรบจึงหนีทหารแล้วกลับไปเกงจิ๋วเพื่อกลับไปหาครอบครัว กวนอูรู้ว่าตนโดดเดี่ยวจึงถอยไปเมืองเป๊กเสีย (麥城 ไม่เฉิง; ปัจจุบันคือหมู่บ้านไม่เฉิง เขตเหลียงเหอ เมืองตางหยาง มณฑลหูเป่ย์) และมุ่งทางตะวันตกไปตำบลจางเซียง (漳鄉) ที่นั่นทหารที่เหลืออยู่ของกวนอูได้ทอดทิ้งกวนอูไปสวามิภักดิ์ต่อข้าศึก ซุนกวนส่งจูเหียนและพัวเจี้ยงไปสกัดทางถอยของกวนอู กวนอูพร้อมด้วยกวนเป๋งบุตรชายและเตียวลุย (趙累 จาง เล่ย์) ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกซุ่มจับเป็นโดยม้าต๋ง (馬忠 หม่า จง) รองขุนพลของพัวเจี้ยง ภายหลังกวนอูและกวนเป๋งถูกประหารชีวิตในช่วงต้นปี ค.ศ. 220 โดยกองกำลังของซุนกวนนำโดยพัวเจี้ยงในหลินจฺหวี่ (臨沮; ปัจจุบันคืออำเภอหนานจาง มณฑลหูเป่ย์)[ซานกั๋วจื้อ 18][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 13][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 14]

หลักฐานอื่น ๆ จากฉู่จี้[แก้]

ฉู่จี้บันทึกว่าเดิมซุนกวนต้องการจะไว้ชีวิตกวนอูและรับไว้ให้กวนอูช่วยในการรบกับเล่าปี่และโจโฉ แต่เหล่าผู้ติดตามได้คัดค้านความคิดนี้แล้วกล่าวว่า "หมาป่าไม่ควรเลี้ยงไว้เพราะอาจทำร้ายเจ้าของได้ โจโฉกระทำผิดพลาดเมื่อครั้งที่ปฏิเสธที่จะสังหารกวนอูจึงสร้างปัญหาใหญ่ให้ตัวเอง ครั้งหนึ่งถึงกับเคยคิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น เหตุใดจะต้องไว้ชีวิตกวนอูด้วย" ซุนกวนจึงสั่งให้นำตัวกวนอูไปประหารชีวิต[ซานกั๋วจื้อจู้ 9]

เผย์ ซงจือโต้แย้งความในหลักฐานนี้ตามความดังนี้:

ตามความในประวัติศาสตร์ง่อก๊ก (อู๋จี้ โดยเหว่ย์ เจา) เมื่อซุนกวนส่งพัวเจี้ยงไปสกัดทางถอยของกวนอู กวนอูถูกประหารชีวิตหลังจากถูกจับตัวได้ หลินจฺหวี่อยู่ห่างจากกังเหลงประมาณ 200 ถึง 300 ลี้ จึงเป็นไปได้หรือว่ากวนอูจะยังมีชีวิตอยู่ระหว่างที่ซุนกวนและผู้ติดตามถกกันว่าจะประหารชีวิตกวนอูหรือไม่ คำกล่าวอ้างที่ว่า 'ซุนกวนต้องการไว้ชีวิตกวนอูโดยหวังผลจะใช้กวนอูตอบโต้เล่าปี่และโจโฉ' จึงไม่สมเหตุสมผล ความทั้งนี้อาจเขียนขึ้นเพื่อปิดปากผู้มีปัญญา[ซานกั๋วจื้อจู้ 10]

เกียรติยศหลังมรณกรรม[แก้]

ซุนกวนส่งศีรษะของกวนอูไปให้โจโฉ โจโฉจัดพิธีศพให้กวนอูเทียบเท่าขุนนางผู้ใหญ่ และให้ฝังศีรษะของกวนอูตามธรรมเนียมโดยให้เกียรติสูงสุด[ซานกั๋วจื้อจู้ 11] ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน พ.ศ. 260 เล่าเสี้ยนพระราชทานสมัญญานามให้กวนอูเป็น "จฺวั้งโหมวโหว" (壯繆侯).[ซานกั๋วจื้อ 19][ซานกั๋วจื้อ อื่น ๆ 15] ตามหลักการตั้งสมัญญานามใน อี้โจวชู "จฺวั้งโหมว" มีความหมายถึงบุคคลผู้ผิดพลาดในการดำรงชีวิตตามชื่อเสียงแห่งตน[8]

เกร็ดประวัติ[แก้]

ขอภรรยาของจีนอี๋ลู่[แก้]

ระหว่างยุทธการที่แห้ฝือในปลายปี ค.ศ. 198 เมื่อกองกำลังร่วมของโจโฉและเล่าปี่รบกับลิโป้ กวนอูขออนุญาตโจโฉเพื่อจะขอแต่งงานกับนางตู้ชื่อ (杜氏) ภรรยาของฉิน อี๋ลู่ (秦宜祿) หลังจากชนะการศึก หลังจากโจโฉตอบตกลง กวนอูก็ยังคงเตือนโจโฉเกี่ยวกับคำสัญญาซ้ำหลายครั้งก่อนการศึกจะสิ้นสุด หลังลิโป้พ่ายแพ้และถูกประหาร โจโฉเกิดความสงสัยว่าเหตุใดกวนอูจึงอยากได้นางตู้ชื่อถึงเพียงนั้น โจโฉคาดว่านางตู้ชื่อจะต้องงดงามมากจึงให้คนนำตัวนางมาพบ ในที่สุดโจโฉจึงผิดคำสัญญากับกวนอูด้วยการรับนางตู้ชื่อเป็นภรรยาน้อยและรับเลี้ยงจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) บุตรของนางตู้ชื่อ (ที่เกิดกับฉิน อี๋ลู่) ไว้เป็นบุตรบุญธรรม[ซานกั๋วจื้อจู้ 12][ซานกั๋วจื้อจู้ 13]

แนะนำเล่าปี่[แก้]

ถามจูกัดเหลียงเกี่ยวกับม้าเฉียว[แก้]

ในปี ค.ศ. 214 ม้าเฉียวแปรพักตร์จากฝ่ายเตียวฬ่อมาเข้าด้วยกองทัพเล่าปี่ และช่วยเหลือเล่าปี่กดดันเล่าเจี้ยงให้ยอมจำนนแล้วยกมณฑลเอ๊กจิ๋วให้เล่าปี่ เมื่อกวนอูได้รับข่าวว่าม้าเฉียว (ซึ่งกวนอูไม่รู้จักมักคุ้น) เพิ่งมาเข้าร่วมด้วย กวนอูจึงเขียนหนังสือถึงจูกัดเหลียงในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ถามว่าใครฝีมือเทียบได้กับม้าเฉียว จูกัดเหลียงรู้ว่ากวนอูกำลังทำหน้าที่ป้องกันชายแดน (จึงไม่ควรทำให้กวนอูไม่พอใจ) จึงตอบหนังสือไปว่า "เมิ่งฉี่ (ชื่อรองของม้าเฉียว) มีความสามารถทั้งด้านการพลเรือนและการทหาร เป็นผู้กล้าหาญดุดันและเป็นผู้กล้าแห่งยุค ความสามารถเทียบได้กับหยินโป้และแพอวด อาจต่อกรกับเอ๊กเต๊ก (ชื่อรองของเตียวหุย) ได้ แต่ไม่เทียบเท่าด้วยท่านผู้มีเคราที่มิมีผู้ใดเทียบ[c][ซานกั๋วจื้อ 20]

กวนอูได้รับคำตอบของจูกัดเหลียงก็มีความยินดีเป็นอย่างมาก แล้วยอมรับม้าเฉียวในที่สุด[ซานกั๋วจื้อ 21]

บาดเจ็บที่แขน[แก้]

ครั้งหนึ่งกวนอูบาดเจ็บที่แขนข้างซ้ายเพราะถูกเกาทัณฑ์ยิงเข้าที่แขน แม้ว่าจะรักษาแผลจนหายแล้วแต่กวนอูก็ยังรู้สึกเจ็บในกระดูกทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก แพทย์บอกกวนอูว่า "หัวเกาทัณฑ์อาบยาพิษ แล้วพิษนั้นแทรกซึมเข้าไปในกระดูก ทางเดียวที่จะแก้ได้คือการผ่าแขนแล้วขูดพิษออกจากกระดูก" กวนอูจึงยื่นแขนบอกให้แพทย์ทำการรักษา จากนั้นกวนอูจึงเชิญผู้ใต้บังคับบัญชามากินโต๊ะทั้งขณะที่ยังผ่าตัดอยู่ เลือดไหลจากแขนของกวนอูสู่ภาชนะรองรับเบื้องล่าง ตลอดการผ่าตัด กวนอูกินโต๊ะเสพสุราและสนทนากับคนของตนเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น[ซานกั๋วจื้อ 22]

ในนิยาย สามก๊ก[แก้]

นิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กที่ประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 เชิดชูกวนอูโดยแสดงลักษณะนิสัยของกวนอูว่าเป็นนักรบผู้ซื่อสัตย์และรักความเป็นธรรม กวนอูเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีการปรับเปลี่ยนและขยายความมากที่สุดในนิยาย

ดูเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งที่เสริมแต่งขึ้นในนิยายสามก๊กที่เกี่ยวข้องกับกวนอูตามรายการต่อไปนี้:

ลักษณะนิสัย[แก้]

จากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายลักษณะนิสัยของกวนอูว่าเป็นผู้ที่มีนิสัยห้าวหาญ กิริยาท่าทางองอาจน่าเกรงขามแก่ผู้พบเห็น กตัญญูรู้คุณคนและซื่อสัตย์เป็นเลิศ นิสัยรักความยุติธรรม มีคุณธรรมไม่รังแกผู้อ่อนแอกว่าและผู้ไร้ทางสู้ ถือสัตย์ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง หยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเอง ฝีมือเชิงยุทธ์เก่งกาจเนื่องจากชำนาญตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ชุนชิวตั้งแต่เด็ก[9] ความองอาจกล้าหาญไม่กลัวตายบวกกับฝีมือในเชิงยุทธ์ของกวนอู ความซื่อสัตย์จงรักภักดีสละแล้วซึ่งชีวิตต่อเล่าปี่รวมทั้งลักษณะที่สมเป็นชายชาติทหาร ทำให้โจโฉและซุนกวนต้องการตัวกวนอูเป็นอย่างมาก

ความสัตย์ซื่อ[แก้]

ภาพวาดทังกาของกวนอู สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง

เมื่อคราวที่เล่าปี่ทำศึกแพ้โจโฉที่เมืองชีจิ๋วแตกแยกพลัดพรากจากกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยแตกไปแย่งชิงเมืองเล็ก ๆ และตั้งซุ่มเป็นกองโจร กวนอูถูกโจโฉวางกลอุบายล้อมจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ และมอบหมายให้เตียวเลี้ยวมาเจรจาเกลี้ยกล่อม กวนอูขอสัญญาสามข้อจากโจโฉคือ "เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาตรว่าเรามิได้ลามหาอุปราชเราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง"[10] โจโฉตกลงตามสัญญาสามข้อจึงได้กวนอูไว้ตามต้องการ

โจโฉนำกวนอูไปถวายตัวต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ พยายามเลี้ยงดูกวนอูอย่างดีเพื่อให้ลืมคุณของเล่าปี่แต่หนหลัง ให้เครื่องเงินเครื่องทองแลแพรอย่างดีแก่แก่กวนอูเพื่อหวังเอาชนะใจ สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง จัดหญิงสาวรูปงามสิบคนให้ไปปฏิบัติหวังผูกน้ำใจกวนอูให้หลง แต่กวนอูกลับไม่สนใจต่อทรัพย์สินและหญิงงามที่โจโฉมอบให้ ใจมุ่งหวังแต่เพียงคิดหาทางกลับคืนไปหาเล่าปี่ โจโฉเห็นเสื้อผ้ากวนอูเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้ กวนอูจึงนำเสื้อเก่าสวมทับเสื้อใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้ บัดนี้เล่าปี่จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่ ครั้นจะเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นนอก คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า"[11]

โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า "เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า"[12] [13] กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"[12] [13]

ความถือคุณธรรม[แก้]

ภายหลังจากเตียวเลี้ยวเจรจาเกลี้ยกล่อมกวนอูได้สำเร็จ โจโฉสั่งทหารเปิดทางให้กวนอูเข้าเมืองและจัดให้อยู่ร่วมเรือนเดียวกับพี่สะใภ้ทั้งสองคือกำฮูหยินและบิฮูหยิน หวังให้กวนอูคิดทำร้ายจะได้แตกน้ำใจจากเล่าปี่ โจโฉจะได้ครอบครองกวนอูไว้เป็นสิทธ์แก่ตัว แต่กวนอูให้พี่สะใภ้ทั้งสองนอนห้องด้านในและนั่งจุดเทียนดูหนังสือรักษาพี่สะใภ้อยู่นอกประตู เป็นการทรมานตนเองจนรุ่งเช้าในระหว่างเดินทางกลับฮูโต๋ เมื่อโจโฉรู้ดังนั้นก็เกรงใจกวนอูด้วยว่า "มีความสัตย์และกตัญญูต่อเล่าปี่"[14]

ความกตัญญูรู้คุณ[แก้]

ในคราวศึกที่ตำบลแปะแบ๊ อ้วนเสี้ยวนำทัพหมายบุกโจมตียึดครองฮูโต๋ โจโฉจัดทหารสิบห้าหมื่นแยกออกเป็นสามกองเข้ารับมือกับอ้วนเสี้ยว ในการทำศึกโจโฉสูญเสียซงเหียน งุยซกและไพร่พลจำนวนมาก ซิหลงเสนอให้เรียกกวนอูออกรบ โจโฉกลัวกวนอูออกรบแล้วจะเป็นการแทนคุณตนเองและจากไปแต่ซิหลงแย้งว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าเล่าปี่ไปอาศัยอ้วนเสี้ยวอยู่ แม้กวนอูฆ่าทหารอ้วนเสี้ยวคนนี้เสียได้ อ้วนเสี้ยวรู้ก็จะฆ่าเล่าปี่ เมื่อเล่าปี่ตายแล้วกวนอูก็จะเป็นสิทธิ์อยู่แก่ท่าน"[15] โจโฉเห็นชอบด้วยความคิดซิหลงกวนอูจึงถูกเรียกตัวออกศึก โจโฉพากวนอูขึ้นไปบนเนินเขาและชี้ให้ดูตัวงันเหลียง กวนอูจึงว่า "งันเหลียงคนนี้หรือ ข้าพเจ้าพอจะสู้ได้ ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจะตัดศีรษะงันเหลียงมาให้ท่านจงได้"[15] และได้ตัดคอบุนทิวและงันเหลียง สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวดั่งคำสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ แม้จะไม่ยอมเป็นข้ารับใช้โจโฉแต่ก็ยอมพลีกายถวายชีวิตในการทำศึกสงครามให้แก่โจโฉ เป็นชายชาติทหารเต็มตัว ช่วยทำศึกให้แก่โจโฉด้วยความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณเพื่อเป็นการทดแทนคุณโจโฉที่ได้เลี้ยงดูและปูนบำเหน็จรางวัลต่าง ๆ ให้มากมาย

นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ฝีมือง้าวในการทำศึกของกวนอูก็เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานและรู้จักกันทั่วทั้งแผ่นดิน ในคราวที่โจโฉนำกำลังบุกลงใต้หวังยึดครองกังตั๋ง จิวยี่แม่ทัพของซุนกวนวางแผนการลอบฆ่าเล่าปี่โดยเชิญมากินโต๊ะ เล่าปี่หลงเชื่อถ้อยคำจิวยี่พาซื่อพาทหารไปกังตั๋งเพียงแค่ 20 คน นั่งดื่มเหล้ากับจิวยี่จนเมาในค่าย จิวยี่นัดแนะกับทหารไว้เมื่อเห็นตนเองทิ้งจอกเหล้าให้สัญญาณก็ให้ทหารที่เตรียมซุ่มไว้ออกมาฆ่าเล่าปี่ ระหว่างกินโต๊ะจิวยี่เห็นกวนอูยืนถือกระบี่อยู่ด้านหลังของเล่าปี่จึงถามว่าเป็นใคร เมื่อเล่าปี่ตอบว่า "กวนอูเป็นน้องข้าพเจ้าเอง"[16] จิวยี่ก็ตกใจจนเหงื่อกาฬไหลโทรมกาย เกรงกลัวฝีมือของกวนอูจนล้มเลิกแผนการฆ่าเล่าปี่

ในคราวศึกเซ็กเพ็ก ภายหลังจากขงเบ้งทำพิธีเรียกลมอาคเนย์ให้แก่จิวยี่และลอบหลบหนีด้วยแผนกลยุทธ์หลบหนีจากการถูกปองร้ายของจิวยี่ เดินทางกลับยังแฮเค้าพร้อมกับจูล่ง ขงเบ้งมอบหมายให้จูล่งคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่ตำบลฮัวหลิม ให้เตียวหุยคุมทหารสามพันไปซุ่มรอที่เนินเขาปากทางตำบลโฮโลก๊ก ให้บิต๊กและบิฮองคุมทหารไปดักรออยู่ตามชายทะเลคอยดักจับทหารโจโฉที่หลบหนีมา ให้เล่ากี๋คุมเรือรบไปตั้งอยู่ที่ตำบลฮูเชียงและให้เล่าปี่คุมทหารไปคอยดูแผนการเผาทัพเรือโจโฉของจิวยี่อยู่บนเนินเขา ขงเบ้งจงใจไม่เลือกใช้กวนอูทำให้กวนอูน้อยใจจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ตัวข้าพเจ้านี้มาอยู่กับเล่าปี่ช้านานแล้ว แลเล่าปี่จะทำการสิ่งใดก็ย่อมใช้สอยข้าพเจ้าให้อาสาไปทำการก่อนทุกแห่ง ครั้งนี้ท่านแคลงข้าพเจ้าสิ่งใดหรือ จึงไม่ใช้ไปทำการเหมือนคนทั้งปวง"[17] ขงเบ้งจึงมอบหมายให้กวนอูคุมทหารห้าร้อยไปตั้งสกัดอยู่ทางฮัวหยง แต่ก็เกิดความคลางแคลงกวนอู ด้วยความเป็นคนสัตย์รู้จักคุณคน เกรงกวนอูจะนึกถึงคุณโจโฉที่เคยเอ็นดูทำนุบำรุงมาแต่ก่อนจึงไม่ฆ่าเสียและปล่อยให้หลุดรอดไป กวนอูจึงยอมทำทัณฑ์บนแก่ขงเบ้งด้วยศีรษะของตนเองถ้าไปดักรอโจโฉที่เส้นทางฮัวหยงแล้วปล่อยให้หลบหนีไปได้

โจโฉแตกทัพไปตามเส้นทางที่ขงเบ้งคาดการณ์ไว้จนถึงฮัวหยง พบกวนอูขี่ม้าถือง้าวคุมทหารออกมายืนสกัดขวางทางไว้ โจโฉเกิดมานะฮึกเฮิมจะต่อสู้แต่เรี่ยวแรงและกำลังของทหารที่ติดตามมานั้นอ่อนแรง เทียหยกจึงกล่าวแก่โจโฉว่า "จะหนีจะสู้นั้นก็ไม่ได้ อันน้ำใจกวนอูเป็นทหารนั้นก็จริง ถ้าเห็นผู้ใดไม่สู้รบแล้วก็มิได้ทำอันตราย ประการหนึ่งเป็นผู้มีความสัตย์ ทั้งรู้จักคุณคนนักด้วย แล้วท่านก็ได้เลี้ยงดูมีคุณไว้ต่อกวนอูเป็นอันมาก แม้ท่านเข้าไปว่ากล่าวโดยดี เห็นกวนอูจะไม่ทำอันตรายท่าน""[18] โจโฉเห็นชอบด้วยจึงว่ากล่าวตักเตือนกวนอูให้ระลึกถึงบุญคุณแต่ครั้งเก่าคราวที่กวนอูหักด่านถึง 5 ตำบล ฆ่า 6 ขุนพลและทหารเป็นจำนวนมาก ขอให้กวนอูเปิดทางให้หลบหนีไป กวนอูนั้นเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน ได้ฟังโจโฉว่ากล่าวก็สงสารนึกถึงคุณโจโฉซึ่งมีมาแต่หนหลัง จึงยอมเปิดทางให้โจโฉหลบหนีไปโดยตนเองเลือกยอมรับโทษประหารตามที่ได้ลั่นวาจาสัตย์และทำทัณฑ์บนไว้แก่ขงเบ้ง

ความกล้าหาญ[แก้]

เมื่อคราวเล่าปี่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเสฉวนและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของเสฉวน แต่เดิมเกงจิ๋วเป็นของซุนกวน โลซกรับเป็นนายประกันให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วโดยสัญญาว่าเมื่อได้เสฉวนจะคืนเกงจิ๋วให้ แต่เมื่อเล่าปี่ได้เสฉวนกลับไม่ยอมคืนเกงจิ๋วให้ตามสัญญา ซุนกวนให้จูกัดกิ๋นพี่ชายขงเบ้งเป็นทูตไปเจรจาขอคืน แต่เล่าปี่ก็แสร้งบิดพลิ้วไม่ยอมคืนแต่จะยกเมืองเตียงสา เมืองเลงเหลงและเมืองฮุยเอี๋ยวให้แทน โดยให้ไปเจรจาขอเกงจิ๋วคืนแก่กวนอูผู้เป็นเจ้าเมือง โลซกจึงวางแผนการชิงเกงจิ๋วคืนด้วยการเชิญกวนอูมากินโต๊ะ ณ ปากน้ำลกเค้า ถ้าเจรจาขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอูไม่สำเร็จจะใช้กำลังเข้าแย่งชิงโดยให้กำเหลงและลิบองคุมทหารซุ่มรออยู่รอบด้าน[ต้องการอ้างอิง]

กวนอูรับคำเชิญของโลซกแต่กวนเป๋งเกรงกวนอูจะได้รับอันตรายหากไปกินโต๊ะตามคำเชิญ กวนอูจึงให้เหตุผลว่า "เหตุทั้งนี้เพราะจูกัดกิ๋นไปบอกซุนกวน โลซกจึงคิดกลอุบายให้เราไปกินโต๊ะแล้วจะได้ทวงเอาเมืองเกงจิ๋วคืนไปไว้เป็นกรรมสิทธิ์ซุนกวน ครั้นเราจะไม่ไปชาวเมืองกังตั๋งจะดูหมิ่นเราว่ากลัว พรุ่งนี้เราจะพาทหารแต่ยี่สิบคนลงเรือเร็วไปกินโต๊ะ จะดูท่วงทีโลซกจะเกรงง้าวที่เราถือหรือไม่"[19] แต่กวนเป๋งเกรงเล่าปี่จะตำหนิถ้าหากปล่อยให้กวนอูไปกังตั๋ง มิใยกวนเป๋งและม้าเลี้ยงจะห้ามปราม กวนอูก็ยืนยันคำเดิมตามที่ได้ลั่นวาจาไว้พร้อมกับกล่าวว่า "เจ้าอย่าวิตกเลย อันบิดานี้ก็มีฝีมือเลื่องลืออยู่ แต่ทหารโจโฉเป็นอันมากนับตั้งแสน บิดากับม้าตัวเดียวก็ยังไม่ต้องเกาทัณฑ์แลอาวุธทั้งปวง ขับม้ารบพุ่งรวดเร็วเป็นหลายกลับ อุปมาเหมือนเข้าดงไม้อ้อแลออกจากพงแขม จะกลัวอะไรแก่ทหารเมืองกังตั๋งเพียงนี้ดังหนูอันหาสง่าไม่ ได้ออกปากว่าจะไปแล้วจะให้เสียวาจาไย"[19]

กวนอูข้ามฟากไปกินโต๊ะตามคำเชิญของโลซกโดยลงเรือเร็ว มีนายท้ายกะลาสีประมาณยี่สิบคนพร้อมธงแดงสำหรับกวนอู แต่งกายโอ่โถงใส่เสื้อแพรสีม่วง โพกแพรสีเขียวปราศจากเกราะป้องกัน มีจิวฉองแบกง้าวนั่งเคียงข้าง มีทหารฝีมือเยี่ยมติดตามมาด้วยประมาณเจ็ดแปดคน บุกเดี่ยวไปยังดินแดนกังตั๋งด้วยความองอาจกล้าหาญมิเกรงกลัวต่อความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ในต่างแดน โลซกเห็นกวนอูแต่งกายมีสง่าน่าเกรงขามก็เกิดความหวาดกลัว เกรงจะเจรจาขอเกงจิ๋วคืนไม่สำเร็จ ครั่นคร้ามกวนอูขนาดเสพย์สุราก็มิอาจเงยหน้าขึ้นดูกวนอู[20] ไม่กล้าเอ่ยปากเจรจาขอเกงจิ๋วคืน รอจนกวนอูใกล้เมาจึงเอ่ยปากขอเกงจิ๋วคืนจากกวนอู

แต่แผนการของโลซกไม่ประสบความสำเร็จ กวนอูบอกปัดไม่ยอมคืนเกงจิ๋วโดยให้ไปเจรจาต่อเล่าปี่ แสร้งทำเป็นเมามายไม่ได้สติและฉวยง้าวจากจิวฉองที่ถือยืนคอยอยู่มาแกว่งไว้ในมือ อีกมือหนึ่งยึดเอามือโลซกไว้แล้วจูงมือเดินออกมานอกค่ายแล้วกล่าวว่า "ท่านหามากินโต๊ะนี้ก็ขอบใจแล้ว แต่เหตุใดจึงเอาการเมืองเกงจิ๋วมาว่าด้วยเล่า บัดนี้เราก็เมาสุราอยู่ แม้ไม่คิดถึงว่าได้รักกันมาแต่ก่อนก็จะขัดเคืองกันเสีย เราจึงอุตส่าห์ระงับโทสะไว้ เราจะลาท่านไปก่อนต่อวันอื่นเราจะเชิญท่านไปกินโต๊ะที่เมืองเกงจิ๋วบ้าง"[20] แล้วก็ลงเรือชักใบกลับเกงจิ๋วโดยอาศัยความกล้าหาญที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวเอง ทำลายแผนการของโลซกที่จะทวงเอาเกงจิ๋วคืนได้สำเร็จจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

เมื่อคราวกวนอูนำกำลังทหารบุกโจมตียึดเมืองซงหยงและจับตัวอิกิ๋มกลับไปเกงจิ๋ว จึงแบ่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่ตำบลเกียบแฮซึ่งเป็นทางเข้าของเมืองอ้วยเซียเพื่อยึดครองตามคำสั่งขงเบ้ง แต่กวนอูเสียทีถูกทหารโจหยินยิงด้วยเกาทัณฑ์อาบยาพิษที่ไหล่จนตกจากหลังม้า กวนเป๋งเป็นผู้ช่วยเหลือนำกวนอูกลับยังค่าย ลูกเกาทัณฑ์ที่ไหล่กวนอูนั้นอาบด้วยยาพิษซึมซาบเข้าไปในกระดูกสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากจนไม่อาจเคลื่อนไหวได้ กวนเป๋งได้เชิญฮัวโต๋ซึ่งเป็นหมอเอกชาวเมืองเกาจุ๋นมาช่วยรักษาบาดแผลจากพิษเกาทัณฑ์ให้แก่กวนอู

กวนอูได้รับความเจ็บปวดจากพิษเกาทัณฑ์ แต่เกรงทหารทั้งหมดจะเสียน้ำใจจึงสู้อุตส่าห์ระงับความเจ็บปวดและแสร้งทำเป็นปกติไม่มีอาการเจ็บปวดแม้แต่น้อย เรียกม้าเลี้ยงให้มาเล่นหมากรุกเพื่อหวังให้ทหารทั้งหมดมีน้ำใจ ฮัวโต๋มาทำการรักษาอาการบาดเจ็บให้แก่กวนอูและว่า "แผลเกาทัณฑ์อาบด้วยยาพิษซาบเข้าไปในกระดูก ถ้ามิเร่งรักษานานไปไหล่จะเสีย"[21] และให้ทำปลอกรัดกวนอูไหวกับเสาเพื่อป้องกันไม่ให้ไหวตัว แต่กวนอูปฏิเสธและบอกว่า "อย่าพักเอาปลอกรัดเลย ท่านจะทำประการใดก็ตามแต่จะทำเถิด เราจะนิ่งให้ทำ"[21] และเอียงไหล่ให้ฮัวโต๋เอามีดเชือดเนื้อร้ายออก ใส่ยาและเอาเข็มเย็บบาดแผลไว้ เมื่อรักษาเสร็จกวนอูจึงว่า "เราหาเจ็บไม่ หายแล้ว"[21] และกล่าวสรรเสริญฮัวโต๋ประหนึ่งเป็นเทพดา ฮัวโต๋จึงว่า "แต่ข้าพเจ้ารักษาคนป่วยมานี้ก็มากอยู่แล้ว หาเหมือนท่านไม่ อันท่านนี้มีน้ำใจทนทานต่อความเจ็บไม่สะดุ้งสะเทือนเลยดีนัก"[21]

ความหยิ่งทรนง[แก้]

แม้กวนอูจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและมีความกล้าหาญ แต่ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องราวชีวิตของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่และเตียวหุย จนถึงการจบชีวิตพร้อมกับกวนเป๋งเมื่อคราวเสียเกงจิ๋ว ก็อาจกล่าวได้ว่ากวนอูนั้นเป็นผู้ที่เหมาะสมและคู่ควรแก่การเป็นยอดวีรบุรุษ เป็นผู้กล้าที่กอปรไปด้วยสติปัญญาอันหลักแหลม เป็นยอดขุนพลผู้มีฝีมือล้ำเลิศจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว สามารถกุมชัยชนะในการต่อสู้ทำศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายกวนอูก็พลาดท่าเสียทีให้แก่ขุนพลผู้เยาว์วัยเช่นลกซุน และต้องแลกเกงจิ๋วกับความผิดพลาดของตนเองด้วยชีวิต

ข้อเสียอันร้ายแรงของกวนอูคือความเย่อหยิ่งทรนงในศักดิ์ศรีและเชื่อมั่นในตนเองมากจนเกินไป ไม่เชื่อถือผู้ใดนอกจากตนเอง เมื่อคราวที่เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้งจากเขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาในการทำราชการแผ่นดิน กวนอูไม่ยอมรับฟังคำสั่งของขงเบ้งด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่าตนเอง เตียวหุยและเล่าปี่ รวมทั้งเมื่อเล่าปี่ให้ความเคารพนับถือขงเบ้งประดุจอาจารย์ กวนอูยิ่งเกิดความน้อยใจในตนเองเป็นอย่างยิ่งจึงกล่าวว่า "ขงเบ้งนั้นอายุยี่สิบเจ็ดปีอ่อนกว่าท่านอีก แล้วก็ยังมิได้ปรากฏปัญญาแลความคิดมาก่อน เหตุใดท่านจึงมาคำนับขงเบ้งดังอาจารย์ฉะนี้"[22] และด้วยนิสัยที่ไม่ยอมอ่อนต่อผู้อื่น กวนอูจึงถูกขงเบ้งดัดนิสัยในคราวศึกทุ่งพกบ๋องด้วยการขอกระบี่และอาญาสิทธิ์ของเล่าปี่ไว้ในครอบครองเพื่อสั่งการแก่กวนอู

ขงเบ้งมอบหมายให้กวนอูคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ เขาอีสัน ให้เตียวหุยคุมทหารพันนายไปซุ่มรอคอย ณ ป่าอันหลิม ให้จูล่งคุมทหารยกไปเป็นกองหน้าและให้เล่าปี่คุมกำลังทหารไปเป็นกองหนุนจูล่ง กวนอูจึงกล่าวแก่ขงเบ้งว่า "ท่านจัดแจงเราทั้งปวงให้ยกไปทำการ ทั้งนี้ก็เห็นชอบอยู่แล้ว แลตัวท่านนั้นจะทำเป็นประการใดเล่า"[23] แต่เมื่อแผนการเผาทัพแฮหัวตุ้นของขงเบ้งประสบความสำเร็จ กองทัพของแฮหัวตุ้นสูญเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากที่ทุ่งพกบ๋อง ทำให้กวนอูยอมรับในสติปัญญาของขงเบ้งและยอมเชื่อฟังคำสั่งของขงเบ้งมาโดยตลอด

ภายหลังเล่าปี่ตั้งตนเองเป็นใหญ่ในเสฉวน สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮันต๋ง ได้มอบหมายให้บิสีถือตรามาแต่งตั้งให้กวนอูเป็นทหารเสือที่เอกของเล่าปี่ โดยเหล่าทหารเสือประกอบไปด้วย กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียวและฮองตง เมื่อกวนอูได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า "เตียวหุยก็เป็นน้องของเรา จูล่งเล่าก็ได้ติดตามพี่เรามาช้านานแล้ว ก็เหมือนหนึ่งเป็นน้องของเรา ฝ่ายม้าเฉียวเล่าก็เป็นชาติเชื้อตระกูลอยู่ แต่ฮองตงคนนี้เป็นแต่เชื้อพลทหารชาติต่ำ เป็นคนแก่ชราหาควรจะตั้งให้เสมอเราด้วยไม่ ซึ่งมีตรามาดังนี้หายังหายอมไม่ก่อน"[24]

ก่อนที่กวนอูจะเสียเกงจิ๋วและพ่ายแพ้จนถูกประหารชีวิต ซุนกวนได้ส่งจูกัดกิ๋นเป็นเถ้าแก่มาเจรจาสู่ขอบุตรสาวของกวนอูเพื่อแต่งงานกับบุตรชายของซุนกวน แต่กวนอูปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลผู้สืบทอดแซ่ซุนมาสามชั่วอายุคนนั้น ถึงแม้จะยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ด้วยตนเองจึงไม่นิยมและนับถือซุนกวน ถือคติตีราคาค่าของตนเองยิ่งใหญ่กว่าซุนกวนด้วยถ้อยคำปฏิเสธการสู่ขอว่า "บุตรของเรานี้ชาติเชื้อเหล่าเสือ ไม่สมควรจะให้แก่สุนัข ท่านว่ามาดังนี้ ถ้าเรามิคิดเห็นแก่หน้าขงเบ้งน้องของท่าน เราก็จะฆ่าท่านเสีย อย่าว่าไปเลย"[25] [26] โดยที่กวนอูไม่ทันยั้งคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และซุนกวน ซึ่งเล่าปี่มีฐานะเป็นราชบุตรเขยของแซ่ซุน อีกทั้งการปฏิเสธซุนกวนแบบไม่มีเยื่อใยของกวนอู กลายเป็นการสร้างชนวนให้ซุนกวนเป็นพันธมิตรกับโจโฉ ทำลายยุทธศาสตร์สามก๊กของขงเบ้งจนเป็นเหตุให้กวนอูพ่ายแพ้และเสียชีวิต

และเมื่อกวนอูได้รับคำสั่งจากเล่าปี่ให้คอยรักษาเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการทำศึกสงคราม แต่ด้วยความหยิ่งทรนงและเชื่อมั่นในฝีมือตนเอง กวนอูก็มิได้ใส่ใจปฏิบัติตามคำสั่งของขงเบ้งที่กล่าวว่า "ท่านจะอยู่ภายหลังนั้น จงจัดแจงระมัดระวังตัวข้างฝ่ายเหนือคอยสู้โจโฉให้ได้ ฝ่ายใต้นั้นท่านจงทำใจดีประนอมด้วยซุนกวนโดยปรกติ เมืองเกงจิ๋วจึงจะมีความสุข"[27] จึงเป็นเหตุเสียเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวนและทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต

ครอบครัว[แก้]

กวนอูมีบุตรชายสองคนที่ปรากฏชื่อ ได่แก่ กวนเป๋งและกวนหิน กวนหินสืบทอดบรรดาศักดิ์ "หั้นสือแต่งเฮา" (漢壽亭侯 ฮั่นโซ่วถิงโหว) จากบิดาและรับราชการในรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก[ซานกั๋วจื้อ 23] กวนอูยังมีบุตรสาวคนหนึ่ง ครั้งหนึ่งซุนกวนเคยมาเสนอการแต่งงานระหว่างบุตรชายของตนกับบุตรสาวของกวนอู แต่กวนอูปฏิเสธการสู่ขอ ชื่อของบุตรสาวของกวนอูไม่มีการบันทึกในประวัติ แต่รู้จักกันในชื่อ "กวาน อิ๋นผิง" (關銀屏) หรือ "กวาน เฟิ่ง" (關鳳) ในนิทานพื้นบ้านและงิ้ว เล่ากันว่ากวนอูยังมีบุตรชายคนที่สามชื่อกวนสก ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์และปรากฏเพียงในนิทานพื้นบ้านและในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก

บุตรชายกวนหินชื่อกวาน ถ่ง (關統) แต่งงานกับองค์หญิง (พระธิดาองค์หนึ่งของเล่าเสี้ยน) และรับราชการในตำแหน่งจงหลางเจี้ยง (中郎將) ในกองทหารองครักษ์ กวาน ถ่งเสียชีวิตโดยไม่มีบุตร ตำแหน่งของกวาน ถ่งจึงสืบทอดต่อมาโดยน้องชายต่างมารดาชื่อกวาน อี๋ (關彝)[ซานกั๋วจื้อ 24]

ตามที่บันทึกในฉู่จี้ หลังการล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263 บังโฮย (บุตรชายของบังเต๊ก) สังหารหมู่ครอบครัวและทายาทของกวนอูเพื่อแก้แค้นให้บิดาที่ถูกประหารโดยกวนอูหลังยุทธการที่อ้วนเสียในปี ค.ศ. 219[ซานกั๋วจื้อจู้ 14]

ในปี ค.ศ. 1719 จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงได้พระราชทานยศ "อู๋จิงปั๋วชื่อ" (五經博士; "อาจารย์ห้าคัมภีร์") ให้กับทายาทของกวนอูที่อาศัยในเมืองลั่วหยาง ผู้ถือยศนี้ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในสำนักฮั่นหลิน[28][29]

อาวุธ[แก้]

ง้าวมังกรเขียว

กวนอูมีอาวุธประจำกายคือง้าวรูปจันทร์เสี้ยว สร้างขึ้นเมื่อคราวเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยออกเกลี้ยกล่อมราษฎร รวบรวมกำลังไพร่พลจัดตั้งกองทัพออกต่อสู้กับโจรโพกผ้าเหลือง ได้มีพ่อค้าม้าชื่อเตียวสิเผงและเล่าสงได้ร่วมบริจาคม้าจำนวนห้าสิบ เงินห้าร้อยตำลึงและเหล็กร้อยหาบสำหรับสร้างเป็นอาวุธจำนวนมาก[30] เล่าปี่ให้ช่างตีเหล็กเป็นกระบี่คู่แบบโบราณ เตียวหุยให้ช่างตีเหล็กเป็นทวนรูปร่างลักษณะคล้ายงู

สำหรับกวนอูให้ช่างตีเหล็กเป็นง้าวขนาดใหญ่รูปจันทร์เสี้ยว ประดับลวดลายมังกรขนาดความยาว 11 ศอกหรือประมาณ 3.63 เมตร หนัก 82 ชั่งหรือประมาณ 65.6 กิโลกรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ชิงหลงเหยี่ยนเยฺว่เตา (จีน: 青龍偃月刀; พินอิน: qīnglóng yǎnyuèdāo) หรือง้าวมังกรเขียว (บ้างเรียกง้าวมังกรจันทร์ฉงาย) [31] ตลอดระยะเวลาในการตรากตรำทำศึกสงครามร่วมกับเล่าปี่และเตียวหุย กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวเป็นอาวุธประจำกายตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิต ในสามก๊กฉบับภาษาไทย สำนวนแปลของ "ยาขอบ" (ซึ่งยึดฉบับแปลภาษาอังกฤษ Romance of the Three kingdoms โดย C.H. Brewitt-Taylor เป็นต้นฉบับ) นั้น ครูยาขอบได้ถอดชื่อง้าวของกวนอูให้ฟังเป็นไทยๆ ว่า ง้าว "นิลนาคะ" (เทียบ - "นาคะ" คือ มังกร "นิล" หมายเอาความว่าสืเขียวแก่เกือบดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม)

เมื่อคราวโจโฉทำศึกกับตั๋งโต๊ะ กวนอูใช้ง้าวมังกรเขียวตัดคอฮัวหยงมาให้โจโฉที่หน้าค่ายด้วยความรวดเร็ว โดยที่ยังไม่จบเพลงรบและเหล้าที่โจโฉอุ่นมอบให้แก่กวนอูยังคงอุ่น ๆ สังหารงันเหลียงและบุนทิว สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยวในคราวศึกตำบลแปะแบ๊ด้วยง้าวมังกรเขียวในเพลงเดียวเช่นกัน[32] ตลอดระยะเวลาการทำศึกกวนอูไม่เคยห่างจากง้าวมังกรเขียว เมื่อเล่าปี่ให้กวนอูไปกินตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งและจิวฉอง โดยจิวฉองรับหน้าที่ดูแลรักษาง้าวมังกรเขียวและถือแทนกวนอู เมื่อซุนกวนให้โลซกทางเกงจิ๋วคืนจากเล่าปี่ โลซกได้เชิญกวนอูไปกินโต๊ะที่ค่าย ณ ปากน้ำลกเค้า จิวฉองก็คอยติดตามถือง้าวมังกรเขียวเคียงข้างกวนอูตลอด

เมื่อคราวที่กวนอูพลาดท่าเสียทีลิบองและลกซุนจนถูกล้อมอยู่ที่เมืองเป๊กเสีย ก่อนจะนำกำลังทหารจำนวนร้อยคนหักตีฝ่าออกมาจนถูกจับตัวได้พร้อมกับกวนเป๋งและถูกประหารชีวิตในภายหลัง ง้าวของกวนอูถูกพัวเจี้ยงยึดเอาไปใช้ แต่กวนหินบุตรชายของกวนอูเป็นผู้สังหารพัวเจี้ยงและนำง้าวของกวนอูกลับคืนมา[33]

ความเคารพนับถือ[แก้]

เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ

แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถืองักฮุยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยคุณธรรมความดีของงักฮุยส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความรักชาติและความจงรักภักดีเป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลานาน[34] แต่ปัจจุบันเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อได้เปลี่ยนมาเป็นกวนอูแทนในหลังยุคสามก๊กมานับพันปี กวนอูเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก กวนอูเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ[ต้องการอ้างอิง]

ไม่เพียงแต่ยกย่องให้กวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กวนอูได้รับสมญานามให้เป็นถึง จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ (จีน: 忠義神武關聖大帝; พินอิน: Zhōngyì Shénwǔ Guān Shèngdàdì) [35] ซึ่งมีความหมายคือมหาเทพกวนผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ[36] โดยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงเป็นผู้แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2187 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกเรื่องความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ราษฎรซึ่งคนจีนถือความสัตย์เป็นใหญ่ร่วมกับความกตัญญูรู้คุณคน ทำให้กวนอูกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วและได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมาเป็นเวลานาน[37] และได้รับการเคารพในฐานะเทพอุปถัมภ์และเทพผู้ปกป้องคุ้มครองของตำรวจ นักการเมืองและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ[38]

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนโบราณ กวนอูอาจมีชีวิตก่อนงักฮุยเป็นเวลาเกือบพันปี กล่าวคือกวนอูเป็นบุคคลสำคัญในสมัยยุคสามก๊ก (พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823) แต่งักฮุยมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822) [39] กวนอูและงักฮุยเป็นวีรบุรุษที่เป็นที่กล่าวขานกันสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในเรื่องของความสัตย์ซื่อและจงรักภักดี ในประเทศไทยชื่อเสียงและกิตติศัพท์ความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณคนของกวนอูอาจจะเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันมากกว่างักฮุย เนื่องจากกวนอูเป็นตัวละครสำคัญในสามก๊กซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพบู๊ (จีน: 武圣) และมีสถานะเทียบกับเทพบุ๋น (จีน: 文圣) คือขงจื๊อ

ในอดีตบรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู (จีน: 满族) คือพวกเผ่าหนี่ว์เจิน (จีน: 女真族) หรือจิน (พ.ศ. 1658 - พ.ศ. 1777) แมนจูเป็นชนเผ่าที่เรืองอำนาจขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับราชวงศ์ซ่งใต้ ภายหลังจากราชวงศ์ซ่งล่มสลายลงจนถึงราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จนกระทั่งราชวงศ์ชิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวแมนจู แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานหลายร้อยปี แต่การที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืองักฮุยในฐานะวีรบุรุษต่อต้านเผ่าแมนจูหรือเผ่าจินก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งการให้การยกย่องและเคารพนับถืองักฮุยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับราษฎรทั่วไป แต่ในสายตาของขุนนางบู๊และบุ๋นภายในราชสำนักชิง การให้ความเคารพนับถือบูชางักฮุยในฐานะวีรบุรุษต้านชนเผ่าจินเป็นการเปรียบได้กับการให้ความเคารพนับถือบูชาผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงนั่นเอง ดังนั้นราชสำนักชิงจึงวางกลอุบายยกย่องกวนอูให้เป็นอีกหนึ่งวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีน เพื่อให้กวนอูกลายเป็นที่ศรัทธาเคารพบูชาของสามัญชนทั่วไปในฐานะเทพเจ้าผู้มีความสัตย์ซื่อ เพื่อเป็นการลดกระแสการเคารพนับถือและเชิดชูงักฮุยให้เบาบางลง[40]

เทพเจ้ากวนอู[แก้]

กวนอูเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมในด้านความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองในหลายดินแดนว่าเป็นบุคคลดีเด่นในประวัติศาสตร์และกลายมาเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชากราบไหว้ กวนอูได้รับเกียรติอย่างสูงสุดคือได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับขงจื๊อ คือได้รับการขนานนามว่า "เป็นนักบุญพฤติธรรม" และ "เทพเจ้าแห่งสงคราม"[41] ภายหลังจากกวนอูเสียชีวิต มีข่าวลือว่าศีรษะของกวนอูถูกฝังอยู่ทางตอนใต้ของเมืองลกเอี๋ยง ผู้คนที่ทราบข่าวและศรัทธาในตัวกวนอูจึงไปสร้างวัดเทพเจ้ากวนอูและวัดกวนหลินในเมืองลกเอี๋ยง เพื่อเป็นการสักการบูชากราบไหว้ในคุณความดีทั้งสี่ของกวนอูคือ "สัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและความกล้าหาญ"

ในการแสดงอุปรากรจีน หน้ากากกวนอูที่ใช้แสดงจะเป็นสีแดงล้วน มีความหมายถึงความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ รูปนัยน์ตาเรียวเล็กและวาดรูปคิ้วเหมือนหนอนไหม 2 ตัววางพาดลงมา และเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันว่ากวนอูมีหนวดเครายาวมากจึงเรียกขานนามกวนอูว่า "ขุนนางเคราเขียว" และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือกวนอู ในการแสดงอุปรากรจีนจึงไม่เลียนแบบลักษณะของกวนอูให้เหมือนทุกอย่าง หากแต่หน้ากากกวนอูจะเติมเพียงจุดดำลงบนหน้ากากด้วยหนึ่งจุด ซึ่งเป็นการแต้มจุดดำด้วยความตั้งใจของผู้แสดง[42]

หน้ากากกวนอู

ศาลเจ้ากวนอู[แก้]

ศาลเจ้ากวนอูในเมืองลัวหยาง ประเทศจีน

ปัจจุบันมีวัดและศาลเจ้าของกวนอูจำนวนมากทั้งในประเทศจีน ประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีวัดและศาลเจ้ามากที่สุด ในเมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์ชิง ในประเทศจีนเคยมีศาลเจ้ากวนอูถึง 116 แห่ง และมีศาลเจ้ากวนอูที่ไต้หวันถึง 500 แห่ง[43] นอกจากนี้กวนอูยังเป็นเทพพิทักษ์ในด้านการค้าขายเช่น การจำนอง, ช่างทอง, ผ้าไหม และผ้าต่วน

ในประเทศจีนศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ที่ลัวหยาง ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีน ภายในศาลเจ้าประกอบไปด้วยตำหนักสามตำหนัก ตำหนักหลักของศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ภายใน ระยะทางผ่านจากประตูใหญ่เข้าไปประมาณ 50 เมตร มีสิงโตหินจำนวน 104 ตัวเรียงรายสองข้างทาง ที่บริเวณตำหนักใหญ่ (จีน: 大殿) มีรูปปั้นกวนอูขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้คนที่เคารพนับถือสักการบูชา ตำหนักที่สอง (จีน: 二殿) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลัวหยาง

ซึ่งตามแผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ตำแหน่งของเมืองกังตั๋งนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในตำหนักมีรูปปั้นกวนอูในชุดเกราะพร้อมทำการศึกสงคราม รูปปั้นกวนอูภายในตำหนักที่สองหันใบหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยลักษณะใบหน้าถมึงทึง ดุดัน ดวงตาเบิกกว้างอย่างโกรธแค้น ซึ่งการจ้องมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกวนอู เป็นการแสดงออกถึงความโกรธแค้นของกวนอูที่มีต่อซุนกวนในการถูกสั่งประหารชีวิต[44] ภายในตำหนักที่สามมีรูปปั้นกวนอูจำนวนสององค์ โดยรูปปั้นทางด้านซ้ายมือเป็นรูปปั้นกวนอูในลักษณะของการอ่านคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว ทางด้านขวามือเป็นรูปปั้นกวนอูในอิริยาบถพักผ่อน และทางด้านหลังของตำหนักที่สาม เป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่โจโฉฝังศีรษะของกวนอูอย่างสมเกียรติในฐานะเจ้าเมืองเกงจิ๋ว[ต้องการอ้างอิง]

ในประเทศไทยศาลเจ้ากวนอูที่เป็นที่รู้จักของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดตั้งอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช สร้างขึ้นโดยพระยาอาชาชาติ (เจ้าพระยาคลัง) หรือเฉินอี้ซาน เพื่อสำหรับให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในสมัยนั้น ภายในศาลเจ้ากวนอูทางด้านขวามือมีระฆังทองเหลืองใบใหญ่ตั้งอยู่ ที่ผิวระฆังมีอักษรจารึกระบุสร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้เต๋อจงในยุคสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2435 จึงสันนิษฐานได้ว่าศาลเจ้ากวนอูสร้างขึ้นในระหว่างปีดังกล่าว[45]

กวนอูในศาสนาเต๋า[แก้]

กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น จักรพรรดิเทพกวน (จีน: 關聖帝君) และเป็นเทพพิทักษ์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า การบูชากวนอูเริ่มต้นในราชวงศ์ซ่ง ตามตำนานเล่าว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1220 ทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งในปัจจุบันคือเซี่ยโจว (จีน: 解州鎮) เริ่มที่จะผลิตเกลือไม่ได้ จักรพรรดิฮุยจงจึงทรงมีรับสั่งให้นักพรตจางจี้เซียน (จีน: 張繼先) ตรวจหาสาเหตุ ซึ่งได้ทรงรับรายงานว่าเป็นฝีมือของชือโหยว (จีน: 蚩尤) เทพแห่งสงคราม นักพรตจึงอัญเชิญกวนอูเข้ามาต่อสู้จนเอาชนะชือโหยวและสามารถผลิตเกลือได้ดังเดิม พระจักรพรรดิจึงพระราชทานนามให้กวนอูว่า ผู้เป็นอมตะแห่งฉงหนิง (จีน: 崇寧真君) และยกกวนอูให้เป็นเทพในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง]

ช่วงต้นราชวงศ์หมิง นักพรตจางเจิ้งฉาง (จีน: 張正常) บันทึกในหนังสือของตนเองในชื่อ ฮั่นเทียนซือซื่อเจีย (จีน: 漢天師世家) เพื่อเป็นการยืนยันตำนานนี้ ทุกวันนี้กวนอูได้รับการนับถือมากในลัทธิเต๋า หลายวัดเต๋าอุทิศเพื่อกวนอูโดยเฉพาะวัดจักรพรรดิกวนในเซี่ยโจวที่ได้รับอิทธิพลเต๋าอย่างมาก ทุกวันที่ 24 เดือน 6 ตามหลักจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันเกิดของกวนอู จะมีขบวนแห่เฉลิมฉลองแด่กวนอูอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ[ต้องการอ้างอิง]

กวนอูในศาสนาพุทธ[แก้]

ตามแนวคิดของชาวพุทธในจีน กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น พระสังฆารามโพธิสัตว์ (จีน: 伽藍菩薩: แคนำผู่สัก) หมายถึงผู้พิทักษ์ธรรมของชาวพุทธ โดยคำว่า สังฆาราม ในภาษาสันสกฤตหมายถึงสวน[[ชุมชน[[และหมายถึงวัด ดังนั้น พระสังฆาราม จึงหมายถึงผู้พิทักษ์พระรัตนตรัยนั่นเอง ดังนั้นกวนอูจึงเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์ โดยวัดและสวนที่ตั้งรูปปั้นกวนอูนั้น รูปปั้นของกวนอูมักจะถูกวางไว้ ณ ส่วนไกลด้านซ้ายของพระอุโบสถ คู่กับ พระเวทโพธิสัตว์ (จีน: 韋馱菩薩: อุ่ยท้อผู่สัก, ตรงกับพระสกันทะหรือพระขันธกุมารของฮินดู)[ต้องการอ้างอิง]

ตามตำนานชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 1135 กวนอูได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าจื้ออี่ (จีน: 智顗) ผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริก ว่ากันว่าขณะนั้นจื้ออี่นั่งสมาธิอยู่ที่เขาจวนหยกสันยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉山) และตื่นจากสมาธิเพราะการปรากฏตัวของกวนอู กวนอูขอให้จื้ออี่สอนหลักธรรมให้ตนแล้วปวารณาตนขอรับศีลห้า จึงกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่ากวนอูปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและเป็นผู้ช่วยเหลือจื้ออี่ก่อตั้งวัดยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉寺) จนปรากฏตราบจนทุกวันนี้[ต้องการอ้างอิง]

ในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ว่าภายหลังจากที่กวนอูเสียชีวิตได้กลายเป็นอสุรกายที่เต็มไปด้วยความพยาบาทลิบองอยู่ในภูเขา และได้ไปปรากฏร่างต่อหลวงจีนเภาเจ๋ง (จีน: 普淨) บนยอดเขาจวนหยกสัน(จีน: 玉泉山) เพื่อเรียกร้องให้นำศีรษะตนเองกลับคืนมา จากการเทศนาของหลวงจีนเภาเจ๋งที่กล่าวว่า "กงเกวียนกำเกวียน ตัวฆ่าเขาเขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า"[46] ทำให้กวนอูได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมและปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

นอกจากกวนอูจะเป็นตัวละครจากวรรณกรรมสามก๊ก ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวขานค่อนข้างมากจากนักอ่าน เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อที่คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชากราบไว้แล้ว ปัจจุบันได้มีสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับกวนอูอีกเป็นจำนวนมาก เช่น

ภาพยนตร์[แก้]

  • ในภาพยนตร์ชวนหัวของ โจว ซิงฉือ ในปี พ.ศ. 2537 เรื่อง พยัคฆ์ไม่ร้าย คัง คัง ฉิก ในส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ โจว ซิงฉือพบว่าตนเองได้รับบาดเจ็บ มีกระสุนปืนฝังในกระดูก จึงเลือกที่จะนั่งมองดูภาพเปลือยของหญิงสาวเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความเจ็บปวดในขณะที่ผ่าตัดนำกระสุนออก และภายหลังจากการรักษา โจว ซิงฉือได้รับคำถามว่าทำไมจึงเลือกที่จะนั่งมองดูภาพเปลือยของหญิงสาว ซึ่งคำตอบที่ได้คือเป็นการทำตามแบบกวนอูที่ได้รับบาดเจ็บจากเกาทัณฑ์อาบยาพิษภายหลังจากนำกำลังทหารไปบุกเมืองอ้วนเซีย และเอียงไหล่ให้ฮูโต๋รักษาอาการบาดเจ็บพร้อมกับเล่นหมากรุกกับม้าเลี้ยง[ต้องการอ้างอิง]
  • ในภาพยนตร์เรื่อง My Name Is Bruce เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณพยาบาทของกวนอูที่ได้รับการปลดปล่อยโดยบังเอิญด้วยฝีมือแก๊งวัยรุ่น ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิญญาณพยาบาทจึงไปจ้างนักแสดงชื่อ บรูส แคมเบล ซึ่งเป็นนักแสดงหนัง B-Movie ให้มาปราบ โดยบรูส แคมเบลเข้าใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเพียงการแสดง แต่ภายหลังพบว่าทั้งหมดเป็นเหตุการณ์จริง[47]
  • ภาพยนตร์ฮ่องกงอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู เป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมสามก๊กในตอนกวนอูฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล โดยตัวละครกวนอูรับบทโดย ดอนนี่ เยน

ละครโทรทัศน์[แก้]

  • ละครโทรทัศน์เรื่อง สามก๊ก ของประเทศจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องวรรณกรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวของกวนอูตั้งแต่เริ่มพบกับเล่าปี่จนกระทั่งเสียชีวิต โดย ลู่ ซู่หมิง นักแสดงชาวจีนที่รับบทกวนอู
  • สามก๊ก เป็นละครที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2553 แสดงเป็นกวนอูโดย อู๋ หรงกวง

วิดีโอเกม[แก้]

  • กวนอูเป็นตัวละครแบบบังคับได้ในเกมซีรีส์ ไดนาสตีวอริเออร์ (Dynasty Warriors) ของค่ายเกมส์โคอิ
  • กวนอูเป็นนายทหารในเกมซีรีส์ Romance of the Three Kingdoms ซึ่งมักจะเป็นหนึ่งในตัวละครของเกม ที่มีค่าทักษะ "สงคราม" และ "ความเป็นผู้นำ" สูงสุด ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ดีที่สุดของเกม
  • กวนอูถูกนำมาปรากฏตัวในเกม Sango Fighter' เพียงเล็กน้อย
  • เกมเมเปิลสตอรี มีอุปกรณ์ที่ใช้ในเกมมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องแต่งกายและอาวุธของกวนอู
  • เกม Destiny of an Emperor กวนอูเป็นตัวละครในกลุ่มของเล่าปี่ และเป็นตัวละครที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด
  • เกม Emperor: Rise of the Middle Kingdom หรือ "อาณาจักรแห่งจอมจักรพรรดิ" ของค่ายเกม Sierra กวนอูได้รับการกำหนดให้เป็นวีรบุรุษลัทธิเต๋าที่มีความรู้ในลัทธิขงจื๊อ ออกสั่งสอนประชาชนภายในเกม
  • เกม "'Atlantica Online"' ได้นำกวนอูมาทำเป็น Mercenary Class A สายหอก มีชื่อ Class ว่า General
  • กวนอูอยู่ในเกมที่เขาชื่อเล่น (เจียงจุน) "'For Honor"'

เกมไพ่[แก้]

  • ในเกมไพ่ชุดเมจิกเดอะแกเธอริง ตอนชุดสามก๊ก ไพ่กวนอูกลายเป็นไพ่หายากที่สุด เนื่องจากเป็นไพ่ที่มีทักษะ "ทหารขี่ม้า"
  • ในเกมไพ่ของ History Channel กวนอูเป็นไพ่ที่มีความสามารถในการเริ่มต้นของการดำเนินเกมสูง

การ์ตูน[แก้]

  • มหาสงคราม ลูกแก้วมากะ (ญี่ปุ่น: 一騎当千) เป็นเรื่องราวของเหล่าขุนศึกสามก๊กที่กลับมาเกิดใหม่ เป็นนักเรียนมัธยมปลายสาวในญี่ปุ่นและดำเนินการต่อสู้ โดยตัวละครที่แทนกวนอูถือง้าวมังกรเขียวตามแบบฉบับของวรรณกรรมสามก๊ก
  • นอกจากนี้ ในการ์ตูน SD Gundam ปี พ.ศ. 2550 เป็นการเอาวรรณกรรมสามก๊กอันโด่งดังของจีน มาทำใหม่ในรูปแบบของกันดั้ม โดยเครื่องดับเบิ้ลเซต้ากันดั้ม ถูกออกแบบให้คล้ายกับลักษณะการแต่งกายและอาวุธของกวนอู
  • และสามก๊กโมเอะ
  • ในการ์ตูน สามก๊ก มหาสนุก ผลงานการ์ตูนสามก๊กของหมู นินจา ได้มีการกล่าวถึงกวนอูด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้อาชีพดั้งเดิมของกวนอูคือพ่อค้าขายถั่วเช่นเดียวกับในสามก๊ก ฉบับละครโทรทัศน์ของประเทศจีน กวนอูในสามก๊ก มหาสนุกจะมีลักษณะที่แตกต่างกับกวนอูในการ์ตูนทั่วไปเล็กน้อย คือ มีหนวดและเคราสั้น ซึ่งในการ์ตูนสามก๊กโดยทั่วไปจะวาดให้กวนอูมีหนวดและเครายาวตามคำบรรยายลักษณะของกวนอูในวรรณกรรม เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์สำคัญของกวนอู ลักษณะเด่นอีกอย่างกวนอูในสามก๊กมหาสนุกคือ บนผ้าโพกศีรษะจะมีอักษรไทย ปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงถึงแซ่ของกวนอูคือ กวน

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่ากวนอูถูกจับและถูกประหารในเดือน 12 ศักราชเจี้ยนอันปีที่ 24 ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้[1] เดือนนี้ตรงกับช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคมถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 220 ในปฏิทินจูเลียนและปฏิทินก่อนเกรโกเรียน
  2. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายความถึงกวนอูเมื่อเริ่มมีบทบาทว่า "ผู้นั้นจึงบอกว่าเราชื่อกวนอู อีกชื่อหนึ่งนั้นหุนเตี๋ยง'"[2]
  3. 3.0 3.1 "เคราที่มิมีผู้ใดเทียบ" เป็นการกล่าวถึงกวนอู เพราะกวนอูมีเคราที่งดงาม[ซานกั๋วจื้อ 1]
  4. ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หนึ่งฉื่อมีความยาวประมาณ 23.1 เซนติเมคร เก้าฉื่อคือความสูงประมาณ 2.079 เมตร (6 ฟุต 9.85 นิ้ว).[4][5][6]
  5. ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หนึ่งฉื่อมีความยาวประมาณ 23.1 เซนติเมคร สองฉื่อคือความยาวประมาณ 46.2 เซนติเมตร (ประมาณ 18 นิ้ว)
  6. ใบหน้าของกวนอูมีสีแดงเข้ม เหมือนกับสีของผลพุทราสุก
  7. หางตาชี้ขึ้น
  8. คิ้วยาวและเรียว
  9. บรรดาศักดิ์ชั้นโหว (เฮา) ในยุคราชวงศ์ฮั่นและยุคสามก๊กถูกแบ่งเป็นสามระดับ ลำดับชั้นจากน้อยไปมากได้แก่ ถิงโหว (亭侯 โหวระดับหมู่บ้าน), เซียงโหว (郷侯; โหวระดับตำบล) และ เซี่ยนโหว (縣侯; โหวระดับอำเภอ) ของกวนอูเป็นแบบแรก

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิงจากจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) เล่มที่ 36[แก้]

  1. (羽美鬚髯,故亮謂之髯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36
  2. (關羽字雲長,本字長生,河東解人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  3. (亡命奔涿郡。先主於鄉里合徒衆,而羽與張飛為之禦侮。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  4. (先主為平原相,以羽、飛為別部司馬,分統部曲。先主與二人寢則同牀,恩若兄弟。而稠人廣坐,侍立終日,隨先主周旋,不避艱險。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  5. (先主之襲殺徐州刺史車冑,使羽守下邳城,行太守事,而身還小沛。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  6. (建安五年,曹公東征,先主奔袁紹。曹公禽羽以歸,拜為偏將軍,禮之甚厚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  7. (紹遣大將軍顏良攻東郡太守劉延於白馬,曹公使張遼及羽為先鋒擊之。羽望見良麾蓋,策馬刺良於萬衆之中,斬其首還,紹諸將莫能當者,遂解白馬圍。曹公即表封羽為漢壽亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  8. (初,曹公壯羽為人,而察其心神無乆留之意,謂張遼曰:「卿試以情問之。」旣而遼以問羽,羽歎曰:「吾極知曹公待我厚,然吾受劉將軍厚恩,誓以共死,不可背之。吾終不留,吾要當立效以報曹公乃去。」遼以羽言報曹公,曹公義之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  9. (及羽殺顏良,曹公知其必去,重加賞賜。羽盡封其所賜,拜書告辭,而奔先主於袁軍。左右欲追之,曹公曰:「彼各為其主,勿追也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  10. (從先主就劉表。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  11. (表卒,曹公定荊州,先主自樊將南渡江,別遣羽乘船數百艘會江陵。曹公追至當陽長阪,先主斜趣漢津,適與羽船相值,共至夏口。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  12. (孫權遣兵佐先主拒曹公,曹公引軍退歸。先主收江南諸郡,乃封拜元勳,以羽為襄陽太守、盪寇將軍,駐江北。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  13. (先主西定益州,拜羽董督荊州事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  14. (二十四年,先主為漢中王,拜羽為前將軍,假節鉞。是歲,羽率衆攻曹仁於樊。曹公遣于禁助仁。秋,大霖雨,漢水汎溢,禁所督七軍皆沒。禁降羽,羽又斬將軍龐德。梁郟、陸渾羣盜或遙受羽印號,為之支黨,羽威震華夏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  15. (曹公議徙許都以避其銳,司馬宣王、蔣濟以為關羽得志,孫權必不願也。可遣人勸權躡其後,許割江南以封權,則樊圍自解。曹公從之。先是,權遣使為子索羽女,羽罵辱其使,不許婚,權大怒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  16. (而曹公遣徐晃救曹仁,羽不能克,引軍退還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  17. (又南郡太守麋芳在江陵,將軍傅士仁屯公安,素皆嫌羽自輕己。羽之出軍,芳、仁供給軍資不悉相救。羽言「還當治之」,芳、仁咸懷懼不安。於是權陰誘芳、仁,芳、仁使人迎權。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  18. (權已據江陵,盡虜羽士衆妻子,羽軍遂散。權遣將逆擊羽,斬羽及子平于臨沮。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  19. (追謚羽曰壯繆侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  20. (羽聞馬超來降,舊非故人,羽書與諸葛亮,問超人才可誰比類。亮知羽護前,乃荅之曰:「孟起兼資文武,雄烈過人,一世之傑,黥、彭之徒,當與益德並驅爭先,猶未及髯之絕倫逸羣也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  21. (羽省書大恱,以示賔客。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  22. (羽甞為流矢所中,貫其左臂,後創雖愈,每至陰雨,骨常疼痛,醫曰:「矢鏃有毒,毒入于骨,當破臂作創,刮骨去毒,然後此患乃除耳。」羽便伸臂令醫劈之。時羽適請諸將飲食相對,臂血流離,盈於盤器,而羽割炙引酒,言笑自若。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  23. (子興嗣。興字安國,少有令問,丞相諸葛亮深器異之。弱冠為侍中、中監軍,數歲卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  24. (子統嗣,尚公主,官至虎賁中郎將。卒,無子,以興庶子彝續封。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.

อ้างอิงจากจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) เล่มอื่น ๆ[แก้]

  1. (靈帝末,黃巾起,州郡各舉義兵,先主率其屬從校尉鄒靖討黃巾賊有功,除安喜尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  2. (先主據下邳。靈等還,先主乃殺徐州刺史車冑,留關羽守下邳,而身還小沛。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  3. (五年,曹公東征先主,先主敗績。曹公盡收其衆,虜先主妻子,并禽關羽以歸。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  4. (曹公與袁紹相拒於官渡,汝南黃巾劉辟等叛曹公應紹。紹遣先主將兵與辟等略許下。關羽亡歸先主。曹公遣曹仁將兵擊先主,先主還紹軍,陰欲離紹,乃說紹南連荊州牧劉表。紹遣先主將本兵復至汝南,與賊龔都等合,衆數千人。 ... 曹公旣破紹,自南擊先主。先主遣麋笁、孫乾與劉表相聞,表自郊迎,以上賔禮待之,益其兵,使屯新野。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  5. (聞先主已過,曹公將精騎五千急追之,一日一夜行三百餘里,及於當陽之長坂。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 32.
  6. (後從平荊州,留屯襄陽,擊關羽、蘇非等,皆走之, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.
  7. (與樂進討關羽於尋口,有功 ... 又攻羽輜重於漢津,燒其船於荊城。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 18.
  8. (及羽與肅鄰界,數生狐疑,疆埸紛錯,肅常以歡好撫之。備旣定益州,權求長沙、零、桂,備不承旨,權遣呂蒙率衆進取。備聞,自還公安,遣羽爭三郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  9. (羽號有三萬人,自擇選銳士五千人,投縣上流十餘里淺瀨,云欲夜涉渡。肅與諸將議。 ... 肅便選千兵益寧,寧乃夜往。羽聞之,住不渡,而結柴營,今遂名此處為關羽瀨。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
  10. (備遂割湘水為界,於是罷軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  11. (賊圍頭有屯,又別屯四冢。晃揚聲當攻圍頭屯,而密攻四冢。羽見四冢欲壞,自將步騎五千出戰,晃擊之,退走,遂追陷與俱入圍,破之,或自投沔水死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.
  12. (羽果信之,稍撤兵以赴樊。魏使于禁救樊,羽盡禽禁等,人馬數萬,託以糧乏,擅取湘關米。權聞之,遂行,先遣蒙在前。蒙至尋陽,盡伏其精兵[][]中,使白衣搖櫓,作商賈人服,晝夜兼行,至羽所置江邊屯候,盡收縛之,是故羽不聞知。遂到南郡,士仁、麋芳皆降。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  13. (會權尋至,羽自知孤窮,乃走麥城,西至漳鄉,衆皆委羽而降。權使朱然、潘璋斷其徑路,即父子俱獲,荊州遂定。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 54.
  14. (權征關羽,璋與朱然斷羽走道,到臨沮,住夾石。璋部下司馬馬忠禽羽,并羽子平、都督趙累等。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 55.
  15. ([景耀]三年秋九月,追謚故將軍關羽、張飛、馬超、龐統、黃忠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.

อ้างอิงจากอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้)[แก้]

  1. (江表傳云:羽好左氏傳,諷誦略皆上口。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวฉฺวันในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  2. (魏書云:以羽領徐州。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  3. (傅子曰:遼欲白太祖,恐太祖殺羽,不白,非事君之道,乃歎曰:「公,君父也;羽,兄弟耳。」遂白之。太祖曰:「事君不忘其本,天下義士也。度何時能去?」遼曰:「羽受公恩,必立效報公而後去也。」) อรรถาธิบายจากฟู่จื่อในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  4. (臣松之以為曹公知羽不留而心嘉其志,去不遣追以成其義,自非有王霸之度,孰能至於此乎?斯實曹氏之休美。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  5. (蜀記曰:羽初出軍圍樊,夢豬嚙其足,語子平曰:「吾今年衰矣,然不得還!」) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  6. (蜀記曰:羽與晃宿相愛,遙共語,但說平生,不及軍事。須臾,晃下馬宣令:「得關雲長頭,賞金千斤。」羽驚怖,謂晃曰:「大兄,是何言邪!」晃曰:「此國之事耳。」) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ใน จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  7. (典略曰:羽圍樊,權遣使求助之,勑使莫速進,又遣主簿先致命於羽。羽忿其淹遲,又自已得于禁等,乃罵曰:「狢子敢爾,如使樊城拔,吾不能滅汝邪!」權聞之,知其輕己,偽手書以謝羽,許以自往。) อรรถาธิบายจากเตี่ยนเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  8. (臣松之以為荊、吳雖外睦,而內相猜防,故權之襲羽,潛師密發。按呂蒙傳云:「伏精兵於[][]之中,使白衣搖櫓,作商賈服。」以此言之,羽不求助於權,權必不語羽當往也。若許相援助,何故匿其形迹乎?) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  9. (蜀記曰:權遣將軍擊羽,獲羽及子平。權欲活羽以敵劉、曹,左右曰:「狼子不可養,後必為害。曹公不即除之,自取大患,乃議徙都。今豈可生!」乃斬之。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  10. (臣松之桉吳書:孫權遣將潘璋逆斷羽走路,羽至即斬,且臨沮去江陵二三百里,豈容不時殺羽,方議其生死乎?又云「權欲活羽以敵劉、曹」,此之不然,可以絕智者之口。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  11. (吳歷曰:權送羽首於曹公,以諸侯禮葬其屍骸。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  12. (蜀記曰:曹公與劉備圍呂布於下邳,關羽啟公,布使秦宜祿行求救,乞娶其妻,公許之。臨破,又屢啟於公。公疑其有異色,先遣迎看,因自留之,羽心不自安。此與魏氏春秋所說無異也。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  13. (初,羽隨先主從公圍呂布於濮陽,時秦宜祿為布求救於張楊。羽啟公:「妻無子,下城,乞納宜祿妻。」公許之。及至城門,復白。公疑其有色,李本作他。自納之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
  14. (蜀記曰:龐德子會,隨鍾、鄧伐蜀,蜀破,盡滅關氏家。) อรรถาธิบายจากฉู่จี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.

รายการอ้างอิงอื่น ๆ[แก้]

  1. ([建安二十四年]十二月,璋司馬馬忠獲羽及其子平於章鄉,斬之,遂定荊州。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 68.
  2. "สามก๊ก ตอนที่ ๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ February 28, 2024.
  3. Perkins (1999), p. 192.
  4. Hulsewé (1961), pp. 206–207.
  5. Dubs (1938), pp. 276–280.
  6. Dubs (1938), p. 160.
  7. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1
  8. (名與實爽曰繆。) อี้โจวชู เล่มที่ 6. บทที่ 54.
  9. "จอมเทพวินัยธร กวนอู". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-13. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
  10. กวนอูขอคำมั่นสัญญาสามข้อจากโจโฉ, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 341
  11. โจโฉมอบเสื้อผ้าใหม่ให้แก่กวนอู, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 345
  12. 12.0 12.1 โจโฉมอบม้าเซ็กเธาว์ให้กวนอู, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 347
  13. 13.0 13.1 กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, สามก๊ก ฉบับวณิพก, ยาขอบ, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, พ.ศ. 2529, หน้า 384
  14. โจโฉหวังให้กวนอูแตกน้ำใจกับเล่าปี่, กวนอูขอคำมั่นสัญญาแล้วยอมอยู่กับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 344
  15. 15.0 15.1 โจโฉอุบายให้กวนอูฆ่างันเหลียงทหารเอกอ้วนเสี้ยว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 352
  16. จิวยี่ให้เชิญเล่าปี่มากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 608
  17. เล่าปี่จัดทัพดักจับโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 659
  18. กวนอูปล่อยโจโฉ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 668
  19. 19.0 19.1 โลซกให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 177
  20. 20.0 20.1 โลซกครั่นคร้ามกวนอูจนไม่กล้าเงยหน้า, โลซกให้เชิญกวนอูมากินโต๊ะ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 178
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 กวนอูถูกเกาทัณฑ์, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 292
  22. แฮหัวตุ้นรับอาสาไปรบเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 541
  23. แฮหัวตุ้นรับอาสาไปรบเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 543
  24. เล่าปี่ให้กวนอูไปตีเมืองอ้วนเซีย, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 275
  25. โจโฉกับซุนกวนคิดจะรวมกันรบกับเล่าปี่, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 272
  26. กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, ยาขอบ, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, พ.ศ. 2529, หน้า 400
  27. เล่าปี่ให้ไปเชิญขงเบ้งมาจากเมืองเกงจิ๋ว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 136
  28. Brunnert & Hagelstrom (2013), p. 494.
  29. Yan (2006), p. 277.
  30. เริ่มกล่าวถึงเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 8
  31. "ง้าวมังกรเขียว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  32. ถอนฟืนใต้กระทะ คอลัมน์ชักธงรบ กิเลน ประลองเชิง วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551
  33. กวนหินฆ่าพัวเจี้ยงชิงง้าวกวนอูกลับคืน, เล่าปี่ตีกองทัพซุนกวนแตกโดยลำดับ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 380
  34. "งักฮุย เทพเจ้าแห่งความจงรักภักดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-13. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
  35. 文昌帝君【關聖帝君】傳奇 เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้ารหัสแบบอักษรจีนตัวเต็ม Big5) (จีน)
  36. "จงอี้เหรินหย่งเสินต้าตี้ มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  37. "เทพเจ้ากวนอู วัดพนัญเชิงวรวิหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  38. "เทพเจ้ากวนอู ผู้ได้รับการเคารพในหลายบทบาท หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์-ไลฟ์สไตล์-กวนอู วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-09-23.
  39. จากกวนอูถึงงักฮุย
  40. "ทำไมเทพเจ้ากวนอูจึงมีคนรู้จักมากกว่าเทพเจ้าขุนพลงักฮุย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-24.
  41. "ถามหา "คุณธรรม" ถามหาต้นแบบ "เทพเจ้ากวนอู"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  42. ตำนานเทพเจ้ากวนอู, วิภาวัลย์ บุณยรัตนพันธ์, สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, พ.ศ. 2551, หน้า 112
  43. "เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2008-09-21.
  44. ศาลเจ้ากวนอู ลัวหยาง
  45. ศาลเจ้ากวนอู เยาวราช
  46. อสุรกายกวนอู, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 316
  47. "My Name is Bruce movie trailer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]