เทพทาโร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทพทาโร
ต้นเทพทาโรในฮ่องกง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: แมกโนลิด
อันดับ: อันดับอบเชย
วงศ์: วงศ์อบเชย
สกุล: สกุลอบเชย
(Jack) Meisn.[2]
สปีชีส์: Cinnamomum parthenoxylon
ชื่อทวินาม
Cinnamomum parthenoxylon
(Jack) Meisn.[2]
ชื่อพ้อง[2]
Synonymy
  • Camphora chinensis Nees
  • Camphora inodora Blume ex Miq.
  • Camphora inuncta Nees
  • Camphora parthenoxylon (Jack) Nees
  • Camphora porrecta (Roxb.) Voigt
  • Camphora pseudosassafras Miq.
  • Cinnamomum barbatoaxillatum N.Chao
  • Cinnamomum inodorum (Blume ex Miq.) Meisn.
  • Cinnamomum inunctum (Nees) Meisn.
  • Cinnamomum malaccense Meisn.
  • Cinnamomum neesianum Meisn.
  • Cinnamomum penninervium Kosterm.
  • Cinnamomum porrectum Kosterm.
  • Cinnamomum pseudosassafras Meisn.
  • Cinnamomum purpureum H.G.Ye & F.G.Wang
  • Laurus chinensis Nees
  • Laurus glandulifera Meisn.
  • Laurus parthenoxylon Jack
  • Laurus porrecta Roxb.
  • Laurus pruinosa Reinw. ex Blume
  • Laurus pseudosassafras Blume
  • Laurus sassafras Lour.
  • Litsea pruinosa Nees
  • Parthenoxylon porrectum (Roxb.) Blume
  • Parthenoxylon pruinosum Blume
  • Parthenoxylon pseudosassafras Blume
  • Persea pseudosassafras Zoll. & Moritzi
  • Phoebe latifolia Champ. ex Benth.
  • Sassafras loureiroi Kostel.
  • Sassafras parthenoxylon (Jack) Nees
  • Tetranthera camphoracea Wall. ex Meisn.

เทพทาโร (ออกเสียง [เทบ-พะ-ทา-โร]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cinnamomum porrectum Kosterm) เป็นต้นไม้หอมชนิดหนึ่งสกุลเดียวกับต้นอบเชย มีต้นขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์ Lauraceae พบในเอเชียใต้ถึงตะวันออก[3] และเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพังงา

เทพทาโรเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลับทึบ ใบมีสีเขียวเข้ม ลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียวหรืออมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น เมื่อถากเปลือกออกจะมีกลิ่นหอม กิ่งมีลักษณะอ่อนเรียว เกลี้ยงและมักมีคราบขาว ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน เป็นใบรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาว ปลายใบแหลม โคนใบแหลมและกลม ยาวประมาณ 7 - 20 ซม. ก้านใบเรียวเล็ก 2.5 - 3.5 ซม. ดอกออกเป็นช่อ สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกดอกตามปลายกิ่งเป็นกระจุกยาว 2.5 - 7.5 ซม. ก้านช่อดอกจะเรียวยาวและเล็กมาก ผลมีขนาดเล็กและกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 มม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียว ยาวประมาณ 3 - 5 ซม. ลักษณะเนื้อไม้มีสีเทาแกมน้ำตาล มีกลุ่มหอมฉุน มีริ้วสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง หรือสับสน เป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย เหนียว แข็งพอประมาณ เลื่อย ไส้กบ ตบแต่งง่าย สารสำคัญในเนื้อไม้ จะพบ d - camphor ที่ใช้แทน sassafras ได้ดีให้น้ำมันที่มีสารหอม คือ safrol และ cinnamic aldehyde และยังพบ safrol ในเปลือกต้นและใบ การขยายพันธุ์ไม้เทพทาโรที่นิยมปฏิบัติกันคือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ

ต้นเทพทาโรเป็นไม้หอมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงสมควรที่จะปลูกสร้างสวนป่าไม้เทพทาโรขึ้นในที่ที่มีความชุ่มชื่นเพียงพอ เพราะเทพทาโรจะชอบขึ้นอยู่บนเขาในป่าดงดิบ พบมากที่สุดทางภาคใต้ อาจจะปลูกใต้ร่มไม้อื่นหรือปลูกเป็นไม้แซมสวนป่า น่าจะเจริญเติบโตดีกว่าปลูกเป็นไม้เบิกนำในที่โล่งแจ้ง

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ[แก้]

เทพทาโรมีเขตการกระจายพันธุ์แถบเอเชียเขตร้อน นับตั้งแต่ทิวเขาตะนาวศรีในพม่า ไทย มลายู จนถึงแถบคาบสมุทรอินโดจีนและสุมาตรา ไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นบนพื้นที่สูง มีลักษณะคล้ายกับ C. neesianum Meissn ซึ่งเป็นไม้ที่พบกระจายพันธุ์อยู่แถบจีนตอนใต้และตังเกี๋ย

ในประเทศไทย จะพบเทพทาโรขึ้นอยู่ห่าง ๆ กันบนเขาในป่าดงดิบทั่วประเทศ แต่จะพบมากที่สุดทางภาคใต้ เทพทาโรเป็นไม้พื้นเมืองเก่าแก่ของไทย พบหลักฐานการอ้างถึงครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ดังปรากฏในไตรภูมิพระร่วง เมื่อ พ.ศ. 1888 กล่าวถึงพรรณพืชหอมในอุตตรกุรุทวีป จะประกอบด้วยจวง จันทน์ กฤษณา คันธา เป็นต้น

ชื่อสามัญ[แก้]

ไทย
  • จวง จวงหอม (ภาคใต้)
  • จะไค้ต้น จะไค้หอม (ภาคเหนือ)
  • ตะไคร้ต้น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • เทพทาโร (ภาคกลาง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี)
  • พลูต้นขาว (เชียงใหม่)
  • มือแดกะมางิง (มาเลเซีย ปัตตานี)
บาลี
  • เทวทารุ นารท
อังกฤษ
  • Citronella laurel, True laurel.

อ้างอิง[แก้]

  1. de Kok, R. (2020). "Cinnamomum parthenoxylon". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T33198A2834736. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-1.RLTS.T33198A2834736.en. สืบค้นเมื่อ 10 April 2023.
  2. 2.0 2.1 Cinnamomum parthenoxylon (Jack) Meisn. Plants of the World Online. Accessed 10 April 2023.
  3. Li, Xi-wen; Li, Jie; van der Werff, Henk. "Cinnamomum parthenoxylon". Flora of China. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 February 2014. สืบค้นเมื่อ 27 March 2013 – โดยทาง eFloras.org, Missouri Botanical Garden, St. Louis, MO & Harvard University Herbaria, Cambridge, MA.