เด็กชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เด็กชา คือบุคคลที่ทำงานรับใช้เจ้านายในรั้วในวัง มักเรียกขานตำแหน่งแบบควบรวมว่า มหาดเล็กเด็กชา ซึ่งแท้จริงแล้วตำแหน่งมหาดเล็กและเด็กชาเป็นตำแหน่งที่แยกจากกันแต่ทำงานอยู่ในกองเดียวกัน หน้าที่คล้ายกัน คือรับใช้พระมหากษัตริย์และเจ้านาย ในพระราชวัง เด็กชาคือข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ทำงานรับใช้อยู่ในสังกัดกรมมหาดเล็กนั่นเอง

เด็กชาแห่งพระนครคีรีเมืองเพชร[แก้]

นับเนื่องแต่ชาวโซ่งหรือไทยทรงดำถูกกวาดครัวมาทั้งสามยุคสามสมัยคือ ปลายสมัยพระเจ้าตาก สมัยรัชกาลที่ 1 และสมัยรัชกาลที่ 3 โซ่งเพชรบุรี อาศัยภายใต้แผ่นดินสยามประเทศอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตน หรืออีกนัยหนึ่งการปกครองโดยการใช้อำนาจของเจ้าเมืองเพชรบุรี ในฐานะชนชั้นปกครองมิได้ระรานโซ่งเหล่านี้ให้ต้องเดือดร้อน

ดังนั้นประวัติศาสตร์ จึงไม่ปรากฏเหตุการณ์ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มต่างๆ กระด้างกระเดื่องในดินแดนเมืองเพชรบุรี ให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ขณะที่โซ่งดูเหมือนจะพึงพอใจในดินแดนใหม่ของพวกเขาไม่น้อยเลย โซ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ต่างกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น คือ เจียมตน เชื่อฟังชนชั้นปกครอง ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อเจ้านายสูงยิ่ง ความซื่อสัตย์ เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของชนชาวโซ่งมาแต่เดิม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยโซ่ง เนื่องจากเบื้องหลังความสำเร็จในการก่อสร้างพระราชวังบนเขาสมนที่เมืองเพชร ต่อมาเรียกว่าพระนครคีรี ซึ่งได้เกณฑ์ชาวโซ่งมาเป็นแรงงาน พระองค์ทรงจ้างโซ่งและพวนบ้านเชิงเขาหลวง เฝ้ารักษาพระพุทธรูปในถ้ำเขาหลวง เมื่อครั้งเสด็จประพาส ปี พ.ศ. 2402 อีกทั้งทรงพระเมตตาต่อบรรดาโซ่ง โดยโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกโซ่งมารับใช้ในพระราชวังพระนครคีรี ในตำแหน่งที่เรียกขานกันว่า เด็กชา

เด็กชาชาวโซ่งเพชรบุรี[แก้]

การคัดเลือกโซ่งมาเป็นเด็กชานั้น หลวงไชยภักดีผู้นำโซ่งบ้านสะพานยี่หน เป็นผู้ทำหน้าที่คัดเลือกโซ่งที่มีความประพฤติดีเป็นพิเศษ ในพระราชวังพระนครคีรีมีเด็กชาที่ได้รับการคัดเลือกมาจากบ้านสะพานยี่หน เวียงคอย วังตะโก หนองพลับ เป็นต้น โดยมีหลวงไชยภักดีเป็นหัวหน้าเด็กชา

เด็กชาเหล่านี้แบ่งกันทำหน้าที่รับใช้เจ้านาย แต่ละพระองค์ เด็กชาบางคนรับใช้ใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 บ้างทำหน้าที่หามคาน หามเสลี่ยง ขึ้นลงเขา ยามพระองค์เสด็จฯ เด็กชารุ่นเก่าๆ หลายคน คุ้นเคยกับเจ้านาย ข้าราชบริพาร พระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์ บางพระองค์ได้ขี่คอพวกเด็กชาขึ้นลงเขาวัง เป็นที่สนุกสนาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อยังทรงพระเยาว์ตามเสด็จฯ มาพระนครคีรีอยู่เนืองๆ พระองค์จึงทรงคุ้นเคยกับเด็กชารุ่นเก่าๆ

เด็กชาเหล่านี้นอกจากรับใช้ในหลวง และเจ้านายต่างๆเวลาเสด็จมาประทับแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ รักษาข้าวของในพระนครคีรีอีกด้วย เด็กชาจะเข้าเวรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็นชุดๆ ชุดละ 3-4 คน โดยมีมหาดเล็กเป็นหัวหน้าควบคุมอีกทีหนึ่ง หัวหน้าผู้ดูแลพระนครคีรีมีบรรดาศักดิ์ที่พระบริบาลคีรีมาตย์ ดูแลพระราชวังโดยรวมทั้งหมด ปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลพระราชวังพระนครคีรี คือตำแหน่งหัวหน้าพิพิธภัณฑ์พระนครคีรี

เด็กชาแห่งเมืองเพชรบุรี ปฏิบัติหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินในหลวง รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตลอดจนเจ้านายทุกๆ พระองค์ ตลอดจนเฝ้ารักษาพระราชวังพระนครคีรี ด้วยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงบันทึกให้เห็นความซื่อสัตย์ของโซ่งเด็กชาไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 6 วันที่ 17 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 128 (พ.ศ. 2453)


การแต่งกายของเด็กชาชาวโซ่ง[แก้]

เมื่อรับราชการปฏิบัติหน้าที่บนพระนครคีรี เด็กชาชาวโซ่งจะแต่งกายตามความนิยมของเผ่าตน สวมกางเกงสีดำ เรียกว่า ซ่วง ปลายขาแคบเกือบจรดข้อเท้า สวมเสื่อสีดำแขนกระบอกจรดข้อมือ ชายเสื้อยาวคลุมสะโพก เสื้อผ่าอกตลอดติดลูกกระดุมเงินชิดถี่ตั้งแต่ลำคอไปถึงเอว เรียกว่า ก่อม และคาดกระเป๋า โซ่งเรียกว่า หลวม คาดไว้ที่เอว ถ้ารับเสด็จในหลวง โซ่งจะสวมเสื้อยาว เรียกว่า เสื้อฮี ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายชุดใหญ่ ใช้ได้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งใช้งานมงคล และงานอมงคล ใช้อีกด้านหนึ่ง มีลวดลายหลากสี


การรับราชการของโซ่งในตำแหน่งเด็กชา[แก้]

เด็กชาชาวโซ่ง ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเดียวกับมหาดเล็ก เบี้ยหวัดได้รับอย่างสูงไม่เกิน 10 ตำลึง อย่างต่ำ 1 ตำลึง เด็กชายังได้รับสิทธิพิเศษเทียมกับมหาดเล็ก เหนือโซ่งและไพร่อื่นทั่วไป โดยได้รับราชการยกเว้นการเก็บส่วยภาษี


การสืบทอดตำแหน่งเด็กชา[แก้]

การสืบทอดตำแหน่งเด็กชา คล้ายกันกับตำแหน่งมหาดเล็ก เมื่อเสียชีวิตไปก่อนลูกหลานก็สามารถถวายตัวรับใช้แทนได้ ภายหลังเมื่อสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชวังบนเขาพระนครคีรีปราศจากพระเจ้าแผ่นดินทรงแปรพระราชฐานมาประทับ งานถวายการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินของเด็กชาก็สิ้นสุดลง คงเหลือแต่ทำหน้าที่เข้าเวรรักษาพระราชวังเท่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการ มหาดเล็กเด็กชา ก็หมดหน้าที่ไม่ต้องเข้าเฝ้ารักษาพระราชวังอีก ทว่าเด็กชาทุกนายก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินปีไปจนสิ้นอายุขัย


อ้างอิง[แก้]

  • ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์, ขุนนางโซ่ง, 2549, สำนักพิมพ์เพชรภูมิ,หน้า 38-49.