เดือนเพ็ญ (เพลง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพลงเดือนเพ็ญ หรือ เพลงคิดถึงบ้าน เขียนเนื้อร้องและทำนองโดย อัศนี พลจันทร (หรือที่รู้จักกันในนามปากกาว่า นายผี หรือ สหายไฟ) หากนับเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต ด้วยเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่าง ๆ มากที่สุดเพลงหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉย ๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา เพลงคิดถึงบ้านนี้ ทำให้ชื่อ นายผี อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง

อัศนี พลจันทร แต่งเพลงนี้ขึ้น เพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง ด้วยเหตุการณ์ทางสังคมในสมัยนั้น ทำให้เขาต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเป็นเวลานาน พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นคนนำเพลง "คิดถึงบ้าน" นี้ออกมาจากราวป่า และบันทึกเสียงครั้งแรกในนามวงคาราวาน กับอัลบั้มชุด "บ้านนาสะเทือน" เมื่อปี 2526. ต่อมาในปี 2527 แอ๊ด คาราบาว ได้นำมาบันทึกเสียงอีกครั้ง ในอัลบั้มชุด "กัมพูชา" และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น "เดือนเพ็ญ" พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องจากเดิม หลังจากนั้นมีผู้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในอัลบั้มปกติ และการแสดงสด อาทิ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, คนด่านเกวียน, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คีตาญชลี, คาราวาน, สายัณห์ สัญญา, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, ยอดรัก สลักใจ, คาราบาว, โจ้ วงพอส, ฟอร์ด สบชัย, หนู มิเตอร์, นิค นิรนาม, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และในมหกรรมคอนเสิร์ตถูกใจคนไทย เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ได้นำมาร้องร่วมกับแอ๊ด คาราบาวด้วย

หงา คาราวาน บันทึกถึงที่มาของเพลงนี้ว่า

...ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา (นายผี) เพลง 'คิดถึงบ้าน' ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรีซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้น ตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว

— หงา คาราวาน

เพลงนี้ได้รับการบรรเลงและนำมาขับร้องซ้ำหลายครั้งโดยศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ ในคอนเสิร์ตของเอ็กซ์ เจแปน ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โยชิกิ หัวหน้าวงได้นำเพลงนี้บรรเลงด้วยเปียโนในช่วงอังกอร์ เป็นต้น

เนื้อเพลงต้นฉบับ[แก้]

เนื่องจากเพลง "คิดถึงบ้าน" นี้ เป็นการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก หรือที่โบราณเรียกว่า ต่อเพลง จึงเป็นเหตุให้เนื้อร้อง เพี้ยนคำไปบ้าง เนื้อร้องฉบับนี้ ได้รับการตรวจทานจาก "ป้าลม" หรือ วิมล พลจันทร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของนายผี คัดจากหนังสือ "รำลึกถึงนายผี จากป้าลม" จัดพิมพ์ในวาระอายุครบ 72 ปี)[1] ตัวเอนคือคำร้องซึ่งไม่ตรงกับฉบับที่แพร่หลาย

เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นยิ่งหนอยามเมื่อลมพัดมา แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา

กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย

เรไรร้องฟังดังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา ลมเอ๋ยช่วยมากระซิบข้างกาย ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย มิเลือนเคลื่อนคลาย คิดถึงมิวายที่เราจากมา

ลมเอยจงเป็นสื่อให้ น้ำรักจากห้วงดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขานะนา ให้คนไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าในอกแม่เอย

ความหมายของคำในเพลง[แก้]

ลม

นัยแรกหมายถึง ลมที่พัดทั่วไป ส่วนอีกนัยคือ ภรรยาของผู้แต่งซึ่งก็คือ วิมล พลจันทร หรือ สหายลม

น้ำรัก

ในความหมายเก่า หมายถึง น้ำใจ, น้ำคำ

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]