ราโมนส์

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เดอะ ราโมนส์)

เดอะราโมนส์
ราโมนส์ ขณะกำลังแสดงสด ปี พ.ศ.2548 งานหมอลำซิ่งฟิวเจอร์ ที่จังหวัดสกลนคร
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่เกิดฟอเรสต์ฮิลส์, ควีนส์, นิวยอร์ก
แนวเพลงพังก์ร็อก, ป็อปพังก์
ช่วงปีค.ศ. 1974 - 1996
ค่ายเพลง
อดีตสมาชิกจอห์นนี ราโมน
ดี ดี ราโมน
โจอี ราโมน
ทอมมี ราโมน
มาร์คี ราโมน
ริชชี ราโมน
เอลวิส ราโมน
ซี.เจ. ราโมน
เว็บไซต์ramones.com

เดอะราโมนส์ (อังกฤษ: The Ramones) เป็นวงพังก์ร็อก ก่อตั้งขึ้นในฟอเรสต์ฮิลล์ นครนิวยอร์ก ราโมนส์มักได้รับคำกล่าวอ้างว่าเป็นวงพังก์วงแรก[1][2] จากการออกสตูดิโออัลบั้ม ในชื่อเดียวกับวง ราโมนส์ ในปี ค.ศ. 1976 ตลอดช่วงชีวิตของวง ได้ออกสตูดิโออัลบั้มมาทั้งหมด 14 อัลบั้ม อัลบั้มแสดงสด 6 อัลบั้ม อัลบั้มรวมเพลง 12 อัลบั้ม มิวสิกวีดิโอ 32 วีดิโอ ซิงเกิล 71 เพลง และภาพยนตร์ 11 เรื่อง แม้พวกเขาจะประสบผลสำเร็จเชิงพาณิชย์เพียงเล็กน้อย จากการไม่ติดอันดับบนชาร์ตสูงๆ และยอดจำหน่ายเพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็ดี วงราโมนส์ ได้กลายเป็นหนึ่งในวงที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการพังก์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ

จุดเด่นของวงคือ สมาชิกทุกคนใช้นามสกุลสมมุติว่า "ราโมน" (Ramone) โดยสมาชิกแต่ละคนไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายเลือดแต่อย่างใด ซึ่งคำว่า "ราโมน" นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากนามสมมุติ พอล ราโมน (Paul Ramone) ของพอล แมคคาร์ตนีย์ ในสมัยที่เขายังเล่นให้กับวง เดอะควอรีแมน[3][4] โดย ดี ดี ราโมน ถือเป็นสมาชิกคนแรกที่ได้เปลี่ยนมาใช้นามสมมุตินี้

พวกเขาได้แสดงคอนเสิร์ตทั้งหมด 2,263 ครั้ง และผ่านการทัวร์อย่างต่อเนื่องกันถึง 22 ปี[2] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1996 ภายหลังทัวร์คอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีลอลลาพาลูซา (Lollapalooza) พวกเขาถึงประกาศแยกวง ในปี ค.ศ. 2014 สมาชิกก่อตั้งทั้ง 4 ของวงได้เสียชีวิตลงทั้งหมด ได้แก่ โจอี ราโมน (Joey Ramone) ร้องนำ (1951–2001) จอห์นนี ราโมน (Joey Ramone) มือกีตาร์ (1948–2004), ดี ดี ราโมน (Dee Dee Ramone ) มือเบส (1951–2002) และทอมมี ราโมน (Tommy Ramone) มือกลอง (1949–2014)[5]

ราโมนส์ได้สร้างชื่อเสียงที่เป็นที่จดจำมากกว่าหลายปี พวกเขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะหนึ่งในศิลปินร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ทั้งจากการติดโผ "100 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" จากนิตยสาร โรลลิงสโตน[6] และหัวข้อ "100 ศิลปินฮาร์ดร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"[7] จากนิตยสาร วีเอชวัน ในปี ค.ศ. 2002 ราโมนส์ ได้รับการจัดอันดับที่ 2 ในฐานะวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลโดยนิตยสาร สปิน เป็นรองแค่วงเดอะบีเทิลส์[8] ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2002 สมาชิกดั้งเดิมทั้ง 4 และมาร์คีย์ ราโมน มือกลอง ก็ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล ในปี ค.ศ. 2011 วงก็ได้รับรางวัลประสบผลสำเร็จในวงการดนตรีของแกรมมี อีกด้วย[9][10][11]

ประวัติ[แก้]

รวมวง (ค.ศ. 1974 - 75)[แก้]

โรงเรียนมัธยมฟอเรสต์ฮิลส์ โรงเรียนที่สี่สมาชิกดั้งเดิมของราโมนส์เข้าศึกษา

สมาชิกเดิมของวงได้พบกันในชุมชนชั้นกลางในย่านฟอเรสต์ฮิลส์ โบโรฮ์ควีนส์ นิวยอร์กซิตี ซึ่งมีจอห์น คัมมิงส์และโทมัส เออร์เดลยิ ต่างกำลังศึกมัธยมศึกษาควบคู่ไปกับการทำวงแนวการาจร็อก ระหว่างปี ค.ศ. 1965 ถึง 1967 ที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “เดอะแทนเจอรินพัพเพตส์” (the Tangerine Puppets)[12] ต่อมาพวกเขาก็ได้มาเป็นเพื่อนกับ ดักลาส โคล์วิน ซึ่งย้ายที่อยู่จากเยอรมนี มาอาศัยที่นี่[13] และ เจฟฟรี ไฮแมน อดีตนักร้องนำวงสไนเปอร์ วงแนวแกลมร็อก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1972[14][15]

เดอะราโมนส์ ได้เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นในช่วงต้น ค.ศ. 1974 เมื่อคัมมิงส์ และโคล์วิน ได้เชิญไฮแมน ให้มาร่วมวงกับพวกเขา ในวงเริ่มแรก ประกอบด้วย โคล์วิน ทำหน้าที่ร้องนำ ร้องประกอบ และเบสกีตาร์ คัมมิงส์ เป็นมือกีตาร์หลัก และไฮแมน เป็นมือกลอง จนต่อมาไฮแมน ก็เปลี่ยนตำแหน่งกลองชุดมาร้องแทน โคล์วิน ถือเป็นสมาชิกคนแรกที่เปลี่ยนชื่อตัวเอง ด้วยการลงท้ายชื่อจริงด้วยชื่อเดียวกับวง “ราโมน” และตัวเองใหม่ว่า ดี ดี ราโมน ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากพอล แมคคาร์ตนีย์ ที่ใช้ชื่อสมมุติ พอล ราโมน ในสมัยที่เขายังเล่นให้กับวง เดอะควอรีแมน[3][16] ดี ดี ก็ได้เสนอให้สมาชิกคนอื่น เปลี่ยนชื่อให้เหมือนกับเขา จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อวง “เดอะราโมนส์” ในที่สุด ไฮแมน และคัมมิงส์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โจอี และจอห์นนี ราโมน[17]

มอนเต เอ. เมลนิก (Monte A. Melnick) เพื่อนร่วมวงอีกคน ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้จัดการทัวร์ของวง ได้ช่วยจัดการเวลาซ้อมให้แก่พวกเขา ในแมนฮัตตันเพอร์ฟอร์แมนซ์สตูดิโอส์ ( Manhattan's Performance Studios)[2] ที่ซึ่งเขาทำงานอยู่ และเออร์เดลยิ ก็ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้จัดการวง ภายหลังรวมวงกันแล้ว ดี ดี ได้พบว่าตัวเองไม่สามารถร้องเพลงพร้อมกับเล่นเบสได้ดี จึงได้ให้โจอี ทำหน้าที่ร้องนำแทน[3] แต่ถึงอย่างไรก็ดี โจอี ก็มีอาการคล้ายๆกัน ที่ไม่สามารถร้องพร้อมกับเล่นกลองไปด้วยได้ จนเขาได้สละตำแหน่งกลองออก ในขณะกำลังคัดตัวเพื่อหาคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งต่างๆ เออร์เดลยิ ซึ่งจับกลองบ่อยครั้ง ทำให้สมาชิกคนอื่นต่างเขาว่าสามารถเล่นกลองกลุ่มได้ดีว่าคนอื่นๆ จนในที่สุดเขาก็ได้ร่วมกับวง และเปลี่ยนชื่อเป็น ทอมมี ราโมน[18]

คลับ CBGB ในนิวยอร์ก เป็นคลับที่สร้างวงราโมนส์นี้ขึ้น

เดอะราโมนส์ ได้เริ่มเล่นวงครั้งแรกก่อนการคัดตัว ในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1974 ที่เพอร์ฟอร์แมนซ์สตูดิโอส์ เพลงที่พวกเขาเล่นนั้นเร็วและสั้นมาก ด้วยความยาวเพลงสั้นกว่า 2 นาที ในช่วงนี้เอง คลื่นเพลงลูกใหม่ได้เริ่มเข้าสู่นิวยอร์ก ผ่านทางสองคลับหลัก ได้แก่ แมกซ์สแคนซัสซิตี (Max's Kansas City) ในดาวน์ทาวน์ของเกาะแมนฮัตตัน และคลับที่มีชื่อเสียงกว่า ซีบีจีบี (CBGB) เดอะราโมนส์ ได้เข้าไปแสดงใน ซีจีบีจีบี เป็นที่แรก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1974[19] เลกส์ แมกนีล (Legs McNeil) ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร ‘’พังก์’’ ในปีต่อมา ได้บรรยายอิทธิพลของวงนี้ว่า “พวกเขาทั้งหมดสวมชุดแจกเก็ตส์สีดำ และบรรเลงเพลง...ซึ่งมันเป็นกำแพงแห่งเสียงที่ครึกโครม...พวกเขาดูดุเดือด แต่พวกเขาไม่ใช่พวกฮิปปี้ นี่นับเป็นสิ่งที่แปลกใหม่อย่างแท้จริง”[20]

วงได้มาเล่นให้กับคลับแห่งนี้เป็นประจำ ด้วยการเล่นกว่า 47 ครั้งภายในสิ้นปีหนึ่ง หลังจากสรุปงานดนตรีของพวกเขาได้จำนวนหนึ่ง ที่คิดว่าพอที่จะมีผู้ให้ความสนใจแล้ว ซึ่งก็ได้ยอดมาราวๆ 17 นาที จากเริ่มต้น จนถึงสิ้นสุด วงก็ได้เข้าเซ็นสัญญากับค่ายบันทึกเสียงในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 1975 ผ่านทางค่าย ไซร์เออเรเคิดส์ ของเซอร์มัวร์ สไตน์ (Seymour Stein)

ภายหลังการรับชมของ เคร็ก ลีออน (Craig Leon) จากไซร์เออ[21] เขาได้เสนอค่ายเพลงนี้ให้กับวง ลินดา สไตน์ (Linda Stein) ภรรยาของเซอร์มันวร์ ก็ได้ร่วมรับชมการบรรเลงเพลงของวงที่มาเทอร์ส จนเขาได้กลายเป็นผู้จัดการร่วม ร่วมกับแดนนี ฟีลด์ส (Danny Fields)[22] ในเวลานั้นเอง เดอะราโมนส์ ก็ได้รับการจดจำในฐานะผู้นำแห่งคลื่นลูกใหม่นี้ ที่ซึ่งกำลังถูกเรียกอย่างกว้างขวางใหม่ในชื่อ “พังก์[23][24] โดยเฉพาะนักร้องนำที่โดดเด่น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อ้างจากคำพูดของ ดี ดี “นักร้องคนอื่นๆ (ในนิวยอร์ก) กำลังคัดลอกเดวิด โจฮานเซน (แห่งวงนิวยอร์กดอล) ผู้ซึ่งคัดลอกมิก แจ็กเกอร์...แต่โจอี นั้นเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวจริงๆ”[25]

ผู้นำแห่งวงการพังก์ (ค.ศ. 1976 - 77)[แก้]

ภาพหน้าปกอัลบั้ม ราโมนส์ ถ่ายโดย โรเบอร์ทา เบย์ลีย์ ปัจจุบันมันกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ถูกนำมาเลียนแบบมากที่สุดตลอดกาล[26]
ภาพหน้าปกนิตยสาร พังก์ ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1976 ในภาพเป็นรูปของโจอี ซึ่งจอห์น ฮอล์มสทรอม ได้รับแรงบันดาลใจมากจากหนังสือการ์ตูนของวิลล์ ไอส์เนอร์ (Will Eisner)[27] ฮอล์มสทอรม ยังเป็นผู้ทำปกอัลบั้ม Rocket to Russia และ Road to Ruin อีกด้วย[28]

เดอะราโมนส์ได้บันทึกเสียงอัลบั้มเปิดตัวในชื่อเดียวกับวง ราโมนส์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1976 ซึ่งประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 14 เพลง โดยมีเพลง "I Don't Wanna Go Down to the Basement" ที่ยาวที่สุดในอัลบั้ม แต่ถึงอย่างไรก็ดีก็มีความยาวเพียง 2.30 นาที เท่านั้น สำหรับผู้แต่งเพลงนั้น ส่วนมากแต่งโดย ดี ดี.[29] แต่ในเครดิตกลับแบ่งใส่ชื่อสมาขิกทุกคนในวงแทน อัลบั้ม ราโมนส์ ได้ออกผ่านค่ายไซร์เออโดยมีแคร็ก ลีออน ร่วมกับทอมมี ที่ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ด้วยต้นทุนที่ต่ำมากๆ คือราวๆ 6,400 ดอลลาร์เท่านั้น[30] แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายหน้าปกหน้า ซึ่งถ่ายโดย โรเบอร์ทา เบย์ลีย์ (Roberta Bayley) ช่างภาพจากนิตยสาร พังก์[31] (ซึ่งคำว่า พังก์ ของนิตยสารนี้เองได้กลายเป็นชื่อเรียกคลื่นลูกใหม่นี้) นิตยสาร ได้เขียนเรื่องราวของวงพร้อมกับภาพหน้าปกราโมนส์ในฉบับที่ 3 ซึ่งออกจำหน่ายเดือนเดียวกับที่วงออกอัลบั้ม[27][32]

ราโมนส์ได้ออก แอลพี เปิดตัว ซึ่งก็ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ดนตรีร็อกอีกหลายคน ทั้งโรเบิร์ต คริสต์เกา (Robert Christgau) จากนิตยสาร วิลเลจวอยซ์ (Village Voice) ได้กล่าวว่า “ฉันรักการบันทึกเสียงนี้ แม้ว่าพวกเขาจะหลงรักในภาพลักษณ์ความโหดเหี้ยม (โดยเฉพาะลัทธินาซี)...สำหรับฉัน มันเป็นการพัดทุกๆอย่างออกจากวิทยุ”[33] พอล เนลสัน (Paul Nelson) แห่งนิตยสาร โรลลิงสโตน ได้อธิบายว่ามัน “เป็นการสร้างจังหวะเพลงที่ดูมีชีวิตชีวาไปด้วยน้ำหนักเสียงแห่งร็อกแอนด์โรล ที่ไม่ได้รับประสบการณ์นับตั้งแต่วันแรกสุดของวัน” เป็นลักษณะพิเศษที่ “เป็นศิลปินอเมริกันหลักของแท้ ที่ทำดนตรีอย่างเข้าใจจริงๆ” เขายังยกย่องให้ “เป็นช่วงเวลาของดนตรียอดนิยมที่ตามงานศิลปะอื่นๆ ซึ่งได้ยกย่องให้เป็นงานชิ้นเอก”[34] เวนน์ รอบบินส์ (Wayne Robbins) แห่งนิตยสาร นิวส์เดย์’’ (Newsday) ก็ยกย่องราโมนส์ให้เป็น “วงร็อกแอนด์โรลเยาวชนที่ดีที่สุด เท่าที่เคยได้ยินบนจักรภพนี้”[35]

แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทั้งๆ ที่ไซร์เออตั้งความหวังกับการบันทึกอัลบั้มนี้มาก[36] อัลบั้ม ราโมนส์ กลับไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยการติดอันดับที่ 111 บนบิลบอร์ดอัลบั้มชาร์ต[37] สองซิงเกิลจากอัลบั้ม "Blitzkrieg Bop" และ "I Wanna Be Your Boyfriend กลับไม่ติดชาร์ตสูง ในการแสดงสดครั้งสำคัญของวงนอกเมืองนิวยอร์ก ในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ยังทาวน์ รัฐโอไฮโอ โดยมีสมาชิกของวงเดดบอยส์ เข้าร่วมบรรเลงดนตรีร่วมกับวงด้วย[38] ราโมนส์ ได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตยังสหราชอาณาจักรที่เราด์เฮาส์ (Roundhouse) กรุงลอนดอน ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 ร่วมกับวงเฟรมินกรูวีส์ (Flamin' Groovies) ในนามค่าย.[39] ในคอนเสิร์ตครั้งนี้มีมาร์ก โบแลน หัวหน้าวงที. เร็กซ์ เข้าร่วมรับชมและได้รับเชิญให้แสดงสดบนเวทีด้วย[40][41] ในคืนต่อมา พวกเขาก็ได้มีโอกาสได้พบกับสมาชิกวงพังก์ที่รู้จักกันดี อย่าง เซ็กซ์พิสทอลส์ และเดอะแคลช ซึ่งต่างเป็นสองผู้นำแห่งผู้บุกเบิกวงการพังก์ในอังกฤษ[42] ในเดือนต่อมาพวกเขาก็ไปร่วมเล่นที่นครลอสแอนเจลิส ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งที่โรงละครร็อกซี (Roxy Theatre) และการแสดงสดที่โทรอนโต ในเดือนกันยายน ซึ่งต่างเป็นการจุดกระแสพังก์ขึ้น ทำให้ราโมนส์ ได้กลายเป็นวงที่ได้รับความนิยมจึงมีการแสดงสดเพิ่มมากขึ้น[43]

สองอัลบั้มถัดมาของวง Leave Home และ Rocket to Russia ซึ่งต่างเปิดตัวพร้อมกันในปี ค.ศ. 1977 โดยมีทอมมีและโทนี บอนจีโอวี (Tony Bongiovi) ลูกพี่ลูกน้องคนที่สองของจอน บอน โจวี[44] ร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ในครั้งนี้ Leave Home ก็ยังคงประสบความล้มเหลวในชาร์ตตามเดิม และล้มเหลวยิ่งกว่า อัลบั้ม Ramones ภายในอัลบั้ม Leave Home มีเพลง "Pinhead" ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเพลงประจำวง ที่ใช้การร้อง "Gabba gabba hey!" ทวนซ้ำไปเรื่อยๆ Leave Home ก็ยังมีการโคเวอร์เพลง "California Sun" ให้มีจังหวะเร็วขึ้น ซึ่งเพลงนี้เดิมแต่งโดยเฮนรี กรูเวอร์ (Henry Glover) และ มอร์ริส เลวี (Morris Levy) และบรรเลงโดย โจ โจนส์ (Joe Jones)[45] ในอัลบั้ม Rocket to Russia กลับประสบความสำเร็จ ด้วยการติดชาร์ตดีที่สุดเท่าที่ปล่อยอัลบั้มออกมา ในอันดับ 49 บนบิลบอร์ด 200[46] เดฟ มาร์ช (Dave Marsh) นักวิจารณ์จากนิตยสารโรลลิงสโตน ได้ยกย่องให้อัลบั้มนี้เป็น “ร็อกแอนด์โรลที่ดีที่สุดแห่งปี”[47] อัลบั้มยังประกอบด้วยซิงเกิลที่ติดบิลบอร์ดชาร์ตเป็นครั้งแรกทั้ง "Sheena Is a Punk Rocker (แต่ก็ติดอันดับเพียงที่ 81) และ "Rockaway Beach" ติดอันดับที่ 66 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเท่าที่ราโมนส์เคยทำเพลงมาทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1977 เดอะราโมนส์ ก็ได้บันทึก It's Alive อัลบั้มแสดงสด แบบดับเบิลอัลบั้ม ที่โรงละครเรนโบว์ (Rainbow Theatre) กรุงลอนดอน ซึ่งได้รับการเปิดตัวในเดือนเมษายน ค.ศ. 1979 (ชื่อของอัลบั้มนำมาจากภาพยนตร์สยองขวัญ ในชื่อเดียวกัน)[48]

เปลี่ยนแนวบันทึกเสียงไปในทางป็อปมากขึ้น (ค.ศ. 1978 – 83)[แก้]

ทอมมี เหน็ดเหนื่อยกับการทัวร์คอนเสิร์ต ทำให้เขาออกจากวงไปในปี ค.ศ. 1978 แต่เขาก็ยังคงทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เช่นเดิม แต่กลับไปใช้ชื่อเกิดของเขาเดิม เออร์เดลยิ โดยเปลี่ยนมือกลองใหม่เป็น มาร์ก เบลล์ (Marc Bell) ผู้ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกวงฮาร์ดร็อกยุค 70 ทั้ง ดัสต์ (Dust), เวนน์คันทรีแอนด์แบ็กสทรีตบอยส์ (Wayne County and the Backstreet Boys)[49] และวงที่ถือเป็นผู้บุกเบิกพังก์อีกวงอย่าง ริชาร์ด เฮลล์แอนด์เดอะวอยดอยด์ส (Richard Hell and the Voidoids)[50] เบลล์ ได้ใช้ชื่อสมมุติใหม่ในชื่อ มาร์คีย์ ราโมน (Marky Ramone) ในปีต่อมา วงได้ออกสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ในชื่อ Road to Ruin ซึ่งถือเป็นอัลบั้มเปิดตัวของมาร์คีย์เองด้วย อัลบั้มได้ร่วมผลิตโดยทอมมีกับเอด สทาเซียม (Ed Stasium) ที่ประกอบไปด้วยเสียงเพลงใหม่ ทั้ง การเล่นอะคูสติกกีตาร์ เนื้อหาแนวบัลลาด และนับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเสียงยาวกว่า 3 นาที แต่ก็ยังคงล้มเหลวในชาร์ตบิลบอร์ด 100 ตามเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ดี "I Wanna Be Sedated" ได้กลายเป็นหนึ่งในซิงเกิลที่รู้จักกันดีที่สุดของวง[51] ส่วนภาพหน้าปก ก็เป็นภาพถ่ายจากจอห์น โฮล์มสทอร์ม (John Holmstrom) ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร พังก์[52]

ตัวอย่างเสียงของ เดอะราโมนส์

ภายหลังได้ออกภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวงในเรื่อง Rock 'n' Roll High School (ปี ค.ศ. 1979) ซึ่งกำกับโดยโรเจอร์ คอร์แมน (Roger Corman) ผลจากภาพยนตร์นี้เองทำให้ ฟิล สเปกเทอร์ (Phil Spector) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เริ่มสนใจในตัววงราโมนส์ และได้จัดทำอัลบั้ม End of the Century ในปี ค.ศ. 1980 ระหว่างการบันทึกเสียงในลอสแอนเจลิส สเปกเทอร์ ก็มีปัญหาบางส่วนกับสมาชิกในวงโดยเฉพาะกับจอห์นนีที่ถึงขั้นใช้อาวุธปืน[53] แต่ถึงอย่างไรก็ดีอัลบั้มกลับประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่วงปล่อยอัลบั้มออกมา ด้วยอันดับที่ 44 ในชาร์ตสหรัฐอเมริกา และอันดับ 14 ในเกาะอังกฤษ แม้ว่าจอห์นนี จะไม่ชื่นชอบอัลบั้มนี้มากนะเพราะส่วนตัวเขาชื่นชอบความรุนแรงในเนื้อหามากแบบพังก์มากกว่า “End of the Century เป็นการถอยก้าวลงของราโมนส์ มันไม่ใช่ราโมนส์อย่างแท้จริง”[54] สิ่งนี้เองที่ส่งผลต่อการทำอัลบั้มรวมเพลง Loud, Fast Ramones: Their Toughest Hits จอห์นนีเห็นว่างานของสเปกเทอร์ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง เขากล่าวว่า “มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเขาทำเพลงให้มันช้ากว่าอย่างซิงเกิล 'Danny Says' ที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ซิงเกิล 'Rock 'N' Roll Radio' ก็ดีเช่นกัน แต่พอทำเพลงที่ใส่จังหวะแน่นๆ มันกลับขายไม่ดีเท่าที่ควร” [55]วงหญิงล้วนโรเนตเทส (Ronettes) ก็ได้นำเพลง "Baby, I Love You" มาโคเวอร์ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเกาะอังกฤษ ด้วยการติดชาร์ตอันดับ 8[56]

โจอีและ ดี ดี ราโมน ขณะทัวร์คอนเสิร์ตปี ค.ศ. 1983

Pleasant Dreams สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ของวง เปิดตัวในปี ค.ศ. 1981 ยังคงใช้แนวทางเดียวกันกับอัลบั้ม End of the Century ที่ได้ละทิ้งเสียงพังก์แท้ๆ จากการบันทึกในช่วงแรกออกสิ้น อ้างจากการอ้างอิงของ นิตยสาร ทรูเซอร์เพลส (Trouser Press) ได้จดรายละเอียดว่า อัลบั้มนี้ได้ เกรแฮม กูดแมน (Graham Gouldman) เป็นโปรดิวเซอร์ ที่เดิมเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวง 10ซีซี จากอังกฤษมาก่อน เขาได้เปลี่ยนราโมนส์ “ออกจากผู้บุกเบิกลัทธิมินิมอลไปสู่ดินแดนแห่งเฮฟวีเมทัล”[57] จอห์นนี ก็ได้มีการโต้เถียงถึงการเปลี่ยนไปสู่แนวอดีตเก่าๆนี้ ซึ่งมันเป็นการตัดสินใจของทางค่าย ที่เป็นความพยายามที่ดูไร้ประโยชน์ในนำเพลงออกอากาศทางวิทยุของอเมริกา[1][55] อัลบั้ม Pleasant Dreams ติดอันดับ 58 บนชาร์ตสหรัฐอเมริกา แต่สองซิงเกิลเอกกลับไม่ติดชาร์ตใดๆ เลย[58]

Subterranean Jungle ได้ริตชี คอร์เดลล์ (Ritchie Cordell) และเกลน โคลอตคิด (Glen Kolotkin) เป็นโปรดิวเซอร์ เปิดตัวในปี ค.ศ. 1983[59] อ้างจากนิตยสาร ทรูเซอร์เพลส ได้กล่าวว่ามันเป็นการกลับมาของวง “กลับสู่สิ่งที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าของ: ป็อปคนขี้ยายุค 60 ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการ”[57] ซึ่งโดยรวมแล้วหมายถึง “การปรับลดจังหวะดุเดือดรวดเร็วลงไป ที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ราโมนส์เคยทำมาโดยตลอด” อัลบั้ม Subterranean Jungle ติดอันดับ 83 ในสหรัฐอเมริกา มันกลายเป็นอัลบั้มสุดท้ายของวง ที่ได้ติดอันดับในบิลบอร์ดท็อป 100[60][61] ในปี ค.ศ. 2002 ไรโนเรเคิดส์ ได้ปล่อยเวอร์ชันใหม่ด้วยการเพิ่มโบนัสแทร็กไปอีก 7 เพลง[62]

เปลี่ยนสมาชิก (ค.ศ. 1983 - 89 )[แก้]

ภายหลังออกอัลบั้ม Subterranean Jungle มาร์คี ได้ถูกไล่ออกจากวง เนื่องจากเขาติดแอลกอฮอล์มาก[63] เขาถูกแทนที่โดยริชาร์ด ไรน์ฮาร์ดต์ (Richard Reinhardt) ซึ่งไปใช้ชื่อใหม่ในชื่อ ริชีย์ ราโมน โจอี ราโมน ได้กล่าวว่า “ริชีย์ในความคิดผม เขาได้ช่วยชีวิตวงอย่างยาว เชาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่บังเกิดขึ้นในราโมนส์ เขานำพาจิตวิญญาณกลับสู่วงอีกครั้ง”[64] ริชชี เป็นสมาชิกตำแหน่งกลองเพียงคนเดียวที่สามารถร้องพร้อมกันไปด้วยได้ โดยมีผลงานที่เขาร้องนำทั้ง "(You) Can't Say Anything Nice" และเช่นเดียวกันกับ "Elevator Operator" ที่ไม่ได้ออกจำหน่าย โจอี ราโมน ได้แสดงความเห็นว่า “ริชชีเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์มากและเขาก็ช่างแตกต่าง...เขาตั้งใจให้กับวงร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเขาได้ร้องประกอบในแต่หลายแทร็ก เขาได้ร้องนำ ซึ่งเขาร้องได้อย่างที่ ดี ดี ทำ”[65] ริชชี ยังเป็นมือกลองเพียงคนเดียวที่ได้ประพันธ์เพลงเดี่ยวให้กับวงหลายเพลง ทั้งเพลงฮิตอย่าง "Somebody Put Something in My Drink" และเช่นเดียวกันกับ "Smash You", "Humankind", "I'm Not Jesus", "I Know Better Now" และ "(You) Can't Say Anything Nice" โจอี ราโมน ได้ให้การสนับสนุนริชชี ในการแต่งเพลง “ฉันกล้าที่จะให้เขาแต่งเพลง ซึ่งฉันพบว่ามันทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับวงมากกว่า เพราะพวกเราไม่เคยปล่อยให้คนอื่นแต่งเพลงเขาพวกเราเลย”[66][67] เพลงของริชชี "Somebody Put Something in My Drink" ได้กลายเป็นซิงเกิลสำคัญในแต่ละคอนเสิร์ต จนกระทั่งการแสดงสดสุดท้ายในปี ค.ศ. 1996 และได้ถูกรวมเข้ายังอัลบั้ม Loud, Fast Ramones: Their Toughest Hits และอัลบั้ม The Ramones Smash You: Live '85[68] ที่ประกอบด้วย 8 โบนัสดิสก์ ก็มีการระบุเครดิตให้กับริชชีด้วยในซิงเกิล "Smash You"

อัลบั้มแรกที่มีริชชีร่วมบันทึกเสียงกับราโมนส์ด้วยคือ Too Tough to Die ในปี ค.ศ. 1984 โดยทอมมี เออร์เดลอิ และเอด สทาเซียม กลับมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงอีกครั้ง อัลบั้มได้กลับสู่เสียงแนวทางเดิมอีกครั้ง ในรายละเอียดของนิตยสารออลมิวสิก โดยสตีเฟน โทมัส เออร์ลีวิน (Stephen Thomas Erlewine) กล่าวว่า “จังหวะได้กลับสู่จังหวะตีอันรวดเร็วและเพลงที่สั้นลง มีความกะทัดรัด”[69]

วงได้ออกซิงเกิลที่อังกฤษ "Bonzo Goes to Bitburg" ในปี ค.ศ. 1985 แม้ว่าเพลงจะส่งออกเพื่อจำหน่ายเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ก็ได้รับการเล่นอย่างกว้างขวางผ่านการออกอากาศวิทยุของโรงเรียนอเมริกัน[70] เพลงนี้ได้รับการแต่งขึ้นหลักโดย โจอี เพื่อที่จะประท้วงประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในการเดินทางไปยังสุสานทหารที่เยอรมนี ซึ่งเป็นที่ฝังร่างของหน่วยวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส (หน่วยทหารของนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)[71] และในอัลบั้มลำดับที่ 9 ของวง Animal Boy (ค.ศ. 1986) ซิงเกิลนี้ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "My Brain Is Hanging Upside Down (Bonzo Goes to Bitburg)" สำหรับ Animal Boy ได้ณอง โบวัวร์ (Jean Beauvoir) อดีตสมาชิกวงพลาสมาทิกส์ (Plasmatics) มาเป็นโปรดิวเซอร์ อัลบั้มนี้ ได้รับการกล่าวถึงจากนักวิจารณ์แห่งนิตยสารโรลลิงสโตนว่า “สัตว์หน้าขนตัวเดิมที่หยุดไม่อยู่”[72] ทำให้เขาได้ยกให้เป็น “อัลบั้มแห่งสัปดาห์” จอน พารีลิส (Jon Pareles) แห่งนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ ได้เขียนบรรยายราโมนส์ว่า “ส่งเสียงดังขึ้นเพื่อความนอกลู่และกวนคน”[73]

ในปีต่อมา วงได้บันทึกเสียงในอัลบั้มสุดท้ายของพวกเขาร่วมกับริชชี ในชื่อ Halfway to Sanity ซึ่งสร้างขึ้นรวมถึงประพันธ์และบรรเลงหลักๆ โดย เดเนียล เรย์ (Daniel Rey) ริชชี ได้ออกจากวงไปในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1987 สร้างความผิดหวังให้กับวง กินเวลากว่า 5 ปี สมาชิกคนอื่นล้วนยังคงไม่ให้เขาได้ส่วนแบ่งจากการขายเสื้อทีเชิร์ต[74] ภายหลัง ริชชี ออกไป ก็ได้ถูกแทนที่โดย เคลม เบิร์ก (Clem Burke) จากวงบลอนดี ซึ่งพวกเขาได้ยุบวงไปในขณะนั้น อ้างจากจอห์นนี การแสดงร่วมกับ เบิร์ก ผู้ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ในเวลาต่อมาเป็น เอลวิส ราโมน เป็นมหาวิบัติของวง ทำให้เขาถูกไล่ออกจากวงทันทีภายหลังร่วมเล่นให้กับวงได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือในเดือนวันที่ 28 กับ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1987 เนื่องจากเขาไม่สามารถเล่นกลองตามรูปแบบเดิมของวงไว้ได้ ในเดือนกันยายน มาร์คี ก็ได้สร่างเมาและปรับตัวใหม่ ได้กลับสู่วงอีกครั้ง[17]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 เดอะราโมนส์ได้บันทึกเสียงต่อในอัลบั้มลำดับที่ 11 ในชื่อ Brain Drain ซึ่งมี โบวัวร์ (Beauvoir), เรย์ (Ray) และบิล ลาสเวลล์ (Bill Laswell) ร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ครั้งนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีในท่อนทำนองเบส กลับเล่นโดยเดเนียล เรย์และแอนดี เชอร์นอฟฟ์ (Andy Shernoff) แห่งวงเดอะดิกเทเทอรส์ (The Dictators) ดี ดี ราโมน บันทึกเสียงเพียงเสียงร้องเพิ่มเติมในอัลบั้ม เนื่องจากสมาชิกคนอื่นๆของวง (รวมถึงเขา) ได้เกิดปัญหาส่วนตัวกันขึ้นและได้เปลี่ยนจุดยืนที่เขาไม่ต้องการจะอยู่ในวงอีกต่อไป ภายหลังพวกเขาเสร็จภารกิจทัวร์ “Halfway to Sanity” ในเดือนกุมภาพันธ์ในปี ค.ศ. 1989 ดี ดี ก็ได้สร่างเมาและออกจากวงไป

เขาถูกแทนที่ด้วย คริสโตเฟอร์ โจเซฟ วาร์ด (Christopher Joseph War) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ซี.เจ. ราโมน ในเวลาต่อมา ผู้ซึ่งร่วมงานกับวงจนกระทั่งยุบวงลง ดี ดี ได้รับการชักชวนให้เริ่มต้นอาชีพใหม่ในฐานะ แรปเปอร์ ภายใต้ชื่อ “ดี ดี คิง” เขาก็ได้กลับสู่วงการพังก์ร็อกอย่างรวดเร็วอีกครั้งและเข้าร่วมวงอีกหลายวง โดยใช้รูปแบบที่เหมือนกันมากกับที่เขาใช้แต่งเพลงสมัยที่อยู่ราโมนส์[75]

ช่วงปีสุดท้าย (ค.ศ. 1990 - 96)[แก้]

ภายหลังการร่วมค่ายไซร์เออเรเคิดส์ เป็นระยะเวลากว่าทศวรรษครึ่ง เดอะราโมนส์ ได้ย้ายไปอยู่ค่ายใหม่กับ เรดิโอแอคทีฟ เรเคิดส์ (Radioactive Records) โดยเปิดตัวอัลบั้มแรกกับค่ายนี้ในปี ค.ศ. 1992 ในชื่อ Mondo Bizarro ซึ่งได้เอด สทาเซียม กลับมาเป็นโปรดิวเซอร์อีกครั้งหนึ่ง[76] ในอัลบั้ม Acid Eaters ประกอบด้วยเพลงโคเวอร์ทั้งหมด ซึ่งออกจำหน่ายในหนึ่งปีถัดมา ในปี ค.ศ. 1993.[77] เดอะราโมนส์ ได้เป็นส่วนของซีรีส์ เดอะซิมป์สันส์ ที่ประกอบด้วยดนตรีและเสียงเอนิเมตเกี่ยวกับพวกเขาในตอน "Rosebud"[78] เดวิด เมียคิน (David Mirkin) โปรดิวเซอร์ใหญ่ ได้อธิบายเดอะราโมนส์ว่า “เป็นการครอบงัมแฟนซิมสันครั้งใหญ่”

ในปี ค.ศ. 1995 เดอะราโมนส์ ได้ปล่อย ¡Adios Amigos! สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 14 และประกาศว่าพวกเขาวางแผนที่จะยุบวง ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ[79][80] ซึ่งในเวลาต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริง ที่ไม่ประสบความสำเร็จยอดขายเลย ด้วยการติดอันดับต่ำๆบนบิลบอร์ดชาร์ต ในสองสัปดาห์แรก[81] วงใช้เวลาในช่วงปลาย ค.ศ. 1995 ในการทัวร์เพื่อโปรโมต แต่พวกเขาก็ได้รับการอนุมัติให้แสดงสดในเทศกาลดนตรีลอลลาพาลูซา (Lollapalooza) ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการทัวร์สหรัฐในช่วงซัมเมอร์[82] ภายหลังทัวร์ที่ลอลลาพาลูซาเสร็จ สมาชิกที่เหลือต่างตัดสินใจที่จะเล่นแสดงสดครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1996 ที่พาเลสในฮอลลีวูด การบันทึกเสียงครั้งนี้ในเวลาต่อมาได้เปิดตัวในรูปแบบวีดิโอและซีดี ในชื่อ We're Outta Here! ซึ่งมี ดี ดี กลับมาเป็นครั้งสุดท้าย การแสดงครั้งนี้ยังประกอบด้วย แขกรับเชิญพิเศษอื่นๆอย่าง เล็มมีแห่งวงมอเตอร์เฮด เอดดี เวดเดอร์ แห่งเพิร์ลแจม คริส คอร์เนล จากวงซาวด์การ์เดน และทิม อาร์มสตรอง จากแรนซิด และลารส์ ฟรีเดอริกสัน[83]

ผลที่ตามมา และการเสียชีวิตของสมาชิก[แก้]

ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 ดี ดี, จอห์นนี, โจอี, ทอมมี, มาร์คี และ ซี.เจ. ปรากฏตัวพร้อมกันที่เวอร์จินเมกาสโตว์ (Virgin Megastores) ในกรุงนิวยอร์กเพื่อทำการแจกลายเซ็น ซึ่งนับเป็นการรวมตัวพร้อมกันของ 4 สมาชิกดั้งเดิมครั้งสุดท้าย โจอี ได้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปี ค.ศ. 1995 และเสียชีวิตลงในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2001 ที่นิวยอร์ก[42][84]

บิล โรเจอร์ส (Billy Rogers) ที่เคยร่วมเล่นกลองให้กับวงในซิงเกิล "Time Has Come Today" จากอัลบั้ม Subterranean Jungle ก็เสียชีวิตลงจากโรคปอดบวม ในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2001

ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2002 เดอะราโมนส์ก็ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล ซึ่งใส่ชื่อสมาชิกได้แก่ ดี ดี, จอห์นนี, โจอี, ทอมมี และมาร์คี ในงานเฉลิมฉลองแสดงความยินดี สมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ได้กล่าวในนามของวง โดยจอห์นนีพูดคนแรก โดยกล่าวขอบคุณแฟนเพลงและอวยพรให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทอมมีกล่าวถัดมา ได้พูดถึงถึงความรู้สึกเช่นไรกับวง และมันมีค่ามากเช่นใดต่อโจอี ดี ดี ก็ได้กล่าวแสดงความอย่างชื่นมื่นและยินดีกับตัวเอง ในขณะที่มาร์คี ขอบคุณทอมมี ที่สร้างอิทธิพลในรูปแบบการเล่นกลองแก่เขา วงกรีนเดย์ ได้เล่นเพลง "Teenage Lobotomy", "Rockaway Beach" และ "Blitzkrieg Bop" ในฐานะวงลูก พวกเขายังกล่าวยกย่องราโมนส์ ที่สร้างอิทธิพลอย่างมากต่อวงการร็อกในเวลาต่อมา การแสดงความยินดีครั้งนี้ นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะครั้งสุดท้ายของ ดี ดี อีกด้วย ในวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2002 สองเดือนนับจากนั้น เขาได้ถูกพบเป็นศพในฮอลลีวูดโฮม จากการเสพเฮโรอีนจำนวนมาก[85]

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 ที่กรุงนิวยอร์ก ก็ได้มีการเปิดป้ายทางระบุคำว่า “Joey Ramone place” ณ ถนนอีสต์หมายเลข 2 หัวมุมซุ้มร้านค้า โดยมีนักร้องแสดงสดในงานเปิดตัวครั้งนั้น ป้ายทางนี้ยังอยู่ใกล้กับอดีตที่ตั้งของคลับซีบีจีบีอีกด้วย[86] ซึ่งคลับนี้คือคลับที่ทำให้ราโมนส์เกิดขึ้นมา ในปี ค.ศ. 2004 ภาพยนตร์สารคดีในชื่อ End of the Century: The Story of the Ramones’’ จอห์นนี ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2004 ในนครลอสแอนเจลิส ภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ออกไปได้ไม่นาน[87] ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ราโมนส์ขึ้นสู่สาธารณะ ตั้งอยู่ในนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในพิพิธภัณฑ์นี้ประกอบไปด้วยเรื่องน่าจดจำต่างๆกว่า 300 รายการ ทั้ง กางเกงยีนที่ใช้แสดงบนเวทีของจอห์นนี ถุงมือของโจอี รองเท้าผ้าใบของมาร์คี และสายกีตาร์เบสของ ซี.เจ.[88]

เดอะราโมนส์ ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศลองไอซ์แลนด์มิวสิกในปี ค.ศ. 2007.[89] ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองได้ออกดีวีดีเซต ที่รวบรวมการแสดงสดของวงในชื่อ It's Alive 1974-1996 ซึ่งรวบรวมเพลงไว้กว่า 118 เพลง จากการแสดงสด 33 ครั้งตลอดการช่วงชีวิตของวง[90] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 วงได้รับรางวัล แกรมมีไลฟ์ไทม์แอคทีฟเมนต์ (Grammy Lifetime Achievement Award) ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สำคัญในวงการดนตรี โดยมีทอมมี และริชชี มือกลองเก่าเข้าร่วมรับรางวัลครั้งนี้ มาร์คีได้กล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์จริง ฉันไม่เคยคิดว่าจะได้มาถึงขนาดนี้ ฉันมั่นใจว่า จอห์นนี โจอี และดี ดี ก็คงไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลอันมีเกียรติเช่นนี้”[10] ริชชี ได้กล่าวต่อว่า มันเป็นครั้งแรกที่มือกลองทั้งสามคนจะได้มาอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน และรำพึงว่าเขาคงไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้ว่าโจอีคงกำลังชมพวกเขาอยู่ในขณะนี้ พร้อมกับรอยยิ้มบนหน้าเขา เบื้องหลังแว่นตาที่สะท้อนออกมาเป็นสีแห่งดอกกุหลาบ[11]

อาร์ทูโร เวกา (Arturo Vega) ประธานฝ่ายงานศิลป์ ที่เขาทำงานให้กับวงตั้งแต่รวมวงในปี ค.ศ. 1974 จนกระทั่งยุบวงในปี ค.ศ. 1996 และมักถูกกล่าวให้เป็นราโมนคนที่ 5 เสียชีวิตลงในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2013 ด้วยอายุทั้งหมด 65 ปี และในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 สมาชิกวงคนสุดท้าย ทอมมี ราโมน ก็ได้เสียชีวิตลงภายหลังต่อสู้กับโรคมะเร็งท่อน้ำดีมายาวนาน[91]

ในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2016 เดอะราโมนส์เวย์ (RAMONES WAY) ได้เปิดตัวขึ้นที่ทางแยกระหว่างถนนหมายเลข 67 และ 110 ด้านหน้าทางเข้าโรงเรียนมัธยมฟอเรสต์ฮิลส์ในบูโรควีนส์[92] โรงเรียนเก่าของสมาชิกดั้งเดิมทั้งสี่คน

ข้อขัดแย้งภายในวง[แก้]

มีเหตุการณ์ตึงเคลียดขึ้นระหว่างโจอีและจอห์นนี ในมุมมองการเมืองที่ต่างขั้วกัน โดยโจอีนั้นนิยมฝั่งหัวก้าวหน้า แต่จอห์นนีกลับนิยมฝั่งอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้บุคลิกของทั้งสองก็แตกต่างกันอีก จอห์นนี ใช้เวลา 2 ปีในโรงเรียนทหาร อยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวด[93] ในขณะที่โจอีนั้นกลับยุ่งเหยิง ทั้งติดการพนันและแอลกอฮอลล์[94][95] ในช่วงต้นยุค 1980 ลินดา ราโมน ก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับจอห์นนี ภายหลังมีความสัมพันธ์กับโจอีมาก่อน ผลจากเรื่องนี้ทำให้ โจอี และจอห์นนี ทำตัวทิ้งห่างกัน[87] แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้จนกระทั่งโจอีเสียชีวิตลง เพราะจอห์นนีได้ไปขอโทษโจอีไว้ก่อนหน้านั้น อ้างจากสารคดี End of the Century จอห์นนี ยืนยันว่า การเสียชีวิตของโจอีนั้นส่งสภาพจิตใจเขามาก และทำให้เขาซึ่มเศร้ากับเรื่องนี้ "เป็นสัปดาห์" ภายหลังการเสียชีวิตของเขา[74]

การเป็นโรคอารมณ์สองขั้วของ ดี ดี และการติดยาซ้ำแล้วซ้ำอีกของเขา ทำให้เกิดความเคลียดเป็นอย่างมาก[96] ทอมมี ก็ออกจากวงภายหลัง "ถูกคุมคามทางร่ายกายโดยจอห์นนี ถูกปฏิบัติด้วยความชิงชังจากดี ดี และถูกละเลย จากโจอี"[97] สมาชิกคนใหม่ที่เข้าร่วมวงเพียงปีเดียว ก็มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายและภาพลักษณ์วงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง[98] ความตึงเคลียดภายในสมาชิกวง ก็ไม่ได้รับการปกปิดมิดชิดอย่างแท้จริง จนกระทั่งฮาวเวิร์ด สเติร์น (Howard Stern) นำเรื่องนี้ไปออกอากาศเมื่อปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ระหว่าง มาร์คีและโจอี จนเกิดโต้เถียงกันเรื่องการติดสุรา[99]

แนวทางการเล่น[แก้]

แนวดนตรี[แก้]

ด้วยดนตรีที่ดัง รวดเร็ว ของราโมนส์ ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากดนตรีป็อปในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 มีวงคลาสสิกร็อกตัวอย่างเช่น เดอะบีชบอยส์, เดอะฮู, เดอะบีเทิลส์, เดอะ คิงค์ส, เลด เซพเพลิน, เดอะโรลลิงสโตนส์ และ ครีเดนซ์ เคลียร์วอเทอร์ รีไววอล วงแนวบับเบิลกัมอย่าง 1910 ฟรุ๊คกัมคอมพานี และ โอไฮโอเอ็กซ์เพรส และวงเกิร์ลกรุ้ปเช่น เดอะโรเนตเทส และเดอะแชงกรี-ลาส์ ราโมนส์ยังได้รับอิทธิพลจากวงที่ทำดนตรีหนักๆ เช่น MC5, แบล็กแซ็บบาธ[100] เดอะสทูเกส และนิวยอร์กดอลส์ ซึ่งปัจจุบันต่างได้รับการยกให้เป็นผู้บุกเบิกแนวโปรโทพังก์ที่สมบูรณ์[101] สไตล์ของราโมนส์นั้นเป็นส่วหนึ่งของการต่อต้านการทำแนวเพลงที่หนักๆ โดยที่แนวเพลงที่มีจังหวะหนักแต่พอฟังได้นั้น เริ่มเข้าครองตลาดบนป็อปชาร์ตในช่วงทศวรรษที่ 1970 โจอี้ได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "พวกเราตัดสินใจที่จะเริ่มกลุ่มของพวกเราเพราะว่าพวกเราต่างเบื่อหน่ายกับทุกๆ อย่าง ที่พวกเราฟัง" "ในปี ค.ศ. 1974 ทุกๆ อย่างในรุ่น 10 แบบเอลตัน จอห์น ล้วนมีแต่การทำซ้ำๆซากๆ หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่ขยะ ทุกอย่างๆ มันอึดอัดยืดยาว โซโล่กีตาร์ที่ทำยาวๆ...พวกเราคิดถึงอดีตที่มีควรจะเป็น"[102] อิรา รอบบินส์ (Ira Robbins) และสกอตต์ ไอสเลอร์ (Scott Isler) จากนิตยารทรูเซอร์เพรส ได้บรรยายผลลัพธ์นี้ว่า

ด้วยเพียงแค่สี่คอร์ดและหนึ่งจังหวะหลัก ราโมนส์แห่งนิวยอร์กได้พ่นเลือดแห่งวงการร็อกยุคกลางทศวรรษที่ 70 ที่อุดตันอยู่ออกมา ได้คืนชีพวงการดนตรีขึ้นอีกครั้ง ความอัจฉริยะของพวกเขานี้เองที่ได้หวนความสวยงามที่สั้น/เรียบง่าย จากสิ่งที่ป็อปเคยร่อนเร่มาก่อน เป็นการเพิ่มความรู้สึกให้เกิดอารมณ์ขันในวัฒนธรรมพวกขยะ และบังเกิดความมินิมอลในเสียงจังหวะของกีตาร์[103]

ในฐานะผู้นำแนวทางของพังก์ ดนตรีของเดอะราโมนส์ มักถูกอ้างอิงมาจากค่ายของพวกเขา[1] แต่ก็มีบางส่วนที่ระบุว่าดนตรีพวกเขามีลักษณะพิเศษมากกว่า ซึ่งมันควรจะเป็น ป็อปพังก์ ด้วย[104] และรวมไปถึง พาวเวอร์ป็อป[105] ในทศวรรษที่ 1980 ราโมนส์ก็มีการเปลี่ยนแนวไปเล่นฮาร์ดคอร์พังก์บ้าง ซึ่งสามารถได้ยินจากอัลบั้ม Too Tough to Die[103]

ในการแสดงบนเวที วงใช้วิธีการเพ่งความสนใจตรงๆ ทำให้เพิ่มความรู้สึกแก่ผู้ฟังในคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง จอห์นนียังได้ชีแนะให้ ซี.เจ. เตรียมตัวก่อนการแสดงสดครั้งแรกกับวง ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย ทั้งการแกว่งสายกีตาร์เบสไปพรางๆ ช้าๆ ควบคู่ไปกับการเหยียดขาสองข้าง และเดินไปข้างหน้าเวทีในช่วงเวลากับที่จอห์นทำ เพราะจอห์นนีไม่ใช่นักกีตาร์ที่เล่นหันหน้าเข้ากลอง เครื่องขยายเสียง หรือกับสมาชิกคนอื่นๆ เท่านั้น[106]

ภาพลักษณ์ของวง[แก้]

ต้นแบบ ตราประธานาธิบดีสหรัฐที่ดัดแปลงมาใช้เป็นตราประจำวงราโมนส์

สมาชิกวงราโมนส์นั้นเป็นที่จดจำด้วยทรงผมยาวแบบ Bowl cut การสวมชุดแจ็กเก็ต ทีเชิร์ต กางเกงยีนส์ขาดๆ และรองเท้าผ้าใบ เป็นเทรนด์แฟชันที่ตรอกย้ำให้เห็นถึงความเรียบง่าย และมันก็ได้สร้างอิทธิพลอย่างมากในกรุงนิวยอร์ก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งยังสะท้อนถึงงานดนตรีของพวกเขาที่สั้นๆ และเรียบง่าย[107] ทอมมี ราโมน ได้กล่าวว่า ทั้งดนตรีและภาพลักษณ์ "พวกเราล้วนได้รับอิทธิพลอีกทีมาจากหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ การเคลื่อนไหวงานศิลปะของแอนดี วอร์ฮอล และภาพยนตร์แนวอาว็อง-การ์ด ฉันคงเป็นแฟนคลับที่บ้าคลั่งอยู่คนเดียว"[107]

ตราสัญลักษณ์ของวง ได้รับการออกแบบร่วมระหว่างอาร์ทูโร เวกา ศิลปินชาวนิวยอร์กและสมาชิกวง เวกา ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาอย่างยาวนาน จึงได้ถูกเชิญให้มาร่วมงานกับโจอี และดี ดี[108] เขาได้สร้างสรรค์เสื้อทีเชิร์ตวงหลายแบบ ซึ่งเป็นที่มาของรายได้หลัก งานศิลป์นี้ใช้พื้นฐานภาพลักษณ์ดำ-ขาว และรูปถ่ายหมู่ง่ายๆ เขายังสร้างตราหัวเข็มขัดอินทรี ที่ปรากฏให้เห็นในปกหลังของอัลบั้มแรก Ramones[109] เวกา ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบตราภายหลังไปทริปที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยกล่าวถึงตราที่เขาออกแบบนี้ว่า

ฉันมองพวกเขาคือที่สุดแห่งวงอเมริกัน พวกเขาสะท้อนความเป็นอเมริกัน ที่เป็นพวกเด็กไรเดียงสาแสนบริสุทธิ์แต่ก้าวร้าว...ฉันคิดว่า 'ตราประธานาธิบดีสหรัฐ' คงมีความสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับราโมนส์ ในตราเดิมอินทรีจับลูกธนู แสดงถึงความแข็งแกร่งและก้าวร้าวที่ไว้ใช้สู้กับใครก็ตามที่กล้าปะทะพวกเขา แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นกิ่งใบมะกอกนั้น ได้สื่อถึงใครก็ตามที่ต้องการเป็นมิตรด้วย นอกจากนี้พวกเราตัดสินที่จะปรับเปลี่ยนมันนิดนึง ด้วยการแทนที่ใบมะกอกเป็น ใบต้นแอปเปิลแทน เพราะราโมนส์มันคืออเมริกันจริงๆ (American as apple pie) และด้วยเหตุที่จอห์นนีชื่นชอบเบสบอล พวกเราจึงทำเป็นอินทรีจับไม้เบสบอลแทนที่ลูกศรธนูเดิม[109]

สำหรับม้วนกระดาษในตราประธานาธิบดีสหรัฐเดิมที่ระบุข้อความว่า "Look out below" ก็เปลี่ยนใหม่เป็น "Hey ho let's go" ซึ่งนำมาจากเพลง "Blitzkrieg Bop" มีการปรับเป็นหัวธนูออกจากอินทรี และชื่อวง "RAMONES" ที่ได้เลือกใช้ฟอนต์ตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษตัวใหญ่ วางไว้เหนือกรอบวงอีกที[22] นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนตัวหนังสือที่เขียนล้อมวงตามเข้มนาฬิกาว่า "Seal of the President of the United States" เป็นชื่อสมมุติของสมาชิกวงดั้งเดิมทั้ง 4 คนแทน คือ จอห์นนี, โจอี, ดี ดี และ ทอมมี ซึ่งภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนสมาชิกวงใหม่ ก็แทนชื่อใหม่ของสมาชิกคนนั้นแทน[110]

อิทธิพลของวง[แก้]

จอห์นนี ราโมนในคอนเสิร์ต ปี ค.ศ. 1977

ราโมนส์ได้สร้างอิทธิพลต่อวงการดนตรีป็อปไปทั่วโลก จอน ซาเวจ (Jon Savage) นักประวัติศาสตร์ดนตรี ได้กล่าวถึงอัลบั้มเปิดตัวของเขาว่า "มันเป็นการบันทึกเสียงน้อยครั้งมาก ๆ ที่สามารถเปลี่ยนวงการป็อปไปได้ตลอดกาล"[111] อ้างจากคำบรรยายของสตีเฟน โทมัส เออลีวิน จากนิตยสารออลมิวสิก "สี่อัลบั้มแรกของวงเป็นการจัดทำโครงร่างแห่งวงการพังก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกันพังก์และฮาร์ดคอร์ ในอีก 2 ทศวรรษถัดมา"[112] รอบบินส์และไอสเลอร์ แห่งนิตยสาร ทรูเซอร์เพรส ก็เขียนถึงราโมนส์คล้ายๆกันว่า "ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้นำแห่งการเคลื่อนไหวแนวพังก์/นิวเวฟ รุ่นดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นผู้ร่างพิมพ์เขียววงฮาร์ดคอร์พังก์อีกในเวลาต่อมา"[103] ฟิล สตรองแมน (Phil Strongman) นักข่าวสายพังก์ ได้กล่าวว่า "ในความหมายบริสุทธิ์ของ ดนตรี เดอะราโมนส์ ได้พยายามที่จะสร้างความตื่นเต้นในแบบพรี-ดอลบี ร็อก (pre-Dolby rock) ขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้แผ่เงาออกไปอย่างมาก พวกเขาได้หลอมพิมพ์เขียวอินดีในอนาคตข้างหน้าไว้อย่างมาก"[23] อ้างจากดักลาส โวล์ก (Douglas Wolk) แห่งนิตยสาร สเลต ในปี ค.ศ. 2001 ได้กล่าวถึงราโมนส์ว่า "เป็นวงที่มีอิทธิพลไปอีก 30 ปีได้อย่างง่ายๆ"[113]

อัลบั้มเปิดตัวของเดอะราโมนส์ นั้นได้สร้างผลลัพธ์เกินคาดสัมพันธ์กับยอดจำหน่ายกลางๆ อ้างจาก โทนี เจมส์ (Tony James) มือเบสจากเจเนอเรชันเอ็กซ์ (Generation X) "ทุกๆคนปรับเกียร์ขึ้นสามจังหวะในวันที่อัลบั้ม ราโมนส์ พังก์ร็อกที่เป็นสุดของความเร็วของพระรามและลามะ ได้ใส่มันทั้งหมดเข้ามายังราโมนส์ วงที่กำลังเพิ่งเล่นในสุสานของMC5 ในเวลาต่อมา"[114] การแสดงสดของเดอะราโมนส์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 เช่นเดียวกันกับอัลบั้มของพวกเขา ได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อกระแสแนวพังก์บนเกาะอังกฤษมากมาย หนึ่งในผู้สังเกตการณ์ได้กล่าวว่า "วงต่างๆ พยายามเร่งเกิดขึ้นทันที"[115] ในการแสดงสดครั้งแรกของเดอะราโมนส์ในเกาะอังกฤษ ที่เราด์เฮาส์คอนเสิร์ตฮอล กรุงลอนดอน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1976[116] ได้มีวงเซ็กซ์พิสทอลส์ กำลังแสดงสดที่เชฟฟิลด์ ในเย็นวันนั้นเอง โดยมีเดอะแคลช ร่วมบรรเลงครั้งนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นการเปิดตัวสู่สาธารณะครั้งแรก ในคืนต่อมา สมาชิกของทั้งสองวงได้เข้าร่วมกับเดอะราโมนส์ที่คลับดิงวอลล์คลับ (Dingwall's club) แดนนี ฟิลดส์ ผู้จัดการวง ได้จัดการสนทนากันขึ้นระหว่างจอห์นนี ราโมนและพอล ไซมอน มือเบสจากเดอะแคลช (ซึ่งเขาหลงทางในเราด์เฮาส์) "จอห์นนีถามเขา 'คุณทำอะไรอยู่?' 'คุณอยู่ในวงใช่ไหม?' พอล ตอบไปว่า 'ใช่ พวกเราเพิ่งจะซ้อม พวกเราเรียกตัวเองว่าเดอะแคลช แต่ว่าพวกเราคงไม่ดีเท่าไหร่หรอก' จอห์นนีก็ตอบกลับไปว่า 'จงดูพวกเราก่อน—พวกเรานั้นเต็มไปด้วยกลิ่นตัว และหมัดเหา พวกเราคงไม่สามารถเล่นมันได้หรอก ดังนั้นจงออกไปเล่นและทำมันดีกว่า'"[117] สมาชิกวงอีกคนจากวงเดอะแดมเนด ก็ได้มารับการแสดงของราโมนส์ครั้งนี้ ซึ่งต่อมาพวกเขาก็ได้เล่นการแสดงครั้งแรกในอีก 2 วันต่อมา นิตยสารที่ถือเป็นศูนย์กลางของพังก์บนเกาะอังกฤษในขณะนั้นอย่าง สนิฟฟินกลู (Sniffin' Glue) ก็เอาชื่อมาจากซิงเกิล "Now I Wanna Sniff Some Glue" ที่มาจากอัลบั้มแรกของวงราโมนส์[118]

การบันทึกเสียงและแสดงสดของราโมนส์นั้น ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อนักดนตรีในการพัฒนาวงการพังก์ในแคลิฟอร์เนีย เช่น เกร็ก กินน์ (Greg Ginn) แห่งวงแบล็กแฟลก[119] เจลโล เบียฟรา (Jello Biafra) จากเดดเคนเนดีส์[120] อัล เจอร์เกนเซน (Al Jourgensen) จากวงมินิสทรี[121] ไมค์ เนสส์ (Mike Ness) จากวงโซเชียลดิสทอร์ชัน[122] เบรตต์ เกียววิตซ์ (Brett Gurewitz) จากแบดรีลิจเจิน[123] และสมาชิกวงดิเซนเดนต์[124] การเคลื่อนไหวกระแสพังก์ครั้งแรกในแคนาดา ทั้งในเมืองโทรอนโต แวนคูเวอร์ และวิกตอเรีย, รัฐบริติชโคลัมเบีย[43][125] ล้วนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากราโมนส์ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 หลายวงได้นำรูปแบบราโมนส์มาใช้อย่างมาก ทั้ง วงเลิร์คเคอร์จากอังกฤษ[126] วงเดอะอันเดอร์โทน จากไอร์แลนด์[127] วงทีนเอจเฮดจากแคนาดา[128] วงเดอะซีโรส์[129] และวงเดอะดิกคีส์ จากเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย[130] นอกจากนี้วงแบดเบรน ซึ่งเป็นวงแนวฮาร์ดคอร์ ก็เอาชื่อมาจากเพลงของราโมนส์[131] วงริวเอร์เดลส์ ทำดนตรีเหมือนกับราโมนส์ตลอดช่วงเวลาของวง[132] บิลลี โจ อาร์มสตรอง นักร้องนำวงกรีนเดย์ ก็ตั้งชื่อลูกว่า "โจอี" ตามโจอี ราโมน และเทร คูล มือกลอง ก็ตั้งชื่อลูกสาวตัวเองว่า "ราโมนา"[133]

มิสฟิตส์ วงฮาร์ดคอร์พังก์/ฮอร์เรอร์พังก์ จากนิวเจอร์ซีย์ ก็รับอิทธิพลจากจังหวะรวดเร็วตามเพลง "Blitzkrieg" ของราโมนส์ มาปรับใช้ให้มีจังหวะกลางค่อนไปทางเร็ว เป็นสไตล์ อาร์แอนด์บีของพังก์ร็อก

ราโมนส์ ก็ยังสร้างอิทธิพลให้แก่ศิลปินอื่นที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบพังก์ย่อย ๆ ทั้งเฮฟวีเมทัล พวกเขาได้เปลี่ยนเมทัลให้กลายเป็น พังก์-เมทัล ซึ่งเป็นรูปแบบผสมจนเป็นชื่อใหม่ที่เรียกว่า "แทรชเมทัล" เคิร์ก แฮมเมตต์ มือกีตาร์หลักวงเมทัลลิกา ได้กล่าวถึงสไตล์การริฟกีตาร์ที่รวดเร็วแบบจอห์นนี เป็นการพัฒนาที่สำคัญต่อการเล่นกีตาร์เขา[134] เล็มมีแห่งวงมอเตอร์เฮด ซึ่งได้เป็นเพื่อนกับสมาชิกราโมนส์นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ได้ร่วมทำเพลง "Go Home Ann" กับราโมนส์ ต่อมาก็ได้แต่งเพลง "R.A.M.O.N.E.S." ในฐานะเป็นวงลูก (Tribute) ให้ ซึ่งเลมมีได้แสดงมันในทัวร์คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของราโมนส์ในปี ค.ศ. 1996[135] ในวงการอัลเทอร์เนทีฟร็อก อย่างเพลง "53rd and 3rd" ก็ได้อิทธิพลมาใช้ในค่ายเพลงอินดี้ป็อปอังกฤษ โดยสตีเฟน พาสเทลล์ (Stephen Pastel)จากพาสเทลส์ วงสัญชาติสก็อตแลนด์ นอกจากนี้ก็ยังได้สร้างอิทธิพลให้กับศิลปินแนวนี้อื่นอีกทั้ง อีวาน แดดโด (Evan Dando) จากเดอะเลมอนเฮดส์[136] เดฟ โกรล แห่งวงเนอร์วานาและฟูไฟเตอส์[118] ไมค์ พอร์ตนอยจากวงดรีมเธียร์เตอร์ เอ็ดดี เวดเดอร์ จากเพิร์ลแจม[137] (ซึ่งเขาเป็นคนเสนอชื่อให้ได้รับการบรรจุเข้าหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล) วงเดอะสโตรกส์[138] และวงอัลเทอร์เนทีฟอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมไปถึงวงเมทัลต่างๆ ที่ได้ยกย่องราโมนส์ว่าเป็นผู้ให้แรงบรรดาลใจแก่พวกเขา[139]

นอกจากนี้ยังมีการจัดอันดับสมาชิกราโมนส์เป็นรายบุคคล เช่นจอห์นนี ราโมน ได้ติดโผ "10 มือกีตาร์ไฟฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" จากนิตยสาร ไทม์[140] ในปี ค.ศ. 2003 ในปีเดียวกันนั้นเองเขาก็ยังติดอันดับ 16 บนหัวข้อ "100 มือกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" จากนิตยสาร โรลลิงสโตน อีกด้วย[141]

จีน ซิมมอนส์ (Gene Simmons) มือเบสและนักร้องนำวงคิส ได้กล่าวว่า "พวกเราคิดว่าราโมนส์นั้นคลาสสิกจริงๆ เป็นวงที่โดดเด่น" "พวกเขาได้ยอดการบันทึกเสียงระดับทองคำเพียงครั้งเดียว ไม่เคยได้เล่นในสนามกีฬาใหญ่ๆ ไม่สามารถขายตั๋วหรือเพลงออกได้เลย มันเป็นวงที่ล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีทางที่จะยิ่งใหญ่ มันคงหมายความว่ายอดจำนวนนั้นไม่มีผลอะไร"[142]

อัลบั้มทริบิวต์[แก้]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 มาร์ก พรินเดิล (Mark Prindle) นักเขียนจากนิตยสาร สปิน ได้รวบรวมเกี่ยวกับอัลบั้มทริบิวต์ว่า "มีการทำอัลบั้มทริบิวต์ไปแล้วกว่า 48 การบันทึกเต็ม"[143] อัลบั้มทริบิวต์แรกสุดของราโมนส์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลากศิลปินทั้ง เฟลชอีเตอร์ส, แอล7, โมโจนิซอน และแบดรีลิเจิน อัลบั้มได้วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1991 ในชื่อ Gabba Gabba Hey: A Tribute to the Ramones[139] ในปี ค.ศ. 2001 ดี ดี ก็ได้รับเชิญให้มาร่วมทำเพลงหนึ่งในอัลบั้มทริบิวต์ Ramones Maniacs ซึ่งเป็นอัลบั้มทริบิวต์รวมเพลงดัง โดยหลากศิลปินเช่นเดียวกัน อัลบั้ม The Song Ramones the Same ก็ออกจำหน่ายในหนึ่งปีถัดจากนั้น ซึ่งมีวงเดอะดิกเทเตอร์ส หนึ่งในวงผู้บุกเบิกพังก์ยุคแรก ๆ ของนิวยอร์ก และเวนน์ คราเมอร์ (Wayne Kramer) มือกีตาร์จากวง MC5 มาร่วมทำอัลบั้มในครั้งนี้ด้วย อัลบั้ม We're a Happy Family: A Tribute to Ramones ได้เปิดตัวในปี ค.ศ. 2003 ประกอบด้วศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งวงแรนซิด, กรีนเดย์, เมทัลลิกา, คิส, ดิออฟสปริง, เรดฮอตชิลีเพปเปอส์, ยูทู และร็อบ ซอมบี (ซึ่งเขาเป็นผู้ออกแบบหน้าปกอัลบั้มนี้ด้วย)[144]

วงพังก์ได้แก่ วงสครีชชิงวีเซิล, เดอะวินดิกทีฟส์, เดอะเควียร์, พาราซิดส์, เดอะมิสเตอร์ทีเอ็กซ์เพียเรียนซ์, บอริสเดอะสปรินเคลอร์, บีตนิกเทอร์มิตเทส, ทิปส์ทอปเปอร์ส, โจน คูการ์คอนเซนเทรเชินแคมป์, แม็กแร็กคินส์ และโคแบเนส ได้ร่วมกันโคเวอร์เพลงในอัลบั้ม Ramones, Leave Home, Rocket to Russia, It's Alive, Road to Ruin, End of the Century, Pleasant Dreams, Subterranean Jungle ซึ่งประกอบด้วยเพลงจากอัลบั้ม Too Tough to Die และ Halfway To Sanity[143][145] และวงเดอะฮันทิงตันส์ ได้ทำอัลบั้ม File Under Ramones ซึ่งประกอบหน้าปกตลอดช่วงชีวิตของราโมนส์[146]

ด้วยความหลงใหลในดนตรีของราโมนส์ และในโอกาสครบรอบ 30 ปีของวง วงโชเนน ไนฟ์ วงสามหญิงล้วนจากโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1981 ได้ร่วมจัดทำอัลบั้ม Osaka Ramones ซึ่งเป็นการโคเวอร์เพลงทั้งหมด 13 เพลงโดยวง[147]

สมาชิก[แก้]

  • จอห์นนี ราโมน/จอห์น คัมมิงส์ (Johnny Ramone; John Cummings) – กีตาร์ (1974–96)
  • ดี ดี ราโมน/ดักลาส โคลวิน (Dee Dee Ramone; Douglas Colvin) – กีตาร์เบส,เสียงร้อง (1974–89); กีตาร์ (1974)
  • โจอี ราโมน/เจฟฟรี ไฮแมน (Joey Ramone; Jeffrey Hyman) – เสียงร้อง (1974–96); กลอง (1974)
  • ทอมมี ราโมน/โทมัส เออเดลอี (Tommy Ramone; Thomas Erdelyi) – กลอง (1974–78)
  • มาร์คี ราโมน/มาร์ก เบลล์ (Marky Ramone; Marc Bell) – กลอง (1978–83, 1987–96)
  • ริชชี ราโมน/ริชาร์ด ไรน์ฮาร์ดต์ (Richie Ramone; Richard Reinhardt) – กลอง, เสียงร้อง (1983–87)
  • ซี.เจ. ราโมน/คริสโตเฟอร์ โจเซฟ วาร์ด (C. J. Ramone; Christopher Joseph Ward) – กีตาร์เบส, เสียงร้อง (1989–96)
  • เอลวิส ราโมน/เคล็ม เบิร์ก (Elvis Ramone; Clem Burke) – กลอง (1987)

ลำดับเวลา[แก้]

สตูดิโออัลบั้ม[แก้]

  • Ramones (1976)
  • Leave Home (1977)
  • Rocket to Russia (1977)
  • Road to Ruin (1978)
  • End of the Century (1980)
  • Pleasant Dreams (1981)
  • Subterranean Jungle (1983)
  • Too Tough to Die (1984)
  • Animal Boy (1986)
  • Halfway to Sanity (1987)
  • Brain Drain (1989)
  • Mondo Bizarro (1992)
  • Acid Eaters (1994)
  • ¡Adios Amigos! (1995)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "The Ramones". MTV. สืบค้นเมื่อ 2009-11-05.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Ramones". Rock and Roll Hall of Fame + Museum. September 15, 2004. สืบค้นเมื่อ 2015-07-09.
  3. 3.0 3.1 3.2 Melnick and Meyer (2003), p. 32.
  4. Sandford (2006), p. 11.
  5. "Tommy Ramone dies aged 62". The Guardian. Australian Associated Press. July 12, 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-07-12.
  6. "The Immortals: The First Fifty". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-25. สืบค้นเมื่อ 2009-11-05.
  7. "100 Greatest Artists of Hard Rock". VH1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-16. สืบค้นเมื่อ 2009-11-05.
  8. "50 Greatest Bands Of All Time". Spin. February 2002. สืบค้นเมื่อ 2009-11-05.
  9. Vineyard, Jennifer (March 19, 2002). "Vedder Rambles, Green Day Scramble As Ramones Enter Hall". VH1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-15. สืบค้นเมื่อ 2009-11-05.
  10. 10.0 10.1 Sterndan, Darryl (February 13, 2011). "Ramones Honoured with Lifetime Achievement Grammy". Toronto Sun. สืบค้นเมื่อ 2011-02-13.
  11. 11.0 11.1 "Ramone Family Acceptance at Special Merit Awards Ceremony". The Recording Academy. สืบค้นเมื่อ 2012-02-21.
  12. Laitio-Ramone, Jari-Pekka (1997). "Tangerine Puppets (Interview with Richard Adler)". Jari-Pekka Laitio-Ramonen Henkilökohtainen Kotisivutuotos. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-04. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  13. "End of the Century: The Ramones". Independent Lens. PBS. สืบค้นเมื่อ November 7, 2009.
  14. Enright, Michael (April 20, 2001). "Pal Joey". Time. Time Warner. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-05. สืบค้นเมื่อ October 20, 2009.
  15. McNeil and McCain (1996), pp. 181, 496.
  16. Sandford (2006), p. 11.
  17. 17.0 17.1 "Interview with Marky Ramone". PunkBands.com. November 30, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-19. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  18. Melnick and Meyer (2003), p. 33.
  19. Johnny Ramone - Timeline Photos. Facebook. Retrieved on September 20, 2015.
  20. "End of the Century: The Ramones". PBS. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  21. Melnick and Meyer (2003), p. 101.
  22. 22.0 22.1 Bessman (1993), p. 211.
  23. 23.0 23.1 Strongman (2008), p. 62.
  24. Savage (1992), pp. 130, 156.
  25. Quoted in Strongman (2008), p. 61.
  26. Leigh 2009, p. 138.
  27. 27.0 27.1 Shirley (2005), p. 110.
  28. Leigh and McNeil (2009), p. 258.
  29. MacDonald, Les (Dec 23, 2013). The Day the Music Died. ISBN 9781453522677. สืบค้นเมื่อ August 30, 2014. Dee Dee was the main writer even though the band shared the songwriting credits
  30. Schnider (2007), pp. 543–44.
  31. Bessman (1993), pp. 48, 50; Miles, Scott, and Morgan (2005), p. 136.
  32. Taylor (2003), pp. 16–17.
  33. Quoted in Bessman (1993), p. 55.
  34. Nelson, Paul (July 29, 1976). "Album Reviews: Ramones: Ramones". Rolling Stone. สืบค้นเมื่อ February 22, 2012.
  35. Quoted in Bessman (1993), p. 56.
  36. Bessman (1993), p. 55.
  37. "Ramones Biography". Billboard. Prometheus Global Media. สืบค้นเมื่อ August 30, 2014.
  38. Ramone and Kofman (2000), p. 77.
  39. "Linda Stein, 62, Manager/Real Estate Broker: Pioneer of Punk Music Killed in N.Y. Apartment". Variety. November 1, 2007. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  40. Laney, Karen (Sep 30, 2012). "Late T. Rex Singer Marc Bolan's Girlfriend Gloria Jones Keeps His Memory Alive". Ultimate Classic Rock. สืบค้นเมื่อ August 30, 2014.
  41. Whitmore, Greg (July 12, 2014). "40 years of Ramones – in pictures". The Guardian. Guardian Media Group. สืบค้นเมื่อ August 30, 2014.
  42. 42.0 42.1 Powers, Ann (April 17, 2001). "Joey Ramone, Raw-Voiced Pioneer of Punk Rock, Dies at 49". New York Times. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  43. 43.0 43.1 Worth, Liz (June 2007). "A Canadian Punk Revival". Exclaim. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-06. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  44. Jones, Chris (January 24, 2008). "The Ramones Leave Home". BBC. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  45. Stephen Thomas Erlewine (August 12, 1976). "Leave Home – The Ramones | Songs, Reviews, Credits, Awards". AllMusic. สืบค้นเมื่อ July 13, 2014.
  46. "Charts & Awards Rocket to Russia". Allmusic. สืบค้นเมื่อ October 20, 2009.
  47. Marsh, Dave (December 15, 1977). "Album Reviews: Ramones: Rocket to Russia". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 9, 2009. สืบค้นเมื่อ February 22, 2012.
  48. Stim (2006), p. 221.
  49. "Cast and Crew: Marky Ramone". IFC.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-09. สืบค้นเมื่อ March 8, 2010.
  50. Ankeny, Jason. "Biography Markey Ramone". Allmusic. สืบค้นเมื่อ October 20, 2009.
  51. Boldman, Gina. "I Wanna Be Sedated". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  52. Morgan, Jeffrey (February 4, 2004). "John Holmstrom: Floating in a Bottle of Formaldehyde". Metro Times. Times-Shamrock Communications. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  53. Harlow, John (March 18, 2007). "Spector Calls Ex-Wife for Murder Defence". Sunday Times. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  54. Leigh and McNeil (2009), p. 201.
  55. 55.0 55.1 Devenish, Colin (June 24, 2002). "Johnny Ramone Stays Tough: Ramones Guitarist Reflects on Dee Dee's Death and the Difficult Eighties". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2009. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009. Retrieved from Internet Archive December 16, 2013.
  56. "Joey Ramone Obituary". The Daily Telegraph. April 17, 2001. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  57. 57.0 57.1 Isler and Robbins (1991), p. 533.
  58. "Charts & Awards Pleasant Dreams". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  59. Erlewine, Stephen Thomas. "Overview Subterranean Jungle". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  60. "Charts & Awards Subterranean Jungle". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  61. "Chart History—The Ramones". Billboard. สืบค้นเมื่อ November 7, 2009.
  62. "Brooklyn based Music Blog: Anachronique : Ramones (Glam Rock)". Still in Rock. February 26, 2004. สืบค้นเมื่อ April 19, 2014.
  63. Bessman (1993), p. 127.
  64. "Ramones Get Back the Spirit". Bignoisenow.com. สืบค้นเมื่อ July 13, 2014.
  65. Leigh, Mickey (2009). I Slept With Joey Ramone. Touchstone. p. 229. ISBN 0-7432-5216-0.
  66. Leigh, Mickey (2009). I Slept With Joey Ramone. Touchstone. p. 230. ISBN 0-7432-5216-0.
  67. True, Everett (2002). Hey Ho Let's Go: The Story of The Ramones. Omnibus Press. p. 208. ISBN 0-7119-9108-1.
  68. Ramone, Johnny (2012). Commando: The Autobiography of Johnny Ramone. Abrams. p. 133. ISBN 978-0810996601.
  69. Erlewine, Stephen Thomas. "Too Tough to Die Review". Allmusic. สืบค้นเมื่อ July 31, 2011.
  70. Jaffee, Larry (November–December 1985). "Disc Spells Hit Time for Bonzo". Mother Jones. p. 10.
  71. Rivadavia, Eduardo. "Animal Boy Review". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  72. Fricke, David (July 17, 1986). "The Ramones: Animal Boy". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 23, 2009. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  73. Quoted in Bessman (1993), p. 136.
  74. 74.0 74.1 From the film End of the Century: The Story of the Ramones
  75. D'Angelo, Joe & Gideon Yago (June 6, 2002). "Dee Dee Ramone Found Dead In Los Angeles". MTV News. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  76. Rivadavia, Eduardo. "Overview Mondo Bizarro". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  77. Erlewine, Stephen Thomas. "Overview Acid Eaters". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  78. "The Simpsons "Rosebud"". BBC. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  79. Newman, Melinda (May 27, 1995). "Looks Like 'Adios Amigos' For Ramones". Billboard. Prometheus Global Media. p. 12. สืบค้นเมื่อ February 20, 2010.
  80. Erlewine, Stephen Thomas. "Overview ¡Adios Amigos!". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  81. "Chart History ¡Adios Amigos!". Billboard. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  82. Beowülf, David Lee. "Intruder Alert! Intruder Alert! Marky Ramone". Ink 19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-21. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  83. Schinder (2007), pp. 559–560.
  84. Schinder (2007), p. 560.
  85. Pareles, Jon (June 7, 2002). "Dee Dee Ramone, Pioneer Punk Rocker, Dies at 50". New York Times. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  86. Wakin, Daniel J. (November 29, 2003). "Hey Ho, Let's Go Downtown to Joey Ramone Place". New York Times. สืบค้นเมื่อ May 19, 2010.
  87. 87.0 87.1 Sisario, Ben (September 16, 2004). "Johnny Ramone, Signal Guitarist for the Ramones, Dies at 55". New York Times. สืบค้นเมื่อ November 3, 2009.
  88. "Ramones Museum". สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  89. "Inductees". Long Island Music Hall of Fame. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-17. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  90. "DVD Set To Be Released Featuring over 4 Hours of the Ramones Live at Work". Side-line.com. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  91. "Tommy Ramone dies aged 62". The Guardian. July 12, 2014. สืบค้นเมื่อ July 12, 2014.
  92. "The Ramones Way: Street At Rockers' High School Is Renamed For Band". NPR. October 30, 2016. สืบค้นเมื่อ November 3, 2016.
  93. Bessman (1993), pp. 18, 82.
  94. Leland, John (April 22, 2001). "Tribute: A Star of Anti-Charisma, Joey Ramone Made Geeks Chic". New York Times. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  95. "Joey Ramone". Telegraph. สืบค้นเมื่อ April 19, 2014.
  96. Melnick and Meyer (2003).
  97. Beeber (2006), p. 121.
  98. St. Thomas, Maggie (December 3, 2001). "The Ramones Confidentials—Part III (Interview with C.J. Ramone)". Livewire. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  99. Leigh and McNeil (2009), pp. 343–344.
  100. Millard, André (2004). The Electric Guitar: A History of an American Icon. JHU Press. p. 206. ISBN 0-8018-7862-4.
  101. Bessman (1993), pp. 17–18; Morris, Chris (April 29, 2001). "Joey Ramone, Punk's First Icon, Dies". Billboard. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009. "The Musical Misfits". BBC. April 16, 2001. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  102. Edelstein and McDonough (1990), p. 178.
  103. 103.0 103.1 103.2 Isler and Robbins (1991), p. 532.
  104. "Ramones Discography LPs". punk77.co.uk. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009. "End of the Century: The Ramones". PBS. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  105. Holmstrom, John (December 2004). "Happy Family Interviews". RamonesMania.com. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  106. Fricke, David (1999). Hey Ho Let's Go!: The Anthology liner notes. Rhino Entertainment, R2 75817.
  107. 107.0 107.1 Colegrave and Sullivan (2001), p. 67.
  108. McNeil and McCain (1996), p. 211.
  109. 109.0 109.1 Bessman (1993), p. 40.
  110. Vega, Arturo. "My Ramones World". RamonesWorld.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-28. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  111. Savage (1992), p. 553.
  112. Erlewine, Stephen Thomas. "The Ramones: Biography". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  113. Wolk, Douglas (April 18, 2001). "I Wanna Be Joey". Slate. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  114. Quoted in Strongman (2008), p. 111.
  115. Robb (2006), p. 198. See also p. 201 for a similar report.
  116. "In Pictures: Ramones at the roundhouse". 50.roundhouse.org.uk. สืบค้นเมื่อ November 23, 2016.
  117. Colegrave and Sullivan (2005), p. 234.
  118. 118.0 118.1 Grohl, Dave (December 1981). "Punk Fiction". Foo Archive/Radio 1. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  119. Sinclair, Mick (December 1981). "Black Flag". Sounds. Mick Sinclair Archives. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  120. Bayles (1996), p. 314.
  121. "ministry IE". Condor.depaul.edu. สืบค้นเมื่อ July 13, 2014.
  122. Appleford, Steve (October 6, 2005). "Mike Ness". LA CityBeat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 17, 2009. สืบค้นเมื่อ February 22, 2012.
  123. Lyxzén, Dennis (June 2004). "Bad Religion's Brett Gurewitz Exclusively Interviewed by (International) Noise Conspiracy's Dennis Lyxzén: Back To The Beginning". Exclaim. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  124. "Descendents F.A.Q." DescendentsOnline.com [official band site]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-03. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009. Rashidi, Waleed (2002). "Descendents". Mean Street. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-27. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  125. Keithley (2004), pp. 30, 63; Mercer, Laurie. "Tom Holliston Biography". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  126. Spicer (2003), p. 349.
  127. McNett, Gavin. "Teenage Kicks". Salon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-04-10. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  128. Rockingham, Graham (April 22, 2008). "Teenage Head: Still Some Kinda Fun". Hamilton Spectator. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-21. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  129. Spitz and Mullen (2001), p. 82.
  130. Strongman (2008), p. 213.
  131. Barry, John (October 15, 2008). "I Against I". Baltimore City Paper. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  132. Spano, Charles. "Overview: The Riverdales". Allmusic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 19, 2002. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  133. Moss, Corey (April 17, 2001). "Peers Praise Joey Ramone, The Man And The Musician". MTV. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  134. Young, Charles M. (September 16, 2004). "Johnny's Last Stand". Rolling Stone. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-03. สืบค้นเมื่อ February 22, 2012.
  135. Myers, Sarah L. (May 14, 2007). "The Head Cat: Lemmy interview". Thirsty. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  136. Keene, Jarret (November 29, 2007). "Candy Man". Tucson Weekly. สืบค้นเมื่อ November 5, 2009.
  137. Kerr, Dave. (May 2006). "Explore and Not Explode". The Skinny. สืบค้นเมื่อ September 3, 2007.
  138. Roach (2003), pp. 60–63.
  139. 139.0 139.1 Henderson, Alex. "Overview: Gabba Gabba Hey: A Tribute to the Ramones". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  140. Tyrangiel, Josh (August 24, 2009). "The 10 Greatest Electric-Guitar Players". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-17. สืบค้นเมื่อ November 14, 2009.
  141. Commando (book), pg122
  142. Dey, Iain: 'Kiss and sell: rock's giant cash machine', The Sunday Times, December 7, 2014, p9
  143. 143.0 143.1 Prindle, Mark (April 2009). "One Two Three Faux!: A Tribute to Tributes to the Ramones". Spin. p. 63. สืบค้นเมื่อ February 11, 2012.
  144. Torreano, Bradley. "Overview: We're a Happy Family: A Tribute to Ramones". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  145. "Kobanes – Halfway To Sanity @ Interpunk.com – The Ultimate Punk Music Store". Interpunk.com. August 1, 2013. สืบค้นเมื่อ April 19, 2014.
  146. Huey, Steve. "Overview: File Under Ramones". Allmusic. สืบค้นเมื่อ November 6, 2009.
  147. Anderson, Rick. "Osaka Ramones: Tribute to the Ramones – Shonen Knife | Songs, Reviews, Credits, Awards | AllMusic". AllMusic. AllRovi. สืบค้นเมื่อ January 10, 2013.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bayles, Martha (1996). Hole in Our Soul: The Loss of Beauty and Meaning in American Popular Music, University of Chicago Press. ISBN 0-226-03959-5
  • Beeber, Steven Lee (2006). The Heebie-Jeebies at CBGB's: A Secret History of Jewish Punk, Chicago Review Press. ISBN 1-55652-613-X
  • Bessman, Jim (1993). Ramones: An American Band, St. Martin's Press. ISBN 0-312-09369-1
  • Colegrave, Stephen, and Chris Sullivan (2005). Punk: The Definitive Record of a Revolution, Thunder's Mouth Press. ISBN 1-56025-769-5
  • Edelstein, Andrew J., and Kevin McDonough (1990). The Seventies: From Hot Pants to Hot Tubs, Dutton. ISBN 0-525-48572-4
  • Isler, Scott, and Ira A. Robbins (1991). "Ramones", in Trouser Press Record Guide (4th ed.), ed. Ira A. Robbins, pp. 532–34, Collier. ISBN 0-02-036361-3
  • Johansson, Anders (2009). "Touched by Style", in The Hand of the Interpreter: Essays on Meaning after Theory, ed. G. F. Mitrano and Eric Jarosinski, pp. 41–60, Peter Lang. ISBN 3-03911-118-3
  • Keithley, Joe (2004). I, Shithead: A Life in Punk, Arsenal Pulp Press. ISBN 1-55152-148-2
  • Leigh, Mickey, and Legs McNeil (2009). I Slept With Joey Ramone: A Family Memoir, Simon & Schuster. ISBN 0-7432-5216-0
  • McNeil, Legs, and Gillian McCain (1996). Please Kill Me: The Uncensored Oral History of Punk (2d ed.), Penguin. ISBN 0-14-026690-9
  • Melnick, Monte A., and Frank Meyer (2003). On The Road with the Ramones, Sanctuary. ISBN 1-86074-514-8
  • Miles, Barry, Grant Scott, and Johnny Morgan (2005). The Greatest Album Covers of All Time, Collins & Brown. ISBN 1-84340-301-3
  • Ramone, Dee Dee, and Veronica Kofman (2000). Lobotomy: Surviving the Ramones, Thunder's Mouth Press. ISBN 1-56025-252-9
  • Ramone, Johnny (2004). Commando, Abrams Press. ISBN 978-0-8109-9660-1
  • Roach, Martin (2003). The Strokes: The First Biography of the Strokes, Omnibus Press. ISBN 0-7119-9601-6
  • Robb, John (2006). Punk Rock: An Oral History, Elbury Press. ISBN 0-09-190511-7
  • Sandford, Christopher (2006). McCartney, Century. ISBN 1-84413-602-7
  • Savage, Jon (1992). England's Dreaming: Anarchy, Sex Pistols, Punk Rock, and Beyond, St. Martin's Press. ISBN 0-312-08774-8
  • Schinder, Scott, with Andy Schwartz (2007). Icons of Rock: An Encyclopedia of the Legends Who Changed Music Forever, Greenwood Press. ISBN 0-313-33847-7
  • Shirley, Ian (2005). Can Rock & Roll Save the World?: An Illustrated History of Music and Comics, SAF Publishing. ISBN 978-0946719808
  • Spicer, Al (2003). "The Lurkers", in The Rough Guide to Rock (3d ed.), ed. Peter Buckley, p. 349, Rough Guides. ISBN 1-84353-105-4
  • Spitz, Mark, and Brendan Mullen (2001). We Got the Neutron Bomb: The Untold Story of L.A. Punk, Three Rivers Press. ISBN 0-609-80774-9
  • Stim, Richard (2006). Music Law: How to Run Your Band's Business, Nolo. ISBN 1-4133-0517-2
  • Strongman, Phil (2008). Pretty Vacant: A History of UK Punk, Chicago Review Press. ISBN 1-55652-752-7
  • Taylor, Steven (2003). False Prophet: Field Notes from the Punk Underground, Wesleyan University Press. ISBN 0-8195-6668-3

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]