โชกุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เซไตโชกุน)
มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ โชกุนคนแรก จากตระกูลมินาโมโตะ อยู่ในอำนาจระหว่าง ค.ศ. 1192–99

โชกุน (ญี่ปุ่น: 将軍โรมาจิshōgun) เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทหารแห่งญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1185–1868 ส่วนใหญ่ในช่วงดังกล่าว โชกุนเป็นประมุขของประเทศในทางพฤตินัย แต่โดยนิตินัยแล้วเขาได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิญี่ปุ่นอีกที[1]

คำว่า "โชกุน" นั้นแปลว่า "จอมทัพ" ตัดมาจาก "เซอิไทโชกุน" (征夷大将軍) ที่แปลว่า "จอมทัพใหญ่ปราบเถื่อน"[2] เดิมเป็นตำแหน่งผู้นำทัพปราบกลุ่มเอมิชิที่ขัดขืนอำนาจส่วนกลางเมื่อต้นยุคเฮอัง (คริสต์ศตวรรษที่ 7–10)[3] ส่วนคณะเจ้าหน้าที่ของโชกุนนั้นเรียกรวมกันว่า "รัฐบาลโชกุน" (shogunate) หรือ "บากูฟุ" (幕府) ที่แปลว่า "สำนักพลับพลา" เดิมเป็นคำเรียกที่บัญชาการของขุนศึก[4]

โชกุนครองอำนาจที่แทบเบ็ดเสร็จเหนือดินแดนญี่ปุ่นโดยใช้วิธีทางทหาร ยกเว้นในยุคคามากูระ (ค.ศ. 1199–1333) เมื่อสิ้นโชกุนมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ แล้ว ตระกูลโฮโจก็ควบคุมรัฐบาลโชกุนไว้ได้ทั้งหมด โดยสำเร็จราชการแทนโชกุนในฐานะชิกเก็ง (ค.ศ. 1199–1256) และโทกูโซ (ค.ศ. 1256–1333) ทำให้โชกุนตกอยู่ในสภาพเดียวกับจักรพรรดิ คือ เป็นผู้นำแบบหุ่นเชิด ช่วงเวลานี้เรียกว่า "สมัยชิกเก็ง" (執権政治)[5] จนเกิดรัฐประหารล้มล้างตระกูลโฮโจในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1300 ทำให้โชกุนกลับมาบริหารอำนาจในพระนามาภิไธยอีกครั้ง[5]

โชกุนคนสุดท้าย คือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ ผู้สละตำแหน่งให้แก่จักรพรรดิเมจิใน ค.ศ. 1867[6]

ยุคเฮอัง (ค.ศ. 794–1185)[แก้]

เดิมที มีการมอบตำแหน่งเซอิไทโชกุนให้แก่ผู้นำทหารในต้นยุคเฮอังช่วงที่มีการสงครามต่อต้านกลุ่มเอมิชิซึ่งไม่ยอมรับอำนาจของราชสำนักเคียวโตะ ผู้ดำรงตำแหน่งคนแรก คือ โอโตโมะ โนะ โอโตมาโระ[3] ผู้ดำรงตำแหน่งคนที่เลื่องชื่อที่สุด คือ ซากาโนอูเอะ โนะ ทามูรามาโระ

ปลายยุคเฮอัง มีการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกเพียงคนเดียว คือ มินาโมโตะ โนะ โยชินากะ ในช่วงสงครามเก็มเป แต่อยู่ในตำแหน่งไม่นานเขาก็ถูกมินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ คู่แข่ง สังหาร

รัฐบาลคามากูระ (ค.ศ. 1192–1333)[แก้]

ครั้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ไดเมียวที่มีซามูไรเป็นองครักษ์เถลิงอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ[7] ตระกูลไทระกับตระกูลมินาโมโตะช่วงชิงอำนาจเหนือราชสำนักที่กำลังเสื่อมถอย ตระกูลไทระควบคุมราชสำนักได้ในช่วง ค.ศ. 1160–85 แต่พ่ายแพ้แก่ตระกูลมินาโมโตะในยุทธการที่ดันโนอูระ ทำให้มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ยึดอำนาจรัฐบาลกลางเป็นผลสำเร็จ และก่อตั้งระบบเจ้าขุนมูลนายขึ้นที่เมืองคามากูระ โดยให้ซามูไรที่เป็นองครักษ์มีอำนาจบางประการในทางการเมือง ส่วนจักรพรรดิและชนชั้นนำอื่น ๆ อยู่ในอำนาจทางนิตินัยเท่านั้น ต่อมาใน ค.ศ. 1119 จักรพรรดิประทานตำแหน่งเซอิไทโชกุนให้แก่โยริโตโมะ ทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นที่รู้จักในนาม "รัฐบาลโชกุน" แต่เมื่อสิ้นโยริโตโมะแล้ว ตระกูลโฮโจจากฝั่งภริยาของโยริโตโมะเข้าควบคุมตระกูลมินาโมโตะไว้ได้[8] โชกุนตระกูลโยริโตโมะที่สืบตำแหน่งต่อ ๆ มากลายเป็นเพียงหุ่นเชิดที่มีบุคคลจากตระกูลโฮโจคอยสำเร็จราชการแทน เป็นเช่นนี้เกือบ 150 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1192 ถึง 1333

ในช่วงเวลาดังกล่าว สองราชตระกูล คือ ราชสำนักเหนือ กับราชสำนักใต้ อ้างสิทธิในบัลลังก์กัน รัฐบาลโชกุนเข้าแทรกแซงโดยให้ราชตระกูลทั้งสองผลัดกันครองบัลลังก์ แต่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะพยายามจะยุติการผลัดบัลลังก์ดังกล่าวโดยวางแผนล้มล้างระบอบโชกุน พระองค์อาศัยจังหวะที่จักรวรรดิมองโกลเข้ารุกรานญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1274 และ 1281 ดำเนินการฟื้นฟูเค็มมุใน ค.ศ. 1331 แต่ล้มเหลว พระองค์ถูกเนรเทศ จนราว ค.ศ. 1334–36 ขุนพลอาชิกางะ ทากาอูจิ ช่วยให้พระองค์หวนคืนสู่ราชบัลลังก์ ทำให้รัฐบาลโชกุนที่มีตระกูลโฮโจเป็นผู้นำสิ้นสุดลง[9]

ในช่วงฟื้นฟูเค็มมุนั้น แม้เป็นผลให้รัฐบาลโชกุนแห่งเมืองคามากูระสิ้นสุดลง แต่ก็เกิดรัฐบาลโชกุนใหม่ขึ้นแทน โดยเจ้าชายโมริโยชิ โอรสของจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ได้ตำแหน่งเซอิไทโชกุน ทว่า ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพราะไม่นานเจ้าชายก็ถูกจับกุมคุมขังไว้ในพระราชฐาน และถูกอาชิกางะ ทาดาโชยิ น้องชายของทากาอูจิ สังหารใน ค.ศ. 1335 นอกจากนี้ ในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1336 ทากาอูจิยังผิดใจกับจักรพรรดิโกะ-ไดโงะ และถอดพระองค์ลงจากบัลลังก์ แต่งตั้งจักรพรรดิพระองค์ใหม่ขึ้นแทนใน ค.ศ. 1339 คือ จักรพรรดิโกะ-มูรากามิ[9]

รัฐบาลอาชิกางะ (ค.ศ. 1336–1573)[แก้]

ใน ค.ศ. 1338 อาชิกางะ ทากาอูจิ ได้ตำแหน่งเซอิไทโชกุน ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะในเคียวโตะจนถึง ค.ศ. 1573 ช่วงเวลาที่ตระกูลอาชิกางะปกครองนั้นเรียกว่า ยุคมูโรมาจิ

ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (ค.ศ. 1573–1600)[แก้]

สมัยต่อมา ตำแหน่งเซอิไทโชกุนตกเป็นของโอดะ โนบูนางะ และผู้สืบทอด คือ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งเป็นยุคที่โชกุนมีอำนาจมากยิ่งกว่าก่อน ฮิเดโยชิยังถือกันว่า เป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น

รัฐบาลโทกูงาวะ (ค.ศ. 1600–1868)[แก้]

ใน ค.ศ. 1600 ขุนพลโทกูงาวะ อิเอยาซุ ยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ และก่อตั้งการปกครองขึ้นที่เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือ โตเกียว) ต่อมาใน ค.ศ. 1603 เขาได้รับตำแหน่งเซอิไทโชกุน หลังจากสร้างหลักฐานเท็จเพื่อแสดงว่า ตนเองสืบเชื้อสายตระกูลมินาโมโตะจากยุคเฮอัง[10]

ในยุคข้างต้นนี้ อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือของโชกุนซึ่งปกครองอยู่ที่เอโดะ ส่วนจักรพรรดิประทับอยู่ในเคียวโตะ โชกุนยังควบคุมนโยบายต่างประเทศ ดูแลทหาร และกำกับระบอบอุปถัมภ์แบบเจ้าขุนมูลนาย ส่วนจักรพรรดิมีพระราชอำนาจในทางพิธีการเท่านั้น เหมือนบทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[11]

รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะดำรงอยู่จน ค.ศ. 1867 เมื่อโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ลาออกจากตำแหน่ง และถวายอำนาจคืนให้แก่จักรพรรดิเมจิ[12]

สิ่งตกทอด[แก้]

หลังญี่ปุ่นยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ดักลาส แมกอาเธอร์ นายพลชาวอเมริกัน เป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นในทางพฤตินัยระหว่างที่ญี่ปุ่นถูกฝ่ายชนะสงครามยึดครอง แมกอาเธอร์มีอิทธิพลมากในญี่ปุ่นจนเขาได้สมญาว่า "ไกจินโชกุน" (外人将軍; "โชกุนต่างชาติ")[13]

ปัจจุบัน หัวหน้ารัฐบาลญี่ปุ่น คือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่วนคำว่า "โชกุน" ยังใช้ในภาษาปากอยู่ เช่น นายกรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งแล้วแต่ยังมีอิทธิหลังฉากอยู่เรียกว่า "ยามิโชกุน" (闇将軍; "โชกุนเงา") คล้ายกับจักรพรรดิสมัยก่อนที่สละราชบัลลังก์แล้วแต่ยังคงพระราชอำนาจต่อไป เรียกว่า "การว่าราชการในวัด" นักการเมืองที่ได้ฉายายามิโชกุน เช่น ทากูเอ ทานากะ และอิจิโร โอซาวะ[14]

รัฐบาลโชกุน[แก้]

คำว่า "บากูฟุ" ที่แปลกันว่า "รัฐบาลโชกุน" นั้นมีความหมายตรงตัวว่า "สำนักพลับพลา" เป็นคำเรียกที่บัญชาการของแม่ทัพนายกอง เดิมใช้เรียกจวนของโชกุนซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงานของโชกุน แต่ภายหลังคำนี้กลายมาหมายถึงระบอบการปกครองของโชกุนที่มีเผด็จการทหารแบบเจ้าขุนมูลนาย

ระบอบโชกุนนั้นเริ่มขึ้นด้วยรัฐบาลโชกุนคามากูระที่มีมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ เป็นโชกุน โดยมีจักรพรรดิเป็นเจ้าแผ่นดิน ระบอบนี้เป็นแบบเจ้าขุนมูลนายในบางลักษณะ เช่น ขุนนางผู้น้อยขึ้นต่อขุนนางผู้ใหญ่ ซามูไรได้รับการตอบแทนที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อขุนนาง การตอบแทนมีทั้งผลิตผลพืชไร่และแรงงานจากชนชั้นกสิกร แต่ต่างจากอัศวินในระบบเจ้าขุนมูลนายในยุโรปตรงที่ซามูไรไม่ได้ถือครองที่ดินด้วยตนเอง[15] ระบบเช่นนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความภักดีระหว่างไดเมียว ซามูไร และผู้ใต้บัญชา

รัฐบาลโชกุนแต่ละชุดนั้นมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง อำนาจในสมัยหนึ่งอาจแตกต่างจากในอีกสมัยได้ และมักคลุมเครือ ความเป็นไปของระบอบโชกุนนั้นเชิญชวนให้นักวิชาการเข้าศึกษาอยู่เสมอ นอกจากนี้ รัฐบาลโชกุนแต่ละชุดยังเผชิญการขัดขืนและโต้แย้งอำนาจ ทั้งจากจักรพรรดิเองและจากชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ ในระบอบราชาธิปไตย รัฐบาลโชกุนจึงเป็นเครื่องสะท้อนของความจำเป็นที่ต้องคิดหาวิธีใหม่ ๆ มาคานอำนาจส่วนกลางและท้องถิ่นอยู่เสมอ[16]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Shogun". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ November 19, 2014.
  2. The Modern Reader's Japanese-English Character Dictionary, ISBN 0-8048-0408-7
  3. 3.0 3.1 "征夷大将軍―もう一つの国家主権" (ภาษาญี่ปุ่น). Books Kinokuniya. สืบค้นเมื่อ March 7, 2011.
  4. Beasley, William G. (1955). Select Documents on Japanese Foreign Policy, 1853–1868, p. 321.
  5. 5.0 5.1 「執権 (一)」(『国史大辞典 6』 (吉川弘文館, 1985) ISBN 978-4-642-00506-7
  6. Totman, Conrad (1966). "Political Succession in The Tokugawa Bakufu: Abe Masahiro's Rise to Power, 1843–1845". Harvard Journal of Asiatic Studies. 26: 102–124. doi:10.2307/2718461. JSTOR 2718461.
  7. "Shogun". The World Book Encyclopedia. Vol. 17. World Book. 1992. pp. 432–433. ISBN 0-7166-0092-7.
  8. "shogun | Japanese title". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-08-21.
  9. 9.0 9.1 Sansom, George (1961). A History of Japan, 1134–1615. United States: Stanford University Press.
  10. Titsingh, I. (1834). Annales des empereurs du Japon, p. 409.
  11. Wakabayashi, Bob Tadashi (Winter 1991). "In Name Only: Imperial Sovereignty in Early Modern Japan". Journal of Japanese Studies. 17 (1): 25–57. doi:10.2307/132906. JSTOR 132906.
  12. "Japan". The World Book Encyclopedia. World Book. 1992. pp. 34–59. ISBN 0-7166-0092-7.
  13. Valley, David J. (April 15, 2000). Gaijin Shogun : Gen. Douglas MacArthur Stepfather of Postwar Japan. Title: Sektor Company. ISBN 978-0967817521. สืบค้นเมื่อ 2 June 2017.
  14. Ichiro Ozawa: the shadow shogun. In: The Economist, September 10, 2009.
  15. Bentley, Jerry. Traditions and Encounters. pp. 301–302. ISBN 978-0-07-325230-8.
  16. Mass, J. et al., eds. (1985). The Bakufu in Japanese History, p. 189.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]