เซมุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซมุน

Земун
แขวงในกรุงเบลเกรด
Zemun
ทิวทัศน์ชุมชนเก่าแก่ของเซมุนซึ่งหันเข้าหาแม่น้ำดานูบ
ทิวทัศน์ชุมชนเก่าแก่ของเซมุนซึ่งหันเข้าหาแม่น้ำดานูบ
ธงของเซมุน
ธง
ตราราชการของเซมุน
ตราอาร์ม
ตำแหน่งของแขงเซมุนในเขตปกครองพิเศษเบลเกรด
ตำแหน่งของแขงเซมุนในเขตปกครองพิเศษเบลเกรด
ประเทศ เซอร์เบีย
พื้นที่
 • เขตเมือง154 ตร.กม. (59 ตร.ไมล์)
ประชากร
 • แขวงในกรุงเบลเกรด168,170 คน
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (CEST)
ป้ายทะเบียนรถยนต์BG

เซมุน (อังกฤษ: Zemun; เซอร์เบีย: Земун) เป็นแขวงย่อย 1 ในทั้งหมด 17 แขวงซึ่งประกอบกันเข้าเป็นเขตปกครองพิเศษใต้อำนาจการปกครองของกรุงเบลเกรด โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของใจกลางกรุงเบลเกรดข้ามแม่น้ำซาวาไปทางฝั่งซ้ายและมีแม่น้ำดานูบเป็นเส้นแบ่งเขตของแขวงเซมุนออกจากแขวงปาลิลูลาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่เดิมมา ประวัติศาสตร์ของเซมุนนั้นเป็นเมืองซึ่งแยกออกจากเบลเกรดโดยสิ้นเชิง เคยเป็นเมืองชายแดนระหว่างรัฐมาหลายยุค โดยเฉพาะความสำคัญที่สุดของเซมุนในหน้าประวัติศาสตร์คือช่วงตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบลเกรดในปี ค.ศ. 1739 ซึ่งเซมุนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฮับส์บูร์กในขณะที่เบลเกรดยังอยู่กับอาณาจักรออตโตมันและอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนียในออสเตรีย-ฮังการีจวบจนจบสงครามโลกครั้งที่ 1จึงได้มารวมอยู่กับฝั่งเซอร์เบียและกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเบลเกรดในปี ค.ศ. 1934

เซมุน เป็น 1 ใน 3 แขวงของเขตปกครองพิเศษเบลเกรดซึ่งอยู่ในภูมิภาคย่อย'''เซเรม'''(เซอร์เบีย: Срем) ที่เป็นส่วนหนึ่งของวอยโวดีนาอันเป็นภูมิภาคหลักทางภาคเหนือของเซอร์เบีย


ภูมิศาสตร์[แก้]

ภาพถ่ายทางอากาศ แขวงเซมุนอยู่ทางด้านขวาตรงข้ามฝั่งแม่น้ำจากสตารี กราด

ที่ตั้งของเซมุนนั้น ก่อนจะมีการขยายเขตนอวี เบลเกรดเชื่อมเซมุนกับกรุงเบลเกรดเข้าด้วยกัน เคยอยู่ในตำแหน่งเหนือไปทางต้นแม่น้ำดานูบจากคาเลเมกดันประมาณ 3-4 กิโลเมตร โดยมีที่ลุ่มหนองน้ำคั่นขวางจากริมฝั่งแม่น้ำซาวาที่เป็นเส้นกั้นจากเบลเกรดซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

อาณาเขตของแขวงเซมุนล้อมรอบไปด้วย แขวงปาลิลูลา(ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) แขวงสตารี กราด(ทิศตะวันออก) แขวงนอวี เบลเกรด(ทิศใต้) และ แขวงซูร์ชิน(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)

พื้นที่ส่วนใหญ่ของแขวงเซมุนเป็นที่ราบเช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคย่อยเซเรม จะมีก็เพียงแต่เนินเล็กสามเนินในบริเวณเขตเมืองเก่าดั้งเดิมคือ เนินกราดอซ(อังกฤษ: Gardoš Hill) เนินชูกอวัทส์(อังกฤษ: Ćukovac Hill) และ เนินคัลวารียา(อังกฤษ: Kalvarija Hill) ตัวชุมชนดั้งเดิมของเซมุนอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของเซเรม ส่วนไกลออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแขวงนั้นไม่ค่อยมีชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นนักเป็นพื้นที่ราบลุ่มซึ่งติดต่อกับเมืองสตารา ปซอวาของภูมิภาคหลักวอยโวดีนา (บางข้อมูลก็ไม่นับว่าเซมุนเป็นส่วนหนึ่งวอยโวดีนาหากนับตามการแบ่งการปกครองเนื่องจากถือเป็นพื้นที่ใต้การปกครองของเบลกราด มิใช่นอวี่ ซาดซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหลวงของจังหวัดปกครองตนเองวอยโวดีนา)

ประวัติศาสตร์[แก้]

พื้นที่บริเวณตัวเมืองเซมุนปัจจุบันนั้นมีการตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล โดยมีบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวเคลต์กลุ่ม Scordisci ซึ่งต่อมาได้ถูกอาณาจัดรโรมันเอาชนะในสงครามขยายดินแดนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรมันในที่สุด โดยชื่อชุมชนที่ถูกบันทึกไว้เป็นครั้งแรกคือเทารุนุม(อังกฤษ: Taurunum) โดยในยุคสมัยนั้นเมืองซินกิดุนุม (เขตเมืองเก่าของกรุงเบลเกรดในปัจจุบัน) มีฐานะเป็นป้อมปราการหลักแห่งหนึ่งของโรมันในภูมิภาคแพนโนเนียน ส่วนเทารุนุมนั้นก็เป็นที่ประจำการของกองเรือโรมันที่ทำการลาดตระเวนแม่น้ำดานูบใต้การบัญชาของกองทหารโรมันที่ประจำการที่ซินกิดุนุม

ภาพงานศิลปะกล่าวถึง People's Crusade ในช่วงการเดินทางระหว่างเซมุนกับเบลเกรด

ในกาลต่อมา ครั้นเกิดการรุกรานยุโรปครั้งใหญ่ของกลุ่มชาวฮันในช่วงปี ค.ศ. 441 เทารุนุมและซินกิดุนุมต่างก็ถูกทำลายเสียหายจนสิ้นสภาพเมืองปราการที่เจริญใหญ่โตของโรมัน ขณะที่ช่วงปี ค.ศ. 500 กว่าๆเป็นต้นไป ทางซินกิดุนุมจะถูกทางโรมันเอากลับคืนไปแล้วเริ่มก่อสร้างเพื่อฟื้นสภาพเมือง เทารุนุมที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำซาวานั้นต้องผจญกับการต่อสู้แย่งชิงดินแดนของชนกลุ่มต่างๆ ทั้ง ชาวแฟรงก์ ออสโตรกอท ลอมบาร์ด อาวาร์ เป็นเวลานับหลายร้อยปี ก่อนที่จะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่กระนั้นภูมิภาคนี้ก็ยังเป็นสมรภูมิสามฝ่ายระหว่างราชอาณาจักรฮังการี อาณาจักรบัลกาเรีย และ อาณาจักรไบแซนไทน์ ที่ช่วงชิงการมีอิทธิพลในทั้งเซมลิน(บัลแกเรีย: Земльн; อังกฤษ: Zemlyn)(ชื่อในเวลานั้นของเซมุน) และเบลกราด(ชื่อภาษาสลาฟอันเป็นที่มาของชื่อเบลเกรด)

ปี ค.ศ. 1096 เชมลินได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ยุโรปอีกครั้งเมื่อกองทัพชาวบ้านและชาวนาจากฝรั่งเศสและเยอรมันที่ออกเดินทางมาเองภายใต้การนำของ Peter the Hermit ซึ่งเรียกกันว่า People's Crusade เพื่อจะไปร่วมรบในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ได้เดินทางมาถึงเซมลินโดยได้รับการอนุญาตจากกษัตริย์ของฮังการีให้ผ่านดินแดนเข้ามาได้ก่อนเข้าสู่เขตแดนของไบแซนไทน์เพื่อเดินทางต่อไป ทว่าเมื่อเดินทางมาถึง กลุ่มชาวบ้านซึ่งไม่มีระเบียบวินัยเยี่ยงทหารและขาดการควบคุมได้ไปก่อความวุ่นวายขึ้นในตลาดของเมืองและถูกทหารฮังการีซึ่งประจำการอยู่ในเมืองจับกุมและยึดอาวุธ จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้นและนำไปสู่การจลาจลโดยฝั่งชาวบ้านที่จะรบในสงครามครูเสดได้ทำการเผาเมืองเซมลินและฆ่าชาวเมืองและทหารไปเป็นจำนวนมากก่อนจะหลบหนีกองทัพของฮังการีที่ยกกำลังตามมาเพื่อจัดการ โดยหนีข้ามแม่น้ำซาวาไปยังเบลกราดและก่อเหตุในลักษณะเดิมอีกครั้ง จากเหตุที่เกิดขึ้นทำให้ในบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางโดยกลุ่มชาวบ้านนั้นขนานนามเรียกเซมลินว่า เมืองแห่งความชั่วร้าย (อังกฤษ: Malevilla)

เศรษฐกิจ[แก้]

การคมนาคม[แก้]

วัฒนธรรม[แก้]

หอคอยกราดอซ ซึ่งเป็นหอคอยสร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบหนึ่งพันปีของการก่อตั้งราชอาณาจักรฮังการี

สถาปัตยกรรม[แก้]

เนื่องจากประวัติศาสตร์ของเซมุนซึ่งผูกพันกับชาวฮังการีมายาวนาน ทำให้สถาปัตยกรรมในเซมุนค่อนข้างจะแตกต่างจากเขตเมืองเก่าของเบลเกรด โบสถ์ในแขวงเซมุนจะมีจุดเด่นที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรคเหมือนโบสถ์ในนิกายคาทอลิกมากกว่าสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ออร์โธดอกซ์ทั่วไป

หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของเซมุนคือ หอคอยกราดอซ (อังกฤษ: Gardoš Tower) เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงมากที่สุดในเขตชุมชนเก่าของเซมุน สร้างอยู่ตรงเนินกราดอซซึ่งเป็นที่มาของชื่อหอคอยในปี ค.ศ. 1896 ในวาระฉลองครบรอบนึ่งพันปีของการกำเนิดอาณาจักรฮังการีขึ้นมาในยุโรป[1] โดยมีการสร้างทั้งหมด 5 แห่งแต่ในปัจจุบันนี้เหลืออยู่เพียง 2 แห่ง คือหอคอยที่กรุงบูดาเปสต์กับเซมุน

อ้างอิง[แก้]

  1. "GARDOŠ TOWER". beautifulserbia.info.