นักบุญจอร์จ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เซนต์จอร์จ)
นักบุญจอร์จ
“นักบุญจอร์จ” โดย ราฟาเอล
มรณสักขี
เกิดราว ค.ศ. 275 - ค.ศ. 281
นิโคมีเดีย, บิธีเนีย
เสียชีวิตราว ค.ศ. 303
ลิดเดีย, ปาเลสไตน์
นิกายโรมันคาทอลิก

อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์
วันฉลอง23 เมษายน
สัญลักษณ์หอก, มังกร, คนขี่ม้า, อัศวิน, กางเขนเซนต์จอร์จ
องค์อุปถัมภ์เกษตรกร, คนยิงธนู, คนทำอาวุธ, คนแล่เนื้อ, ทหารม้า, ชาวนา, คนทำงานในไร่, ม้า, คนขี่ม้า, อัศวิน, โรคระบาด, คนทำอานม้า, แกะ, คนเลี้ยงแกะ, โรคผิวหนัง, ทหาร, อังกฤษ, และเมือง และประเทศต่างๆ

นักบุญจอร์จ (อังกฤษ: St. George) เกิดเมื่อประมาณปี ค.ศ. 275-281 และเสียชืวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 303 ตามวรรณกรรมนักบุญนักบุญจอร์จเป็นทหารของจักรวรรดิโรมันจากบริเวณที่ใช้ภาษากรีกในแคว้นอานาโตเลีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกีและเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์

นักบุญจอร์จเป็นเซนต์ที่นับถือกันมากในนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์และออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ และเป็นที่รู้จักกันจากตำนานการต่อสู้กับมังกร นักบุญจอร์จเป็นหนึ่งในนักบุญผู้ช่วยศักดิ์สิทธิ์สิบสี่องค์

ประวัติ[แก้]

ประวัติของนักบุญจอร์จค่อนข้างจะคลุมเครือในเรื่องของหลักฐานที่แน่นอน เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของท่านส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี อาศัยการค้นคว้านักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่านักบุญจอร์จมีตัวตนอยู่จริง ตำนานของนักบุญจอร์จมาจากผู้เขียนประวัตินักบุญรุ่นหลัง หลักฐานที่สำคัญมาจากตำนานทองซึ่งเป็นที่รู้จักกันจากฉบับแปลของวิลเลียม แค็กซ์ตัน (William Caxton) เมื่อปี ค.ศ. 1483

นักบุญจอร์จเกิดในครอบครัวคริสต์ศาสนิกชนในคริสต์ศตวรรษที่ 3 บิดาของจอร์จเป็นนายทหารโรมันจากแคปพาโดเชีย (Cappadocia) ในประเทศตุรกี มารดามาจากลิดดาในประเทศอิสราเอลปัจจุบัน เมื่อบิดาเสียชีวิต แม่ก็นำนักบุญจอร์จกลับไปลิดดา ซึ่งเป็นที่ที่นักบุญจอร์จได้รับการศึกษา เมื่อโตขึ้นก็เป็นทหารตามบิดาและเป็นทหารที่ดีจนในที่สุดก็ได้รับตำแหน่งสูงทางทหาร พออายุเกือบสามสิบก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “Tribune” และ “Comes” หรือ เคานต์ และไปประจำการที่นิโคมีเดียเป็นทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน

เมื่อปี ค.ศ. 303 จักรพรรดิไดโอคลีเชียนออกพระราชกฤษฎีกาประกาศให้กำจัดคริสต์ศาสนิกชนทั่วจักรวรรดิโรมัน กล่าวกันว่าซีซาร์กาเลริอุส (Caesar Galerius) เป็นผู้รับผิดชอบในการลงโทษคริสต์ศาสนิกชนและกระทำต่อมาในสมัยของตนเองระหว่างปี ค.ศ. 305 ถึงปี ค.ศ. 311 นักบุญจอร์จถูกสั่งให้มีส่วนร่วมในการกำจัดคริสต์ศาสนิกชนแต่แทนที่จะทำ กลับสารภาพว่าเป็นคริสตชนเสียเองและประณามกฤษฎีกา ซึ่งทำให้จักรพรรดิไดโอคลีเชียนพิโรธและสั่งให้จับนักบุญจอร์จไปทรมาน และสังหาร

บางตำนานกล่าวกันว่านักบุญจอร์จถูกทรมานจนตายถึง 3 ครั้ง และก็ถูกปลุกให้คืนชีพโดยพระเยซูทั้ง 3 ครั้ง จนกระทั่งถูกฆ่าจนเสียชีวิตในครั้งสุดท้าย แต่หลักฐานในเรื่องนี้ไม่เป็นที่ยอมรับนัก หลักฐานที่เป็นไปได้และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคือว่า นักบุญจอร์จหลังจากทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งมัดกับล้อที่มีดาบปัก เฆี่ยนอย่างทารุณ ถูกเล็บเหล็กครูดเนื้อ นำไปต้มในน้ำเดือด นักบุญจอร์จก็ถูกสังหารโดยถูกลากไปรอบเมืองและถูกตัดศีรษะหน้ากำแพงเมืองนิโคมีเดียเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 303 ผู้ที่เป็นพยานในความทรมานของนักบุญจอร์จแล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์คือ จักรพรรดินีอเล็กซานดราและอาทานาซีอุส ปุโรหิตนอกศาสนาคริสต์ ผู้ซึ่งถูกฆ่าตามนักบุญจอร์จ ร่างของนักบุญจอร์จถูกนำกลับไปลิดดา หลังจากนั้นก็มีผู้ศรัทธามาสักการะในฐานะที่เป็นมรณสักขี การอัศจรรย์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายกับผู้ที่เข้ามาแสวงบุญสักการะ ณ หลุมศพของท่าน

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]