เฉอ ไซ่ฮวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เฉอ ไซ่ฮัว)
นักอุปรากรปักกิ่งแสดงเป็นเฉอ ไซ่ฮวา

เฉอ ไซ่ฮวา (จีนตัวย่อ: 佘赛花; จีนตัวเต็ม: 佘賽花; พินอิน: Shé Sàihuā; เวด-ไจลส์: Se4 Choi3-fa1) เป็นวีรสตรีจีนซึ่งเชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เป็นภริยาหยาง เย่ (楊業) และมีบทบาทหลักในความเชื่อเรื่องขุนศึกตระกูลหยาง

แม้ว่าหยาง เย่ มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีบันทึกถึงเฉอ ไซ่ฮวา เลยจนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง จึงปรากฏบันทึกว่า หยาง เย่ สมรสกับ "นางเจ๋อ" (折氏) ธิดาของเจ๋อ เต๋ออี่ (折德扆) แม่ทัพราชวงศ์โจวปลายซึ่งสามิภักดิ์แก่ราชวงศ์ซ่งเหนือ อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์อายุของเฉอ เต๋ออี๋ กับหยาง เย่ แล้ว นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือบันทึกนี้[1]

ตามความเชื่อ เฉอ ไซ่ฮวา เป็นธิดาของเฉอ หง (佘洪) เฉอ หง คลุมถุงชนธิดาตนเองกับหยาง เย่ แต่เปลี่ยนใจกลางคัน ให้ธิดาหมั้นกับชุย หลง (崔龍) จากตระกูลชุยที่มีอิทธิพลมากกว่าตระกูลหยางแทน ตระกูลหยางเรียกให้เฉอ หง ปฏิบัติตามสัญญา เฉอ หง จึงสั่งให้ส่งตัวชุย หลง มาสมรสกับเฉอ ไซ่ฮวา โดยไม่ชักช้า แต่ชุย หลง ด้อยทั้งรูปโฉมและสติปัญญา เฉอ ไซ่ฮวา ไม่ชอบใจ จึงให้นักการไปนัดหมายหยาง เย่ มายังตระกูลเฉอ เมื่อหยาง เย่ มาแล้ว เฉอ ไซ่ฮวา ขอให้บิดาเลือกระหว่างหยาง เย่ กับชุย หลง เฉอ หง สั่งให้ทั้งสองประมือกัน ผู้ใดชนะได้ธิดาตนไป หยาง เย่ สังหารชุย หลง ในการต่อสู้ ขณะนั้น เฉอ หง ถลันเข้าไปจะช่วยเหลือชุย หลง จึงถูกลูกหลงบาดเจ็บ เฉอ ไซ่ฮวา เห็นก็โกรธ เข้าต่อสู้กับหยาง เย่ หยาง เย่ จึงหนีไปซ่อนตัวที่วัดเจ็ดดาว (七星庙) เฉอ ไซ่ฮวา ติดตามไป และได้ทำความเข้าใจกัน ทั้งสองจึงสมรสกัน ณ วัดนั้น[2] ปัจจุบัน วัดเจ็ดดาวอยู่ในเทศมณฑลฝูกู่ มณฑลชานซี[3]

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า เฉอ ไซ่ฮวา กับหยาง เย่ มีบุตรด้วยกันเก้าคน เป็นชายเจ็ด หญิงสอง เมื่อออกรบ หยาง เย่ และบุตรชายทั้งเจ็ดถูกข้าศึกประหารตาย ณ หาดทรายทอง (金沙灘) และเขาสิงคาลคู่ (两狼山) เพราะพัน เหม่ย์ (潘美) ไม่ส่งกำลังไปช่วย ต่อมา เฉอ ไซ่ฮวา ฟ้องพัน เหม่ย์ เป็นคดีต่อราชสำนัก และนางชนะคดี จักรพรรดิซ่งไท่จงทรงเชื่อถือในความจงรักภักดีและความสามารถของนาง จึงประทานบรรดาศักดิ์ "ไท่จฺวิน" (太君; "เจ้าพระยา") ให้นาง พร้อมตั้งนางเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ถือไม้เท้าหัวมังกร (龍頭拐杖) เป็นสัญลักษณ์อำนาจสิทธิ์ขาดเหนือแม่ทัพนายกองทั้งปวง เชื่อกันด้วยว่า นางมีอายุเกินหนึ่งร้อยปี

อ้างอิง[แก้]