เฉลว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉลว

เฉลว หรือ ฉลิว ภาษาถิ่นพายัพว่า ตาเหลว หรือ ตาแหลว[1] และภาษาถิ่นใต้ว่า กะหลิว[2] เป็นเครื่องหมายทำด้วยเส้นตอกไม้ไผ่หรือหวายเส้น หักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่สามมุมขึ้นไป โบราณใช้เฉลวในงานต่าง ๆ ดังนี้

  1. ใช้แสดงบอกสัญลักษณ์ว่าเป็นร้านขายของ
  2. ใช้แสดงบอกสัญลักษณ์ว่าเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษี
  3. ใช้บอกอาณาเขตการจับจองที่นาโดยการปักเฉลวไว้ที่สี่มุมของที่ที่ตนเป็นเจ้าของ
  4. ปักไว้ที่ที่แสดงว่าเป็นบริเวณที่หวงห้ามต่าง ๆ หรือบอกเตือนให้ระวังอันตราย
  5. ใช้ในการแพทย์แผนโบราณ ว่ากันว่าหม้อที่บรรจุยาถ้าไม่ลงคาถามีเฉลวปักกันไว้ เมื่อผ่านบ้านหมออื่นหรือคนหรือสิ่งใดที่ถือ อาจทำให้เครื่องยาที่มีอยู่ในนั้นเสื่อมคุณภาพหายความศักดิ์สิทธิ์ หรือกันไม่ให้ใครเติมอะไรลงไปหรือกันอะไรที่จะไปทำลายยาให้เสียไป ดังนี้จึงต้องปักเฉลวไว้ เวลาคลอดลูกอยู่ไฟโบราณก็มีการปักเฉลวด้วย นอกจากปักเฉลวแล้วยังมีการเสกคาถาอาคมลงยันต์บนเฉลวที่ใช้ปักหม้อยาด้วย ซึ่งคาถาจะแตกต่างไปตามแฉกของเฉลวดังนี้
  • เฉลว 3 แฉก ลงอักขระ มะ อะ อุ หมายถึงขอให้อำนาจพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย ซึ่งเดิมเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
  • เฉลว 5 แฉก ลงอักขระพระเจ้า 5 พระองค์คือ นะโมพุทธายะ
  • เฉลว 8 แฉก ลงอัขระ อิติปิโสแปดทิศทาง

โดยที่เฉลวเป็นเครื่องหมายถึงยันต์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับยา เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญลักษณ์ของหน่วยงานและสัญญลักษณ์ของวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย

ในวัฒนธรรมล้านนาจะเรียกเฉลวว่า ตาแหลว มาจาก นกแหลว ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง เปรียบตาแหลวเป็นตาของเหยี่ยวคอยจ้องมองสิ่งเลวร้าย มักเอาไว้กันภูตผีปีศาจ ดังเช่น ชาวลัวะนำตาแหลวไปติดที่ประตูบ้าน[3] ส่วนชาวอาข่าจะติดตาแหลวไว้ประตูของหมู่บ้านเพื่อแยกโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณออกจากกัน[4]

ในกฎหมายตราสามดวง บทอัยการลักษณะผัวเมีย กล่าวโทษหญิงมีชู้ว่า "ส่วนหญิงอันร้าย ให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะหรือคอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ประจานด้วยไถ 3 วัน"[2]

ในบันเทิงคดี[แก้]

นางกาไวย ตัวละครนางหนึ่งในเรื่อง พระวรวงศ์ ถูกทำโทษด้วยเอาเฉลวปะหน้า ทัดและสวมมาลัยดอกชบา แล้วเทียมแอกประจานด้วยไถ ก่อนถูกฝังทั้งเป็นโผล่ดินเพียงคอและถูกไถไถคอจนถึงแก่ความตาย[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เฉลว". ไทยรัฐออนไลน์. 17 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 ประพนธ์ เรืองณรงค์. เล่าเรื่องเมืองใต้ : ภาษา วรรณกรรม ความเชื่อ. กรุงเทพฯ:สถาพรบุ๊คส์, 2550 หน้า 95-96
  3. อนุกูล ศิริพันธ์และคณะ. "ศรัทธา สักการะ" ความเชื่อ สู่วิถีชีวิตชาวล้านนา : ถอดบทเรียนจากการจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562, หน้า 103
  4. อนุกูล ศิริพันธ์และคณะ. "ศรัทธา สักการะ" ความเชื่อ สู่วิถีชีวิตชาวล้านนา : ถอดบทเรียนจากการจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562, หน้า 108

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]