เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า
เจ้าหลวงแห่งอาณาจักรอาหม
ครองราชย์ค.ศ. 1228-1268
ประสูติประมาณปี ค.ศ. 1189
สวรรคตประมาณปี ค.ศ. 1268
พระมเหสีพระมเหสี 3 พระองค์
พระราชบุตรพระโอรส 2 พระองค์
พระธิดา 1 พระองค์
พระนามเต็ม
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า
ราชวงศ์ราชวงศ์อาหม
พระราชชนกเจ้าช้างเญอ (บางแห่งเรียก เจ้าเงี้ยว)
พระราชชนนีนางเมืองพลักคำแสน (บางแห่งเรียก นางเมืองพลักคำแสง)

เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอาหม สันนิษฐานกันว่า พระองค์เป็นเจ้าองค์หนึ่งในเมืองมาวหลวง ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์พระนามว่า ขุนลุง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระองค์ เสือก่าฟ้าได้เกิดความขัดแย้งกับญาติพี่น้อง และในที่สุดจึงได้นำสมบัติประจำราชวงศ์ซึ่งเป็นเทวรูปนาม สมเทวะ อพยพออกมาจากมาวหลวง

พระราชประวัติ[แก้]

พระราชประวัติตอนต้นของเสือก่าฟ้านั้นมีอยู่หลายตำนาน โดยตำนานหนึ่งได้กล่าวถึงเสือก่าฟ้าเป็นพระราชโอรสในเจ้าช้างใหญ่ (Chao Chang-Nyeu, เนย์ อีเลียสออกพระนามว่า Phu-Chang-Khang) กับนางเมืองพลักคำแสน (Nang-Mong Blak-Kham-Sen) ซึ่งเป็นเจ้าในอาณาจักรมาวหลวง (Mong Mao) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองมาว หรือ เมืองรุ่ยลี่ (จีน:瑞麗市, พินอิน: Ruìlì Shì)[1] โดยเจ้าช้างเญอเป็นเจ้ามาจากเมืองรีเมืองราม และอาจเดินทางไปยังเมืองมาวหลวงด้วยความบังเอิญ[2] ซึ่งขณะนั้นเจ้าไตปุง (Chao Tai Pung) ยังทรงครองราชย์สมบัติอยู่ โดยเจ้าช้างเญอทรงมีสัมพันธภาพที่ดีต่อปาวเมียวปุง (Pao Meo Pung) พระราชโอรสของเจ้าเมืองมาวหลวง เขาจึงมอบพระขนิษฐาคือนางพลักคำแสนเป็นพระชายาของเจ้าช้างเญอ โดยเจ้าเสือก่าฟ้าทรงราชสมภพหลังการสมรสของพระชนกและชนนีประมาณ ค.ศ. 1189[3]พระองค์จึงสืบเชื้อสายเจ้าเมืองมาวหลวงจากพระมารดา เมื่อปาวเมืองปุง เสด็จสวรรคต แล้วไม่มีพระโอรสสืบราชสมบัติต่อ เสือก่าฟ้าผู้มีศักดิ์เป็นพระราชภาคิไนยจึงครองราชย์เมืองมาวหลวงต่อจากพระมาตุลา

เสด็จสู่อัสสัม[แก้]

เสือก่าฟ้าอพยพมาจากเมืองมาวหลวงในปี พ.ศ. 1758 ด้วยเชื่อว่าเสือก่าฟ้าได้เกิดความขัดแย้งกับญาติพี่น้อง และในที่สุดจึงได้นำสมบัติประจำราชวงศ์ซึ่งเป็นเทวรูปนาม สมเทวะ อพยพออกมาจากมาวหลวง พร้อมด้วยผู้ติดตามเป็นพระมเหสี 3 พระองค์ พระโอรส 2 พระองค์และพระธิดา รวมไปถึงขุนนางผู้ใหญ่ 5 คน ไพร่พล 9,000 คนรวมสตรีและเด็ก (อาจเป็นไปได้ว่าส่วนมากเป็นชายฉกรรจ์แต่ไม่มีการยืนยัน) เสือก่าฟ้าได้ร่อนเร่ตามท้องถิ่นของภูเขาปาดไก่ (Patkai Hills) ถึง 13 ปี ในระหว่างนั้นได้โจมตีชุมชนชาวนาคะเป็นครั้งคราว และในที่สุด เสือก่าฟ้าก็ได้มาถึงคามช้างในปี พ.ศ. 1771

ขึ้นครองราชย์[แก้]

เริ่มแผ่อิทธิพล[แก้]

เสือก่าฟ้าข้ามแม่น้ำคามน้ำช้างด้วยแพ และมาถึงทะเลสาบหนองยาง (พม่า:Nawng Yang, ความหมาย ทะเลสาบไม่หวนกลับ) ชาวนาคะบางพวกพยายามต้านทานการรุกรานของชาวอาหม แต่เสือก่าฟ้าก็เอาชนะได้ และยึดครองหมู่บ้านที่ได้มา ชาวนาคะมากมายถูกฆ่า ย่างไฟ และญาติพี่น้องถูกบังคับในกินเนื้อคนตาย ทำให้ชาวนาคะมาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก และเสือก่าฟ้าได้ตั้งขุนนางปกครองอาณาเขตที่ยึดได้

เสือก่าฟ้าก็ยกพลต่อไปยัง เมืองแดงเขารัง คำแหงปุง และนามรูป พระองค์ได้ทรงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเซสสามายังทิหิง แต่พบสถานที่ไม่เหมาะสมจึงมุ่งลงไปทางใต้จนถึงทิปาม ต่อจากนั้นก็มาถึง เมืองกลาง เจครุ (อภัยปุระ) ซึ่งเสือก่าฟ้าได้พำนักอยู่หลายปี จนใน พ.ศ. 1783 เกิดน้ำท่วมจึงทิ้งเมืองล่องมาตามแม่น้ำพรหมบุตรมายังฮาบุง และพำนักเป็นเวลา 2 ปี ชาวอาหมได้ทำการเพาะปลูกเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม แต่ต่อมาเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ. 1787 ต้องอพยพอีกลงมาตามแม่น้ำพรหมบุตรจนถึงปากน้ำทิขุ

เสือก่าฟ้ามาถึงลิกิริกาออน ในปี พ.ศ. 1789 พระองค์เดินทางไปยังสีมาลุกุรี โดยทิ้งกองทหารกองเล็กๆ ไว้กองหนึ่ง พระองค์ประทับที่สีมาลุกุรี 5-6 ปี พระองค์พยายามโจมตีชุมชนในลุ่มน้ำแดง (แควหนึ่งของทิขุ) แต่ต้องล้มเลิก เนื่องจากมีกลุ่มชนอยู่มากมายเกินไป

ก่อตั้งราชธานี[แก้]

ในปี พ.ศ. 1796 ทรงทิ้งสีมาลุกุรีเพื่อไปยังเจ้รายดอย และมีการเลี้ยงฉลอง สังเวยต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยม้า 2 ตัว และมีการสวดมนต์ถวายเทวไทใต้ต้นหม่อน(ชาวอาหมเรียกดินแดนอาณาจักรของตนว่า เมิงนุนสุนคำ หรือ เมืองดอนสวนคำ แปลว่า เมืองที่เต็มไปด้วยสวนทอง)

ชาวโมรานและโบราฮียอมสวามิภักดิ์[แก้]

ในขณะนั้น อาณาเขตใกล้เคียงอยู่ในการปกครองของกษัตริย์โมรานพระนามว่า บาดันชา และกษัตริย์โบราฮีพระนามว่า ตาคุมตา ซึ่งทั้งสองอาณาจักรได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเสือก่าฟ้า ในภายใต้การปกครองของอาหม ชาวโมรานไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องส่งส่วยเป็นสินค้าป่า เช่น ช้าง สีย้อมผ้า น้ำผึ้ง และเสื่อ เป็นต้น ชาวโมรานจำนวนมากได้ยอมรับวัฒนธรรมอาหมมาใช้ แต่ยังคงใช้ภาษาโบโดพูดกันเช่นเดิม

พระราชกรณียกิจอื่น ๆ[แก้]

เสือก่าฟ้าได้ทรงทำการต่อสู้จนได้ดินแดนหลายแห่งมาไว้ครอบครอง ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำเนินการอย่างชาญฉลาด โดยการยกย่องฐานะของดินแดนเหล่านั้นให้เท่าเทียมกับชาวอาหม และสนับสนุนการสมรสระหว่างเผ่า ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้กลายเป็นชาติเดียวกัน

และพระองค์ยังได้เจริญสัมพันธไมตรีกับดินแดนอื่นๆซึ่งเป็นเครือญาติในตระกูลเดียวกันกับพระองค์ ซึ่งได้ส่งของกำนัลเช่น ทอง และเงินไปถวาย ในรัชกาลนี้ยังได้ตั้งตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งรัฐขึ้น 2 ตำแหน่งคือ เถ้าเมืองหลวง และเจ้าพรองเมือง ซึ่งมีอำนาจสูงสุดถัดจากองค์กษัตริย์

สิ้นพระชนม์[แก้]

เสือก่าฟ้าสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1811 ทรงครองราชย์ได้ 40 ปี

อ้างอิง[แก้]

  1. Phukan 1992:67
  2. Gogoi 1968
  3. Gogoi 1968:251
  • Gait, Edward A. (1906), A History of Assam, Calcutta
  • Gogoi, Padmeshwar (1968), The Tai and the Tai Kingdoms, Guwahati: Gauhati University
  • Guha, Amalendu (December 1983), "The Ahom Political System: An Enquiry into the State Formation Process in Medieval Assam (1228-1714)", Social Scientist, Social Scientist, 11 (12): 3–34, doi:10.2307/3516963{{citation}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  • Phukan, J. N. (1992), "The Tai-Ahom Power in Assam", ใน Barpujari, H. K. (บ.ก.), The Comprehensive History of Assam, vol. 2, Guwahati: Assam Publication Board, pp. 49–60
  • วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549. หน้า 233-236

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า เจ้าหลวงเสือก่าฟ้า ถัดไป
ปฐมกษัตริย์ กษัตริย์อาหม
(พ.ศ. 1771 - พ.ศ. 1811)
เจ้าหลวงเสือใต้ฟ้า