เจ้าหญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มารี หลุยส์
ประสูติ12 สิงหาคม ค.ศ. 1872(1872-08-12)
โอลดวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์8 ธันวาคม ค.ศ. 1956(1956-12-08) (84 ปี)
ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ14 ธันวาคม 1956
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
3 เมษายน 1957
สุสานหลวงฟร็อซมอร์
พระสวามีเจ้าชายอาริเบิร์ตแห่งฮันลัลด์
พระนามเต็ม
ฟรันซิสกา โยเซฟา หลุยส์ ออกัสตา มารี คริสตินา เฮเลนา
ราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอร์บอร์-ออกัสเตินบวร์ค
พระบิดาเจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์
พระมารดาเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ หรือพระนามเต็ม ฟรันซิสกา โยเซฟา หลุยส์ ออกัสตา มารี คริสตินา เฮเลนา (พระอิสริยยศแบบเดิม เจ้าหญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (อังกฤษ: Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein ; 12 สิงหาคม ค.ศ. 1872 - 8 ธันวาคม ค.ศ. 1956) ทรงเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์อังกฤษ โดยเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ชีวิตในวัยเยาว์[แก้]

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ประสูติ ณ ตำหนักคัมเบอร์แลนด์ ในราชอุทยานวินด์เซอร์ พระชนกของพระองค์คือ เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ พระโอรสองค์ที่สามในดยุคคริสเตียน ออกุสต์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และเคานท์เตสหลุยส์แห่งเดนส์คโยลด์-ซัมซอเอ ส่วนพระชนนีคือ เจ้าหญิงเฮเลนา พระราชธิดาพระองค์ที่สามและห้าในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย และ เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระชนกและพระชนนีของเจ้าหญิงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นสมาชิกองค์หนึ่งของพระราชวงศ์อังกฤษ ตามพระราชหัตถเลขาในปี ค.ศ. 1866 มีผลให้เจ้าหญิงทรงดำรงพระอิสริยยศ พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein) พระองค์ทรงเข้ารับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1872 โดยมีพ่อและแม่ทูนหัวคือ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งออสเตรีย และ สมเด็จพระราชินีแห่งฮาโนเวอร์

อภิเษกสมรส[แก้]

เจ้าหญิงอภิเษกสมรสวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1891 ณ โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ กับ เจ้าชายอาริเบิร์ตแห่งอันฮัลต์ (18 มิถุนายน ค.ศ. 1866 - 24 ธันวาคม ค.ศ. 1933) เจ้าชายอาริเบิร์ตเป็นพระโอรสพระองค์ที่สามในเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งอันฮัลต์ กับ เจ้าหญิงอ็องตัวเน็ตแห่งแซ็กซ์-อัลเต็นบูร์ก จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของเจ้าหญิง ทรงเป็นสื่อสำคัญในการจัดการอภิเษกสมรส

อย่างไรก็ตาม การอภิเษกสมรสครั้งนี้ไม่มีความสุขและไม่มีพระโอรสและธิดา (อีกหลายปีจากข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นที่สงสัยว่าเจ้าชายอาริเบิร์ตทรงชอบเพศเดียวกันและทรงถูกเจ้าหญิงมารี หลุยส์และพระชนกจับได้ว่าอยู่กับมหาดเล็กนายหนึ่งบนแท่นบรรทม) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1900 พระสัสสุระของเจ้าหญิงก็ทรงใช้ราชสิทธิ์ในฐานะที่ทรงเป็นดยุกครองนครแห่งอันฮัลต์ในการล้มเลิกการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงมารี หลุยส์ซึ่งทรงอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศแคนาดาอย่างเป็นทางการก็รีบเสด็จกลับประเทศอังกฤษทันที ตามบันทึกความทรงจำของพระองค์ เจ้าหญิงทรงถือว่าการปฏิญาณในพิธีอภิเษกสมรสเป็นการผูกมัดบุคคลสองคนเข้าด้วยกัน จึงมิทรงคิดถึงการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม บันทึกของพระองค์ยังชี้ให้เห็นถึงความเดือดดาลในประสบการณ์การอภิเษกสมรสและความเกลียดชังอดีตพระสวามี[1] ถึงกระนั้นยังมีเพื่อนสนิทชายในเชิงชู้สาวอยู่เป็นเวลาหลายปีเช่นกัน

พระกรณียกิจ[แก้]

หลังจากการล้มเลิกการอภิเษกสมรสแล้ว เจ้าหญิงมารี หลุยส์ทรงอุทิสพระองค์ให้กับองค์กรการกุศลและการเป็นอุปถัมภกในงานศิลปะต่างๆ พระองค์ทรงผลักดันให้สร้างบ้านตุ๊กตาของพระราชินีแมรีขึ้นเพื่อเป็นการจัดแสดงผลงานของช่างฝีมือชาวอังกฤษ พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมสตรีในเมืองเบอร์มอนด์เซย์เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนี้ยังทรงมีส่วนร่วมในงานของสถานพยาบาลเจ้าหญิงคริสเตียนที่เมืองวินด์เซอร์อีกด้วย

สงครามโลกครั้งที่ 1[แก้]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อพระราชวงศ์อังกฤษจากราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทาเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ในนามของพระญาติและพระกนิษฐภรรดาซึ่งทรงมีสัญชาติอังกฤษ พระองค์ได้ทรงถอดถอนพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์ และราชสกุลเยอรมันต่างๆ ออกทั้งหมด เจ้าหญิงมารี หลุยส์และเจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรีย พระภคินีที่ไม่ได้อภิเษกสมรสของพระองค์ ซึ่งไม่เคยใช้พระอิสริยยศหรือราชสกุลอื่น ทรงเป็นที่รู้จักเพียงแค่ว่า "พระองค์หญิงมารี หลุยส์" และ "พระองค์หญิงเฮเลนา วิกตอเรีย" ซึ่งทำให้มีลักษณะเด่นที่แปลกไปจากการเป็นเจ้าหญิง เพราะมิได้เป็นสมาชิกในราชวงศ์ใดเลย วิธีการนี้แตกต่างไปจากของพระญาติองค์อื่นในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งได้ทรงสละฐานันดรศักดิ์ทั้งหมด ไม่เพียงแต่ราชทินนามเยอรมัน แต่ยังได้พระยศของผู้ดีชาวอังกฤษมาด้วย ดังเช่นนั้นเจ้าหญิงมารี หลุยส์และพระภคินีควรจะต้องทรงเป็น "เลดี้ มารี หลุยส์ ราชสกุลใหม่" และ "เลดี้ เฮเลนา วิกตอเรีย ราชสกุลใหม่" แม้ว่าพระอิสริยยศของทั้งสองพระองค์จะตกทอดมาจากราชทินนามของพระชนกและชนนีเป็นแบบอังกฤษ ดังที่สมเด็จพระบรมราชนาถวิกตอเรียทรงแต่งตั้งให้ แต่ก็มิได้ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม สภาพที่ยังไม่ได้อภิเษกสมรสทำให้สภาวการณ์ของทั้งสองพระองค์เป็นที่น่าอึดอัด[2] จึงเป็นการง่ายกว่าที่ให้ทรงคงสถานภาพเจ้าหญิงไว้ขณะที่หลบเลี่ยงข้อสงสัยเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกในราชวงศ์หนึ่งไปด้วย

ปลายพระชนม์ชีพ[แก้]

เจ้าหญิงมารี หลุยส์ทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์สี่ครั้งคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร และ อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1902 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ มาเรียแห่งเท็ค ในปี ค.ศ. 1911 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในปี ค.ศ. 1937 และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1953 ในปี ค.ศ. 1956 พระองค์ทรงพิมพ์ "บันทึกความทรงจำในหกรัชกาล" (My Memories of Six Reigns) จากนั้นอีกไม่กี่เดือน พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ณ ที่ประทับในกรุงลอนดอน เลขที่ 10 ฟิตซ์มอริสเพลซ จัตุรัสเบิร์คเลย์ และพระศพฝังอยู่ที่สุสานหลวงฟร็อกมอร์ พระราชอุทยานวินด์เซอร์ สิริรวมพระชันษา 84 ปี

พระอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 1872-1891: พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein)
  • 1891-1900: พระองค์หญิงอาริเบิร์ตแห่งอันฮัลต์ (Her Highness Princess Aribert of Anhalt)
  • 1900-1917: พระองค์หญิงมารี หลุยส์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Her Highness Princess Marie Louise of Schleswig-Holstein)
  • 1917-1956: พระองค์หญิงมารี หลุยส์ (Her Highness Princess Marie Louise)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Order of the British Empire)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวิกตอเรีย ชั้นที่ 1 (Dame Grand Cross of the Royal Victorian Order)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of Victoria and Albert)
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหามงกุฎแห่งอินเดีย ชั้นที่ 1 (Lady of the Order of the Crown of India)

อ้างอิง[แก้]

  1. รายละเอียดในการยุติการอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงมารี หลุยส์และเจ้าชายอาริเบิร์ตยังไม่แน่ชัด ในหนังสือ Almanach de Gotha ฉบับปี ค.ศ. 1903 กล่าวว่าทั้งสองพระองค์ทรงหย่าร้างกันในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1900 ส่วนในหนังสือ Whitaker's Alamanac ฉบับปี ค.ศ. 1904 ก็กล่าวว่า "การสมรสสิ้นสุดลงโดยความประสงค์ร่วมกันตามกฎหมายครอบครัวฉบับใหม่ของราชวงศ์ดยุคนั้น" มาร์ลีน เอ. ไอเลอร์ นักวงศ์วานวิทยาราชวงศ์รายงานว่าเจ้าชายอาริเบิร์ตทรงถูกเห็นขณะทำประเจิดประเจ้อกับบุรุษอีกคนหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระมาตุลาทรงสรุปเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยตรัสว่า "โธ่ หลุยส์ที่น่าสงสาร หล่อนกลับมาแบบสาวบริสุทธิ์เหมือนตอนที่ไปเลย"
  2. ในฐานะที่เป็นพระนัดดาในดยุคครองนครแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ผ่านทางพระโอรส เจ้าหญิงเฮเลนา วิกตอเรียจะต้องทรงมีฐานันดรศักดิ์ชั้น "Serene Highness" อย่างไรก็ดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1866 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียพระราชทานฐานันดรศักดิ์ชั้น "Highness" ให้แก่พระโอรสธิดาอันประสูติแต่เจ้าชายและเจ้าหญิงคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ นอกจากนั้นพระโอรสและธิดาก็ยังคงเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ และฐานันดรศักดิ์ Highness สามารถใช้ได้แค่ในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ประเทศเยอรมนี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1917 ประกาศในข่าวพระราชสำนักได้มีพระราชโองการหนึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระญาติทั้งสองเลิกใช้ "แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเต็นบูร์ก" ในพระอิสริยยศของพระองค์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีพระราชโองการใดจัดเตรียมไว้ในการนี้เลยและทั้งสองพระองค์ไม่ได้ทรงรับพระราชทานพระอิสริยยศเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการด้วย
  • Marlene A. Eilers, Queen Victoria’s Descendants (Rosvall Royal Books, Falköping, 2nd Edition, 1997).
  • Ronald Allison and Sarah Riddell, eds., The Royal Encyclopedia (London: Macmillan, 1992).
  • Princess Marie Louise (née Princess of Schleswig-Holstein-Sonderburg-Augustenberg), My Memories of Six Reigns (London: Evans Brothers, 1956).
  • "Obituary: Princess Marie Louise, Patron of Social Services," The Times 10 ธันวาคม ค.ศ. 1956, หน้า 14.