เจ้าหญิงมารี-หลุยส์แห่งมาดากัสการ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มารี-หลุยส์
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์เมื่อ ค.ศ. 1901
ประสูติ1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897(1897-05-01)
แซ็ง-เดอนี เรอูว์นียง
สิ้นพระชนม์18 มกราคม ค.ศ. 1948(1948-01-18) (50 ปี)
จังหวัดลัวแร แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4
พระสวามีอ็องเดร บอซาร์ (หย่า)
ราชวงศ์ฮูฟา
พระมารดาเจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ราซาฟินเกรีเอฟู (อักษรโรมัน: Marie-Louise Razafinkeriefo; 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 – 18 มกราคม ค.ศ. 1948) หรือ มารี-หลยุส์ ราซาฟีนันดรีอามานีตรา (Marie-Louise Razafinandriamanitra) เป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานและรัชทายาทที่ได้รับสมมุติของอาณาจักรมาดากัสการ์ พระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชปนัดดาและเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของมาดากัสการ์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาล รัฐบาลฝรั่งเศสจึงมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์เป็นบำเหน็จความดี

ประวัติ[แก้]

เรือนของมาดามเดอวีลเลนทรัวในแซ็ง-เดอนี บนเกาะเรอูว์นียง

เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ประสูติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 ณ โรงแรมยุโรป (Hotel de l'Europe) เมืองแซ็ง-เดอนีในเรอูว์นียง เป็นพระธิดานอกสมรสของเจ้าหญิงราซาฟีนันดรีอามานีตรา (Razafinandriamanitra) กับทหารชาวฝรั่งเศสไม่ปรากฏนามนายหนึ่ง[1] เป็นพระนัดดาของเจ้าหญิงราเซนดรานูรู และเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ด้วยมีศักดิ์เป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี[2][3][4] เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ประสูติช่วงที่พระราชวงศ์มาดากัสการ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศหลังระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก และมาดากัสการ์ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส หลังประสูติกาลได้ห้าวัน พระชนนีก็สิ้นพระชนม์จากพระอาการแทรกซ้อนหลังการคลอดบุตร[5] แม้ครอบครัวของพระองค์จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ แต่เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงรับศีลล้างบาปตามคตินิกายโรมันคาทอลิกอาสนวิหารแซ็ง-เดอนี ทั้งนี้มิได้เกิดขึ้นจากศรัทธา หากแต่เพื่อเอาใจรัฐบาลฝรั่งเศส[6][7] หลังพระชนนีสิ้นพระชนม์ลง สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ทรงรับเจ้าหญิงมารี-หลุยส์เป็นพระธิดาบุญธรรม ในฐานะองค์รัชทายาทที่ได้รับสมมติของอาณาจักรมาดากัสการ์ที่ล่มสลายไปแล้ว[8]

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 และเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ พระปนัดดา ราว ค.ศ. 1905

หนึ่งเดือนต่อมาได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถและพระราชวงศ์ ไปประทับ ณ เรือนของมาดามเดอวีลเลนทรัว (Madame de Villentroy) ใกล้สถานที่ราชการของฝรั่งเศสในแซ็ง-เดอนี ราชสำนักขนาดน้อยนี้ ประกอบไปด้วยพระราชินี พระราชวงศ์ ราชเลขานุการสองคน คนครัวหนึ่งคน แม่บ้านหนึ่งคน และคนรับใช้อีกจำนวนหนึ่ง[9] พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพที่นั่นได้สองปี ก็ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสส่งไปประทับที่เมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1899 ด้วยเรือกลไฟ แยงซี (Yang-Tse) เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสในซูดาน เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสเกรงว่าการปรากฏพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ในเรอูว์นียง อาจเป็นการปลุกระดมเหล่ากบฏมาลากาซี[10] และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สมเด็จพระราชินีนาถและเหล่าพระราชวงศ์ก็ถูกส่งไปประทับในวิลลาในเมืองแอลเจียร์ แอลจีเรียของฝรั่งเศส[10] แม้พระองค์จะเป็นคริสตัง แต่พระองค์เข้าคริสตจักรปฏิรูปของนิกายโปรเตสแตนต์ในแอลเจียร์กลาง ร่วมกับสมาชิกพระราชวงศ์[11] เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ย้ายไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนมัธยมหญิงแวร์ซาย (Lycée de jeunes filles de Versailles)[12] อันเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 พระอัยยิกาและพระมารดาบุญธรรม เมื่อ ค.ศ. 1917

เจ้าหญิงมารี-หลุยส์เสกสมรสกับอ็องเดร บอซาร์ (Andre Bossard) นักวิศวกรรมเกษตรชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1921[13] และหย่าร้างกันโดยไม่มีบุตรธิดา[12] พระองค์ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มากนัก จึงประกอบกิจเป็นพยาบาลเพื่อสร้างรายได้เสริม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์เป็นบำเหน็จความดี จากการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ช่วงสงคราม[12]

เจ้าหญิงมารี-หลุยส์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1948 ณ จังหวัดลัวแร แคว้นซ็องทร์-วาลเดอลัวร์ พระศพถูกบรรจุ ณ ป่าช้าในมงเทรย (Montreuil)[14]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. Barrier 1996, p. 260.
  2. Ela, Mpirenireny (27 February 2014). "dadabe saina gasy par "mpirenireny ela": Barrier Marie-France Ranavalo derniére reine de Madagascar Balland 1996".
  3. Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
  4. Legros, Jean-Claude. "La " Petite fille du Bon Dieu " au cimetière de Saint-Denis (2)". 7 Lames la Mer.
  5. Aldrich, Robert (18 January 2018). Banished Potentates: dethroning and exiling indigenous monarchs under British and French colonial rule, 1815-1955. Oxford University Press. ISBN 9781526135315 – โดยทาง Google Books.
  6. "Queens Regnant: Ranavalona III of Madagascar". Historyofroyalwomen.com. 14 July 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2019.
  7. http://7lameslamer.net/les-flamboyants-de-l-exil-2eme.html
  8. Barrier 1996, pp. 260–266.
  9. Barrier 1996, p. 267.
  10. 10.0 10.1 Barrier 1996, pp. 269–271.
  11. Saillens 1906.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Madagascar 2". The Royal Ark (site de Christopher Buyers sur les familles royales) (ภาษาอังกฤษ).
  13. Barrier 1996, pp. 350.
  14. Barrier 1996, p. 358.
บรรณานุกรม
  • Barrier, Marie-France (1996). Ranavalona, dernière reine de Madagascar. Paris: Balland. ISBN 9782715810945. (ฝรั่งเศส)
  • Ministère de la marine et des colonies (1884). Revue maritime et coloniale, Volume 81. Paris: Gouvernement de la France. สืบค้นเมื่อ January 27, 2011. (ฝรั่งเศส)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]