เจ้าสุคันธา ณ เชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าสุคันธา ณ เชียงใหม่
เกิดเจ้านางสุคันธาแห่งเชียงตุง
31 มกราคม พ.ศ. 2453
เชียงตุง รัฐเชียงตุง (ในอารักขาของบริติช)
เสียชีวิต15 มกราคม พ.ศ. 2546 (93 ปี)
จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
คู่สมรสเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ (พ.ศ. 2476−2534)
บุตรเจ้ารัตนนินดนัย ณ เชียงใหม่
เจ้าวิไลวรรณ ณ เชียงใหม่
เจ้าสรรพสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่
เจ้าไพฑูรย์ศรี ณ เชียงใหม่
เจ้าวีระยุทธ ณ เชียงใหม่
บุพการีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
เจ้านางบัวทิพย์หลวง
งานสมรสของเจ้าอินทนนท์กับเจ้าสุคันธา

เจ้าสุคันธา ณ เชียงใหม่ (31 มกราคม พ.ศ. 2453 −15 มกราคม พ.ศ. 2546) เป็นเจ้าธิดาในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงที่ 40 เกิดแต่เจ้านางบัวทิพย์หลวง ต่อมาเจ้าสุคันธาสมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ พระโอรสของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนสุดท้าย ประดุจสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุง-เชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้น[แก้]

เจ้าสุคันธาเป็นเจ้าธิดาในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เกิดแต่เจ้านางบัวทิพย์หลวง (หรือ หม่อมทิพย์ใหญ่) ณ หอหลวงเมืองเชียงตุง โดยแม่มีตำแหน่งเป็นบาทบริจาริกา หรือเรียกในราชสำนักเชียงตุงว่า "นางฟ้า"[1] ทั้งเป็นลูกหลานข้าราชการในเชียงตุง และเป็นหลานตาพระยาแขก (ผู้ทำหน้าที่นำเจ้าฟ้าเมืองอื่นมาคำนับเจ้าฟ้าเชียงตุง)[2] เจ้าสุคันธาจะเรียกเจ้าพ่อว่า "ฟ้าหม่อม"[1] มีพี่น้องร่วมมารดาคือ เจ้าแว่นแก้ว, เจ้าแว่นทิพย์, เจ้าสิงห์ไชย และเจ้าแก้วเมืองมา[1]

ขณะอายุได้หกขวบ เจ้าพ่อก็จ้างครูมาสอนพิเศษภาษาไทเขินและไทย และสามารถเลือกเรียนนาฏศิลป์ไทยและพม่าจากครูที่จ้างมาในวังได้ตามใจปรารถนา ต่อมาเมื่ออายุได้เก้าขวบจึงเข้าโรงเรียนประจำของศาสนาคริสต์ในเชียงตุง จึงเรียนรู้ภาษาพม่าและอังกฤษจากที่นั่น และร่ำเรียนจนจบชั้นที่หก หลังสำเร็จการศึกษาก็ทำงานเป็นเลขานุการิณีให้กับเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงร่วมกับเจ้าบัวสวรรค์และเจ้าทิพเกสรพี่สาวต่างมารดา[2]

สมรส[แก้]

เจ้าสุคันธาได้รับการสู่ขอจากเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ พระโอรสของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยที่ทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หลังจากหมั้นได้แปดเดือนก็สมรสกัน[2] ณ หอคำเชียงตุง โดยมีเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงและเจ้านางปทุมมาเทวีเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2476 ทั้งมีข้าหลวงอังกฤษผู้กำกับราชการนครเชียงตุงร่วมเป็นเกียรติในงาน[1] หลังสมรสได้สิบวันได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่โดยมีเจ้าฟ้าพรหมลือกับเจ้านางบุญยวง (ภรรยาอีกนางหนึ่งของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง) มาส่ง[2] โดยเจ้าสุคันธามีลูกกับเจ้าอินทนนท์ 5 คน ได้แก่

  1. เจ้ารัตนนินดนัย ณ เชียงใหม่
  2. เจ้าวิไลวรรณ ณ เชียงใหม่
  3. เจ้าสรรพสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่
  4. เจ้าไพฑูรย์ศรี ณ เชียงใหม่
  5. เจ้าวีระยุทธ ณ เชียงใหม่ สมรสกับสุรัตน์ ณ เชียงใหม่

29 มีนาคม พ.ศ. 2561 เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ได้ส่งมอบไม้เท้าหุ้มทองคำ อันเป็นสมบัติประจำกายของเจ้าแก้วนวรัฐ ให้แก่เจ้าวีระยุทธหรือเจ้าน้อย รวมทั้งมอบหมายให้เจ้าวีรยุทธทำหน้าที่เพื่อสานต่อในนามมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ[3] ครั้นเจ้าวีรยุทธถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ทายาทจึงนำไม้เท้าหุ้มทองคำมอบแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ในฐานะมรดกของชาวเชียงใหม่ และสมบัติของชาติ[4]

เสียชีวิต[แก้]

เจ้าสุคันธาเสียชีวิตด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2546 สิริอายุ 93 ปี พระศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีพระราชทานพวงมาลา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตร 5 ชุด พร้อมพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนกิจสถานสันกู่เหล็กเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2546[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สมโชติ อ๋องสกุล (22 กุมภาพันธ์ 2560). "เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "คำให้สัมภาษณ์เจ้านางองค์สุดท้ายของเชียงตุง". เอ็มไทย. มกราคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-18. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "เจ้าวงศ์สักก์ฯส่งมอบไม้เท้าหุ้มทองคำให้"เจ้าน้อย"สืบสมบัติ"เจ้าแก้วนวรัฐ"ณ เชียงใหม่". มติชนออนไลน์. 29 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ไม้เท้าหุ้มทองคำ". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)