เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ
เจ้าฟ้าเชียงตุง
รัชกาลก่อนหน้าเจ้าฟ้ากองไท
รัชกาลถัดไปเจ้าจายหลวง มังราย
ประสูติพ.ศ. 2440
พิราลัย20 สิงหาคม พ.ศ. 2498[1]
พระมเหสีเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง
เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราช ยสสรพรหมลือ
พระบุตร7 องค์
ราชวงศ์มังราย
พระบิดาเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
พระมารดาเจ้าแม่ปทุมามหาเทวี

เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ (พรหมลือ ณ เชียงตุง) ราชบุตรในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 8 ประสูติแต่ "เจ้าแม่เมือง" (อัครมเหสี) แม่เจ้าปทุมมหาเทวี (ธิดาเจ้าเมืองสิง) ต่อมาพระองค์ได้เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 10 ต่อจากเจ้าพี่ ภายหลังเจ้าฟ้าพรหมลือได้อพยพเข้ามาอยู่ในไทยตราบจนพิราลัย

พระประวัติ[แก้]

เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ ประสูติในปี พ.ศ. 2440 เป็นพระราชบุตรในเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ที่ 8 ประสูติแต่ "เจ้าแม่เมือง" (อัครมเหสี) แม่เจ้าปทุมมหาเทวี (ธิดาเจ้าเมืองสิง) โดยเจ้าฟ้าพรหมลือเป็น 1 ใน 3 เจ้านายชั้นสูงของเชียงตุงที่สามารถกางสัปทนและนั่งเสลี่ยงได้ ประกอบด้วย เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหอคำ, เจ้าฟ้ากองไท (รัชทายาท) และเจ้าฟ้าพรหมลือ (โอรสเจ้าแม่เมือง) ในขณะที่เจ้านายคนอื่นใช้ได้แค่ "จ้องคำ" (ร่มทอง) [2]

เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงนั้นได้ส่งเจ้าพรหมลือ และเจ้าฟ้ากองไท ไปศึกษาต่อในยุโรป แต่ทั้งสองไม่ทันเรียนจบก็ถูกเรียกตัวกลับเชียงตุง ทางเจ้าพรหมลือนั้นยอมกลับแต่โดยดี แต่เจ้ากองไทนั้นได้สมัครเป็นนายทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว โดยส่งจดหมายชี้แจงต่อเจ้าพ่อว่า ตนเองไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าในเชียงตุง เพราะไม่ได้เป็นราชบุตรเกิดแต่มหาเทวี ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าฟ้าต่อจากเจ้าพ่อ จึงขอแสวงหาความก้าวหน้าในกองทัพอังกฤษต่อไป เจ้าฟ้าก้อนแก้วจึงขอให้กลับมาก่อน

ดำรงตำแหน่งราชการในเชียงตุง[แก้]

หลังจากนั้นได้มีการตั้งตำแหน่งเจ้าในทางราชการของเชียงตุง ซึ่งเจ้าชั้นสูงของเชียงตุงนั้นมี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า(ครองเมือง), เจ้าแกมเมือง(อุปราชรัชทายาท), เจ้าเมืองเหล็ก, เจ้าเมืองขาก และเจ้าเมืองขอน ในการนี้เจ้าพรหมลือได้เป็นเจ้าเมืองเหล็ก ขณะที่เจ้ากองไทได้เป็นเจ้าแกมเมือง หรือเจ้าแสนเมือง เพราะตามศักดินาได้กินนาแสน โดยการตั้งตำแหน่งเจ้าครั้งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเจ้าพรหมลือไม่ได้เป็นรัชทายาท แต่การสืบราชสมบัติเมืองเชียงตุงนี้ไม่มีเกณฑ์แน่นอน จึงอนุมานเอาว่าคงเป็นเพราะท่านคงเห็นว่าเจ้ากองไทมีศักดิ์เป็นพี่ของเจ้าพรหมลือ (แต่จริงๆแล้วเกิดก่อนกันไม่กี่วันเท่านั้น) จึงตั้งเป็นรัชทายาท ทางเจ้าพรหมลือก็หันไปทำธุรกิจหลายอย่างจนร่ำรวยกว่าบรรดาเจ้านายด้วยกัน และต่อมาได้สมรสกับเจ้าทิพวรรณ ณ ลำปาง (พ.ศ. 2446-2532) พระนัดดาของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 (มารดาคือเจ้าหญิงฝนห่าแก้ว เป็นธิดาเจ้าหลวงลำปาง)

การลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท[แก้]

ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงสิ้นชนม์ชีพ เจ้ากองไทจึงได้เป็นเจ้าฟ้าแทน แต่เป็นได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อกลับจากงานเทศกาลวันออกพรรษา งานนี้สามารถจับตัวฆาตกรได้ และในเบื้องต้นได้ซัดทอดคนสนิทเจ้าพรมลือจนมีเสียงร่ำลือว่าเจ้าพรหมลือมีส่วนในการจ้างวานผู้อื่นลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้ากองไท เพราะต้องการแก้แค้นที่ถูกปล้นราชสมบัติไป ท่านผู้นี้จึงต้องจ้างวานทนายความจากพม่ามาเพื่อแก้ต่างในคดีนี้จนเสียเงินว่าจ้างเป็นจำนวนมาก แต่ก็พ้นข้อกล่าวหามาได้ และชาวเชียงตุงส่วนใหญ่ก็ไม่ปักใจเชื่อว่าเจ้าพรหมลือจะมีส่วนในคดีนี้ เพราะเห็นว่าทั้งสองนั้นรักใคร่สนิทสนมกันมาก ขณะที่ข้าหลวงอังกฤษยังคงเชื่อมั่นว่าเจ้าพรหมลือต้องมีส่วนในกรณีนี้ ก็ไม่ได้ผลคืบหน้า หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้[3]

ในตำแหน่งเจ้าฟ้าเชียงตุง[แก้]

ในหนังสือที่เกี่ยวกับกองทัพไทยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นกล่าวถึงเรื่องเจ้าพรหมลือว่า เมื่อกองทัพพายัพของไทยบุกเข้าเชียงตุงได้ตามนโยบายสหรัฐไทยเดิม ก็มีการแต่งตั้งจากทางกรุงเทพฯ ให้เจ้าพรหมลือเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง และให้เจ้าฟ้าพรหมลือและเจ้าบุญวาทย์วงศาเป็นที่ปรึกษาของข้าหลวงทหารฝ่ายไทย ทางอังกฤษก็เห็นว่าเจ้าพรหมลือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย จึงยิ่งทวีความไม่ชอบเข้าไปอีก (อังกฤษไม่ค่อยชอบเจ้าพรหมลือนั้นน่าจะมีชนวนมานานแล้ว ทั้งผลประโยชน์ในการค้า ซึ่งมีธุรกิจค้าฝิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การสมรสกับเจ้าหญิงชาวไทย กรณีฆาตกรรมเจ้าฟ้ากองไท และกรณีสุดท้ายที่เข้ากับฝ่ายไทย)

บั้นปลายพระชนม์[แก้]

ต่อมาเมื่อกองทัพไทยถอยออกมาจากเชียงตุงแล้ว และคืนดินแดนเชียงตุงให้แก่กองทัพ​อังกฤษในอินเดีย​ เจ้าพรหมลือและครอบครัวจึงได้อพยพเข้ามาเมืองไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยจนสนิทสนมชอบพอกัน ก็คือ ครอบครัวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และเมื่อมาอยู่ที่เชียงใหม่แล้วก็ ได้ใช้นามสกุลว่า "ณ เชียงตุง" สืบมา[4] และพิราลัยในปี พ.ศ. 2498

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัติเจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง และรูปงานพระราชทานเพลิงศพ[ลิงก์เสีย]
  2. ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๖
  3. "ภาพประวัติศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-17. สืบค้นเมื่อ 2010-01-24.
  4. "รวมหลานเจ้าไทยใหญ่ เจียงตุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-24. สืบค้นเมื่อ 2010-01-24.
  5. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ก่อนหน้า เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ ถัดไป
เจ้าฟ้ากองไท เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง
(พ.ศ. 2480 - พ.ศ. 2490)

เจ้าจายหลวง