เจ้าพระขวัญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าฟ้าพระขวัญ)
เจ้าพระขวัญ
เจ้าฟ้า
ประสูติพ.ศ. 2231
สิ้นพระชนม์7 เมษายน พ.ศ. 2246 (15 พรรษา)
พระตำหนักหนองหวาย กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
ฝังพระศพวัดโคกพระยา
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเพทราชา
พระมารดากรมหลวงโยธาทิพ (หลักฐานร่วมสมัยว่ากรมหลวงโยธาเทพ)

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าพระขวัญ หรือ พระขวัญ เจ้าตรัสน้อย เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา และ กรมหลวงโยธาเทพ (พงศาวดารยุคหลังว่า กรมหลวงโยธาทิพ) ประสูติในปี พ.ศ. 2231 พระองค์มีผู้คนนับถือเป็นอันมากเพราะเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังพระองค์ทรงโดนสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ (ภายหลัง คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) ลอบปลงพระชนม์อันเนื่องมาจากทรงเกรงว่าเจ้าพระขวัญอาจจะเป็นเป็นภัยต่อราชสมบัติของพระองค์ในภายภาคหน้า (ในหลักฐานร่วมสมัยว่าทรงคิดก่อการกบฏ)

พระประวัติ[แก้]

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าเจ้าพระขวัญเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพ พระอัครมเหสีฝ่ายขวา (หลักฐานร่วมสมัยว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ) เมื่อวันที่พระองค์ประสูติได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระนามว่า เจ้าพระขวัญ เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระพรรษามีผู้คนนับถือเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากพระองค์เป็นพระราชภาติยะ[1]ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพระชนมายุครบโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ขึ้น ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท

ภายหลังพระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าพระขวัญ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก ในครั้งนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ (ภายหลัง คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) ทรงมีความเคลือบแคลงในเจ้าพระขวัญเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากการที่เจ้าพระขวัญมีข้าไทยและผู้คนนับถือเป็นอันมาก นานไปอาจจะเป็นเป็นภัยต่อราชสมบัติของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงสมคบกับพระราชโอรสทั้งสองของพระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (ภายหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (ภายหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ในการกำจัดเจ้าพระขวัญเสีย

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวใกล้เสด็จสวรรคต สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังหลวง พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมาก โดยเสด็จเข้าประทับในพระตำหนักหนองหวาย หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัญฑูรให้มหาดเล็กไปเชิญเสด็จเจ้าพระขวัญมาเข้าเฝ้า โดยมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าพระขวัญทรงม้าเทศให้ทอดพระเนตร เมื่อเจ้าพระขวัญทรงทราบว่าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัณฑูรให้หาก็ทรงวางผลอุลิตหวานที่กำลังเสวยอยู่แล้วทูลลาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพ พระราชมารดา เพื่อเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ณ พระตำหนักหนองหวาย พร้อมด้วยนักพระสัฏฐาธิราช พระพี่เลี้ยงและข้าไทยจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระขวัญเสด็จถึงพระตำหนักหนองหวาย สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัณฑูรห้ามไม่ให้พระพี่เลี้ยงและข้าไทยตามเสด็จเข้ามาและให้ปิดกำแพงแก้วเสีย แล้วจึงจับเจ้าพระขวัญสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วให้ข้าหลวงนำพระศพไปฝังไว้ที่วัดโคกพระยา หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับพระราชวังบวรสถานมงคล

ด้านสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพนั้น เมื่อพระราชโอรสเสด็จไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงเข้าที่พระบรรทม เมื่อพระองค์ทรงเคลิ้มหลับลงก็ได้ยินเสียงเจ้าพระขวัญมาทูลขอพระราชทานผลอุลิตหวานที่เหลืออยู่มาเสวย ก็ตกพระทัยตื่นพระบรรมทม ในเวลานั้นพระพี่เลี้ยงในเจ้าพระขวัญและข้าไทยทั้งหลายก็ร้องไห้เข้ามากราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพทรงพระกันแสงและเสด็จขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรหนักอยู่ แล้วทรงกราบบังคมทูลว่า ลูกข้าพระพุทธเจ้าหาความผิดมิได้ กรมพระราชวังบวรฯ ฆ่าลูกข้าพระพุทธเจ้าเสียโดยหาเหตุมิได้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมากแลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้เจ้าพระพิไชยสุรินทร พระราชนัดดา คืนนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต[2][3]

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันว่า เมื่อสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ขึ้นครองราชย์ ให้จับเจ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์ (โอรสของท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระขนิษฐาของพระเพทราชา พระนามเดิมว่าหม่อมแก้ว) พระองค์เจ้าดำ (พระโอรสของพระเพทราชาที่ประสูติแต่สนม ฉบับอื่นว่าถูกสำเร็จโทษในต้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ) พระองค์เจ้าแขก (สันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระเพทราชาอีกองค์หนึ่ง) ไปประหารชีวิต อยู่มาอีกสองวันจึงให้จับเจ้าพระขวัญไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา[4]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเหตุการณ์ที่คล้ายกันคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอตรัสน้อย พระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ ถูกเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรลวงไปสำเร็จโทษ โดยที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ไม่ได้ทรงรู้เห็นด้วย และทรงเสียพระทัยจนกันแสงเมื่อทราบเรื่อง[5]

คำให้การชาวกรุงเก่า ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าเจ้าพระขวัญถูกสำเร็จโทษในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และยังกล่าวด้วยว่าเพราะเจ้าพระขวัญวางแผนก่อกบฏ[6]

จดหมายของมงเซนเญอร์หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ่ (Monseigneur Louis Champion de Cicé) มุขนายกมิสซังประจำกรุงศรีอยุธยาถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส วันที่ 6 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัย ได้ระบุว่าในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เจ้าพระขวัญซึ่งเป็นอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินยังมีพระชนม์อยู่ ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษตอนพระเพทราชาประชวร[7][8]

บันทึกเหตุการณ์ระหว่างการประชวรและการสวรรคตของพระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงพระนามว่าพระทรงธรรม์ (Relaas van’t voorgevallene bij de Zieke en overlijden van den Siamse koninck Phra Trong Than gernaamt) ของนายอาร์เนาต์ เกลอร์ (Aernout Cleur) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาถึงรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นหลักฐานร่วมสมัย ได้ระบุว่าพระขวัญ (PRAQUAN) หรือเจ้าพระขวัญ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ ไม่ใช่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพตามพระราชพงศาวดารที่ชำระในยุคหลัง และกล่าวว่าในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงปฏิบัติกับเจ้าพระขวัญเป็นอย่างดี ทรงเรียกเจ้าพระขวัญว่า เจ้าฟ้าน้อย (TJAUW FA NOY) โปรดให้ได้ทรงฉลองพระองค์ของหลวงและทรงให้มีส่วนร่วมในราชการ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพกลับคิดแผนชิงบัลลังก์ให้เจ้าพระขวัญ โดยวางแผนว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาบนพระราชยานเพื่อไปถวายความเคารพพระบรมศพพระราชบิดาในเดือนห้า ก็จะได้โอกาสที่จะลอบยิงปืนปลงพระชนม์ และเจ้าพระขวัญจะทรงทำหน้าที่นี้โดยใช้ปืนพกที่ทรงพกติดตัวไปด้วยขณะที่ทรงม้า แต่นางกำนัลของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพนำแผนการไปกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทราบ ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาถวายสักการะพระบรมศพพระราชบิดาพร้อมกับเจ้าพระขวัญ พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้เจ้าพระขวัญทรงม้าเพื่อออกพระกำลัง เมื่อทรงควบม้าไปถึงพระคลังวิเศษ (pakhuijs WISIT) ออกญาพิชิต (OIJA PIJIT) พระยาท้ายน้ำ (PIA TAIJNAM) และออกญาสุรศรี (OIJA ZURASIJ) ขุนนางทั้ง 4 ได้จับตัวเจ้าพระขวัญและนำพระองค์ไปสำเร็จด้วยท่อนจันทน์ และพระศพถูกนำไปฝังยังวัดโคกพระยา เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระขวัญผู้เป็นพระโอรส จึงทรงหนีไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพจึงทูลขอให้ละเว้นพระชนม์ชีพของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพจากพระเจ้าแผ่นดิน จึงถูกลงโทษเพียงริบทรัพย์สมบัติและถอดจากที่พระมเหสีเท่านั้น แต่ออกญาสมบัติบาล, พระยาราชบังสัน, พระวิไชยสุรินทร์, พระรามเดชะ, พระเสมียนโกเศศ, ออกหลวงทิพรักษา และขุนนางใหญ่น้อยอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าพระขวัญถูกนำไปประหารชีวิตหมด[9]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/ภาติยะ
  2. พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม
  3. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาภาค ๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเปนส่วนพระกุศลทานมัย ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) กรมหลวงวรเสฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัญญา สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
  5. พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  6. คำให้การชาวกรุงเก่า
  7. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือแลแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาค ๔ พิมพ์ในงารศพ คุณหญิงผลากรนุรักษ (สงวน เกาไศยนันท์) เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙
  8. https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1663390497057747?hc_location=ufi
  9. https://www.facebook.com/WipakHistory/photos/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8D-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-voc%E0%B9%83%E0%B8%99/1667305233332940/