เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน
เจ้านายฝ่ายเหนือ
เกิด10 ธันวาคม พ.ศ. 2469
อนิจกรรม26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 (64 ปี)
อุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี
คู่สมรสเจ้าพัฒนา ณ ลำภูน
บุตร4 คน
ราชวงศ์ทิพย์จักร
เจ้าบิดาเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
เจ้ามารดาเจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่

คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (สกุลเดิม: ณ เชียงใหม่; เกิด: 10 ธันวาคม พ.ศ. 2469 — อนิจกรรม: 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534) เป็นธิดาในเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) กับเจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่ เป็นพระนัดดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนสุดท้าย

คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว เป็นผู้บุกเบิกกิจการผ้าไหมในภาคเหนือ และถวายการดูแลผ้าไหมในฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[1] และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งหอการค้าจังหวัดลำพูน[2]

ประวัติ[แก้]

คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (สกุลเดิม ณ เชียงใหม่) เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2469 เป็นธิดาของพลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) เจ้าราชบุตรองค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่ กับเจ้าหญิงภัทรา ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม: ณ ลำพูน) มีเจ้าน้องร่วมบิดามารดาคือ คุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล และมีเจ้าพี่ต่างมารดาคือ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี

คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว สมรสกับ เจ้าพัฒนา ณ ลำพูน โอรสในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนคนสุดท้าย มีบุตรสี่คน เป็นชายสามและหญิงหนึ่งคน ได้แก่

  1. เจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน
  2. เจ้าพัฒนพงศ์ ณ ลำพูน สมรสกับศรัณยา ณ ลำพูน
  3. เจ้าวงศ์จักร ณ ลำพูน สมรสกับสุวรีย์ ณ ลำพูน
  4. เจ้าศักดิ์ขจร ณ ลำพูน สมรสกับวันเพ็ญ ศักดาธร

อนิจกรรม[แก้]

คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ถึงแก่อนิจกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องบิน[1] เลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004 เครื่องยนต์ขัดข้อง และตกที่บริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534[3][4] หลังจากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เพียง 22 วัน สิริอายุได้ 65 ปี

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ หีบทองสาลสลัก ฉัตรเบญจาตั้งประดับเกียรติยศ ปี่กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมแก่ศพ คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน เป็นเวลา 7 วัน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาวางหน้าศพ

และในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไปในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ และศพ คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ณ เมรุชั่วคราววัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่[5]

การทำงาน[แก้]

กิจการผ้าไหม[แก้]

เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำภูน เป็นผู้บุกเบิกกิจการผ้าไหมในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อครั้งเจ้าพงศ์แก้ว ได้สมรสกับเจ้าพัฒนา ณ ลำภูน และย้ายมาพักอาศัยที่คุ้มหลวงลำพูน ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากแม่เจ้าส่วนบุญ จนสามารถเป็นสืบทอดการทอผ้ายกดอกที่เก่าแก่สวยงาม และเปิดโรงงานทอผ้าขึ้นในคุ้มหลวงลำพูน รวมถึงฝึกสอนชาวบ้านเพื่อนำไปประกอบอาชีพจนแพร่หลายในจังหวัดลำพูน[6]

เจ้าพงศ์แก้ว ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ถวายการดูแลผ้าไหมในฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กิจการสาธารณะ[แก้]

เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำภูน มีส่วนในการส่งเสริมกิจการของรัฐ อาทิ การบริจาคที่ดินบริเวณตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน เพื่อสร้างสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ. 2525[7] และเจ้าพงศ์แก้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 ถึงปี พ.ศ. 2517 และวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2522[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. รสริน ศิริยะพันธุ์, และคณะ. รายงานการวิจัยเรื่องพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางกับพัฒนาการทางการเมือง : ศึกษากรณีภาคเหนือ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  3. Wallace, Charles P. "'All Evidence' in Thai Air Crash Points to Bomb." ลอสแอนเจลิสไทมส์. May 28, 1991. 2. Retrieved on February 15, 2013.
  4. พุเตย : สำนักอุทยานแห่งชาติ
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก (วันที่ ๑๓, ๑๕ - ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕) เล่ม 109 ตอนที่ 14ง วันที่ 23 มกราคม 2535
  6. "พาณิชย์ลำพูนดึงผู้ประกอบการผ้าไหมยกดอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  7. "ประวัติสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-26. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  8. "เหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-19. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๕๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๗ เมษายน ๒๕๓๕