เจ้าชายโนริฮิโตะ ทากามาโดะโนะมิยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าชายโนริฮิโตะ
ทากามาโดะโนะมิยะ
เจ้าชายโนริฮิโตะ เมื่อ พ.ศ. 2545
ประสูติ29 ธันวาคม พ.ศ. 2497
ชินางาวะ โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
สิ้นพระชนม์21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 (47 ปี)
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พระชายาฮิซาโกะ ทตโตริ (พ.ศ. 2527–2545)
พระบุตรเจ้าหญิงสึงูโกะแห่งทากามาโดะ
โนริโกะ เซ็งเงะ
อายาโกะ โมริยะ
ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระบิดาเจ้าชายทากาฮิโตะ มิกาซะโนะมิยะ
พระมารดาเจ้าหญิงยูริโกะ พระชายาฯ

เจ้าชายโนริฮิโตะ ทากามาโดะโนะมิยะ (ญี่ปุ่น: 高円宮憲仁親王โรมาจิTakamado-no-miya Norihito Shinnō; 29 ธันวาคม พ.ศ. 2497 – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545) เป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เป็นพระโอรสพระองค์ที่สามในเจ้าชายทากาฮิโตะ มิกาซะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงยูริโกะ พระชายาฯ เป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และเคยอยู่ในลำดับที่เจ็ดแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น เจ้าชายโนริฮิโตะมีสมญาว่า "เจ้าชายกีฬา" (スポーツの宮さま, Supōtsu-no-miya-sama) จากการที่พระองค์ให้การอุปถัมภ์การแข่งขันดนตรี กีฬา และเต้นรำอยู่เป็นนิจ

พระประวัติ[แก้]

เจ้าชายโนริฮิโตะประสูติที่วังของพระชนกในโตเกียว สำเร็จการศึกษาจากภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกากูชูอิงเมื่อ พ.ศ. 2521 และศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยควีนส์ ประเทศแคนาดา ช่วง พ.ศ. 2521–2524 หลังนิวัตประเทศญี่ปุ่น พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น (Japan Foundation) ช่วง พ.ศ. 2524–2545

เสกสมรส[แก้]

เจ้าชายโนริฮิโตะทรงหมั้นกับฮิซาโกะ ทตโตริ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2527 และเสกสมรสในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ในวันเดียวกันนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ทากามาโดะโนะมิยะ ทั้งสองมีพระธิดา 3 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าหญิงสึงูโกะ (ญี่ปุ่น: 承子女王โรมาจิTsuguko Joō; ประสูติ 8 มีนาคม พ.ศ. 2529)
  2. เจ้าหญิงโนริโกะ (ญี่ปุ่น: 典子女王โรมาจิNoriko Joō; ประสูติ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2531) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับคูนิมาโระ เซ็งเงะ
  3. เจ้าหญิงอายาโกะ (ญี่ปุ่น: (絢子女王โรมาจิAyako Joō; ประสูติ 15 กันยายน พ.ศ. 2533) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับเค โมริยะ

สิ้นพระชนม์[แก้]

ขณะที่เจ้าชายโนริฮิโตะทรงเล่นสควอชกับรอเบิร์ต จี. ไรท์ เอกอัครราชทูตแคนาดา ณ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำกรุงโตเกียว พระองค์ทรงล้มหลังมีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว จึงนำส่งเข้าถวายการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอ แต่สุดท้ายเจ้าชายโนริฮิโตะสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากพระหทัยพิการ[1] การสิ้นพระชนม์เกิดขึ้นอย่างกระทันหันเพราะพระองค์เป็นหนึ่งในสมาชิกพระราชวงศ์ที่มีพระชันษาน้อย พระราชพิธีถวายพระเพลิงจัดขึ้นภายในสุสานหลวงโทชิมางาโอกะทางตอนเหนือของโตเกียว มีผู้ร่วมงานราว 900 คน อันรวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์และนักการเมืองทั้งในและต่างประเทศ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Prince dies after collapse on embassy squash court". The Japan Times. 22 November 2002. สืบค้นเมื่อ 16 September 2017.
  2. "Funeral held for Japan's prince". BBC. 29 November 2002. สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.