เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย ในรัชกาลที่ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย
เกิด7 เมษายน พ.ศ. 2429
เสียชีวิต29 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 (82 ปี)​
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุพการีหม่อมเจ้าจำรูญ ปราโมช
หม่อมเยื้อน ปราโมช ณ อยุธยา

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย ในรัชกาลที่ 5 เกิดเมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2429 เป็นธิดา หม่อมเจ้าจำรูญ ปราโมช และ หม่อมเยื้อน ปราโมช ณ อยุธยา ท่านมีน้องร่วมมารดา 2 คน คือ ร้อยโท หม่อมราชวงศ์จรัญ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์ชาย (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ)

เมื่อวัยเยาว์ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย อาศัยอยู่กับท่านพ่อที่วังบูรพาภิรมย์ เพราะท่านพ่อเสด็จอยู่กับ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จนกระทั่งอายุได้ 7 ปี ท่านพ่อจึงส่งเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับพระญาติในราชสกุลปราโมช ซึ่งรับราชการอยู่ในห้องเครื่องต้น วันหนึ่งท่านได้ตามเสด็จ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ไปรับเงินจ่ายประจำเดือนของห้องเครื่อง จากพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) พระอรรคชายาเธอฯทอดพระเนตรเห็นหม่อมราชวงศ์จรวยเป็นเด็กน่าเอ็นดู จึงขอไปทรงเลี้ยง และเมื่อหม่อมราชวงศ์จรวยมีอายุครบ 10 ปี ได้ทรงพระเมตตาจัดพิธีโกนจุกประทานด้วย

ครั้นอายุได้ 18 ปี พระอรรคชายาเธอฯจึงนำท่านขึ้นถวายตัวรับราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเงิน 5 ชั่ง ผ้าลายและแพรห่ม 2 สำรับตามประเพณี ซึ่งท่านได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณจนตลอดรัชกาล โดยมีหน้าที่จัดเตรียมเครื่องสรงพระพักตร์ และทรงเครื่องในเวลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ในช่วงเวลา 11-12 น. และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกเสวย ก็ต้องอยู่ประจำในหน้าที่ตั้งเครื่องเสวยทั้งในมื้อเช้าและมื้อเย็น รับใช้ไปจนเข้าที่พระบรรทม ราว 5-6 น. บางครั้งก็ต้องรับหน้าที่อ่านหนังสือถวายแทนเจ้าจอมมารดาเลื่อน และคอยเฝ้าในเวลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรุงพระกระยาหารด้วยพระองค์เองด้วย

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนพ.ศ. 2449 และเข็มพระกำนัล อักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร.ลงยาสีชมพูห้อยริบบิ้นเหลืองจักรี และเมื่อมีพิธีเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถาน ท่านได้รับพระราชทานเกียรติยศให้เป็นผู้เชิญพานฟักในงานพระราชพิธีสำคัญนั้นด้วย

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย ได้ออกจากพระบรมมหาราชวังมาอาศัยอยู่ในสำนักพระวิมาดาเธอฯ ที่พระราชวังสวนสุนันทา จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2472 จึงออกมาอาศัยกับหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช จนสิ้นชีพิตักษัย ครั้งสุดท้ายได้ออกมาอยู่กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ที่ตำหนักทิพย์ ถนนราชวิถี ได้ตามเสด็จเสด็จพระองค์อาทรฯไปฟังธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นประจำ จนกระทั่งเสด็จพระองค์อาทร สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2501 จึงอยู่กับเจ้าจอมอาบ และนายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ผู้เป็นทายาทต่อมา

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์จรวย ปราโมช ป่วยด้วยโรคชรา ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 สิริอายุได้ 82 ปี 4 เดือน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2019-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๘๙๔, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๒๕
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบันฝ่ายใน, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๕, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  • หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, ตอบปัญหาธรรมทาง ท.ท.ท.. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2511. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอม ม.ร.ว.จรวย (ปราโมช) ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม).