เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5
เกิดหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ
พ.ศ. 2390
เสียชีวิต13 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 (78 ปี)
พระบรมมหาราชวัง
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ
บุพการีหม่อมนก พึ่งบุญ

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (พ.ศ. 2390 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เป็นเจ้าจอมมารดาคนแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5 มีนามเดิมว่าหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2390 เป็นธิดาของหม่อมนก พึ่งบุญ ซึ่งเดิมเป็น "หม่อมเจ้าชายนก พึ่งบุญ" พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (ซึ่งต้องพระราชอาญาถูกประหารชีวิต และถอดพระยศเป็น "หม่อมไกรสร" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระโอรสและพระธิดาจึงพลอยถูกถอดยศจากเจ้าลงมาเป็นสามัญชน และเรียกหากันว่า "หม่อม" นำหน้านามต่อมา ส่วนพระนัดดาชั้นหม่อมราชวงศ์ รวมไปถึงพระปนัดดาชั้นหม่อมหลวงนั้นไม่นับเป็นเจ้านายในราชวงศ์ แต่เป็นเพียงเชื้อพระวงศ์ จึงยังคงใช้คำนำหน้านามได้อย่างเดิม

หม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ นั้นรับราชการเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะมีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" และได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีเจ้าจอมพระองค์แรกตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งยังเป็นพระพี่เลี้ยงผู้มีอายุมากกว่าพระองค์ จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ความว่า

พ่อไม่ปฏิเสธว่าในเวลาหนุ่มคะนองเช่นนั้นจะมิได้ซุกซน อันเป็นเหตุให้พลาดไปหลายครั้ง... แต่อาศัยเหตุโอบอ้อม และความรู้เห็นใจผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้ แก้ไขให้รอดจากความเสีย...ถ้าไม่ได้ประพฤติใจดั่งเบื้องต้นแล้ว ไหนเลยจะรอดอยู่ได้ คงล่มเสียนานแล้ว..

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5 พำนักในพระบรมมหาราชวังตราบจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอติสาร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 สิริอายุได้ 78 ปี[1]และได้มีการพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยในหมายกำหนดการ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2473 เวลา 15 นาฬิกา เจ้าพนักงานเชิญศพเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ขึ้นรถประเทียบออกจากสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส มีนายตำรวจนครบาลขึ้นม้านำ 1 คู่ ไปถามถนนพลับพลาชัย ถนนบำรุงเมือง ถนนกรุงเกษม ถนนราชดำเนิน หยุดรถที่ประตูหน้าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เชิญศพขึ้นเสลี่ยงหิ้ว ศพเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข กั้นกลดขาวลายทอง มีฉัตรเบญจา กลองชนะ จ่าปี่ แห่เวียรเมรุ 3 รอบ แล้วยกขึ้นตั้งบนจิตกาธาน โปรดเกล้าฯ ให้มีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมประจำสร้าง และมีการประโคมพระศพตามเกียรติยศ เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร 5 ไตร พระสงฆ์บังสุกุล แล้วพระราชทานเพลิงศพ[2][3]

วงศ์ตระกูล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม ๔๓, ตอน ง, ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๖๙, หน้า ๘๔๘
  2. การพระราชทานเพลิงพระศพและศพ ทีเมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ. 2473http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/D/834.PDF
  3. ปัญญาสชาดก : ภาคที่ 22 เทวันทชาดก.พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าผ่อง โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศแข รัชกาลที่ 5 ณเมรุวัดเบญจมบพิตร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2473, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนธนากร, 2473
บรรณานุกรม
  • สาระ มีผลกิจ. ราชสำนักฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2551. 296 หน้า. ISBN 9744516817 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2554. 368 หน้า. ISBN 9786167058580