เคออส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคออส โดย เวนเซสเลาส์ ฮอลลาร์ (1607-1677)

ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก เคออส (กรีกโบราณ: χάος, khaos; อังกฤษ: Chaos หรือ Khaos, ออกเสียง: /ˈkeɪɒs/) เป็นสภาพแรกเริ่มของการมีอยู่ ก่อนการกำเนิดของเหล่าทวยเทพรุ่นแรก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความว่างเปล่าอันมืดดำของอวกาศ ใน ธีออโกนี หรือเทวพงศาวดารของเฮซิโอด (700 ปีก่อนค.ศ.) "เคออส" เป็นเทพดึกดำบรรพ์องค์แรกที่ปรากฏขึ้น จากนั้นจึงเกิดมี ไกอา (โลก), ทาร์ทารัส (ก้นบึ้ง), และ เอรอส (ความรัก) ตามมา[1] จากเคออสแล้วจึงมี เอเรบัส (ความมืด) และนิกซ์ (กลางคืน)[2]

เคออสตามความเชื่อกรีก และโรมัน[แก้]

คำว่า "เคออส" (กรีก: χάος) ในภาษากรีก มีความหมายว่า "ความว่างเปล่าอันเวิ้งว้าง, รอยแยก" มาจากคำกริยาว่า χαίνω แปลว่า "ทำให้เปิดกว้าง, ทำให้(มีที่)ว่าง" ทั้งเฮสิโอด และนักปรัชญาก่อนโสเครตีส ใช้คำกรีกนี้ในบริบทของการบรรยายการกำเนิดจักรวาล (Cosmogony) เฮสิโอดบรรยาย เคออส ว่า "เป็นที่ว่างมหึมาที่อยู่เหนือแผ่นดินโลก ซึ่งถูกสร้างขึ้นครั้งเมื่อแผ่นดิน (ไกอา) และท้องฟ้า (ยูเรนัส) ยังแยกกันอยู่และยังมิได้เข้ามารวมกัน" หรือ "เป็นที่เปิดว่างอยู่ข้างใต้พิภพซึ่งโลกใช้เป็นฐานตั้งอยู่"

ในบทกลอนเมตามอร์โฟเซส (Metamorphoses) กวีโอวิด (Ovid) ได้อธิบายเคอ็อสว่าเป็น "มวลหยาบและยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มก้อนที่ไม่มีชีวิต ไม่มีรูปแบบ ไม่มีขอบเขต ของเมล็ดพันธุ์อันยุ่งเหยิง และเคออสก็ได้รับสมญาอันเหมาะสม" ด้วยเหตุนี้ คำว่า "chaos" จึงถูกนำมาใช้ในปัจจุบันโดยมีความหมายว่า "ความสับสนอย่างสิ้นเชิง"

ลักษณะสำคัญของเคออสมีสามประการหลักคือ

  • เคออสเป็นหลุมลึกไร้ก้นที่ซึ่งหากมีอะไรตกลงไปก็จะตกลงไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งตรงข้ามกับโลก (Earth) อย่างมาก ด้วยโลกกำเนิดออกมาจากความว่างเปล่านี้ แต่โลกประกอบด้วยพื้นดิน
  • เคออสเป็นสถานที่ที่ปราศจากทิศทางที่แน่นอน โดยสิ่งต่างๆ จะตกไปตามทิศทางต่างๆ ได้รอบ
  • เคออสเป็นพื้นที่ว่างที่แยกโลก (Earth) และท้องฟ้า (Sky) ออกจากกัน และเคออสก็ยังคงสภาพคั่นกลางสองสิ่งนั้น
  1. Hesiod, Theogony 116-122.
  2. Hesiod, Theogony 123-124.