เครื่องจักสาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เครื่องจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่ง คิดค้นขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตขึ้นโดยการสอด ขัด และสานของวัสดุที่มีลักษณะเป็นเส้น เป็นริ้ว เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม และเพื่อให้เกิดความคงทนของเครื่องจักสาน

ประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน[แก้]

มนุษย์ได้มีการคิดค้นที่จะผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินแล้ว เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มนุษย์ยุคก่อนได้นำเอาวัตถุจากธรรมชาติมาสร้างเป็นเครื่องมือเครื่องใช้อย่างง่าย ๆ สำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานที่พบ เช่น ได้พบเครื่องมือที่ทำด้วยหินจำพวกขวาน และเครื่องปั้นดินเผาสมัยหินเก่า ที่บ้านท่ามะนาว ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น นอกจากนี้นักโบราณคดียังพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการทำเครื่องจักสานในยุคหินใหม่ที่บริเวณถ้ำแห่งหนึ่งในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เครื่องจักสานที่พบทำด้วยไม้ไผ่ เป็นลายขัดสองเส้น มีอายุมากกว่า ๔,๐๐๐ ปี เก่ากว่าเครื่องจักสานที่พบจากแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา

หลักฐานเกี่ยวกับการทำเครื่องจักสานของมนุษย์นั้น ได้พบในหลายที่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเครื่องจักสานขอองชาวอียิปต์โบราณ หรือหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องจักสานของมนุษย์ยุคหินในบริเวณแหลมมาลายู ซึ่งมีลักษณะเป็นภาชนะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "ล่วม" สานด้วยใบไม้ชนิดหนึ่ง กองรวมอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ของคนตาย แสดงให้เห็นว่าเครื่องจักสานได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของมนุษย์นอกเหนือจากทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน

เครื่องจักสานของไทย[แก้]

โดยทั่วไปการสร้างเครื่องจักสานจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยตามสภาพภูมิศาสตร์รวมถึงประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และวัสดุในท้องถิ่นนั้น ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องจักสานในรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ

จากอดีตมาถึงปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบและลวดลายของเครื่องจักสานที่ทำขึ้นโดยชนชาติต่างๆจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายในการสานจะมีจำกัดอยู่ไม่มากลายนัก และความจำกัดของลวดลายนี้ทำให้รูปทรงของเครื่องจักสานมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันไปด้วย นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องจักสานยังพบว่าในกลุ่มประเทศที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันก็มีการใช้วัสดุชนิดเดียวกัน เช่น การทำเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ พบว่ามีทำกันในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น การทำเครื่องจักสานนั้นเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองที่มีทำกันมาแต่โบราณ และมีทำทั่วไปในทุกภาคของประเทศ

ปัจจุบันเครื่องจักสานของไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ผลิตขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์และฝีมืออันประณีตของคนไทย และมีการออกแบบที่ทันสมัย ประกอบกับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติซึ่งมีความงดงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว

จัก[แก้]

จัก เป็นการเตรียมวัสดุที่จะใช้ในการจักสาน โดยนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือเป็นริ้ว เพื่อความสะดวกในการสาน ลักษณะของการจักจะขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุแต่ละชนิด ซึ่งจะมีวิธีการเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น วัสดุที่นำมาจักนั้นเป็นไม้ไผ่ หวาย มักเรียกว่า ตอก และการจักตอกไม้ไผ่โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือ จักตามแนวไม้ไผ่โดยมีผิวไม้เป็นส่วนแบน เรียกว่า ตอกพื้น ส่วนอีกลักษณะหนึ่งจะจักโดยมีผิวไม้เป็นส่วนสันตอกเรียกว่า ตอกตะแคง นอกเหนือจากตอกไม้ไผ่สองลักษณะนี้แล้ว อาจจะมีตอกที่จัก เหลา เป็นเส้นกลม ๆ หรือลักษณะอื่น ๆ ตามความต้องการที่จะนำตอกชนิดนั้น ๆ ไปใช้

อย่างไรก็ตาม การจักตอกเป็นงานขั้นแรกที่สำคัญในการทำเครื่องจักสาน เพราะลักษณะของตอกจะต้องประสานกับลวดลายและรูปทรงของเครื่องจักสานด้วย นอกจากนี้การเลือกสรรวัสดุที่ดีก็มีผลต่อความคงทนและความประณีตสวยงานของเครื่องจักสานด้วย

สาน[แก้]

สาน เป็นขั้นตอนถัดจากการจัก ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เป็นขบวนการทางความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีมาช้านานแล้ว และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การสานของคนไทยนั้นถือได้ว่าเป็นความรู้พื้นบ้านพื้นเมืองสืบต่อกันมาโดยการถ่ายทอดให้กันในครอบครัว ชนิดพ่อสอนลูก โดยมิได้มีการร่ำเรียนกันอย่างจริงจัง และไม่มีการจดบันทึกเป็นตำรับตำราแต่อย่างใด ซึ่งรูปทรงและลวดลายบางอย่างยังคงไว้แต่บางอย่างอาจมีการปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มักจะเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ชนิดค่อยเป็นค่อยไป การสานของคนไทยนั้นจะสานด้วยรูปแบบและลวดลายแบบใดขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งานและความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีการสานได้หลากหลาย เช่น ถ้าต้องการภาชนะที่มีตาห่าง ๆ เช่น ชะลอม เข่ง ก็มักจะสานด้วยลายเฉลว เป็นต้น นอกจากนี้ชื่อเรียกของลวดลายในแต่ละท้องถิ่นก็อาจจะเรียกแตกต่างกันออกไปแม้จะเป็นลายเดียวกันก็ตาม

การสานเครื่องจักสานโดยทั่วไปแล้ว อาจจำแนกออกเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

๑. การสานด้วยวิธีการสอดขัดกัน

๒. การสานด้วยการสอดขัดกันด้วยเส้นทแยง

๓. การสานด้วยวิธีขัดเป็นวง

ถัก[แก้]

การถักเป็นกระบวนการที่เข้ามาเสริมหรือช่วยทำให้เครื่องจักสานดูเรียบร้อยสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก เช่น ขอบ ปาก ก้น ของเครื่องจักสาน โดยมักจะใช้วัสดุที่เป็นเส้นอ่อนและมีความยาวพอสมควร ถักหรือผูกยึดโครงสร้างภายนอกให้ติดกับผนังของเครื่องจักสาน ลักษณะของการถักหรือการผูกขอบภาชนะโดยทั่วไปก็จะมีรูปแบบเฉพาะของการถักแต่ละแบบ เช่นเดียวกับแบบของลายสาน ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มความสวยงามของเครื่องจักสานไปในตัว การถักแม้จะเป็นขั้นตอนเสริมแต่ก็เป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของเครื่องจักสานหลายชนิด

เครื่องมือที่ใช้ในการทำเครื่องจักสาน[แก้]

[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. เครื่องจักสานในประเทศไทย