เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

พิกัด: 17°39′24″N 100°08′55″E / 17.65679°N 100.14849°E / 17.65679; 100.14849
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต)
วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์)
เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน
วัดในเขตปกครอง 7 วัด
สำนักสงฆ์ในเขตปกครอง 2 สำนักสงฆ์
พื้นที่ปกครอง ตำบลคุ้งตะเภา และพื้นที่บางส่วนของตำบลผาจุก
นิกาย เถรวาท มหานิกาย
(ในสังกัดการปกครองของมหาเถรสมาคม)

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา เป็นเขตปกครองของพระภิกษุสงฆ์เถรวาท ฝ่ายมหานิกายระดับตำบล ขึ้นตรงต่อเจ้าคณะเหนือกว่าภายในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตามการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองคณะสงฆ์ไทยในกำกับของมหาเถรสมาคม

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีอาณาเขตการปกครองคณะสงฆ์และรับผิดชอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทครอบคลุมพื้นที่ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ และบางส่วนของตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (ไม่มีวัดธรรมยุติในเขตพื้นที่ปกครองตำบลนี้) ปัจจุบันมีพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) (วัดใหม่เจริญธรรม) เป็นเจ้าคณะตำบลแห่งนี้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548

เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีสำนักเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับพระสงฆ์ครบสองแผนกทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี โดยมีสำนักเรียนอยู่ที่วัดใหม่เจริญธรรม อันเป็นวัดเจ้าคณะตำบลในปัจจุบัน และมีสำนักศาสนศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ (ธรรมศึกษา) จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

ในปัจจุบันเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา ได้ครอบคลุมถึงพื้นที่บางส่วนในตำบลผาจุกด้วย โดยมีวัดในเขตการปกครองจำนวน 7 วัด และ 2 สำนักสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2552 มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาในวัดในเขตปกครองประมาณ 40 รูป

เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

ปัจจุบัน พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์) เป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา (พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน)

รายชื่อเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[แก้]

ข้อมูลรายชื่อเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาตั้งแต่ พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2536
รูป ชื่อ ตำแหน่งทางคณะสงฆ์และเผยแผ่ วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา
หมายเหตุ
1. พระครูประดิษฐ์ ฐานกโร น.ธ.เอก พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2539 ลาสิกขาบท
2. พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช
(ธง ฐิติธมฺโม)
  • เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
    (เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท)
  • เจ้าสำนักศาสนศึกษาตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 1
  • คู่สวดกรรมวาจาสังฆกรรม
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • พระธรรมทายาท (วัดชลประทานรังสฤษดิ์)
  • กรรมการกำกับสนามสอบธรรมสนามหลวง
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2540 - 2542 ลาออก
จากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล
3. พระครูวิจิตรธรรมรส
(สนั่น วชิรญาโณ)
  • เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว
    (พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นเอก)
  • รองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (ตำแหน่งในปัจจุบัน)
  • พระอุปัชฌาย์
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลงิ้วงามเขต 1 (อปต.)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2543 - 2547 ได้รับเลื่อน
ให้ดำรงตำแหน่ง
รองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
4. พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต)
  • เจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญธรรม
  • เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา (ตำแหน่งในปัจจุบัน)
  • เจ้าสำนักศาสนศึกษาตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 2
  • พระอุปัชฌาย์
  • ครูสอนพระปริยัติธรรม
  • ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • ประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
  • ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่ง

อาณาเขตการปกครองคณะสงฆ์[แก้]

ในอดีต เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลพระภิกษุสงฆ์เฉพาะในเขตตำบลคุ้งตะเภาเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา อาณาเขตการปกครองสงฆ์ได้เพิ่มไปถึงเขตตำบลผาจุก (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์) บางส่วน

ปัจจุบัน มีวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด 7 วัด และ 2 สำนักสงฆ์ เรียงตามลำดับปีได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดดังนี้

วัดมีวิสุงคามสีมา[แก้]

วัดมีวิสุงคามสีมา (อุโบสถ) มีจำนวน 5 วัด คือ

  1. วัดคุ้งตะเภา
  2. วัดป่ากล้วย
  3. วัดป่าสักเรไร
  4. วัดหาดเสือเต้น
  5. วัดใหม่เจริญธรรม

วัดไม่มีวิสุงคามสีมา[แก้]

วัดไม่มีวิสุงคามสีมา มีจำนวน 2 วัด คือ

  1. วัดหนองปล้อง
  2. วัดบ่อพระ

สำนักสงฆ์[แก้]

สำนักสงฆ์ มีจำนวน 2 วัด คือ

  1. ที่พักสงฆ์บ้านเด่นกระต่าย (ตำบลผาจุก)
  2. ที่พักสงฆ์บ้านหนองบัว (ตำบลผาจุก)

พระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

พระสังฆาธิการเจ้าอาวาส[แก้]

เจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา มีจำนวน 7 รูป ประจำวัดที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดจำนวน 7 วัด ดังต่อไปนี้

ข้อมูลรายชื่อเจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในปัจจุบัน พ.ศ. 2552
(เรียงตามลำดับพรรษากาล)
รูป ชื่อ เจ้าอาวาสวัด วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
เจ้าอาวาส
หมายเหตุ
1. พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช
(ธง ฐิติธมฺโม)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2533 อดีตเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา รูปที่ 2
2. พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2546 เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา รูปที่ 4
3. พระวินัยธรสมศักดิ์ สิรินฺธโร น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2541
4. พระครูสุธรรมาจารย์
(พร้อม ธนปาโล)
น.ธ.เอก
5. พระอธิการชอุ่ม จนทธมฺโม น.ธ.เอก พ.ศ. 2539
6. พระอธิการบุญธรรม ปุญฺญกาโม น.ธ.เอก
7. พระสันติ สุทธสีโล น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2551

พระสังฆาธิการระดับรองเจ้าอาวาส[แก้]

ปัจจุบันในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภามีรองเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคม มีจำนวน 1 รูป ดังนี้

ข้อมูลรายชื่อรองเจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในปัจจุบัน พ.ศ. 2552
รูป ชื่อ รองเจ้าอาวาสวัด วุฒิ ปีดำรงตำแหน่ง
รองเจ้าอาวาส
หมายเหตุ
1. พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ
(แสงสิน)
น.ธ.เอก, ป.บส. พ.ศ. 2537 เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์

ข้อมูลทั่วไปภายในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์[แก้]

ประวัติการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์[แก้]

คณะนักเรียนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดป่ากล้วย ครั้งแรกก่อตั้ง

ก่อนที่จะมีการแยกเขตการปกครองคณะสงฆ์จากตำบลท่าเสามาตั้งเป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลใหม่นั้น คณะสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภามีการศึกษาพระปริยัติธรรมมาก่อนแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2500 วัดป่ากล้วยได้เคยเป็นสถานที่ตั้งของสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกของตำบลคุ้งตะเภา โดยได้ก่อตั้งขึ้นตามดำริของพระมหาจรูญ คุตฺตจิตฺโต (พรหมน้อย) ซึ่งทำให้หลังจากนั้นไม่นาน พระมหาปรีชา ปริญฺญาโณ (คืนประคอง) ลูกศิษย์ของพระมหาจรูญที่เป็นคนบ้านป่ากล้วย ได้เข้าอุปสมบทและศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เป็นพระภิกษุเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์[1]

กุฎิสงฆ์วัดป่ากล้วย สถานที่ทำการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแห่งแรกในตำบลคุ้งตะเภา (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2499)

และหลังจากนั้นได้มีชาวตำบลคุ้งตะเภาได้เข้ามาอุปสมบทเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบได้เป็นเปรียญหลายคน จนในปี พ.ศ. 2539 สามเณรสัญญา โปร่งใจ (พระมหาสัญญา ปญฺญาวิจิตฺโต) คนบ้านป่ากล้วย ได้สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในขณะเป็นสามเณร (ประโยค ๙ นาคหลวง) ขณะอายุได้ 21 ปี (สำนักเรียนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร) ทำให้ท่านเป็นสามเณรชาวอุตรดิตถ์รูปแรกและรูปเดียวในปัจจุบัน (2552) ที่ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นนาคหลวง อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งบาลีและนักธรรมสำนักวัดป่ากล้วยได้ล้มเลิกไปเมื่อพระมหาจรูญได้ลาสิกขาบท ทำให้พระสงฆ์และสามเณรที่สนใจศึกษาภาษาบาลีต้องไปศึกษาในสำนักเรียนนอกตำบล โดยส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาที่วัดคลองโพธิ์หรือวัดอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่วนการศึกษานักธรรมนั้นคงเรียนกันตามวัดตามปกติ โดยจะมีการอบรมก่อนสอบบ้างในวัดเจ้าคณะตำบลท่าเสา ซึ่งจะตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำน่านและต่างตำบลกัน แต่อยู่ในสังกัดเขตปกครองคณะสงฆ์เดียวกัน (เขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลท่าเสา) ซึ่งเมื่อได้มีการแยกเขตการปกครองคณะสงฆ์มาตั้งเป็นตำบลใหม่ในภายหลังแล้ว พระสงฆ์ก็ยังคงทำการเรียนการสอนนักธรรมอยู่ตามวัดของตนตามปกติ โดยไม่มีสำนักเรียนอย่างเป็นทางการที่พระสงฆ์ต้องมารวมตัวกันเรียนในห้องเรียนแต่อย่างใด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 สมัยเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภารูปที่ 4 ได้มีมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา โดยดำริของพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) ตกลงให้ยกวัดใหม่เจริญธรรมในฐานะวัดเจ้าคณะตำบล เปิดทำการสอนห้องเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในแผนกนักธรรมและบาลี (พ.ศ. 2552) ป็นครั้งแรกหลังจากได้แยกเขตการปกครองคณะสงฆ์มาตั้งเป็นเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลใหม่

การศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ภายในตำบล[แก้]

การเรียนการสอนนักธรรมของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาในวัดใหม่เจริญธรรม

ตามมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา พ.ศ. 2552 โดยดำริของพระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) ตกลงให้วัดใหม่เจริญธรรมในฐานะวัดเจ้าคณะตำบล เปิดทำการสอนห้องเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี โดยยกให้เป็นห้องเรียนแผนกบาลีของคณะสงฆ์ประจำตำบล ทำการเรียนการสอนในระดับชั้นบาลีไวยากรณ์ในระดับพื้นฐาน เนื่องด้วยความขาดแคลนบุคลากร และขาดการสนับสนุนบุคลากรเพิ่มเติมจากวัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง สำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอันดับ 1 ของเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 5 ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ในปีแรกห้องเรียนแผนกบาลีของคณะสงฆ์ประจำตำบลคุ้งตะเภา จะอยู่ในฐานะของห้องเรียนทดลอง เพราะมีครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำทำการสอนเพียง 1 รูป (พระมหาสมาน อคฺคปญฺโญ) เท่านั้น[2]

การศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ภายในตำบล[แก้]

การศึกษานักธรรมสำหรับพระสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

ตามมติที่ประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสในตำบลคุ้งตะเภา พ.ศ. 2550 พระสงฆ์จากทุกวัดในเขตตำบลคุ้งตะเภาผู้ที่ยังสอบไม่ได้นักธรรมชั้นเอกทุกรูป ต้องเรียนนักธรรมจนกว่าจะสอบไล่ชั้นเอกได้ โดยพระสงฆ์ในเขตตำบลจะศึกษาวิชานักธรรมในช่วงก่อนและในระหว่างพรรษากาล โดยรวมมาเรียนนักธรรมทุกชั้นที่วัดใหม่เจริญธรรมซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะตำบล เมื่อพระสงฆ์รูปใดสอบสนามหลวงไล่ได้ชั้นเอกแล้ว เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์จะขึ้นทะเบียนพระสงฆ์รูปนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำอำเภอฯ (ตามมติเจ้าคณะภาค 5) ให้เป็นครูสอนปริยัติธรรม ช่วยเหลืองานคณะสงฆ์ในด้านการศึกษาและช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

การศึกษาธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในตำบลคุ้งตะเภา[แก้]
สนามสอบธรรมศึกษาหอประชุมโรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา
นักเรียนธรรมศึกษาในสำนักศาสนาศึกษาวัดคุ้งตะเภา

การศึกษาแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์ (ผู้ไม่ใช่นักบวช) ในตำบลคุ้งตะเภานั้น เริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นคือ เจ้าอธิการธง ฐิติธมฺโม (อิ่มชม) วัดคุ้งตะเภา เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้ง สำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา ขึ้นที่วัดคุ้งตะเภา และต่อมามีการเปลี่ยนเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 2543 จึงเกิดการลักลั่นในการบริหารงานสำนักศาสนศึกษาในระยะหนึ่ง แต่วัดคุ้งตะเภาโดยการนำของพระสมุห์สมชาย ก็ได้จัดการสอนธรรมศึกษาเช่นเดิม โดยดำเนินการและออกทุนดำเนินการเองทั้งหมด และมีผู้สอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมากทุกปี และในปี พ.ศ. 2549 พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา จึงได้จัดเปิดสนามสอบธรรมศึกษาแห่งที่ 5 ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ที่โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา เพื่อเป็นสนามสอบสำหรับนักเรียนในสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นการเปิดสนามสอบธรรมศึกษาที่ตำบลคุ้งตะเภาเป็นครั้งแรก[3]

การเผยแผ่และสำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบล[แก้]

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

การจัดอบรมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนของคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

ปัจจุบันวัดในเขตตำบลคุ้งตะเภา (วัดใหม่เจริญธรรม) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในความรับผิดชอบของ พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) เจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งมีการจัดโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมตลอดทั้งปี เช่น การบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติ การอบรมบำบัดผู้ติดยาเสพติด การอบรมปรับสภาพนักเรียน การเข้าค่ายพุทธบุตร ฯลฯ รวมทั้งมีการนำคณะพระสงฆ์ไปให้การอบรมคุณธรรมแก่นักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในและนอกจังหวัดอุตรดิตถ์

สำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

บรรยากาศสำนักปฏิบัติธรรมวัดป่ากล้วย

ตำบลคุ้งตะเภามีสำนักปฏิบัติธรรมประจำตำบล ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม จำนวน 1 แห่ง คือ สำนักปฏิบัติธรรมวัดใหม่เจริญธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการปฏิบัติกิจกรรมด้านการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี โดยคงเป็นสำนักปฏิบัติในนามประจำตำบลเท่านั้น

ปัจจุบันโดยพฤตินัย สำนักปฏิบัติธรรมในเขตตำบลคุ้งตะเภาที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ สำนักปฏิบัติธรรมวัดป่ากล้วย ตั้งอยู่ที่วัดป่ากล้วย มีสำนักปฏิบัติธรรมแยกเป็นเอกเทศจัดภูมิทัศน์แบบวัดป่า โดยมีพระอาจารย์เฉลิมโชค ฉนฺทชาโต เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาอุปสมบทและศึกษาปฏิบัติสมาธิภาวนาตลอดทั้งปี สำนักปฏิบัติธรรมนี้มีสำนักอุบาสิกา รับสตรีผู้สนใจเข้ามาบวชถือศีล 8 ด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ามาปฏิบัติธรรมได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน

สถานที่ลงอุโบสถสังฆกรรมตามพระวินัยของคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

ปัจจุบัน คณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาจะลงฟังพระปาฏิโมกข์ตามพระวินัยทุกกึ่งเดือนในช่วงเข้าพรรษา โดยเวียนสถานที่ไปในแต่ละวัดที่มีวิสุงคามสีมา เป็นช่วงที่พระสงฆ์ทั้งตำบลมาลงกระทำสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งเรียงลำดับการลงฟังพระปาฏิโมกข์ตามลำดับจำนวน 6 ลำดับวัดตามรอบกึ่งเดือนตามปฏิทินในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาดังนี้

ครั้งที่ ภาพวิสุงคามสีมา วัด วัน หมายเหตุ
1 วัดป่ากล้วย วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
2 วัดใหม่เจริญธรรม (ครั้งที่ 1) แรม 15 ค่ำ เดือน 8 วัดเจ้าคณะตำบล
3 วัดคุ้งตะเภา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9
4 วัดป่าสักเรไร แรม 15 ค่ำ เดือน 9
5 วัดหาดเสือเต้น ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
6 วัดใหม่เจริญธรรม (ครั้งที่ 2) แรม 15 ค่ำ เดือน 10 วัดเจ้าคณะตำบล

อุปัชฌาย์ผู้มีสิทธิทำการบรรพชาอุปสมบทในตำบลคุ้งตะเภา[แก้]

ปัจจุบัน พระครูสุจิตพัฒนพิธาน (สมพงษ์ สมจิตฺโต) วัดใหม่เจริญธรรม (อุตรดิตถ์) ได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์ประจำตำบลคุ้งตะเภา มีสิทธิที่จะทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ภายในวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา

นอกจากอุปัชฌาย์ประจำตำบลคุ้งตะเภา และเจ้าคณะเหนือขึ้นไปแล้ว พระภิกษุรูปอื่นแม้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์โดยชอบตามกฎมหาเถรสมาคม ไม่มีสิทธิทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรผู้จะบวชภายในวัด (วิสุงคามสีมา) ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาได้

การบรรพชาอุปสมบทพระสงฆ์ในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

โดยพระสังฆาธิการเจ้าคณะเหนือกว่าเจ้าคณะตำบลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่สามารถให้การอุปสมบทพระสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาได้โดยถูกต้องตามกฎมหาเถรสมาคมนั้นคือ พระครูเกษมธรรมาลังการ (อุดร) วัดหมอนไม้ ในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์, พระเทพปริยัติวิธาน (อำนวย จนฺทสโร) วัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง ในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์, พระธรรมปัญญาภรณ์ (สุชาติ ธมฺมรตโน) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 5, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในตำแหน่งเจ้าคณะหนเหนือ และสมเด็จพระสังฆราช หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยพระสังฆาธิการเจ้าคณะเหนือกว่าในระดับใดจะมาทำการอุปสมบทได้ เจ้าคณะในระดับรองกว่าเจ้าคณะผู้จะมาเป็นอุปัชฌาย์นั้นต้องทำหนังสือนิมนต์มาเท่านั้น หากทำผิดขั้นตอนจะเป็นการละเมิดจรรยาพระสังฆาธิการ อาจถูกสอบสวนและถูกถอดจากตำแหน่งพระสังฆาธิการได้

อ้างอิง[แก้]

  1. สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (2539). มุทิตาจิตสามเณร ป.ธ.๙ บ้านป่ากล้วย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง
  2. เทวประภาส มากคล้าย. (2552). แผนงานการปกครองคณะสงฆ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒. (เอกสารประกอบการประชุม). อุตรดิตถ์ : สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา. อัดสำเนา
  3. "สนามสอบธรรมศึกษาชั้นตรี-โท-เอก ส่วนภูมิภาค (มหานิกาย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-03. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°39′24″N 100°08′55″E / 17.65679°N 100.14849°E / 17.65679; 100.14849