เก๊กฮวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เก็กฮวย)

เก๊กฮวย เป็นพืชกลุ่มเดียวกับเบญจมาศ (chrysanthemum) อยู่ในวงศ์ Asteraceae หรือ วงศ์ทานตะวัน ชื่อสามัญ Chrysanthemum, Flower tea, Edible Chrysanthemum, Florist Chrysanthemum มีชื่อเรียกในสำเนียงแต้จิ๋วของคำในภาษาจีนว่า "菊花" สำเนียงกลางว่า "จฺหวีฮฺวา" (júhuā) เป็นพืชสมุนไพรมีฤทธิ์เย็นที่ได้รับความนิยม สามารถแยกย่อยได้หลายสายพันธุ์ สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาใช้ทำยาและเครื่องดื่มมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ เบญจมาศหนู (Chrysanthemum morifolium Ramat.) ซึ่งมีลักษณะดอกเป็นสีขาว และเบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum L.) ซึ่งมีดอกสีเหลือง ทั้งสองสายพันธุ์มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

เบญจมาศ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านไม่มาก ตามกิ่งก้าน และลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม ใบยาวรี ขอบใบจัก ใบสีเขียวอ่อนนุ่มมีขนอ่อน ทั้งกิ่งก้าน และใบของเบญจมาศ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ดอกออกตรงปลายกิ่ง อาจออกเป็นช่อ หรือ เป็นดอกเดี่ยวแล้วแต่สายพันธุ์ รูปร่างดอก ทรงกลมคล้ายทานตะวัน หรือ บานชื่น มีกลีบเรียวยาวเรียงซ้อนกันโดยรอบหลายชั้น ลักษณะกลีบ ดอกบางสายพันธุ์ยาวมาก และบิดม้วน ดอกเบญจมาศมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดโตมาก ไปจนถึง ดอกขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร มีสีหลากหลาย เช่น เหลือง ขาว ชมพู ม่วง แดง เป็นต้น

แต่ในกลุ่มของดอกเบญจมาศทั้งหมดมี 2 ชนิด ที่นิยมนำมาทำน้ำเก๊กฮวย หรือ ที่เรียกว่าดอกเก๊กฮวย คือ

  • เก๊กฮวยดอกขาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เก๊กฮวยขาวดอกใหญ่ มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้น ตรง แข็ง เป็นพุ่มใหญ่ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ก้านใบมีสีม่วงอมเขียว ดอกมีสีขาว ขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 4.7-5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5-6 ชั้น มีกลีบดอกประมาณ 90 กลีบ เมื่อนำมาตากแดด ดอกจะแห้งเร็ว เก๊กฮวยขาวดอกเล็ก มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้นตรง เป็นพุ่มเล็ก ลำต้นค่อนข้างอ่อน ดอกมีขนาดประมาณ 4.5 เซนติเมตร เล็กกว่าพันธุ์แรก ส่วนกลีบดอกมีมากกว่าที่ 6-7 ชั้น มีจำนวนกลีบดอกประมาณ 120 กลีบ ส่วนสีดอกมีสีขาวอมสีเนื้อ ดอกเมื่อนำมาต้มจะให้กลิ่นหอมกว่าดอกใหญ่ แต่อาจมีรสขมปนเล็กน้อย
  • เก๊กฮวยดอกเหลือง มีลักษณะทั่วไป คือ กลีบดอกมีสีเหลือง และให้รสขมมากกว่าพันธุ์ดอกขาวแต่ก็สามารถนำมาใช้ได้เหมือกันและมีสรรพคุณคล้ายกัน

ต้นกำเนิดและการกระจายพันธุ์[แก้]

เก๊กฮวย หรือ เบญจมาศ เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดขึ้นมาจากประเทศจีน[1] แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไป ในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว ไทย รวมถึงในยุโรปด้วยพันธุ์เก๊กฮวยที่นิยมปลูก และนำมาต้มเป็นน้ำเก๊กฮวยมากที่สุด คือ เก๊กฮวยดอกขาว ที่ปลูกมากกว่าร้อยละ 90 ของเก๊กฮวย ทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองหังโจ ประเทศจีนนอกจากเบญจมาศดอก สีขาวแล้ว ดอกเบญจมาศสีเหลืองขนาดเล็กที่บ้านเราเรียกว่า เบญจมาศหนู (Chrysanthemum indicum L.) ที่มีปลูกในเมืองไทย ก็สามารถนำมาตาก แห้งชงน้ำร้อนเป็นน้ำเก๊กฮวยได้เช่นเดียวกัน และยังมีสรรพคุณเหมือนกันอีกด้วย

ส่วนต่าง ๆ และคุณสมบัติทางเคมี[แก้]

ในดอกเก๊กฮวย มีสารเคมีธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic Acid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) หรือ ชาลโคน (Chalcone) สารไครแซนทีมิน (Chrysanthemin), สารอะดีนีน (Adenine), สตาไคดวีน (Stachydrine), โคลีน (Choline) กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหยอีกหลายชนิดที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

[2]สารกลุ่มฟลาโวนอยด์คือผู้ช่วยสำคัญสำหรับยับยั้งการอักเสบ และช่วยขับลม ระบายลม บำรุงปอด ตับ ไต ช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิดได้ กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารให้กลับมาเป็นปกติ ขับถ่ายง่ายกว่าเดิม สรรพคุณ คือ ดื่มแล้วช่วยแก้ร้อนใน ชุ่มคอ ช่วยทำให้ร่างกายเย็นลง ลดอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย

ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ก็ยังถือว่ามีประโยชน์ เช่น ดอกสดบดต้มในน้ำ เอากากมาพอกลดอาการอักเสบที่ดวงตาได้ดี หรือดอกเก๊กฮวยโดยตรงก็ช่วยรักษาอาการผมร่วง ทำให้สีผมดกดำ เงางาม ลดอาการปวดหัว บำรุงและรักษาสายตาไม่ว่าจะตาบวม เบลอ มองไม่ชัด

ประโยชน์ของเก๊กฮวย[3][แก้]

  • เก๊กฮวยสามารถแก้กระหาย และเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย แก้ร้อนใน มีฤทธิ์ยาเป็น ยาเย็น
  • สามารถดูดซับสารก่อมะเร็งและจุลินทรีย์ชนิดต่างๆที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และ สภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • บำรุงรักษาสายตา
  • แก้อาการปวดศรีษะ
  • ช่วยบรรเทาอาการวินเวียนศรีษะ หน้ามืด ตาลาย
  • แก้อาการหวัด และอาการไอ
  • ช่วยขับลมระบายในท้อง
  • บำรุงส่วนของปอด ตับ และไต แถมยังสามารถรักษาอาการผมร่วงได้

ดอกเบญจมาศในประวัติศาสตร์โลก[4][แก้]

ดอกเบญจมาศมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ย้อนกลับไปกว่า 2,500 ปีในจีนโบราณ ชื่อเบญจมาศมาจากคำภาษากรีก chrysos แปลว่าทองคำและ anthemon แปลว่าดอกไม้ ซึ่งสะท้อนถึงสีทองดั้งเดิมของดอกไม้ จักรพรรดิจีนชื่นชอบดอกเบญจมาศเป็นพิเศษ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งและการมีอายุยืนยาว ดอกไม้อันเป็นที่เคารพนับถือเหล่านี้ได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นในที่สุด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์และประเทศชาติ ในญี่ปุ่น เทศกาลดอกเบญจมาศหรือที่เรียกว่าวันดอกเบญจมาศหรือคิคุโนะเซกกุ มีการเฉลิมฉลองด้วยความกระตือรือร้นทุกปีในวันที่เก้าของเดือนที่เก้า ความหมายของดอกเบญจมาศอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรมและภูมิภาค ดอกเบญจมาศอุดมไปด้วยสัญลักษณ์และมีความหมายที่แตกต่างกันในส่วนต่างๆ ของโลก ต่อไปนี้เป็นความหมายทั่วไปบางประการที่เกี่ยวข้องกับเบญจมาศ

  • การมีอายุยืนยาวและเป็นอมตะ ในหลายวัฒนธรรมของเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีนและญี่ปุ่น ดอกเบญจมาศ มีความเกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาว ความเป็นอมตะ และชีวิตนิรันดร์ มักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพที่ยั่งยืนและชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข
  • ความสุข ดอกเบญจมาศยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความรื่นเริงอีกด้วย ในประเทศจีน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนแห่งความโชคดี และเชื่อกันว่าจะนำความสุขและเสียงหัวเราะมาสู่ชีวิต
  • การให้เกียรติผู้เสียชีวิต ในบางวัฒนธรรม ดอกเบญจมาศถูกใช้เป็นดอกไม้งานศพ และเกี่ยวข้องกับการไว้ทุกข์และการรำลึกถึง ในบริบทนี้ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงเกียรติและความเคารพต่อผู้เสียชีวิต
  • ความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสา โดยเฉพาะดอกเบญจมาศสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสา มักใช้ในงานแต่งงานและงานพิธีอื่นๆ เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว หรือเพื่อสื่อถึงความสะอาดและความซื่อสัตย์
  • ความรักและความชื่นชม ดอกเบญจมาศสีแดงบางครั้งใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความชื่นชม ทำให้เหมาะสำหรับโอกาสโรแมนติกหรือเป็นการแสดงออกถึงความรักอันลึกซึ้ง
  • ความสูงส่งและราชวงศ์ ในบางวัฒนธรรม ดอกเบญจมาศมีความเกี่ยวข้องกับความสูงส่งและราชวงศ์ ในอดีตพวกมันถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งพวกมันเป็นตัวแทนของราชวงศ์จักรพรรดิและประเทศชาติเอง

วิธีการเก็บเกี่ยว และการสกัด[5][แก้]

เก๊กฮวย สามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน เวลาที่เหมาะสมในการเก็บดอกเก๊กฮวยอยู่ในช่วง 9.00 - 10.00 น. เพื่อไม่ให้น้ำค้างอยู่ที่ดอกทำให้ดอกช้ำและอาจเกิดเชื้อราในภายหลัง เลือกดอกที่มีเกสรบาน 2 ใน 3 เก็บเฉพาะดอกที่มีเกสรสีเหลืองสด ใช้มือเก็บทีละดอก เด็ดก้านดอกให้ชิดมากที่สุด ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเก๊กฮวยสามารถเก็บเกี่ยวได้ 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายนตลอดทั้งเดือน หลังจาการเก็บเกี่ยว ช่วงที่1 แล้ว ให้ตัดแต่งต้นเก๊กฮวยเพื่อให้แตกกิง และเกิดทรงพุ่มใหม่ และสามารถเก็บเกียวในช่วงที่ 2 ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ตลอดทั้งเดือนเช่นกัน

ในการเก็บเกี่ยวแต่ละช่วงให้แบ่งเก็บ 3 ครั้งดังนี้

  • ครั้งที่ 1 เก็บดอกประมาณ 40% ของดอกที่ออกทั้งหมด
  • ครั้งที่ 2 เก็บหลังจากที่เก็บครั้งที่1ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เก็บดอกอีก 40% ของดอกที่ออกทั้งหมด
  • ครั้งที่ 3 เก็บหลังจากที่เก็บครั้งที่ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เก็บดอกออกทั้งหมด

กรรมวิธีการทำดอกเก๊กฮวยแห้ง[แก้]

ประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ

1. การนึ่งดอกเก๊กฮวย คือการนำดอกเก๊กฮวยมาใส่ในรังหม้อนึ่ง โดยใส่พอประมาณอย่าให้ซ้อนทับกันหนาเกินไป แล้วไปนึ่งในน้ำอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที อย่าให้น้ำเดือดกระทบดอก เก๊กฮวย เพราะจะทำให้ดอกแห้งมีสีไม่สวย จากนั้นเทดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้วใส่ในตะแกรง ใช้ไม้คน พลิกกลับให้ดอกแยกออกจากกัน และเกลี่ยบาง ๆ แล้วจึงนำเข้าตู้อบความร้อน

2. การทำดอกแห้ง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผึ่ง การตากแดด การอบด้วยลม ร้อน เป็นต้น วิธีการตากแดด นั้นจะใช้วิธีนี้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดดดี โดยนำกระจาดที่บรรจุดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้ว เทคว่ำลงในกระดังหรือเสื่อฟางข้าว แล้วนำไปผึ่งแดดทุกวัน พลิกกลับในตอนเช้าทุกวัน ตากจนเกสรแห้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน อบแห้งโดยใช้วิธีผิงไฟถ่านนำเก๊กฮวยที่นึ่งแล้ววางบนแขนงไม้ไผที่อยู่เหนือเตาถ่าน รักษา อุณหภูมิไว้ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ผิงไฟโดยกลับดอกซึ่งติดกันอยู่เป็นแผงเป็นระยะจนแห้งดี หรือประมาณ 6 ชั่วโมง ปกติดอกเก๊กฮวย แห้งน้ำหนักจะลดลงจากดอกสดในอัตราส่วน 1 ต่อ 7

การขยายพันธุ์[แก้]

เก๊กฮวยสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ การหว่านเมล็ด, การปักชำ, การใช้ตอเดิมให้แตกยอดใหม่ และการโน้มกิ่งทับดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ด้วย แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

หลังจากการอนุบาลต้นกล้าเก๊กฮวยประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นให้ตัดยอดปักชำ การตัดยอดให้นับจำนวนใบจากยอดนับลงมา 8 ใบ แล้วตัดจะได้กิ่งชำที่มีจำนวน 8 ใบ หลังจากนั้นทำการตัดแต่งกิ่งชำโดยการตัดใบคู่ล่างสุดออก 2 ใบ เพราะบริเวณด้านล่างสุดต้องปักชำลงในดินไม่จำเป็นต้องมีใบติดอยู่ เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้จำได้กิ่งชำที่มีจำนวน 6 ใบ จึงสามารถนำไปปักชำลงในถาดหลุมเพาะชำที่มีวัสดุปลูก คือ ดินผสมแกลบดำอัตราส่วน 1:1 อนุบาลไว้ในโรงเรือน หรือ ในที่ร่มรำไร ไม่ควรมีแสงแดดจัด รดน้ำทุกวันตอนเช้าเป็นเวลา 15 วัน กิ่งชำจะมีรากและมีลำต้นที่แข็งแรงพร้อมนำไปปลูก เป็นต้นพันธุ์

โรค และแมลงศัตรูพืช[6][แก้]

  1. โรคใบแห้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียระบาดมากในสภาพอากาศร้อน และความชื้นสูง การป้องกันกำจัด ควรใช้ กิ่งปักชำที่ปราศจากโรค และถ้ามีโรคระบาด ในแปลงควรเผาทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทสเตรปโตมัยซิน
  2. โรคใบจุดเกิดจากเชื้อรา ระบาดมากในฤดูฝน การป้องกันกำจัด ควรใช้กิ่งปักชำที่ปราศจากโรคมาปลูก และ ถ้ามีโรคระบาดในแปลงควรเผาทำลาย หรือ ฉีดพ่นด้วยสารเคมีประเภทสเตรปโตมัยซิน
  3. โรคดอกเน่าเกิดจากเชื้อรา ระบาดมากในฤดูฝน การป้องกันกำจัด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไซ เนบ, แคบแทน เอ็ม 45 โดยใช้ร่วมกับสารจับใบ
  4. โรคราสนิม เกิดจากเชื้อรา การป้องกันกำจัด ดูแลแปลงปลูก ให้สะอาด และฉีดพ่นด้วยเพลนท์แวกซ์ทุกๆ 7 วันในช่วงที่มีการระบาด
  5. เพลี้ยไฟขอบปล้องหยัก เพลี้ยไฟสามารถทำลายได้ทุกสวน จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากกลีบดอก ทำใหดอกไม่บาน หรือดอกแหวง และทำใหกลีบดอกเหี่ยวแหง การปองกันกําจัด พ่นด้วยอีมาเม็คติน เบนโซเอต ,คารโบซัลแฟน อิมิดา โคลพริด หรือฟโปรนิล
  6. หนอนกระทูผัก สามารถทำลายได้ทุกสวน โดยเฉพาะดอก อ่อน ช่วงเวลาระบาดเกือบทั้งปี ดอกแหว่งแล เหี่ยว การป้องกันกําจัด ฉีดพ่นด้วย สปีโนแซด ,อีมาเมคติน เบนโซเอท หรือ ลูเฟนนูรอน
  7. เพลี้ยออน ดูดกินน้ำเลี้ยงที่โคนกลีบดอก ทำให้ดอกหงิกงอ ไม่บานหรือยอดคดงอ ดอกมีขนาดเล็กลง สามารถระบาด ได้ทั้งปีและระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง การป้องกันกําจัด ฉีดพ่นดวยมาลาไธออน หรือบาซูดิน
  1. "Chrysanthemum indicum L. | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ).
  2. พาไปรู้จักกับ “เก๊กฮวย” มีประโยชน์อย่างไร ต้องการปลูกมีวิธีไหนบ้าง (arda.or.th)
  3. สรรพคุณและประโยชน์ทั้ง 12 ของเก๊กฮวย และชาเก็กฮวย (herbalfruits.com)
  4. รู้หรือไม่ว่า ดอกเบญจมาศ เป็นดอกไม้ที่หลายคนให้ความสำคัญอย่างมาก (bantabmai.ac.th)
  5. https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2022/12/เก๊กฮวย.pdf
  6. https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2022/12/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%81%E0%B8%AE%E0%B8%A7%E0%B8%A2.pdf