อำเภอเกาะลันตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เกาะลันตา)
อำเภอเกาะลันตา
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Ko Lanta
คำขวัญ: 
น้ำใส ป่าไม้สวย รวยเกาะ เหมาะทิวทัศน์ สัตว์น้ำอุดม ชมปะการัง ฝั่งลันตา
แผนที่จังหวัดกระบี่ เน้นอำเภอเกาะลันตา
แผนที่จังหวัดกระบี่ เน้นอำเภอเกาะลันตา
พิกัด: 7°39′20″N 99°2′31″E / 7.65556°N 99.04194°E / 7.65556; 99.04194
ประเทศ ไทย
จังหวัดกระบี่
พื้นที่
 • ทั้งหมด339.9 ตร.กม. (131.2 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด36,092 คน
 • ความหนาแน่น106.18 คน/ตร.กม. (275.0 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 81120 (เฉพาะตำบลเกาะกลางและตำบลคลองยาง),
81150 (เฉพาะตำบลเกาะลันตาน้อย ตำบลเกาะลันตาใหญ่ และตำบลศาลาด่าน)
รหัสภูมิศาสตร์8103
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา เลขที่ 147 หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ 81120
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เกาะลันตา เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกระบี่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรปนิยมมาท่องเที่ยวและพักผ่อนยังเกาะลันตา ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาะลันตามีอัตราการเจริญเติบโตสูงอันดับต้นของประเทศและของภูมิภาค

นอกจากโรงแรมและรีสอร์ตระดับ 5 ดาว ที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนั้นยังได้มีการลงทุนในที่อยู่อาศัยระดับหรูมูลค่าสูง ประเภทวิลล่า และบ้านพักตากอากาศในพื้นที่เกาะลันตาเป็นจำนวนมาก และในอนาคตอันใกล้คาดว่าจะมีโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวระดับ High Class ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่จะเดินทางมาเที่ยวยังเกาะลันตา เนื่องจากมีโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมในทุกด้านเช่น สนามบินนานาชาติ ท่าเรือยอชต์ และโครงการยอชต์มาริน่าซึ่งจะเกิดขึ้น และเป็นที่น่ายินดีที่เกาะลันตาได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนยังเกาะลันตา เช่น แองเจลินา โจลี และแบรด พิตต์ ดาราฮอลลีวูดระดับโลกที่เคยมาท่องเที่ยวพักผ่อน ในปี พ.ศ. 2555 นิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับเกาะลันตาใหญ่ให้เป็น 1 ใน 6 เกาะที่น่าเดินทางมาพักผ่อนและท่องเที่ยวที่สุดในโลก[1]

ชุมชนเก่าศรีรายา
ชายหาดเกาะลันตา

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอเกาะลันตามีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา

ประวัติ[แก้]

เกาะลันตาเดิมเป็นแขวงขึ้นกับอำเภอคลองท่อม เมืองปกาสัย (กระบี่) ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียก ลุนตั๊ดซู และภาษาอูรักลาโว้ยเรียกว่า ปูเลาส่าตั๊ก[2] ประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ชุมชนเมืองเก่าศรีรายากลายเป็นชุมชนที่รุ่งเรืองมาก ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางทะเลเลียบฝั่งอันดามัน มีการเดินเรือโดยสารและเรือสินค้าผ่านไปมาระหว่างเมืองระนอง เมืองตะกั่วป่า เมืองภูเก็ต เมืองพังงา เมืองกระบี่ เมืองตรัง และเมืองสตูล อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าหน้าด่านเล็กๆ สำหรับเก็บภาษีทางน้ำ และค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางทะเลที่ติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เช่น ปีนัง สิงคโปร์และพม่า ฯลฯ เป็นจุดแวะพักหลบภัยทางการเมือง และหลบลมมรสุมของเรือสำเภาจีน สำเภาแขก และเรือประมง ฯลฯ นอกจากนั้น ทะเลหมู่เกาะลันตายังเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคนั้นอาชีพทำโป๊ะจับปลา ทำสวนมะพร้าว เตาถ่าน เฟื่องฟูมาก ปลาเค็ม กะปิ น้ำมันยาง และถ่านไม้โกงกางกลายเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างถิ่น จากการที่เกาะลันตาเป็นชุมชนที่เริ่มมีความสำคัญทางการค้าดังกล่าว จึงได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเกาะลันตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 และได้ก่อตั้งอาคารที่ว่าการอำเภอบริเวณชุมชนเมืองเก่าศรีรายาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาเรืออวนลดน้อยลงเพราะปลาในทะเลเริ่มหายาก เรืออวนย้ายไปขึ้นฝั่งที่กันตัง ประกอบกับมีการตัดถนนเพชรเกษมสายกระบี่-ตรัง ผู้คนเริ่มใช้เส้นทางคมนาคมทางบกในการเดินทาง ทำให้เส้นทางทางทะเลลดบทบาทลง ความสำคัญในฐานะเมืองท่าและด่านเก็บภาษีทางน้ำก็หมดไปด้วย หน่วยงานสำคัญทางราชการ เช่นด่านศุลกากรก็หมดบทบาทหน้าที่ ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ความรุ่งเรืองของเกาะลันตา ค่อย ๆ ซบเซาลง ผู้คนในท้องถิ่นหมดอาชีพพากันอพยพย้ายถิ่นพาครอบครัวไปอยู่ที่อื่น แต่ระยะนั้นยังมีเรือเมล์วิ่งระหว่างบ่อม่วง-ตลาดศรีรายา ชาวบ้านที่จะเดินทางจากเกาะลันตาน้อยและลันตาใหญ่ไปยังแผ่นดินใหญ่หรือต้องการเดินทางมาติดต่อราชการยังที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาจะต้องใช้เส้นทางนี้ จนกระทั่งมีการสร้างสะพานคลองยาง และท่าเทียบเรือแพขนานยนต์ สามารถเดินทางไปเกาะลันตา โดยขับรถยนต์ลงเรือแพขนานยนต์ข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ไปเกาะลันตาน้อย และจากเกาะลันตาน้อยไปเกาะลันตาใหญ่ เส้นทางคมนาคมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาจึงเปลี่ยนแปลงไป หมดยุคเรือเมล์ เป็นเหตุให้ตลาดศรีรายาซบเซาไปจากเดิม กลายเป็นเมืองเก่าที่ร้างผู้คนไปชั่วระยะหนึ่ง  ผู้คนรุ่นใหม่ที่มีฐานะทางการเงินดี จะอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น คงเหลือแต่ผู้สูงอายุและสภาพบ้านเรือนที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมมายาวนาน ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2541 ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาจากชุมชนศรีรายาไปตั้งที่บ้านหลังสอด ตำบลเกาะลันตาน้อย ชุมชนศรีรายาจึงยิ่งซบเซาลงไปอีก ประชากรมีจำนวนน้อยลง ขณะที่ตลาดศรีรายายังคงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนเก่า และบรรยากาศแบบดั้งเดิมอยู่มาก

หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา จังหวัดกระบี่เริ่มเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวและค่อยๆขยายพื้นที่เข้ามาบนเกาะลันตา การเติบโตของชุมชนท่องเที่ยวอยู่อีกซีกหนึ่งของเกาะ คือบริเวณบ้านศาลาด่าน ส่วนที่ตลาดศรีรายามีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปชมบรรยากาศ และใช้บริการร้านอาหารอยู่บ้าง จนกระทั่งปัจจุบันเริ่มมีผู้คนต่างถิ่นจากภายนอกเข้ามาเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยและทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านบาร์เบียร์ เพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เกาะลันตากลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งในฐานะเมืองท่องเที่ยว[3]

  • วันที่ 5 กันยายน 2481 โอนพื้นที่หมู่ 4 บ้านคลองหวายเล็ก, หมู่ 7 บ้านคลองแรด และหมู่ 6 บ้านแหลมกรวด (ในขณะนั้น) ของตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเกาะลันตา ไปขึ้นกับตำบลคลองขนาน อำเภอเมืองกระบี่[4]
  • วันที่ 15 ตุลาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลเกาะลันตาใหญ่ ในท้องที่บางส่วนของตำบลเกาะลันตาใหญ่[5]
  • วันที่ 6 ธันวาคม 2503 โอนพื้นที่ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเกาะลันตา ไปขึ้นกับอำเภอเมืองกระบี่[6]
  • วันที่ 27 กันยายน 2526 ตั้งตำบลศาลาด่าน แยกออกจากตำบลเกาะลันตาใหญ่[7]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลเกาะลันตาใหญ่ เป็นเทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่[8] ด้วยผลของกฎหมาย
  • วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาด่าน ขึ้นเป็น เทศบาลตำบลศาลาด่าน[9]
สะพานสิริลันตา เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกาะแห่งเดียวในไทย
ถนนบนเกาะลันตา
เกาะลันตาใหญ่

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอเกาะลันตาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 36 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[10]
แผนที่
1. เกาะลันตาใหญ่ Ko Lanta Yai
8
20,490
 แผนที่ตำบล
2. เกาะลันตาน้อย Ko Lanta Noi
6
11,027
3. เกาะกลาง Ko Klang
10
18,819
4. คลองยาง Khlong Yang
7
10,666
5. ศาลาด่าน Sala Dan
5
6,988

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอเกาะลันตาประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะลันตาใหญ่ เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1–2
  • เทศบาลตำบลศาลาด่าน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศาลาด่านทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะลันตาใหญ่ เฉพาะหมู่ที่ 3–8 และบางส่วนของหมู่ที่ 1–2
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะลันตาน้อยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะกลางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองยางทั้งตำบล
เกาะลันตาใหญ่
หาดบนเกาะลันตา

รายชื่อเกาะในอำเภอเกาะลันตา[แก้]

อำเภอเกาะลันตามีเกาะหลักคือเกาะลันตาใหญ่และเกาะลันตาน้อย ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่ประมาณ 78.27 ตารางกิโลเมตร และ 72.87 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ และเกาะเล็ก ๆ อีก 39 เกาะ ซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.เกาะกลาง, อบต.คลองยาง, อบต.เกาะลันตาน้อย, อบต.เกาะลันตาใหญ่ และทต.ศาลาด่าน) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ทุกเกาะมีพื้นที่รวม 170.662 ตารางกิโลเมตร[11]

ที่ ชื่อเกาะ ตำบล พื้นที่

(ตร.กม.)[12]

หน่วยงานรับผิดชอบ[12]
1 บาตู เกาะกลาง 0.028 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
2 ปริง เกาะกลาง 0.031 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกลาง
3 งู เกาะกลาง 0.037 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
4 ร่าปูพัง เกาะกลาง 0.079 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
5 ไม้งาม เกาะกลาง 0.267 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
6 ย่านัด เกาะกลาง 0.601 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกลาง
7 ไม้งามใต้ เกาะกลาง 0.696 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
8 ลาปูเล เกาะกลาง 1.193 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
9 นกงั่ว เกาะลันตาน้อย 0.002 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
10 หนุ่ย เกาะลันตาน้อย 0.003 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
11 ผี เกาะลันตาน้อย 0.024 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
12 แดง เกาะลันตาน้อย 0.027 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
13 สน เกาะลันตาน้อย 0.079 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
14 เปลว เกาะลันตาน้อย 0.130 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
15 หนุ่ยนอก เกาะลันตาน้อย 0.134 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
16 กำนุ้ย เกาะลันตาน้อย 0.203 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
17 กำใหญ่ เกาะลันตาน้อย 0.769 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
18 กลาง เกาะลันตาน้อย 0.820 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
19 ตะละเบ็ง เกาะลันตาน้อย 2.260 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
20 ลันตาน้อย เกาะลันตาน้อย 72.873 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
21 หม้อ เกาะลันตาใหญ่ 0.004 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
22 เหล็ก เกาะลันตาใหญ่ 0.013 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย
23 หนุ่ย เกาะลันตาใหญ่ 0.013 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
24 ม้า เกาะลันตาใหญ่ 0.018 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
25 หนุ่ยกลาง เกาะลันตาใหญ่ 0.021 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
26 หินแดง เกาะลันตาใหญ่ 0.026 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
27 ตุกนลิมา เกาะลันตาใหญ่ 0.082 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
28 กลาง เกาะลันตาใหญ่ 0.236 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาใหญ่
29 รอกใน เกาะลันตาใหญ่ 1.541 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
30 ปอ เกาะลันตาใหญ่ 1.542 องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาใหญ่
31 รอกนอก เกาะลันตาใหญ่ 1.874 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
32 ไหง เกาะลันตาใหญ่ 3.635 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
33 ลันตาใหญ่ เกาะลันตาใหญ่,ศาลาด่าน 78.270 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
34 เขาขวาก คลองยาง 0.005 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง
35 กา คลองยาง 0.212 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง
36 ลังสุด คลองยาง 0.354 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง
37 เขาขวาก คลองยาง 0.672 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง
38 ไม้งาม คลองยาง 0.761 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
39 วันตีวะ คลองยาง 0.984 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง
40 แร้ง ศาลาด่าน 0.012 เทศบาลตำบลศาลาด่าน
41 หมา ศาลาด่าน 0.131 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

อ้างอิง[แก้]

  1. World's Sexiest Islands จากนิตยสารฟอบส์
  2. ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์, รองศาสตราจารย์ ดร. ศรีรายา : อัตลักษณ์ของชุมชนและมรดกทางวัฒนธรรม (PDF). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 167. (2556)
  3. แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - ชุมชนเก่าศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (ประเภทแหล่งศิลปกรรมฯ พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พระราชวัง)
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในจังหวัดกระบี่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ง): 1939–1940. September 5, 1938.
  5. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (83 ง): (ฉบับพิเศษ) 1-2. October 15, 1956.
  6. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอเกาะลันตา และอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. ๒๕๐๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 77 (100 ก): 1025–1027. December 6, 1960.
  7. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (154 ง): 3500–3507. September 2, 1983.
  8. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  9. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นเทศบาลตำบลศาลาด่าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 137 (ตอนพิเศษ 112 ง): 6–7. May 13, 2020.
  10. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  11. "ข้อมูลเกาะรายจังหวัด - เกาะในจังหวัดกระบี่ (ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง". กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง: 1. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566
  12. 12.0 12.1 "เกาะในประเทศไทย - ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง". km.dmcr.go.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)