ฮูดู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮูดู คือความเชื่อทางไสยศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งผสมผสานระหว่างความเชื่อทางไสยศาสตร์พื้นบ้านของชาวแอฟริกันกับความเชื่อของชาวอเมริกัน โดยมีพื้นฐานมาจากความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและธรรมชาติของแอฟริกันโบราณ ความเชื่อแขนงนี้แพร่สู่ประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านทางทาสชาวแอฟริกันตะวันตกในรูปแบบของเครื่องราง เวทมนตร์คาถาทั้งเพื่อการรักษา ป้องกันเคราะห์ อวยพร เครื่องรางที่เป็นเอกลักษณ์ของความเชื่อแขนงนี้คือ โมโจ (Mojo) มีลักษณะเป็นถุงใส่สมุนไพร รากไม้ เศษกระดูกหรือชิ้นส่วนเล็กๆของสัตว์ เหรียญ หินต่างๆ ตลอดจนวัสุอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีพลังพิเศษ

ฮูดูคืออะไร[แก้]

Oxford River Books English - Thai Dictionary อธิบายคำว่า Hoodoo ไว้ดังนี้

Hoodoo /'hu:du:/ฮูดู/ n. (American English) (bad spell) อาถรรพณ์ (ทางร้าย) , คุณไสย (British English) (bringer of bad luck) ตัวกาลกินี, ตัวซวย

ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างฮูดูและวูดู[แก้]

การเขียนและการออกเสียงที่คล้ายกันทำให้เกิดความสับสนระหว่างคำว่าฮูดูและวูดู (Voodoo) ว่าเป็นคำเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วฮูดูและวูดูมีที่มาและลักษณะที่แตกต่างกัน

วูดู เป็นศาสนาโบราณในประเทศแอฟริกา ซึ่งเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วทวีปแอฟริกาตะวันตก มีอิทธิพลต่อความคิด ขนบประเพณี และการดำเนินชีวิตของชาวแอฟริกันหลายเผ่า แม้ส่วนใหญ่ผู้คนจะรู้จักวูดูในด้านที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นซอมบี้ การสาปแช่งโดยนำเศษผมหรือเล็บของศัตรูไปใช้ประกอบพิธีหรือการปักเข็มบนตุ๊กตาวูดู แท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนย่อยของวูดูซึ่งมีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง ศาสนาวูดูมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าว่าคอยดูแลธรรมชาติและความเป็นอยู่ของผู้คน กำหนดแนวทางให้อยู่กันอย่างสงบสุขระหว่างคนและธรรมชาติ แม้แต่การปักเข็มลงบนตุ๊กตาก็มีที่มาจากการสอนการรักษาโรค และผู้นับถือศาสนาวูดูก็เป็นเหมือนผู้คนทั่วไปที่นับถือศาสนาอื่นๆ มิได้นับถือปิศาจอย่างที่สื่อนำเสนอแต่อย่างใด

ในขณะที่ฮูดูนั้นเป็นเพียงแค่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ประยุกต์เอาความเชื่อต่างๆ ในแอฟริกา ซึ่งรวมถึงความเชื่อของศาสนาวูดูด้วย มาประยุกต์เข้ากับความเชื่อพื้นบ้านของชาวอเมริกัน ฮูดูใช้วัตถุตามธรรมชาติทั้งเพื่อสาปแช่งและรักษาผู้ป่วย และในเพลงบลูส์ของอเมริกาจำนวนมากล้วนมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับฮูดูแทรกปนอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทั้งวูดูและฮูดูล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความคิด ความรู้สึกของผู้คน แม้จะอยู่ในระดับที่ต่างกัน ที่สำคัญคือมิได้เป็นความเชื่อที่มีแต่ข้อเสีย แต่มีทั้งการรักษาอาการเจ็บป่วย การเยียวยาบำบัดทั้งสภาพกายและใจของผู้คนให้ดีขึ้น ตลอดจนข้อดีอื่นๆ ต่อการดำเนินชีวิตรวมอยู่ด้วย

ฮูดูในสื่อต่างๆ[แก้]

ในอเมริกา ความเชื่อเกี่ยวกับฮูดูแพร่หลายไปในสื่อต่างๆ มากมาย ทั้งในวงการเพลง เช่น เพลงบลูส์ Born on the Bayou ของ Creedence Clearwater Revival ก็มีเนื้อหาบางตอนที่เกี่ยวข้องกับฮูดู หรือวงร็อก Muse ที่ตั้งชื่อเพลงเพลงหนึ่งว่า Hoodoo โดยตรง หนังสือที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเชื่อแขนงนี้ไปจนถึงตำราฝึกปฏิบัติ เช่นเกม เช่นในเกม Gabriel Knight: Sins of the Father เกมแนว adventure ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2536 มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับฮูดูเช่นกัน แม้ว่าความเชื่อแขนงนี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ. 2548 ภาพยนตร์เรื่อง Skeleton Key ที่นำเข้ามาฉายในชื่อไทยว่า "เปิดประตูหลอน" ก็ทำให้มีผู้รู้จักฮูดูเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อหาของภาพยนตร์มุ่งเน้นไปที่การใช้เวทมนตร์คาถาของฮูดู

ข้อแนะนำในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

ฮูดูเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะมีเรื่องราวที่แปลกประหลาด มหัศจรรย์ บางเรื่องอาจเหนือธรรมชาติ จึงช่วยกระตุ้นความใฝ่รู้ได้เป็นอย่างดี กระนั้นควรศึกษาในแง่ของความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมในฐานะที่ฮูดูเป็นความเชื่อที่มีอยู่จริง สามารถศึกษาได้ทั้งแนวกว้าง คือค้นคว้าหารายละเอียดเพิ่มเติม และแนวลึก คือการวิเคราะห์ วิจัยอย่างลึกซึ้งถึงเหตุผล ทั้งด้านความสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน หรือศึกษาในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ไม่ควรศึกษาด้วยความงมงาย หวังจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามต้องการ เพราะความเชื่อเรื่องฮูดูนั้นเหมือนกับความเชื่อด้านไสยศาสตร์แขนงอื่นๆ คือไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และการเชื่ออย่างไร้เหตุผลนั้นย่อมนำผลเสียมากกว่าผลดีมาสู่ผู้ศึกษา