ฮิบะกง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮิบะกง (ญี่ปุ่น: ヒバゴンโรมาจิHibagonทับศัพท์: ฮิบะกง) หรือ ฮินะกง (ญี่ปุ่น: ヒナゴンโรมาจิHinagonทับศัพท์: ฮินะกง) ชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตลึกลับขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่พบในประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายกึ่งมนุษย์กึ่งลิง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับ เยติในเทือกเขาหิมาลัย และบิ๊กฟุตในป่าลึกของสหรัฐอเมริกา

การพบเห็นฮิบะกงครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1970 ในพื้นที่ใกล้กับภูเขาฮิบะ ใกล้กับจังหวัดทตโตะริ ในจังหวัดฮิโระชิมะ 3 วันหลังจากการพบเห็นนั้น มีรายงานมีผู้พบเห็นสัตว์ลักษณะคล้ายลิงมีขนยาวเดินผ่านทุ่งนาในชนบทนอกเมืองไซโจ มีประจักษ์พยานพบเห็นทั้งหมดในปีนั้นรวม 12 ราย รวมถึงมีการพบรอยเท้าในหิมะในเดือนธันวาคมอีกด้วย

ต่อมามีการพบเห็นฮิบะกงมากขึ้น ในพื้นที่รอบภูเขาฮิบะ ในช่วงฤดูร้อนระหว่างปี ค.ศ. 1971-1973 เนื่องจากมีการล่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าทั้งหลายต่างหนีลงมาจากภูเขา ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1974 มีการถ่ายรูปฮิบะกงได้เป็นครั้งแรก เป็นรูปที่มันหลบซ่อนอยู่หลังต้นพลับ ขนาดของรอยเท้าที่วัดได้ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร (9 นิ้ว) พบในบริเวณใกล้เคียง

แต่หลังจากปี ค.ศ. 1974 แล้ว การพบเห็นฮิบะกงแทบจะไม่ปรากฏมีอีกเลย จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1980 มีการรายงานพบเห็นมันเดินข้ามแม่น้ำซึ่งเป็นพรมแดนใกล้เมืองยะมะโนะ ซึ่งตอนนี้ฮิบะกงเป็นที่รู้จักในชื่อ ยะมะกง (Yamagon) มันถูกพบเห็นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1981 ที่ถนนใกล้กับสถานีอนามัย แต่รายงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982 ที่เมืองมิซูกิ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกราว 30 กิโลเมตร จากเมืองยะมะโนะ แต่ในครั้งนี้ยะมะกงมีลักษณะแปลกไปจากสัตว์ประเภทเดียวกันตัวอื่น ๆ คือ มีรายงานว่ามันถือสิ่งที่ดูคล้ายเป็นเครื่องมือที่ทำจากหินเหมือน ขวาน อีกด้วย

โดยรวมแล้วฮิบะกงมีขนสีน้ำตาล, แดง หรือน้ำตาลดำ ในบางรายงานระบุมีขนสีขาวบนแขนหรือหน้าอกด้วย มีกลิ่นตัวเหม็น ใบหน้าปกคลุมด้วยขน มีจมูกเชิด และแววตาแลดูฉลาด ลักษณะใบหน้าบางครั้งระบุว่าค่อนข้างยาวแต่แบนและยื่นออกมามากกว่ามนุษย์ ส่วนศีรษะรายงานส่วนใหญ่มักบอกตรงกันว่า มีขนาดใหญ่และเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมหัวกลับ

ฮิบะกงมีรูปร่างเล็กกว่าบิ๊กฟุตหรือซาสควอซท์ ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉลี่ยแล้วฮิบะกงมีความสูงประมาณ 5 ฟุต และหนักประมาณ 180 ปอนด์ แต่ฮิบะกงมีความคล้ายกับลิงไม่มีหางมากกว่าซาสควอทซ์ โดยฮิบะกงถูกอธิบายว่า มีลักษณะเหมือนกอริลลา และมักจะเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อยๆ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]