ฮัตสึเนะ (ตำนานเก็นจิ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฮะสึเนะ (ตำนานเก็นจิ))

ฮัตสึเนะ (ญี่ปุ่น: 初音โรมาจิHatsune; แปล: แรกสำเนียงนกน้อย) เป็นบทที่ 23 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

ที่มาของชื่อบท ฮัตสึเนะ[แก้]

ฮัตสึเนะ (初音, Hatsune ) แปลเป็นไทยคือ เสียงแรก สำเนียงแรก(ของปี) ในตำนานเก็นจินั้น เสียงในที่นี้หมายถึงเสียงของนกอุงุอิสุ (鶯, นกกระจิบญี่ปุ่น , Japanese Bush-warbler) ที่เอ่ยอ้างถึงในคำกลอนของอะคะชิโนะคิมิ ที่ส่งถึง ท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ ผู้เป็นบุตรีแท้ๆ แต่ได้รับการเลี้ยงดูโยมุระซะกิ โดยอะคะชิโนะคิมิ ไม่มีโอกาสได้พบหน้าบุตรีแท้ๆ จึงบรรยายในคำกลอนถึงความคิดถึงที่มีต่อเด็กหญิงน้อยดังนี้

「年月を 松にひかれて経る人に

  今日鴬の初音聞かせよ 」[1]

"Toshi-tsuki wo matsu ni hika re te furu hito ni

 kefu uguisu no hatsune kika se yo"![2]

โทะชิซึกิโวะ มัตสึนิฮิคะเระเตะ ฟุรุฮิโตะนิ

เคะฟุอุงิอิสุโนะ ฮัตสึเนะคิคะเสะโยะ

เฝ้าคอยนับปีเดือน จวบปีใหม่เยือนฤกษ์มงคล พิศมองเขาถอนสน หทัยหวังเพียงได้ยินยล แรกสำเนียงเสียงสกุณา

โดย นกอุงุอิสุ มีความหมายสื่อแทน ท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ ( บุตรี )


นกอุงุอิสุ หรือ Japanese Bush-warbler

ตัวละครหลักในบท[แก้]

  • เก็นจิ  : ตำแหน่งไดโจไดจิน ( อัครมหาเสนาบดี ) อายุ 36
  • มุระซะกิ  : ภรรยาของเก็นจิ อายุ 28
  • จูโจ  : นางกำนัลรับใช้มุระซะกิ
  • ท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ  : บุตรีของเก็นจิกับอะคะชิโนะคิมิ อายุ 8 ปี
  • ฮะนะจิรุซะโตะ  : ท่านหญิงดอกส้มแห่งเรือนคิมหันต์ ภรรยาคนหนึ่งของเก็นจิ
  • ทะมะคะซึระ  : บุตรีของยูงะโอะกับโทโนะจูโจ ที่เก็นจิรับมาดูแลในฐานะ บุตรสาว อายุ 22
  • อะคะชิโนะคิมิ  : ภรรยาคนหนึ่งของเก็นจิ อายุ 27
  • ซุเอะสึมุฮะนะ  : องค์หญิงแห่งฮิตะจิ ภรรยาคนหนึ่งของเก็นจิ
  • อุสึเซะมิ  : อดีตภรรยาหม้ายของอิโยะโนะคะมิ ปัจจุบันบวชเป็นชี และอยู่ภายใต้ความดูแลของเก็นจิ
  • ยูงิริ  : บุตรชายของเก็นจิกับอะโอะอิ ตำแหน่งจูโจ ( พลโท ) อายุ 15
  • โคไบ  : บุตรชายรองของโทโนะจูโจ

เรื่องย่อ[แก้]

ดอกเหมยขาว
ดอกยะมะบุกิ หรือ Kerria

ปีใหม่มาเยือนคฤหาสน์โระคุโจ โดยวันแรกของปีนั้นตรงกับวันชวดพอดี เป็นเรื่องที่หาได้ยากและเป็นมงคล ทำให้บรรยากาศภายในคฤหาสน์ดูสดชื่นแจ่มใส โดยเฉพาะในส่วนของเรือนวสันต์นั้น งามเป็นพิเศษด้วยหมู่ดอกเหมยที่แย้มบานส่งกลิ่นกรุ่นกำจายไปทั่วบริเวณ เก็นจิบรรจงแต่งกายอย่างงดงามที่สุดเพื่อเยี่ยมเยียนภรรยาและครอบครัวทุกคนอย่างเป็นทางการ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่

เก็นจิไปพบมุระซะกิเป็นคนแรก พวกเขาต่างแต่งโคลงกลอนแลกเปลี่ยนกัน ขอให้รักของทั้งคู่นั้นมั่นคงยืนยาวชั่วนิรันดร์ เด็กๆในคฤหาสน์ต่างพากันถอนต้นสนที่เพิ่งงอกในสวนเล่นกันอย่างสนุกสนาน ลำดับต่อมา เก็นจิไปพบกับ ท่านหญิงน้อยอะคะชิบุตรี เขาสังเกตเห็นของขวัญปีใหม่ที่อะคะชิโนะคิมิ ส่งมาถึงบุตรีน้อยๆที่นางไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดู และขณะนี้เด็กหญิงน้อยอยู่ในความดูแลของมุระซะกิ ของขวัญนั้นเป็นตะกร้าสานที่ประดับไว้ด้วยกิ่งสนประดิษฐ์ที่มีนกอุงุอิสุ( นกกระจิบญี่ปุ่น ) น้อยๆประดิษฐ์เกาะอยู่ ผูกไว้ด้วยคำกลอน

เมื่อเก็นจิได้อ่านคำกลอนนั้น ยิ่งทำให้เขาเสียใจและรู้สึกผิดต่ออะคะชิโนะคิมิ เพราะเขาได้พรากลูกน้อยออกจากอกนางมา แม้นางจะเป็นมารดาแท้ๆแต่ด้วยศักดิ์ต่ำจึงไม่อาจเลี้ยงดูท่านหญิงน้อยให้เติบโตสมฐานะได้ จึงต้องปล่อยให้มุระซะกิ เป็นมารดาเลี้ยงดูท่านหญิงน้อยแทน ในยามนี้นางคงคิดถึงท่านหญิงน้อยมากเพราะไม่อาจเห็นหน้าค่าตากันเลย เก็นจิจึงกล่าวกันท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ ให้นางตอบคำกลอนของมารดาด้วยตัวนางเอง

ต่อมาเก็นจิไปเยี่ยมฮะนะจิรุซะโตะ ที่เรือนคิมหันต์ เขาพูดคุยกับท่านหญิงดอกส้มอย่างสนิทสนมกลมเกลียวและผ่อนคลาย หลังจากนั้นเก็นจิก็เข้าพบทะมะคะซึระ ที่พำนักในเรือนคิมหันต์เช่นกัน นางช่างงดงามที่ชุดสีดอกยะมะบุกิที่เขาเลือกสรรให้เป็นของขวัญปีใหม่ งามจนเขาอดฉงนใจไม่ได้ว่าจะปฏิบัติต่อนางเช่นบิดาได้นานเพียงไร

ท้ายสุด เก็นจิไปพบอะคะชิโนะคิมิที่เรือนเหมันต์ในยามค่ำ นางกำลังตื้นตันใจกับคำกลอนที่บุตรีตอบมา เก็นจิพูดคุยกับนางอย่างสนิทสนมและค้างคืนอยู่ที่นั่นจนรุ่งเช้า

อีกสองสามวันให้หลัง เก็นจิจึงไปเยี่ยมเยียนพบปะทุกคนได้จนถ้วนหน้า ในวันสุดท้ายนั้น เขาไปพบ ซุเอะสึมุฮะนะ ที่พำนักอยู่ปีกตะวันออกของคฤหาสน์นิโจ ถัดจากนั้นเขาเข้าพบอุสึเซะมิ ซึ่งบวชเป็นชีหลังจากสามีเสียชีวิตลง และเขาก็พานางมาดูแลที่คฤหาสน์นิโจเช่นกัน เก็นจินั้นไม่เคยลืมเลือนผู้คนที่เขาเคยมีความสัมพันธ์ด้วย และเขาจะดูแลคนเหล่านั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ไปตลอดชีวิต[3]

เนะโนะฮิอะโซะบิโคะมัตสึฮิกิ[แก้]

การละเล่นถอนต้นสนอ่อนที่เพิ่งงอก หรือ 小松引き ( โคะมัตสึฮิกิ Komatsuhiki ) เป็นการละเล่นในวันปีใหม่ที่ตรงกับกับวันราศึชวด ( 子の日, เนะโนะฮิ , the first day of the rat of the new year ) พอดี ซึ่งถือว่าเป็นมงคล ที่ไม่มีบ่อยๆ มีขึ้นตั้งแต่สมัยเฮอัน โดยขุนนางจะนิยมพากับออกท่องเที่ยวไปในภูเขา เพื่อเพิ่มพลังหยินหยางสร้างมงคล ในเรื่องตำนานเก็นจิ ใบ ฮัตสีเนะ นี้เอง ก็มีการกล่าวถึง โคะมัตสึฮิกิ เช่นกัน ว่าบรรดาเด็กๆและคนหนุ่มสาวต่างพากันดึงต้นสนที่เพิ่งงอกออกมาทั้งรากกันอย่างสนุกสนาน[4] ต้นสนนั้นมีความหมายเป็นมงคลหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว

ศึกษาเพิ่มเติม[แก้]

อ้างอิง[แก้]