ฮก ลก ซิ่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮก ลก ซิ่ว
ฮก ลก ซิ่ว ที่วัดจีนในฮ่องกง
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม福祿壽
อักษรจีนตัวย่อ福禄寿
ชื่อภาษาเวียดนาม
จื๋อโกว๊กหงือPhúc Lộc Thọ
รูปเคารพ (จากขวา) ฮก, ลก, ซิ่ว

ฮก ลก ซิ่ว (จีนตัวย่อ: 福禄寿; จีนตัวเต็ม: 福祿壽; พินอิน: Fú Lù Shòu; พินอินกวางตุ้ง: Fuk1 Luk6 Sau6; อังกฤษ: Fu Lu Shou) หรือ ซานซิง (三星 "ดาว 3 ดวง") เป็น 3 เทพเจ้าจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล 3 ประการของจีน แห่งการอวยพร ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นเทวรูปประดับตั้งวางอยู่ภายในบ้าน

คนไทยส่วนมากรวมถึงคนจีนส่วนหนึ่งก็มักเข้าใจผิด คิดว่าเทพฮก คือเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง แท้จริงเทพฮกคือเทพองค์ที่อุ้มเด็ก เพราะคำว่า ลก หมายถึง ยศถาบรรดาศักดิ์ จึงหมายถึงเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง บางทีจะถูกวาดคู่กับกวาง เพราะในภาษาจีน คำว่ากวางพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนเทพฮกจะอุ้มเด็ก หมายถึงความสุขต่าง ๆ ในชีวิต พึงระวังการจำสับสนกัน

ฮก[แก้]

ฮก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ฝู (ภาษาจีนกลาง) (จีน: ) หมายถึง โชคลาภและความมั่งคั่ง บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ คือ ประกอบพร้อมด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค แก้วแหวนเงินทอง และบริบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติ มีบุตร ภรรยา ญาติมิตร คนใช้สอย เป็นต้น ลักษณะของฮก เป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเส้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงโภคสมบัติ มือหนึ่งอุ้มเด็ก แสดงถึงบริวาร สมบัติ นิยมให้เป็นเด็กผู้ชาย เพราะหมายถึงการสืบต่อวงศ์ตระกูล มีค้างคาวเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ความสุข วาสนา

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "เจี่ยวช้ง" เป็นพ่อค้า มหาเศรษฐี ในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ร่ำรวยจากการค้าขายที่สุจริต และ คนในครอบครัว ลูกหลาน ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด มีเรื่องเล่าขานกันว่า บ้านพักของท่านเจี่ยวช้งนั้น ห่างจากพระราชวังถึง 20 ลี้ เพียงท่านก้าวพ้นจากเขตที่ดินของท่าน ก็เป็นเขตพระราชวัง ด้วยความที่ท่านมีทรัพย์สมบัติมาก ประกอบกับท่านเป็นใจบุญ ให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่ทุกข์ยาก จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน และนับถือท่านเป็นเทพผู้นำความสุขมาให้ ในสมัยก่อน

ลก[แก้]

ลก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ลู่ (ภาษาจีนกลาง) (จีน: ) หมายถึง บุญวาสนา อำนาจ เกียรติยศ ลักษณะของลก เป็นรูปขุนนางจีนสวมหมวก มีปีกหมวกกางออกไปสองข้าง มือถือคทายู่อี่ ซึ่งเป็นคทาแห่งความสมปรารถนา มีกวางเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "ก๋วยจื่องี้" เป็นข้าราชการระดับอัครเสนาบดี (ข้าราชการระดับสูง) ที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์ ยุติธรรม รับใช้ราชการนานหลายแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อแผ่นดินนั้น เป็นที่ประจักษ์ต่อ ฮ่องเต้หลายพระองค์ จึงมีราชการโองการ ให้อยู่ในตำแหน่งตลอดทั้ง 4 แผ่นดิน และได้รับมอบ ดาบหยก และ เข็มขัดหยก ให้สามารถทำการใด ๆ แทนฮ่องเต้ก่อน แล้ว ค่อยทูลถวายภายหลังได้ ท่าน ก๋วยจื่องี้ เป็นข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่ง นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ซิ่ว[แก้]

ซิ่ว (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ โซ่ว (ภาษาจีนกลาง) (จีน: 寿) หมายถึงอายุยืน ลักษณะของซิ่วเป็นรูปชายชราหน้าตาใจดี หนวดเครายาวสีขาว ศีรษะล้าน ส่วนหน้าผากโหนกนูนเห็นชัดเจน มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือหนึ่งถือผลท้อ ซึ่งเป็นผลไม้แห่งความยั่งยืนและมักจะมีนกกระเรียนขาวอยู่ข้างกาย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาว

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "แผ่โจ้ว" เป็นบุคคลที่กลัวความแก่ และความตายมากที่สุด จึงรักษาสุขภาพ ร่างกาย และ จิตใจของตนเองให้มีความสุข แข็งแรง ตลอดเวลา ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวใหญ่ มีภรรยา และ ลูกหลานมากมาย และเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านแผ่โจ้วนั้นมีอายุยืนกว่า 800 ปี มีภรรยาเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 49 คน และ บุตรหลานเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 154 คน

การแสดงออก[แก้]

ใช้เป็นสัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ กันคือ

  • แสดงออกโดยรูปมนุษย์ คือรูปฮก ลก ซิ่ว ที่พบเห็นได้ทั่วไป
  • แสดงออกโดยรูปสัตว์ เช่น ฮกในรูปค้างคาว ลกในรูปกวางดาว และซิ่วในรูปนกกระเรียน
  • แสดงออกโดยสัญลักษณ์บนท้องฟ้า เช่น ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ เมฆ
  • แสดงออกโดยพฤกษาชาติและบุปผชาติ

เครื่องมงคลแบบจีนแบ่งตามหมวด ฮก ลก และซิ่ว[แก้]

การแสดงออกของฮก ลก ซิ่ว มีนัยเกี่ยวกับการอวยพรอันเป็นมงคล ดังนั้นสัญลักษณ์ทั้งหลายที่แสดงออกมาจึงเรียกว่า เครื่องมงคลแบบจีน

  • ฮก ความสุขสมหวังดังใจปรารถนา
  • อยู่อี่ คือคทาวิเศษ เป็นของพระราชทานแก่ขุนนางและพระชั้นผู้ใหญ่ เพื่อแสดงถึงอำนาจวาสนากล่าวว่าสามารถขอพรศักดิ์สิทธิ์จากคฑานี้ได้
  • ดอกโบตั๋นเป็นราชาแห่งดอกไม้ เพราะเมื่อปลูกที่ใดไม้อื่นจะโน้มเข้าหาแสดงถึงอำนาจวาสนา
  • ดอกบัวหรือพุดตานน้ำเป็นราชาแห่งไม้น้ำ เป็นดอกไม้พิเศษที่สะอาดบริสุทธิ์ มีประโยชน์ทั้งต้น และบานได้โดยอาศัยแสงจันทร์ในขณะที่ดอกไม้อื่นบานโดยแสงอาทิตย์
  • ส้มมือ มีรูปร่างมีสัณฐานเหมือนมือพระโพธิสัตว์ แสดงถึงความมีโชค
  • สิงโต เป็นสัตว์ที่มีนัยแสดงถึงอำนาจเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
  • นกยูง นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์เพราะแววหางของนกยูงเหมือนแสงอาทิตย์และความสง่างามของนกยูง มีความหมายถึงอำนาจวาสนา
  • ค้างคาว เป็นสัตว์ที่ไม่รู้จักลงดิน แสดงถึงวาสนา
  • พระอาทิตย์ มีอานุภาพ ให้แสงสว่าง ให้ชีวิต เป็นเครื่องหมายของอำนาจ

อ้างอิง[แก้]