อุทลุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


อุทลุม (/อุดทะลุม/) เป็นศัพท์กฎหมายไทย โดยเป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง"[1]

คำ "อุทลุม" นี้ใช้เรียกบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่กระทำผิดธรรมะบังอาจฟ้องร้องบุพการีผู้มีพระคุณ เรียกว่า "คนอุทลุม" และเรียกคดีในกรณีนี้ว่า "คดีอุทลุม" ดังที่ปรากฏในประชุมกฎหมายรัชกาลที่ 1 (กฎหมายตราสามดวง) พระไอยการลักษณะรับฟ้อง[2]

"มาตรา 21 อนึ่ง ในฟ้องนั้นเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันหาความแก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี ให้ยกฟ้องเสีย

มาตรา 25 ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย"

ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น คณะกรรมการร่างได้รับเอาหลักการว่าด้วยคุณธรรมของมนุษย์หลายเรื่องจากกฎหมายตราสามดวงมาโดยตรงทีเดียว ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายของชาติใดอีกแล้ว อันรวมถึงเรื่องคดีอุทลุมด้วย[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว, ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร, หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ที่ยังใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน ห้ามผู้สืบสันดาน (อังกฤษ: descendant) ฟ้องบุพการี (อังกฤษ: ascendant) ของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา โดยบัญญัติว่า

"มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้"

ทั้งนี้ โดยเหตุที่บทบัญญัติมาตรา 1562 ข้างต้น ตัดสิทธิของบุคคล ศาลไทยจึงตีความโดยเคร่งครัดว่า "บุพการี" ซึ่งหมายถึง "ผู้ที่ทำการอุปการะมาก่อน" นั้น ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวด โดยทางสายโลหิตเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงกรณีที่บุตรบุญธรรมจะฟ้องบุพการีบุญธรรมของตน ดังศาลฎีกาว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548 "...[บทกฎหมาย] ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"

อย่างไรก็ดี การที่บุตรจะฟ้องบุพการีของตนมิใช่เพื่อให้รับผิดต่อกันในทางส่วนตัว หรือในฐานะอื่นที่ไม่ถือว่าเป็นการพิพาทกันระหว่างบุตรกับบุพการี ไม่จัดเป็นอุทลุมตามกฎหมายปัจจุบัน ดังศาลฎีกาว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2519 "...จำเลยฎีกาว่า...การที่โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนผู้เยาว์เป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1534 [มาตรา 1562 ปัจจุบัน] เห็นว่า...การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จากจำเลย ก็ไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะฟ้องในฐานะที่เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550 "...ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้..." อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ที.พี.เอ็น. อินดัสเตรียล จำกัด...และจำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่า บริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการ...จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย...โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท...และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว ร่วมกับกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้อง หากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของบริษัท มิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 257.
  3. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 256-257.

อ้างอิง[แก้]