อุทยานแห่งชาติกรันปาราดีโซ

พิกัด: 45°30′10″N 7°18′36″E / 45.50278°N 7.31000°E / 45.50278; 7.31000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติกรันปาราดีโซ
ที่ตั้งของอุทยาน
พิกัด45°30′10″N 7°18′36″E / 45.50278°N 7.31000°E / 45.50278; 7.31000
พื้นที่703 ตารางกิโลเมตร (271 ตารางไมล์) [1]
จัดตั้งค.ศ. 1922
หน่วยราชการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministero dell'Ambiente)
www.pngp.it
เทือกเขากรันปาราดีโซ

อุทยานแห่งชาติกรันปาราดีโซ (อิตาลี: Parco nazionale del Gran Paradiso;[2] ฝรั่งเศส: Parc national du Grand Paradis) ตั้งอยู่ในแคว้นปีเยมอนเต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี บริเวณเทือกเขาแอลป์ใกล้กับอุทยานแห่งชาติวานวซของฝรั่งเศส ในอุทยานแห่งชาติกรันปาราดีโซ มีเทือกเขาสูงหลายยอด รวมทั้งยอดเขากรันปาราดีโซ มีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ อีกทั้งป่าที่มีต้นเฟอร์ ต้นสน มีทุ่งหญ้าแบบแอลไพน์ ซึ่งทุ่งหญ้าเหล่านี้จะมีสีสันสวยงามในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดเช่น กระต่ายป่า สุนัขจิ้งจอก นาก และมีนกอีกหลายชนิดอาทิเช่น นกอินทรีสีทอง นกหัวขวาน เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

เนื่องจากการไล่ล่าในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้แพะภูเขาในเทือกเขาแอลป์เหลือจำนวนอยู่เพียงประมาณ 60 ตัวที่รอดอยู่ในอาณาเขตของกรันปาราดีโซเท่านั้น[3] แพะภูเขานั้นถูกล่าคุกคามอย่างหนัก บ้างก็ล่าเพื่อการกีฬา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของมันยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้[4] เช่น เครื่องรางที่ประดิษฐ์ขึ้นจากกระดูกรูปกากบาท (รูปไม้กางเขน) ที่อยู่ใกล้กับหัวใจของแพะภูเขานั้นก็ยังมีความเชื่อว่าสามารถช่วยปกป้องชีวิตจากความตายได้[5] จากการลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจของประชากรแพะภูเขา ทำให้วิกเตอร์ เอมมานูเอล ผู้ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 แห่งอิตาลี ได้ประกาศให้ กรันปาราดีโซ เป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าในปี พ.ศ. 2399 ผู้คุ้มครองแพะภูเขาคนแรกจึงได้เกิดขึ้น เส้นทางที่ได้วางไว้สำหรับแพะภูเขายังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้โดยเป็นส่วนหนึ่งของระยะทาง 724 กิโลเมตร (450 ไมล์) อันเป็นเส้นทางเดินเท้าของสัตว์[4] ในปี พ.ศ. 2463 พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 3 แห่งอิตาลี พระราชนัดดาในกษัตริย์วิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่สอง ได้ทรงบริจาคพื้นที่อุทยานจำนวน 21 ตารางกิโลเมตร (5,189 เอเคอร์)[4] และได้มีการจัดตั้งเป็นอุทยานขึ้นปี พ.ศ. 2465[2] ซึ่งนับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศอิตาลี[6] โดยในขณะนั้นมีแพะภูเขาอยู่ประมาณ 4,000 ตัวที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ในอุทยาน ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศเป็นอุทยานแล้ว ก็ยังมีการรุกล้ำลอบล่าแพะภูเขาอย่างผิดกฎหมายมาจนถึงปี พ.ศ. 2488 จนทำให้จำนวนแพะภูเขาลดลงเหลือเพียง 419 ตัวเท่านั้น จากนั้นมาได้มีมาตรการปกป้องคุ้มครองประชากรแพะภูเขาเพิ่มมากขึ้น และในขณะนี้มีจำนวนแพะภูเขาอยู่เกือบ 4,000 ตัวในอุทยาน[4]

ภูมิศาสตร์[แก้]

ที่ราบสูงนิโวเลต์ (Nivolet)

อุทยานกรันปาราดีโซตั้งอยู่ในเทือกเขาเกรียอันแอลป์ ในแคว้นปีเยมอนเต และ เขตการปกครองวัลเลดาออสตา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี[2][5] ซึ่งมีครอบคลุมพื้นที่ 710 ตารางกิโลเมตร (175,554 เอเคอร์) บนแนวเทือกเขาแอลป์[7] โดย 10% ของพื้นที่ของอุทยานนั้นเป็นเขตป่าไม้ 16.5%ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ 24% ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูก 40% เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทั้งนี้ 9.5% ของพื้นผิวชั้นบนของพื้นที่อุทยานนั้นถูกปกคลุมไปด้วยธารน้ำแข็ง 57 แห่ง[5] ภูเขาและหุบเขาทั้งหลายของอุทยานแห่งนี้เกิดขึ้นจากกระกระทำของธารน้ำแข็งและธารน้ำ[8] อุทยานนี้ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-4,061 เมตร (2,624-13,323 ฟุต) โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 เมตร (6,561 ฟุต)[2] ในบริเวณพื้นที่หุบเขานั้นจะปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ส่วนพื้นที่ในระดับความสูงขึ้นไปจะปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแอลไพน์ และสูงขึ้นไปกว่าระดับความสูงของทุ่งหญ้าจะเป็นแนวหินและธารน้ำแข็ง กราน[8] ปาราดิโซนับเป็นภูเขาแห่งเดียวในพรมแดนของประเทศอิตาลีที่มีความสูงมากกว่า 4,000 เมตร (13,123 ฟุต) ทั้งนี้ เราสามารถมองเห็นยอดเขามงบล็องและยอดเขามัทเทอร์ฮอร์นได้จากจุดสูงสุดของยอดเขาแห่งนี้[9] ในปีค.ศ.1860 นายจอห์น โคเวล เป็นนักปีนเขาคนแรกที่สามารถปีนขึ้นไปถึงยอดเขากรันปาราดีโซ[10] สำหรับเขตพรมแดนในทิศตะวันตกนั้น อุทยานกรันปาราดีโซมีอาณาเขตติดกับอุทยานแห่งชาติวานวซ ของฝรั่งเศส[2] การรวมกันของอุทยานทั้งสองแห่งนี้ทำให้เกิดเป็นเขตอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนยุโรปตะวันตก[4] โดยได้มีความร่วมมือกันในการจัดการและดูแลประชากรของแพะภูเขา ซึ่งมีการอพยพย้ายถิ่นไปมาระหว่างสองอุทยานตามฤดูกาล[11]

พรรณพืชประจำถิ่น[แก้]

ป่าไม้ในเขตอุทยานเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากป่าสามารถให้ที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ป่าไม้ยังเป็นเกราะกำบังธรรมชาติที่สามารถรับมือกับภัยทางธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินเลื่อน หิมะถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ทั้งนี้ ได้ค้นพบว่ามีป่า 2 ชนิดหลักในอุทยานแห่งนี้ ได้แก่ ป่าสนเขา และป่าผลัดใบ[12] สำหรับป่าผลัดใบบีชยุโรเปียนนั้นสามารถพบได้ทั่วไปในอุทยานที่อยู่ในแคว้นปีเยมอนเต แต่จะไม่พบในฝั่งที่อยู่ในเขตการปกครองวัลเลดาออสตาซึ่งมีความแห้งแล้งกว่า ป่าผลัดใบเหล่านี้ มีใบที่หนาและแน่นซึ่งทำให้แสงส่องลงไปยังผืนป่าด้านล่างได้น้อยมากในฤดูร้อน นอกจากนี้ใบของมันยังใช้เวลาในการย่อยสลายที่นาน ใบที่ร่วงจากต้นไปกองสะสมเป็นชั้นหนาอยู่ที่พื้นดินด้านล่างทำให้ขัดขวางการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้อื่น ๆ[12] ทั้งนี้ ในป่าชั้นทื่เป็นหุบเขาจะพบต้นสนลาร์ชขึ้นอยู่ทั่วไปโดยจะขึ้นปะปนกับสนสปรูซ สนสวิสสโตน และอาจจะพบสนซิลเวอร์เฟอร์บ้างแต่พบได้น้อยมาก[8] ตามร่องน้ำเซาะต่าง ๆ จะพบป่าเมเปิลและไลม์ โดยป่าเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณสันโดษแยกออกไปและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สำหรับป่าต้นดาวนี่โอ๊ก นั้นจะพบได้ทั่วไปในฝั่งเขตการปกครองวัลเลดาออสตามากกว่าฝั่งแคว้นปีเยมอนเต เนื่องจากเป็นเขตที่มีอุณหภูมิสูงกว่าและมีปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่า จริง ๆ แล้วโอ๊กไม่ใช่พันธุ์ไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในอุทยานแห่งนี้และบ่อยครั้งที่จะพบโอ๊คขึ้นปนกับต้นสนสก็อต สำหรับป่าต้นเชสนัทของอุทยานนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากการเพาะปลูกของมนุษย์เพื่อเนื้อไม้และผลของมัน เชสนัทนั้นจะเจริญเติบโตได้ยากที่ความสูงมากกว่า 1,000 เมตร (3,280 ฟุต) ป่าเชสนัทที่สำคัญที่สุดของอุทยานจะอยู่ในฝั่งแคว้นปีเยมอนเต สำหรับป่าสนโคนิเฟอร์นั้นจะรวมเอาสนจำพวกสนสก็อต สนสปรูซซึ่งจะเป็นสนสปรูซนอร์เวย์ผสมกับสนลาร์ชเป็นส่วนใหญ่ ป่าสนลาร์ชและป่าสนสวิสสโตนนั้นสามารถพบได้ที่ระดับชั้นแอลไพน์ย่อยที่สูงสุด (2,200-2,300 เมตร (7,217-7,546 ฟุต))[12] ในระดับความสูงที่มากขึ้นนั้นพบว่าจำนวนต้นไม้ก็จะบางตาลงเรื่อย ๆ และจะพบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ปรากฏอยู่ ทุ่งหญ้าเหล่านี้จะผลิดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ[8] ดอกไม้ป่าในทุ่งหญ้าสูงของอุทยานที่พบ ได้แก่ ดอกแพนซีป่า ดอกเจนเชียน ดอกมาร์ทากอนลิลี และดอกอัลเพนโรส อุทยานแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นหินอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ไม่มีป่าไม้และทุ่งหญ้าแอลไพน์ขึ้นอยู่ พื้นที่เหล่านี้จะมีหินและเศษซากอินทรีย์บนผิวหน้าของพื้นที่ พรรณพืชแอลไพน์นั้นได้ใช้วิธีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัยแบบนี้ โดยรับเอาคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น การเตี้ยแคระ การมีขนดก การมีสีจัดจ้านของดอก และการพัฒนาอย่างสูงของราก[13] ทั้งนี้มีพรรณพืชประมาณ 1,500 กว่าชนิดที่เราสามารถชมได้ที่สวนพฤกษศาตร์ปาราดิเซียใกล้กับเมืองกอนเญซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยาน[4]

สัตว์ประจำถิ่น[แก้]

แพะภูเขาแอลไพน์ (แอลไพน์อีเบ็กซ์)

แพะภูเขาแอลไพน์จะพากันมาแทะเล็มหญ้ายังทุ่งหญ้าบนภูเขาอันอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูร้อน และจะพากันอพยพลงไปด้านล่างของภูเขาเมื่อฤดูหนาวมาเยือน[4] การร่วมมือกันของอุทยานแห่งชาติกรันปาราดีโซ และอุทยานแห่งชาติวานวซนั้นได้ช่วยปกป้องอนุรักษ์แพะภูเขาตลอดทั้งปี[14] นอกจากแพะภูเขาแล้ว ยังสามารถพบสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ในอุทยานแห่งนี้ เช่น เออร์มิน, เพียงพอน, กระต่ายแฮร์[10], แบดเจอร์ยูเรเชีย, เลียงผาแอลไพน์, สุนัขจิ้งจอก ซึ่งอพยพมาจากอิตาลีตอนกลางเมื่อไม่นานมานี้ หรือแม้กระทั่งแมวป่าลิงซ์ก็อาจพบได้[4] ทั้งแพะภูเขาและเลียงผาจะใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งปีอยู่ในบริเวณเหนือแนวป่าขึ้นไป และจะอพยพลงมาด้านล่างสู่หุบเขาในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ แต่สำหรับตัวมาร์มอตนั้นจะออกหากินพืชตามแนวหิมะ [4] นอกจากนี้ ยังมีนกชนิดต่าง ๆ อีกกว่า 100 ชนิดในอุทยาน ไม่ว่าจะเป็นนกเค้าใหญ่พันธุ์ยูเรเชีย ไก่ป่าหิมะหิน นกแอลไพน์แอ็กเซนเตอร์ นกกาภูเขา และยังมีนกอินทรีย์สีทองที่ชอบทำรังอยู่บนหน้าผาหินหรือบางครั้งก็บนต้นไม้ ส่วนนกไต่ผานั้นจะอาศัยอยู่บริเวณหน้าผาที่สูงชัน นอกจากนี้ยังพบนกหัวขวานดำ และนกนัทแครกเกอร์[4] ตามแนวป่าไม้ของอุทยานอีกด้วย อุทยานแห่งนี้เป็นที่อยู่ของเหล่าผีเสื้อหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผีเสื้ออพอลโล ผีเสื้อพีกไวท์ และผีเสื้อไวต์แอดไมรัลจากทางตอนใต้ เป็นต้น[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Gran Paradiso National Park". World Database on Protected Areas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Parco Nazionale del Gran Paradiso". Protected Areas and World Heritage Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 10, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "sea" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. Nowak, Ronald M. (1999). Walker's Mammals of the World. JHU Press. p. 1224. ISBN 0-8018-5789-9.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 Riley, Laura; William Riley (2005). Nature's Strongholds: The World's Great Wildlife Reserves. Princeton University Press. pp. 390–392. ISBN 0-691-12219-9.
  5. 5.0 5.1 5.2 Price, Gillian (1997). Walking in Italy's Gran Paradiso. Cicerone Press Limited. pp. 13–16. ISBN 1-85284-231-8.
  6. Mose, Ingo (2007). Protected Areas and Regional Development in Europe. p. 132. ISBN 0-7546-4801-X.
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ minamb
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "The Parc environments". Parco Nazionale Gran Paradiso. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-31. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  9. Beaumont, Peter (2005-01-30). "Have skis, will travel". The Observer. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  10. 10.0 10.1 Gilpin, Alan (2000). Dictionary of Environmental Law. Edward Elgar Publishing. p. 208. ISBN 1-84064-188-6.
  11. Sandwith, Trevor (2001). Transboundary Protected Areas for Peace and Co-operation. The World Conservation Union. p. 66. ISBN 2-8317-0612-2.
  12. 12.0 12.1 12.2 "The woods". Parco Nazionale Gran Paradiso. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-31. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  13. "The rocky environments". Parco Nazionale Gran Paradiso. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-31. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  14. Kiss, Alexandre Charles; Dinah Shelton (1997). Manual of European Environmental Law. Cambridge University Press. p. 198. ISBN 0-521-59122-8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 2014-09-20.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]