อิ่มอุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"อิ่มอุ่น"
เพลงโดยศุ บุญเลี้ยง กะทิ กะลา
เผยแพร่พ.ศ. 2534
แนวเพลงเพลงไทยสากล, โฟล์ค
ผู้ประพันธ์เพลงศุ บุญเลี้ยง

"อิ่มอุ่น" เป็นบทเพลงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของแม่ที่มีต่อลูก แต่งโดย ศุ บุญเลี้ยง และเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับผู้แต่ง จนมีการขับร้องต่อโดยศิลปินนักร้องในแนวเพลงต่าง ๆ ด้วยรูปแบบต่าง ๆ

ที่มาของเพลง[แก้]

ศุ บุญเลี้ยง แต่งเพลง "อิ่มอุ่น" ตามคำขอของ อาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยหัวหน้าของพี่สาวของศุ ซึ่งเป็นพยาบาลได้ทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วต้องการให้ศุแต่งเพลงนี้ขึ้น เพราะเห็นว่า ในการให้นมลูก แม่ต้องตระกองกอดแล้วช้อนตัวลูกขึ้นมาจึงไม่ได้ทำให้ "อิ่ม" อย่างเดียว แต่ว่า "อุ่น" ด้วย [1]

เพลงนี้ได้บันทึกเสียงในรูปอัลบั้มเพลงครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2537 โดยใช้ชื่อชุด "รับแขก" โดยผู้ร้องคือ ชลลดา เตียวสุวรรณ (กาเหว่า ไทละเมอ, เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย) ต่อมาถูกนำมาทำเวอร์ชันต่าง ๆ ที่เป็นของ ศุ บุญเลี้ยง และในเครือ กะทิ กะลา ไว้ในหลายอัลบั้ม ต่างช่วงเวลากัน อีกทั้งชื่อเพลงยังถูกใช้เป็นชื่อร้านอาหารของ ศุ บุญเลี้ยง เองด้วย

การเผยแพร่และขับร้องต่อ[แก้]

ปัจจุบัน "อิ่มอุ่น" เป็นเพลงที่มีการเผยแพร่ตามท้องที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงวันแม่แห่งชาติ ทุก ๆ ปี แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยสัมผัสงานเพลงของศิลปินต้นฉบับ จะได้ยินเพลงนี้จากนักร้องท่านอื่น ๆ ทั้งในแนวสตริง แนวลูกทุ่ง แนวเพื่อชีวิต แนวอินดี้ ที่นำมาขับร้อง ในรูปแบบสตูดิโออัลบั้ม การแสดงสด การประกวดร้องเพลง การโฆษณา ฯลฯ อาทิ ศุ บุญเลี้ยง พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ หนู มิเตอร์ สุนารี ราชสีมา มิ้น สวรรยา ในชุด "คิดถึงแม่" (อาร์เอส) กชกร สมบูรณานนท์ ในชุด "ให้แม่ แทนรักจากดวงใจ" (แกรมมี่) สไปซี่ คิดส์ (รถไฟดนตรี) คู่แฝดหญิง เล็ก-ใหญ่ ในชุด "หัวใจ…วี้ดบึ้ม!" เพลงประกอบโฆษณาเอไอเอส ฯลฯ โดยเมื่อได้ฟังจะซาบซึ้งในความรู้สึกที่ได้จากเนื้อเพลง[ต้องการอ้างอิง]

ข้อสังเกต[แก้]

เนื้อเพลงบรรทัดแรกของเพลง อิ่มอุ่น จะมีความต่างกันเล็กน้อยตามลักษณะการร้องของนักร้องหลายคนที่นำมาร้องต่อ โดย ศุ บุญเลี้ยง เขียนว่า "อุ่นใดใดโลกนี้มิมีเทียบเทียม" แต่ภายหลัง มีนักร้องจำนวนไม่น้อยที่ร้องเป็นคำว่า "ไม่" ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. เพ็ญแข สร้อยทอง. "ผู้ขับขาน...บทเพลงกล่อมแม่...ศุ บุญเลี้ยง". หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2550.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]