อินเดกซ์ลิโบรรัมโพรฮิบิโทรัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บานแพนกของไทรเดนทีนอินเดกซ์ ตีพิมพ์ที่เมืองเวนิสเมื่อปี 1564

อินเดกซ์ลิโบรรัมโพรฮิบิโทรัม (ละติน: Index Librorum Prohibitorum; "รายชื่อหนังสือต้องห้าม") หรือเรียกโดยย่อว่า อินเดกซ์ (Index) เป็นบัญชีรายชื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของพระศาสนจักรคาทอลิก อินเดกซ์ฉบับแรกพระสันตะปาปาพอลที่ 4 ทรงตราขึ้นในปี 1559 และมีการตราอีกหลายฉบับสืบเนื่องมาจนถึงปี 1948 ซึ่งเป็นฉบับที่ยี่สิบ แล้วมิได้ตราขึ้นอีกเลย กระทั่งพระสันตะปาปาพอลที่ 6 ทรงยกเลิกอินเดกซ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1966 นับเวลาตั้งแต่ฉบับแรกถึงฉบับสุดท้ายได้ 407 ปี[1][2]

วัตถุประสงค์ของอินเดกซ์ คือ เพื่อพิทักษ์ความจงรักภักดีและศีลธรรมของเหล่าผู้มีศรัทธา โดยห้ามมิให้เขาเหล่านั้นอ่านหนังสือและงานที่ผิดคลองธรรมหรือมีเนื้อหาทางเทววิทยาคลาดเคลื่อน หนังสือที่ถูกระบุว่ามีลักษณะเช่นนั้น มักเป็นงานของนักดาราศาสตร์ชั้นนำ เช่น เรื่อง เอพิโทเมอัสโตรโนมิเอโคเพอร์นิเคียเน (Epitome astronomiae Copernicianae; "ตำราดาราศาสตร์อย่างย่อ") ของโจฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ซึ่งขึ้นชื่ออยู่ในอินเดกซ์ตั้งแต่ปี 1621 ถึง 1835 รวมตลอดถึงคำแปลพระคริสตธรรมออกเป็นภาษาสามัญ อินเดกซ์หลาย ๆ ฉบับยังวางระเบียบควบคุมการอ่านและซื้อขายหนังสือ กับทั้งให้ฝ่ายศาสนจักรมีอำนาจตรวจพิจารณาหนังสือโดยไม่ต้องบอกกล่าวได้ด้วย[3]

การตราอินเดกซ์นับว่า เป็นจุดเปลี่ยนเสรีภาพแห่งการตรวจสอบในโลกคาลอลิก[4] ผลงานวิทยาศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล (heliocentrism) นั้น แม้เคยใช้สั่งสอนกันในมหาวิทยาลัยคาทอลิกมายาวนาน ก็ถูกขึ้นไว้ในอินเดกซ์ และนักเขียนบางคนซึ่งถูกขึ้นผลงานไว้ในอินเดกซ์ต้องพบจุดจบอันโหดร้าย เป็นต้นว่า กีออร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) บาทหลวงชาวอิตาลีซึ่งเที่ยวสั่งสอนมิจฉาทิฐิในทางสรรพเทวนิยม จนถูกพนักงานสอบสวนของพระศาสนจักรจับกุมส่งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ถูกขึ้นผลงานทุกเรื่องไว้ในอินเดกซ์ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1600 และถูกย่างสดคาตะแลงแกงในปีนั้นเอง[5][6][7][8][9]

แม้อินเดกซ์จะถูกยกเลิกไปสิ้นแล้ว แต่ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ มีบรรพ 3 หน้าที่การสอนของพระศาสนจักร ลักษณะ 4 เครื่องมือสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะหนังสือ มาตรา 827 บัญญัติว่า "ควร" ส่งงานเขียนเกี่ยวกับพระคริสตธรรม เทววิทยา กติกาสงฆ์ พงศาวดารสงฆ์ หรือที่จำเพาะเจาะจงว่าด้วยพระศาสนาหรือศีลธรรมอันดี ไปให้ผู้ใหญ่ผู้ทรงอำนาจ (Ordinary) แห่งท้องถิ่นนั้น ๆ ตรวจพิจารณาก่อน[10] และมาตรา 830 ว่า ในการตรวจพิจารณาหนังสือ ให้ผู้ใหญ่ผู้ทรงอำนาจประชุมปรึกษากับบุคคลที่เห็นว่าจะให้คำวินิจฉัยได้ ถ้าบุคคลนั้นวินิจฉัยว่า "ไม่ขัดข้อง" (nihil obstat) ก็ให้ผู้ใหญ่ผู้ทรงอำนาจออกใบอนุญาตให้ตีพิมพ์ (imprimatur) ได้[11] นอกจากนี้ มาตรา 832 ยังว่า สมาชิกคณะนักพรต (religious institute) จะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระศาสนาหรือศีลธรรมอันดี ต้องได้รับคำอนุญาตให้ตีพิมพ์ (imprimi potest) จากเจ้าอธิการของตนก่อนด้วย[12] อนึ่ง ผลงานหลาย ๆ เรื่องที่เคยต้องห้ามตามอินเดกซ์มาหลายร้อยปีก็ได้รับอนุญาตได้พิมพ์เผยแพร่ได้ในสมัยหลัง ๆ นี้ เช่น ผลงานของมาเรีย วัลตอร์ตา (Maria Valtorta) ซึ่งถูกขึ้นอยู่ในอินเดกซ์ตั้งแต่ปี 1959 ได้รับอนุญาตจากพระศาสนจักรให้ตีพิมพ์ได้เมื่อปี 2002[13][14] กับทั้งนักเขียนหลายคนซึ่งผลงานเคยต้องห้ามก็กลับได้รับการเชิดชูด้วย เช่น มารี ฟาอูสตีนา โควัลสกา (Mary Faustina Kowalska) ชีชาวรัสเซียซึ่งผลงานถูกขึ้นไว้ในอินเดกซ์ตั้งแต่ปี 1959 ได้รับการสถาปนาเป็นธรรมิกชนเมื่อปี 2000[15][16] และอันโตนิโอ รอสมีนี-เซอร์บาตี (Antonio Rosmini-Serbati) บรรพชิตชาวอิตาลีซึ่งผลงานถูกขึ้นไว้ในอินเดกซ์ตั้งแต่ปี 1849 ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีเมื่อปี 2007[17] วงการดาราศาสตร์มองว่า พัฒนาการตั้งแต่ยกเลิกอินเดกซ์มานั้นบ่งบอกว่า "อินเดกซ์สิ้นความหมายไปในศตวรรษที่ 21 แล้ว"[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Cambridge University on Index". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2013-11-15.
  2. Encyclopaedia Britannica: Index Librorum Prohibitorum
  3. Index Librorum Prohibitorum, 1559, Regula Quarta ("Rule 4")
  4. Charles B. Schmitt, et al. The Cambridge History of Renaissance Philosophy (Cambridge University Press, 1991), "Printing and censorship after 1550", p.45ff.
  5. Index of Prohibited Books, Revised, Vatican Polyglot Press, 190
  6. Paula Findlen, "A Hungry Mind: Giordano Bruno, Philosopher and Heretic" เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Nation, September 10, 2008. "Campo de' Fiori was festooned with flags bearing Masonic symbols. Fiery speeches were made by politicians, scholars and atheists about the importance of commemorating Bruno as one of the most original and oppressed freethinkers of his age." Accessed on 19 September 2008
  7. Paul Henry Michel. The Cosmology of Giordano Bruno. R.E.W. Maddison, translator. Cornell University Press 1962
  8. The [Old] Catholic Encyclopedia. Vol. 3.: 1908.
  9. Angelo, Joseph A. "Life in the Universe". p. 7.
  10. Code of Canon Law, canon 827
  11. Code of Canon Law, canon 830
  12. Code of Canon Law, canon 832
  13. Letter of Bishop Roman Danylak [1]
  14. "Maria Valtorta, Her Life and Work". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-29. สืบค้นเมื่อ 2013-11-15.
  15. A Saint despite the vatican National Catholic Reporter-August 30, 2002 also [2]
  16. Vatican Webpage on Faustina Kowalska
  17. Cardinal Saraiva calls new blessed Antonio Rosmini “giant of the culture”
  18. Robert Wilson, 1997 Astronomy Through the Ages ISBN 0-7484-0748-0