อำเภอเวียงแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอเวียงแก่น
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Wiang Kaen
คำขวัญ: 
เจ้าหลวงเวียงแก่น ชายแดนไทยลาว น้ำงาวพราวใส ผาไดเด่นดัง ผาตั้งเด่นนาน ภูชี้ฟ้าสูงตระหง่าน ส้มโอหวานรสดี
แผนที่จังหวัดเชียงราย เน้นอำเภอเวียงแก่น
แผนที่จังหวัดเชียงราย เน้นอำเภอเวียงแก่น
พิกัด: 20°6′42″N 100°30′48″E / 20.11167°N 100.51333°E / 20.11167; 100.51333
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงราย
พื้นที่
 • ทั้งหมด526.0 ตร.กม. (203.1 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด37,284 คน
 • ความหนาแน่น70.88 คน/ตร.กม. (183.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสภูมิศาสตร์5713
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น เลขที่ 81
หมู่ที่ 3 ถนนหล่ายงาว-ห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 57310
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เวียงแก่น (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นทั้งที่ราบลุ่มมีแม่น้ำงาวไหลผ่าน และเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของดอยยาวและดอยผาหม่น มีชายแดนติดต่อกับประเทศลาวและมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ ได้แก่ เมืองโบราณสถานดงเวียงแก่น แก่งผาได และดอยผาตั้ง อำเภอเวียงแก่นเป็นอำเภอที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหลากกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีประชากรมีวิถีชีวิตเฉพาะแบบพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้อำเภอเวียงแก่นยังเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ส้มโอ ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ

ประวัติ[แก้]

ประวัติศาสตร์อำเภอ[แก้]

ผู้ครองเมืองเวียงแก่นในศตวรรษที่ 17-18 ทรงสร้างบ้านแปงเมืองเวียงแก่นจนรุ่งเรือง เป็นที่นับถือเคารพบูชาของชาวอำเภอเวียงแก่นเป็นอย่างสูง จึงตั้งชื่ออำเภอตามเจ้าหลวงเวียงแก่น

หล่ายดอย คือ ชื่อในอดีตของอำเภอเวียงแก่น อำเภอเวียงแก่น ในอดีตที่ผ่านมาไม่ทราบแน่ชัดว่าชื่อเมืองอะไร แต่ตามหลักฐานตำนานสิงหนวัต ได้กล่าวไว้ว่า เขตเมืองผาแดง (เชียงของ) ทางทิศตะวันออก มีแคว้นตั้งแต่เมืองผาแง (ผาแล) ล่องมาถึงแจ๋มแกด (แจมป๋อง) ซึ่งก็ถือได้ว่า เวียงแก่นในอดีต เป็นเมืองบริวารที่ขึ้นตรงกับเมืองผาแดงมาก่อน มีชุมชนเมืองโบราณที่มีสภาพ ชัดเจนอยู่หลายแห่งพอที่จะศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ได้ เช่น โบราณสถานดงเวียงแก่น ซึ่งเป็นเมืองโบราณมีอายุประมาณ 700 กว่าปีราวยุคสมัยสุโขทัยและเชียงรายยุคต้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 230 ไร่ มีลักษณะการสร้างเมืองเป็นรูปวงรี อยู่บนที่เนินสูง มีกำแพงคูเมืองล้อมรอบ 2 ชั้น คือมีคูด้านนอกกับคูด้านใน คูด้านนอกจะตื้นกว่าคูด้านใน คูด้านในจะลึกประมาณ 10 เมตร รอบตัวเมืองโบราณจะมีการขุดคูล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน คือทางด้านทิศใต้ ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะใช้ลำน้ำงาวใช้เป็นคูเมืองแทน เพราะมีร่องน้ำเดิมปรากฏอยู่บริเวณติดกับเขตของตัวเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังมีคูเมืองด้านนอก และด้านในของทางทิศเหนือ และทิศใต้มาเชื่อมต่อร่องน้ำเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ตามตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงสมัยอาณาจักรล้านนา บริเวณอำเภอเวียงแก่นปกครองโดยเจ้าหลวงเวียงแก่น มีชายาชื่อ เจ้านางแว่นเตียม มีโอรส 1 องค์ คือ เจ้าองค์คำ เจ้าหลวงเวียงแก่นปกครองเมือง ไพร่ฟ้า ประชาชน ด้วยความสันโดษ ต่อมาพญามังรายได้รวบรวมอาณาจักรล้านนาให้เป็นปึกแผ่นเพื่อผนึกกำลังไว้ต่อสู้กับกองทัพมองโกล พระองค์จึงได้ยกทัพตีเมืองต่างๆ ในแถบน้ำแม่อิงมาจนถึงเมืองเวียงแก่น เจ้าหลวงเวียงแก่นได้รบกับพญามังราย ด้วยความรักและความหวงแหนแผ่นดินแต่กำลังทหารฝ่ายเจ้าหลวงเวียงแก่นมีน้อยจึงเป็นผู้แพ้ในการศึก ในการต่อสู้ดังกล่าวต่างฝ่ายต่างล้มตายเป็นจำนวนมากทำให้เกิดเลือดไหลนอง เมื่อเจ้าหลวงเวียงแก่นได้เห็นผู้คนล้มตายจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงเกิดเป็นลมหมดสติสิ้นในไปการรบ ปัจจุบันเรียกที่แห่งนั้นว่า "ทุ่งคาว" อยู่บริเวณบ้านหล่ายงาวในปัจจุบัน จากนั้นเมืองเวียงแก่นจึงร้างไป

ต่อมา ในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มมีคนอพยพมาตั้งรกรากกันใหม่ ส่วนใหญ่จะมาอยู่เป็นครั้งคราวและจำนวนน้อย และต่อมาในช่วงประมาณรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จึงมีการอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างถาวรมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และมาจากประเทศลาวบางส่วน โดยตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหลู้ บ้านม่วง บ้านยาย จนมาถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระบบการเมืองการปกครองใหม่ มีการแบ่งแยก หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนของอำเภอเวียงแก่นสมัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลม่วงยายและตำบลปอ ขึ้นอยู่กับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย [1]

ในส่วนของอำเภอเวียงแก่นที่มีเขตตำบลอยู่ในอำเภอเชียงของในขณะนั้น เดิมมีอยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลม่วงยายและตำบลปอ ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งตำบลในเขตท้องที่อำเภอเชียงของขึ้นใหม่ อีก 1 แห่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 45 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2525 โดยมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2525 มีเนื้อหาสำคัญคือให้โอนหมู่บ้าน 5 หมู่บ้านจากตำบลม่วงยาย โดยถือกึ่งกลางของแม่น้ำงาวเป็นแนวแบ่งเขต มาจัดตั้งตำบลขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า ตำบลหล่ายงาว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตำบลทีเกิดขึ้นก่อนที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่นในเวลาต่อมา [2]

ประวัติการจัดตั้งอำเภอ[แก้]

กิ่งอำเภอเวียงแก่น ตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่น ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 114 ตอนที่ 67 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

เนื่องด้วยท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไปเชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่ กระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงแบ่งท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกชื่อว่า "กิ่งอำเภอเวียงแก่น" มีเขตปกครอง รวม 3 ตำบล คือ ตำบลม่วงยาย ตำบลปอ และตำบลหล่ายงาว ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลม่วงยาย ให้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย [3]

กิ่งอำเภอเวียงแก่นได้เปิดทำการให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2530 เป็นต้นมา มีเขตการปกครองเดิม 3 ตำบล ต่อมาได้ตั้งตำบลท่าข้ามขึ้นอีก 1 ตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลให้ท้องที่อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง และกิ่งอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 171 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2531 มีผลตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2531 มีเนื้อหาสำคัญคือ

เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 6 และมาตรา 29 ให้ตั้งตำบลท่าข้าม โดยโอนหมู่บ้าน จำนวน 5 หมู่บ้านจากตำบลปอ ในท้องที่กิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

จึงทำให้กิ่งอำเภอเวียงแก่นในขณะนั้น มีเขตการปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 4 ตำบล [4] ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแก่น ตามพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอแก่งหางแมว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่วาง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอบ่อเกลือ อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอห้วยราช อำเภอแม่ลาน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอยางสีสุราช อำเภอจังหาร อำเภอบ้านธิ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบางกล่ำ อำเภอวังม่วง และอำเภอนายูง พ.ศ. 2538 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 32 ก หน้า 1 โดยประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ

กิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และกิ่งอำเภออื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ และความสะดวกของประชาชนและส่งเสริมท้องที่ให้เจริญยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

มีผลให้เป็นอำเภอเวียงแก่นโดยสมบูรณ์ ในวันที่ 8 กันยายน 2538 มีท้องที่การปกครองรวม 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลม่วงยาย ตำบลหล่ายงาว ตำบลท่าข้าม และตำบลปอ นับเป็นอำเภอที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 13 ของจังหวัดเชียงราย [5]

รายนามหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอและนายอำเภอ[แก้]

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเวียงแก่น
ลำดับ รายนาม ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1 นายชูชาติ กีฬาแปง 15 พฤษภาคม 2530 - 1 เมษายน 2533
2 นายสมโภชน์ กระจ่างพืช 2 เมษายน 2533 - 3 ธันวาคม 2533
3 นายสุชาติ สุวรรณกาศ 21 มกราคม 2533 - 13 มีนาคม 2534
4 นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต 8 เมษายน 2534 - 28 มีนาคม 2537
5 ว่าที่ ร.ต.สกุลวัฒน์ พัฒน์โชติ 28 มีนาคม 2537 - 2 เมษายน 2538
6 นายประเสริฐ โอสถาพันธุ์ 3 เมษายน 2538 - 30 เมษายน 2538
7 นายเลื่อน รัตนมงคล 1 พฤษภาคม 2538 - 6 กันยายน 2538


รายนามผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเวียงแก่น
ลำดับ รายนาม ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1 นายเลื่อน รัตนมงคล 7 กันยายน 2538 - 13 กรกฎาคม 2540
2 นายปิติธรรม ฐิติมนตรี 14 กรกฎาคม 2540 - 1 พฤศจิกายน 2541
3 นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต 2 พฤศจิกายน 2540 - 10 ธันวาคม 2544
4 นายนิพนธ์ แจ้งจันทร์ 11 ธันวาคม 2544 - 15 ธันวาคม 2545
5 นายเทพสิทธิ์ ธัญญวนิช 23 ธันวาคม 2545 - 5 ตุลาคม 2546
6 นายบำเพ็ญ บินไทยสงค์ 6 ตุลาคม 2546 - 11 พฤศจิกายน 2550
7 นายเรวัต ประสงค์ 12 พฤศจิกายน 2550 - 22 มิถุนายน 2551
8 นายพิภัช ประจันเขตต์ 23 มิถุนายน 2551 - 23 พฤศจิกายน 2551
9 ร.ท.ศักดิ์ชัย หงษ์ทอง 24 พฤศจิกายน 2551 - 21 กุมภาพันธ์ 2553
10 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ 22 กุมภาพันธ์ 2553 - 29 กรกฎาคม 2555
11 นายสุภักดิ์ เศวตวิษุวัต 30 กรกฎาคม 2555 - 30 กันยายน 2556
12 นายทัศนัย สุธาพจน์ 14 พฤศจิกายน 2556 - ปัจจุบัน
13 นายคำรณ ศรีโพธิ์

ลักษณะทางภูมิศาสตร์[แก้]

ภูมิประเทศดอยผาหม่น ณ บ้านผาตั้ง ตำบลปอ

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอเวียงแก่นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

พื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำงาวและพื้นที่ลาดเชิงเขา มีเทือกเขาขนาบทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ แนวเทือกเขาที่ขนาบทางทิศตะวันออก คือ ดอยผาหม่น เป็นแนวเขตแดนธรรมชาติระหว่างเขตอำเภอเวียงแก่นกับแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และแนวเทือกเขาที่ขนาบทางทิศตะวันตก คือ ดอยยาว แบ่งแนวเขตระหว่างอำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ โดยเทือกเขาที่ขนาบทั้งสองนั้นทอดตัวอยู่ในแนวเหนือใต้

แม่น้ำสำคัญ[แก้]

  • แม่น้ำงาว เป็นแม่น้ำสายใหญ่ ที่ไหลผ่านพื้นที่ทั้งอำเภอ จากตำบลปอ ผ่านตำบลท่าข้าม ตำบลม่วงยาย ตำบลหล่ายงาว ลงสู่แม่น้ำโขงในเขตท้องที่ตำบลหล่ายงาว (บ้านแจมป๋อง) แม่น้ำงาวนี้เปรียบเสมือนสายโลหิตของประชากรทั้ง 4 ตำบลซึ่งใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค และยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำที่ราษฎรสามารถจับและบริโภคได้ทุกฤดูกาลในหน้าแล้งจะมีน้ำน้อยมาก
แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านอำเภอเวียงแก่น ณ จุดชมวิวบ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
  • แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำกั้นเขตแดนไทย-ลาว ในอดีตใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ ติดต่อกับอำเภอเชียงของ มีหมู่บ้านติดกับแม่น้ำโขง ได้แก่ บ้านห้วยเอียน และบ้านแจมป๋อง ตำบลหล่ายงาว บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายทางทิศเหนือ ซึ่งแม่น้ำโขงไหลผ่าน ก่อนที่จะเลี้ยววกเข้าไปในประเทศลาวบริเวณแก่งผาได จนกระทั่งไหลผ่านประเทศไทยอีกครั้งที่จังหวัดเลย
  • ห้วยวอง เป็นห้วยที่มีต้นน้ำอยู่ที่ถ้ำผาปู่ มีน้ำออกมาสามรู รวมกันเป็นห้วยน้ำวอง ไหลผ่านบ้านยายเหนือ บ้านยายใต้และบ้านม่วง ลงสู่แม่น้ำงาว ผ่านที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวอง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและเพาะพันธุ์ปลา ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย
  • ห้วยปอ ต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านเย้าห้วยปอ ดอยผาหม่น ไหลผ่านบ้านดอน บ้านดอน ตำบลปอ ไหลลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยกุ๊ก ต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านห้วยกุ๊ก ดอยผาหม่น ไหลผ่านบ้านห้วยกุ๊กล่าง บ้านเจดีย์ทอง แล้วลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยผาตั้ง ต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านผาตั้ง ดอยผาหม่น ไหลผ่านบ้านปางหัดลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยหาน ต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยผาหม่น ไหลผ่านบ้านห้วยหาน ลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยม่วง ต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ไหลลงสู่แม่น้ำงาว ระหว่างบ้านผาแล และบ้านหนองเตา
  • ห้วยจะยิน ต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ไหลผ่านบ้านอยู่สุข และบ้านปางปอ ไหลลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยติ้ว ต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยเพียสี ไหลผ่านบ้านห้วยติ้ว ลงสู่แม่น้ำงาว
  • ห้วยขวาก ต้นกำเนิดอยู่ที่ดอยเพียสี ไหลผ่านบ้านขวากใต้ ลงสู่แม่น้ำงาว

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

เป็นแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว [6]

การปกครอง[แก้]

แผนที่โดยสังเขป อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอเวียงแก่นแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 4 ตำบล 41 หมู่บ้าน[7] ดังนี้

ที่ ชื่อตำบล ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร[8]
1. ม่วงยาย Muang Yai 9 2,777 7,482
2. ปอ Po 20 5,112 16,338
3. หล่ายงาว Lai Ngao 6 1,839 3,539
4. ท่าข้าม Tha Kham 6 1,752 5,789

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอเวียงแก่นประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลม่วงยาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่วงยายทั้งตำบล มีพื้นที่ประมาณ 84 ตารางกิโลเมตร หรือ 52,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านม่วง หมู่ 3 ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงราย ติดแม่น้ำโขงซึ่งเป็นชายแดนประเทศไทยกับประเทศลาว ระยะทางจากศาลากลางจังหวัดเชียงรายถึงที่ทำการเทศบาลตำบลม่วงยายประมาณ 130 กิโลเมตร ที่ทำการเทศบาลตำบลม่วงยายอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงแก่นประมาณ 200 เมตร เทศบาลตำบลม่วงยายจัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 โดยยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงยาย มีเขตตามเขตตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • เทศบาลตำบลหล่ายงาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหล่ายงาวทั้งตำบล มีพื้นที่ประมาณ 76 ตารางกิโลเมตร หรือ 47,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหล่ายงาว หมู่ 1 ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงแก่นประมาณ 1.5 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดเชียงรายประมาณ 132 กิโลเมตร เทศบาลตำบลหล่ายงาวจัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 โดยยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลหล่ายงาว มีเขตตามตำบลตามกฎหมายว่าด้วยด้วยลักษณะการปกครองท้องที่
  • เทศบาลตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล มีพื้นที่ประมาณ 23 ตารางกิโลเมตร หรือ 14,477 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านขวากเหนือ หมู่ 5 ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงแก่นมาทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปอทั้งตำบล มีพื้นที่ประมาณ 299 ตารางกิโลเมตร หรือ 186,875 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านดอน หมู่ 3 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงแก่นมาทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีสถานที่สำคัญได้แก่ จุดชมต่างๆ บริเวณบ้านผาตั้ง ถ้ำผาแล ภูชี้ดาว เป็นต้น องค์การบริหารส่วนตำบลปอได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 มีเขตตามตำบลว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่

กลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

การกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

อำเภอเวียงแก่นมีที่ตั้งอยู่ในแนวชายแดนไทยลาว มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีลักษณะภูมิประเทศที่มีทั้งพื้นราบและภูเขาสูง จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหลากหลาย ดังนี้ [9]

ตารางแสดงการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอเวียงแก่น
ตำบลม่วงยาย ตำบลหล่ายงาว ตำบลท่าข้าม ตำบลปอ [10]
หมู่
บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์
หมู่
บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์
หมู่
บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์
หมู่
บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์
1
หลู้ คนเมือง ม้ง ขมุ
1
หล่ายงาว คนเมือง
1
ท่าข้าม ไทลื้อ
1
ปางปอ คนเมือง ไทลื้อ
1
ห้วยจ้อ ขมุ
2
ทุ่งคำ คนเมือง เย้า
2
ห้วยแล้ง ม้ง
2
ปางหัด ไทลื้อ
2
ยายเหนือ คนเมือง
3
ทุ่งทราย คนเมือง
3
โล๊ะ ไทลื้อ
2
ปางหัดใหม่ ไทลื้อ ลาว
3
ม่วง คนเมือง
4
ท่าข้าม ไทลื้อ
4
ขวากใต้ คนเมือง
2
พิทักษ์คีรี ม้ง
4
ห้วยลึก ลาว ม้ง
5
แจมป๋อง คนเมือง ลาว
5
ขวากเหนือ คนเมือง
3
ดอน ไทลื้อ
5
ยายใต้ คนเมือง
6
ห้วยเอียน ขมุ
5
ป่าตึง ม้ง ขมุ
3
กอก ไทลื้อ
6
ไทยสามัคคี ม้ง
5
ห้วยติ้ว ม้ง ขมุ
3
เจดีย์ทอง ม้ง
7
ไทยพัฒนา เย้า
6
วังผา ขมุ
4
หนองเตา เย้า
8
ไทยเจริญ ม้ง ลาว
5
ปอกลาง ไทลื้อ
9
ไทยสมบูรณ์ ม้ง
6
ผาแล คนเมือง
6
ผาแลใหม่ คนเมือง
7
ทรายทอง ม้ง
8
ห้วยคุ ม้ง
9
ห้วยหาน ม้ง
10
อยู่สุข มูเซอ อาข่า เย้า
11
ร่มโพธิ์เงิน ม้ง
12
ร่มฟ้าหลวง ม้ง
13
ฟ้าไทยงาม ม้ง
14
ผาตั้ง จีนฮ่อ
14
หนอง เย้า
15
ร่มฟ้าผาหม่น ม้ง
15
ร่มฟ้าสยาม ม้ง
16
ศิลาแดง ม้ง เย้า
17
ห้วยปอ ม้ง เย้า
18
ร่มฟ้าทอง ม้ง
19
สันติพัฒนา จีนฮ่อ
20
ห้วยกุ๊ก ม้ง

ประวัติการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

  • คนเมือง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2280 ได้มีราษฎรจำนวนประมาณ 50 ครัวเรือน อพยพมาจากจังหวัดแพร่ น่าน เชียงใหม่ และลำปาง โดยการนำของพระยาเตรียม ได้มาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่บ้านม่วง บ้านยาย และบ้านหลู้ เดิมเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2431 ได้จัดให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านตำบลให้เป็นระบบ และตั้งเป็นตำบลม่วงยาย โดยมีขุนม่วงยายยศเขต เป็นกำนันคนแรกและมีหมู่บ้านต่าง ๆ ได้แก่ บ้านหลู้ บ้านยาย บ้านม่วง หลังจากนั้นชุมชนขยายขึ้นจึงมีหมู่บ้านใหม่อีก ได้แก่ บ้านหล่ายงาว บ้านทุ่งทราย ตามลำดับ [1]
  • ไทลื้อ ชาวไทลื้อที่มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเวียงแก่น เคยอาศัยอยู่ที่เมืองลวง เมืองฮำ เมืองพงน้อย เมืองพงหลวง ในแคว้นสิบสองปันนา (ประเทศจีนในปัจจุบัน) ต่อมาได้เกิดการทำศึกสงครามกับพวกจีนฮ่อ จึงอพยพมาอยู่ที่บ้านนาไฮ เมืองน่านในปีไหนไม่ได้ระบุ และหลังจากนั้นก็ได้อพยพจากบ้านนาไฮเมืองน่านอีก มาอยู่ที่บ้านปอ บ้านน้ำโละ บ้านกลาง บ้านท่าข้าม ซึ่งมาอยู่แทนที่พลเมืองที่ติดตามเจ้ารำมะเสนจากเมืองน่าน จากนั้นเจ้ารำมะเสนอพยพไพร่พลของตนไปอยู่ที่เชียงของที่บ้านสถาน บ้านศรีดอนไชย และบ้านส้านในปัจจุบัน ส่วนลื้อที่มาจากบ้านนาไฮ เมืองน่าน (ไพร่พลที่ติดตามเจ้ารำมะเสน) แต่เดิมไม่ได้ขึ้นกับเมืองเชียงของ แต่ยังขึ้นกับทางเมืองน่านอยู่ จะมีการส่งส่วยให้กับทางเมืองน่านเป็นทองคำ คู่ละ 1 สลึง คนเปรียว (โสด) 1 บี้ (ครึ่งสลึง) ถ้าไม่มีทองคำก็ส่งเงิน 7 แถบ การส่งส่วยมาเลิกใช้เมื่อประมาณ ร.ศ.119 พ.ศ. 2443 ต่อจากนั้นไทลื้อที่มาจากบ้านนาไฮเมืองน่านก็ขึ้นกับเมืองเชียงของ [1]
ชาวเย้าในเขต ต.ปอ อ.เวียงแก่น
  • เย้า (เมี่ยน) เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ชาวเย้าได้ไปตั้งหลักแหล่งที่บ้านโล๊ะ พอการเคลื่อนไหวได้สงบลง หมู่บ้านหนองเตาได้ก่อตั้งขึ้น ชาวเย้าที่อาศัยอยู่มีด้วยกันสามตะกูลคือ แซ่ฟุ้ง (โล่ห์ปุ๋ง) แซ่เติ๋น (โล่ห์ตั่ง) และมีบางส่วนที่ แซ่จ๋าว(โล่ห์เจ๋ว) คำว่าหนองเตา ความเป็นมาคือ เมื่อก่อนมีหนองน้ำท้ายหมู่บ้านมีเต่าเยอะเลยตั้งชื่อว่า หนองเต่า (ข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในหมู่บ้าน) เดิมทีชื่อหมู่บ้านหนองเต่าเรียกไปเรียกมา เพี้ยนกลายเป็นหมู่บ้านหนองเตา [11]
  • ม้ง (แม้ว) ชาวม้ง เป็นชนเผ่าที่มีการกระจายมากที่สุด คืออาศัยอยู่ตั้งแต่ประเทศจีน พม่า ลาว และไทย มีต้นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวงสี และยูนนาน จัดอยู่ในกลุ่ม ธิเบต-พม่า อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมาทางประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดเลย และจังหวัดน่าน ในจังหวัดเชียงราย ชนเผ่าม้งอาศัยอยู่ในเขต 8 อำเภอ 12 ตำบล 50 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอเวียงแก่น ถือว่ามีชนเผ่าม้งเป็นประชากรที่มากที่สุดในอำเภอ โดยเฉพาะในเขตตำบลปอ ได้แก่ บ้านเจดีย์ทอง บ้านทรายทอง บ้านห้วยคุ บ้านห้วยหาน ฯลฯ [12]
  • จีนฮ่อ การอพยพเข้ามาของชาวจีนฮ่อที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น เริ่มจากการตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหญ่ ได้แก่ บ้านผาตั้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น และชุมชนดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก และตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยอพยพเข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2492 เนื่องจากจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2504 รัฐบาลไทยโดยการอำนวยการขององค์การสหประชาชาติได้อพยพกลุ่มทหารกลับไปยังประเทศไต้หวัน แต่ก็ยังมีชาวจีนบางส่วนทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนไม่ยอมอพยพกลับไป ยังคงอยู่ในจังหวัดเชียงราย รัฐบาลไทยได้ดำเนินการปลดอาวุธบุคคลเหล่านั้นและให้อยู่อาศัยในความควบคุมของฝ่ายปกครอง และกองบัญชาการทหารสูงสุด และได้ให้ชาวจีนจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง [13]
  • ขมุ ชาวขมุได้อพยพเข้ามาจากประเทศลาวที่อำเภอเวียงแก่นเป็นครั้งแรกที่บ้านห้วยจ้อ ตำบลม่วงยาย แล้วแตกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ไม่โยกย้ายไปไหน อีกกลุ่มโยกย้ายไปอยู่บ้านแป บ้านห้วยป่าซาง บ้านดู่ บ้านน้ำเหมือง สุดท้ายประมาณ ปี พ.ศ. 2513 ที่บ้านป่าตึง อำเภอเวียงแก่น โดยสาเหตุที่ของการโยกย้าย เนื่องจากกลัวภัยจากการเกิดสงครามซึ่งช่วงนั้นประเทศลาวยังอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศส และเป็นความเชื่อของชาวขมุที่ต้องมีการโยกย้ายที่อยู่อยู่เสมอ ต่อมาความเชื่อนี้จึงหมดไป ชาวขมุจึงตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่ที่เดิม [14]

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ[แก้]

ป้ายประตูสู่เวียงแก่น บ้านห้วยเอียน ตำบลหล่ายงาว ถือเป็นหมู่บ้านแรกเมื่อเดินทางเข้ามาถึงเขตอำเภอเวียงแก่น
เกาะแก่งหินในแม่น้ำโขง ทัศนียภาพที่สวยงามของแก่งผาได
  • จุดชมวิวแม่น้ำโขง บ้านห้วยเอียน จุดชมวิวบ้านห้วยเอียน ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยเอียน ตำบลหล่ายงาว เป็นจุดที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็น ทิวทัศน์ของประเทศลาวได้อย่างชัดเจน ทางเทศบาลตำบลหล่ายงาว และชาวตำบลหล่ายงาว ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและจุดพักชมวิว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียง ปัจจุบันมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น มีระเบียบจุดชมวิว มีห้องน้ำที่สะอาดไว้คอบบริการนักท่องเที่ยวทั่วไป [15]
  • โบราณสถานดงเวียงแก่น โบราณสถานดงเวียงแก่น ตั้งอยู่ที่บ้านม่วง ตำบลม่วงยาย ทางการเรียก ดงโบราณสถานเวียงแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีพันธุ์ไม้สมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย และยังปรากฏร่องรอยเมืองโบราณให้เห็นได้ เช่น ซุ้มกำแพงแก้ว ร่องรอยกำแพงเมือง ซากเจดีย์ ครอบเมือง เป็นต้น โบราณสถานแห่งนี้มีอายุกว่า 700 ปี เมื่อครั้งเจ้าหลวงเวียงแก่นปกครองเมือง และยังคงมีพิธีกราบไหว้เจ้าหลวง สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน สถานที่นี้นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 [16]
  • แก่งผาได แก่งผาได ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแก่น ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลม่วงยาย มีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ เป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ มองเห็นธรรมชาติที่สวยงามของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงน้ำลดน้อยลง ทำให้มองเห็นโขดหินที่โผล่พ้นแม่น้ำ ปกคลุมไปด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติ ประกอบกับอากาศที่บริสุทธิ์ มองเห็นฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง คือ ประเทศลาว แก่งนี้นอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้ว ยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งกำเนิดไก เช่นเดียวกับแก่งหินใต้น้ำ หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำและเล่นทรายของนกอีกด้วย และมีแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ คือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาคขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำในฤดูน้ำหลาก และโผล่เหนือน้ำในฤดูน้ำลดมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า ผาตั้ง ก็จะแวะมาท่องเที่ยวที่แก่งผาไดแห่งนี้ด้วย [17]
  • ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเวียงแก่น ที่บ้านห้วยแล้ง ตำบลท่าข้าม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถชมแปลงพืชผัก ไม้ผล และไม้ดอก โดยเฉพาะไม้ผลท้องถิ่นและเมืองหนาว เช่น สาลี่ ท้อ พลับ อโวกาโด เกาลัด โทมาเมโล มะม่วง ส้มโอ และมะนาว เป็นต้น นอกนั้นยังมีพืชไร่ คือ ถั่วชนิดต่างๆ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งถือกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสมถวิลจินตมัย ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ในโอกาสนั้น นายจงนึ่ง ศักดิ์สิทธานุภาพ ผู้ใหญ่บ้านห้วยแล้ง ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากโครงการหลวงเพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับราษฎรในพื้นที่เป็นการเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งจึงถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2542 โดยประธานมูลนิธิโครงการหลวงมอบหมายให้ ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี เป็นผู้อำนวยการจัดตั้งพื้นที่โครงการหลวงตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่อิงและป่างาว ความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 400-1,360 เมตร พื้นที่รับผิดชอบ 76.97 ตารางกิโลเมตร หรือ 48,310 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงขนาบข้างในแนวเหนือ-ใต้ มีที่ราบลุ่มกว้าง ความลาดชันของพื้นที่ปานกลาง มีลำน้ำสำคัญ อาทิ ห้วยกุ๊ก ห้วยล้าน ห้วยนาน้อย ห้วยหัด ฯลฯ อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 24.7 องศาเซลเซียส [18]
ทะเลหมอกยามเช้าบนดอยผาตั้ง
  • ดอยผาตั้ง ดอยผาตั้ง ตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง ตำบลปอ โดยหมู่บ้านผาตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร มีจุดชมวิวตามแนวชายแดนไทย-ลาว มีความสวยงามที่เป็นลักษณะเฉพาะของหมู่บ้านผาตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสภาพทะเลหมอกยามเช้า สายแม่น้ำโขงที่มองเห็นจากยอดดอยไหลคดเคี้ยวเข้าสู่ประเทศลาวไกลสุดสายตา กลิ่นอายธรรมชาติ อากาศเย็นสบายบริสุทธิ์ทุกฤดูกาล รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีการต้อนรับ และอาหารจีนที่ถูกรสนิยมของคนไทย จุดชมวิวและสถานทีสำคัญบริเวณดอยผาตั้ง ได้แก่
    • จุดชมวิวผาบ่องประตูสยาม เป็นหน้าผาหินขนาดใหญ่ตรงกลางเป็นเนินช่องเขาขนาดใหญ่เหมือนประตู เป็นช่องทางผ่านไปยังประเทศลาว
    • ศาลาอนุสรณ์นายพลหลี่ เป็นศาลารูปทรงจีน สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ สำหรับนายพล หลี่ เหวิน ฟาน อดีตผู้นำทางทหารจีนคณะชาติ กองพล 93
    • ป่าหินยูนาน มีลักษณะเป็นกลุ่มของก้อนหินทั้งเล็กและใหญ่รวมกัน ที่มาของชื่อเนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับป่าหินที่มลฑลยูนานประเทศจีน
    • จุดชมวิวช่องผาขาด เป็นจุดชมวิวที่อยู่ใกล้จุดชมวิวผาบ่องประตูสยามลักษณะเป็นหน้าผาหินที่ขาดออกจากกัน สามารถชมวิวทิวทัศน์ของประเทศลาวได้ และ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกตลอดทั้งปี
    • เนิน 102 เป็นเนินเขาลูกหนึ่ง บนดอยผาตั้ง เป็นจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมมากที่สุด สามารถชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้น – ลง ได้โดยรอบ
    • เนิน 103 เป็นเนินเขาอีกลูกหนึ่งบนดอยผาตั้ง ลักษณะบนเนิน 103 มีหินขนาดใหญ่อยู่บนเนิน เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,635 เมตร [19]

งานเทศกาลและประเพณีสำคัญ[แก้]

ดอกเสี้ยวบนบานดอยผาตั้ง
  • งานเที่ยวดอยผาตั้ง-ชมทะเลหมอก ดอกไม้บาน-สืบสานวัฒนธรรมชนเผ่า เป็นเทศกาลประจำปี ที่จัดบริเวณดอยผาตั้ง บ้านผาตั้ง ตำบลปอ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคมของทุกปี จุดเด่น คือ มีการแสดงของชนเผ่าม้ง เย้า ไทลื้อ จีน ชิมอาหารจีนยูนาน ชมดอกซากุระบานและดอกไม้เมืองหนาวบนดอยผาตั้ง [20]
  • งานบวงสรวงเจ้าหลวงเวียงแก่น เป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณโบราณสถานดงเวียงแก่น ในช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อบวงสรวงเจ้าหลวงเวียงแก่น โดยอัญเชิญเจ้าหลวงมาประทับทรงและสอบถามความเป็นอยู่ของชุมชนในอำเภอเวียงแก่น ในพิธีจะมีการจัดเครื่องบูชาและมีการฟ้อนรำถวายแบบล้านนา [21]
ขบวนรถประกวดธิดาส้มโอเวียงแก่นในงานเทศกาลส้มโอและของดีอำเภอเวียงแก่น
  • งานเทศกาลส้มโอและของดีอำเภอเวียงแก่น เป็นงานเทศกาลประจำปีที่จัดบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น บ้านม่วง ตำบลม่วงยาย ระหว่างปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายนของทุกปี โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่น เพื่อเผยแพร่ผลผลิตส้มโอ ซึ่งอำเภอเวียงแก่นมีพื้นที่การปลูกส้มโอ ประมาณ 4,000 ไร่ มีต้นส้มโอมากถึง 11,000 ต้น เป็นแหล่งตลาดภายในประเทศหลายจังหวัด และส่งออกไปยังยุโรปและจีนเป็นหลัก ภายในงานยังมีการจัดประกวดธิดาส้มโอ การประกวดส้มโอทุกสายพันธุ์ ขบวนแห่ การแสดงของศิลปินและกิจกรรมบันเทิง [22]
  • พิธีเลี้ยงปางแปด เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทลื้อ เป็นการอัญเชิญเจ้าป่าเจ้าเขาให้มาปกปักษ์รักษาพืชผลที่ทำการเพาะปลูกไว้ จัดในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี [19]
  • พิธีถวายหนังแดง เป็นพิธีขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก จัดขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี [19]
  • ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นประเพณีที่ชาวม้งจะมารวมตัวกันเพื่อพบปะญาติพี่น้องและมีกิจกรรมการละเล่น เช่น การโยนลูกช่วง การตีลูกข่าง การตีลูกขนไก่ การแข่งขันชนวัว เป็นต้น โดยจะจัดในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ของทุกปี [19]
  • ประเพณีตรุษจีนและสารทจีน เป็นประเพณีของชาวจีนฮ่อหรือจีนคณะชาติ มีการละเล่น เช่น การเชิดสิงโต จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี [19]
  • ประเพณีปีใหม่อาข่า จะมีการโล้ชิงชา จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี [19]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ประวัติอำเภอเวียงแก่น". สืบค้นเมื่อ 2013-01-11.[ลิงก์เสีย]
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย" (PDF).
  3. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่น" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2013-03-24.
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลให้ท้องที่อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง และกิ่งอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย" (PDF).
  5. "พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอแก่งหางแมว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่วาง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอบ่อเกลือ อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอห้วยราช อำเภอแม่ลาน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอยางสีสุราช อำเภอจังหาร อำเภอบ้านธิ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบางกล่ำ อำเภอวังม่วง และอำเภอนายูง พ.ศ. 2538" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2013-03-24.
  6. "อำเภอเวียงแก่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ pop
  8. จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดเชียงราย ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  9. "ข้อมูลท้องถิ่นอำเภอเวียงแก่น". สืบค้นเมื่อ 2013-01-11.[ลิงก์เสีย]
  10. "ข้อมูลทั่วไปและสภาพพื้นฐานองค์การบริหารส่วนตำบลปอ" (PDF).
  11. "ชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) - หมู่บ้านหนองเตา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-01-11.
  12. "ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม".
  13. "การปรับตัวของชาวจีนฮ่อในจังหวัดเชียงราย" (PDF).[ลิงก์เสีย]
  14. "ข้อมูลพื้นบ้านชาวขมุ บ้านป่าตึงและบ้านห้วยจ้อ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย".[ลิงก์เสีย]
  15. "ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม".
  16. "โบราณสถานดงเวียงแก่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2022-03-08.
  17. "ข้อมูลและรายละเอียดของแก่งผาได".
  18. "ข้อมูลและรายละเอียดของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง".
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 19.5 "ข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลปอ".[ลิงก์เสีย]
  20. "งานเที่ยวดอยผาตั้ง-ชมทะเลหมอก ดอกไม้บาน-สืบสานวัฒนธรรมชนเผ่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  21. "งานบวงสรวงเจ้าหลวงเวียงแก่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2022-03-08.
  22. "เชียงรายโฟกัส เทศกาลส้มโอเวียงแก่น".[ลิงก์เสีย]