อาหารปลาสวยงาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลักษณะอาหารปลาประเภทต่าง ๆ

อาหารปลาสวยงาม เป็นอาหารสำเร็จรูปที่แปรรูปจากวัตถดิบประเภทต่าง ๆ สำหรับการเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งไม่นับรวมถึงอาหารสด อันได้แก่ ไรทะเล ไรแดง ลูกน้ำ กุ้งฝอย ปลาเหยื่อขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ หรือแมลง

อาหารปลา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อาหารสำหรับปลากินพืช และอาหารสำหรับปลากินเนื้อ โดยมีสารอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร เหล็ก ไขมัน รวมถึงปริมาณของความชื้น บรรจุในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยที่อาหารสำหรับปลากินเนื้อนั้น จะมีโปรตีนผสมอยู่คิดเป็นร้อยละ 25-30 สูงกว่าปลาประเภทกินพืช ในขณะที่ปลากินพืช ในบางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของสาหร่ายสไปรูลีนาเพื่อช่วยในการเร่งสีของปลา และยังแตกต่างกันไปตามประเภทลักษณะการหากินของปลาหรือสัตว์น้ำแต่ละชนิดอีกด้วย

ประเภทของอาหาร[แก้]

  • อาหารแบบเม็ดกลม (Round Pellets)

เป็นอาหารประเภทที่คุ้นเคยมากที่สุด มีลักษณะเป็นแบบเม็ดกลม เหมาะสมสำหรับปลาแทบทุกประเภทที่เป็นปลาสวยงามส่วนใหญ่ เช่น ปลาคาร์ป ปลาทอง ปลาหมอสี กรรมวิธีการผลิตนั้น เริ่มจากการทำให้วัตถุดิบสุกด้วยความร้อน จากนั้นจึงผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยเครื่องจักรสำหรับบดอาหาร และอบภายใต้อุณหภูมิสูง ซึ่งการผลิตอาหารประเภทนี้จะทำให้โปรตีนและแป้งที่รวมกันเป็นเนื้อเดียวจับตัวกันได้ มีความนุ่ม เม็ดอาหารมีความสม่ำเสมอ และป้องกันการสูญเสียคุณค่าทางอาหารเมื่ออยู่ในน้ำ

  • อาหารเม็ดแบบนิ่ม (Sponge Type Diets)

อาหารแบบนี้จะแตกต่างจากประเภทแรก ตรงที่มีช่องว่างและเพิ่มปริมาณอากาศในเม็ดอาหารสูง เมื่ออาหารอยู่ในน้ำจะดูดซับน้ำได้เร็วเหมือนฟองน้ำ ทำให้นุ่มนิ่ม เหมาะสำหรับการให้กับปลาประเภทกินเนื้อเป็นอาหาร ซึ่งมีความยากในการที่จะฝึกให้กินอาหารแบบสำเร็จรูป

  • อาหารเม็ดแบบแผ่นกลม (Disk Type Diets)

เป็นอาหารที่มีรูปร่างเป็นแผ่นกลม ผลิตขึ้นมาเพื่อสำหรับปลาประเภทที่หากินตามหน้าดิน เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาแพะ เป็นต้น

  • อาหารเม็ดแบบแข็ง (Hard Type Diets)

เป็นอาหารที่มีอากาศอยู่ในช่วงว่างภายในเม็ดน้อยมาก ถูกออกแบบมาให้มีความคงทนของสภาพเมื่ออยู่ในน้ำ โดยจะละลายช้า ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย เหมาะสำหรับสัตว์น้ำประเภทที่แทะเล็มอย่างช้า ๆ เช่น เครย์ฟิช ปูเสฉวน ปูชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

  • อาหารชนิดแบบเม็ดเล็ก (Granular Type)

เป็นอาหารเม็ดกลมที่มีขนาดเล็กกว่าอาหารประเภทแรก ผลิตโดยใช้วิธีการอุ่นวัตถุดิบแต่ละชนิด จากนั้นจึงบดเป็นผงละเอียด แล้วนำมาผสมรวมกันเป็นเม็ดเล็ก ๆ ด้วยกรรมวิธีแบบพิเศษ เคลือบด้วยสารเคลือบบาง ๆ เพื่อรักษาคุณค่าสารอาหาร มีลักษณะที่นุ่ม ปลากินได้ง่าย มีคุณค่าทางสารอาหารสูง เหมาะสำหรับปลาที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาหางนกยูง ปลานีออน ปลาซิว เป็นต้น

  • อาหารแผ่น (Granular Type)

เป็นอาหารแบบแผ่นอบแห้ง ผลิตโดยนำวัตถุดิบมาทำให้เป็นเยื่อบาง ๆ พ่นด้วยส่วนผสมที่เป็นของเหลว เมื่อของเผลวผสมกับอาหารที่เป็นเยื่อบางจะขยายตัวและแปรรูปเป็นแผ่น จากนั้นนำไปอบแห้งด้วยอุณหภูมิความร้อนสูง ซึ่งจะมีความนุ่มกว่าอาหารแบบเม็ด เหมาะสำหรับปลาที่มีปากขนาดเล็ก และเลี้ยงในตู้ที่มีปลาหลากหลายต่างชนิดกัน ซึ่งอาหารประเภทนี้สนนราคาขายจะแพงกว่าอาหารประเภทอื่น และมักบรรจุลงในภาชนะที่เป็นขวดพลาสติก

  • อาหารแช่แข็งอบแห้ง (Freeze Dried Food)

ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ ไรทะเล ผ่านกระบวนการการแช่งแข็งอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นนำไปอบแห้งด้วยระบบสุญญากาศ แล้วนำออกมาเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาหารแช่แข็งอบแห้งนั้นสามารถเก็บรสชาติอาหารตลาดจนคุณค่าทางสารอาหาร รวมถึงวิตามินดั้งเดิมไว้ได้ครอบถ้วนเหมือนอาหารสด [1]

อาหารปลายี่ห้อต่าง ๆ

สำหรับยี่ห้อของอาหารปลานั้น มีด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ ทั้งที่ผลิตเองในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ซากุระ หรือ โอซาก้า ที่ผลิตในประเทศ โดยบริษัท ซีพี ฮิคาริ ที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น เตตรา ที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี เป็นต้น

ซึ่งหลักการให้อาหารปลาแบบสำเร็จรูปนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใด ควรให้ปลากินให้หมดภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทำให้น้ำเน่าเสียได้ และความถี่ของการให้นั้นไม่ควรให้ในปริมาณที่มาก แต่ควรจะให้แต่พอประมาณ แต่แบ่งเป็นมื้อ ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งวันเหมือนมื้ออาหารของมนุษย์จะดีที่สุด [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. คอลัมน์ ปลาที่คุณรัก...ชอบแบบไหน...?!? โดย สุปรีชา กลิ่นพูน หน้า 54-55 นิตยสาร อวาเรี่ยมบิส ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ISSN 19069243
  2. หนังสือคู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล (พ.ศ. 2540) ISBN 974-86869-5-7