อองจี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาวจี)
อองจี้
‌အောင်ကြီး
陈旺枝
ประธานสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน ค.ศ.1988 – 3 ธันวาคม ค.ศ.1988
ก่อนหน้าก่อตั้งตำแหน่ง
ถัดไปTin Oo
สมาชิกRevolutionary Council of Burma
ดำรงตำแหน่ง
2 มีนาคม ค.ศ.1962 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1963
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ Ba Nyein, Tin Pe
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1919
Paungde, พม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
เสียชีวิต25 ตุลาคม ค.ศ. 2012(2012-10-25) (93 ปี)
Mayangone Township, ย่างกุ้ง, ประเทศเมียนมาร์
สาเหตุการเสียชีวิตภาวะหัวใจล้มเหลว
เชื้อชาติพม่า
คู่สมรสMu Mu Thein
บุตรลูก 4 คน
อาชีพนักการเมือง (1963–2012); รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (จนถึงปีค.ศ.1963)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ประเทศพม่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
สังกัดกองทัพบกพม่า
ประจำการค.ศ.1948–1963
ยศพลจัตวา
หน่วย4th Burma Rifles
บังคับบัญชาWestern Regional Military Command
ผ่านศึกการกบฏโรฮีนจาในพม่าตะวันตก

พลจัตวา อองจี้ (พม่า: အောင်ကြီး) เป็นทหารที่เคยใกล้ชิดกับนายพลเนวี่น ได้เป็นรองประธานสภาปฏิวัติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2505 ก่อนจะถูกปลดใน พ.ศ. 2506 เขามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งใน พ.ศ. 2531 เมื่อเขาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเนวี่น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลจนนำไปสู่การจลาจลในปีนั้น

อองจี้เกิดเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 ที่เมืองป้องเด เขาเป็นทหารในกองทัพแห่งชาติพม่า อยู่ใต้การบังคับบัญชาของอองซานในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่พม่าได้รับเอกราช เขาไปประจำที่กองพลปืนเล็กที่ 4 ที่มีเนวี่นเป็นผู้บังคับบัญชา และได้เข้าร่วมในรัฐบาลชั่วคราวของเนวี่นใน พ.ศ. 2501 หลังจากที่เนวี่นยึดอำนาจใน พ.ศ. 2505 อองจี้อยู่ในฐานะผู้ช่วยคนสำคัญของเนวี่น แต่หลังจากที่เขาคัดค้านนโยบายของเนวี่นเกี่ยวกับการยึดกิจการทุกอย่างเป็นของรัฐ อองจี้จึงถูกปลดออกจากกองทัพใน พ.ศ. 2506 และถูกคุมขังอยู่ช่วงหนึ่ง อองจี้ถูกจับกุมอีกครั้งใน พ.ศ. 2508 ในข้อหาทำกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง และถูกจำคุก 3 ปี และใน พ.ศ. 2516 ถูกตัดสินจำคุกอีก 1 ปี หลังจากพ้นโทษ อองจี้ไปเปิดร้านน้ำชาในย่างกุ้ง และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

ต่อมาใน พ.ศ. 2531 หลังจากที่รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามการจลาจลอย่างรุนแรง เขาจึงเขียนจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์การผิดพลาดในการบริหารงานของเนวี่นหลายฉบับ เนวี่นลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 และนายพลเซน-ลวีน ขึ้นครองตำแหน่งแทน อองจี้ถูกจับขังคุกในเดือนกรกฎาคมนี้ ต่อมา ในวันที่ 15 สิงหาคม มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ ดร.มองมอง และได้ปล่อยอองจี้เป็นอิสระ จนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาลของมองมองในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2531 และจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของรัฐหรือสลอร์กขึ้นบริหารประเทศ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพ.ศ. 2533 อองจี้ได้ร่วมมือกับอองซานซูจีและทินอู้จัดตั้งสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย โดยในตอนแรก อองจี้เป็นประธานพรรค แต่เมื่อประชาชนชื่นชมอองซานซูจีมาก อองจี้จึงลาออกจากประธานพรรค กล่าวหาว่าผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นคอมมิวนิสต์ และออกมาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่คือพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติ

ผลการเลือกตั้งเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 พรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติได้รับเลือกเพียง 1 ที่นั่ง และอองจี้ไม่ได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม สลอร์กไม่ยอมเปิดประชุมสภาและครองอำนาจต่อไป อองจี้ได้ประกาศยุบพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 และประกาศวางมือจากการเมือง เขาเสียชีวิตเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ด้วยโรคหัวใจ[1]

อ้างอิง[แก้]

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. "อาวจี" ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 283–285.
  1. Nyein Nyein (26 October 2012). "Former Junta No. 2 Aung Gyi Dies Aged 94". The Irrawaddy. สืบค้นเมื่อ 25 October 2012.