อามีร์ ชารีฟุดดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อามีร์ ซารีฟุดดิน)
อามีร์ ชารีฟุดดิน
นายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียคนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 – 29 มกราคม พ.ศ. 2491
ก่อนหน้าซูตัน ชะฮ์รีร์
ถัดไปโมฮัมมัด ฮัตตา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 เมษายน พ.ศ. 2450
เมดัน, สุมาตราเหนือ, หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
เสียชีวิต19 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (41 ปี)
ซูราการ์ตา, ชวากลาง, อินโดนีเซีย
ศาสนาศาสนาคริสต์
พรรคการเมืองพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย

อามีร์ ชารีฟุดดิน ฮาราฮัป (อินโดนีเซีย: Amir Sjarifuddin Harahap, Amir Sjarifoeddin Harahap) เป็นนักชาตินิยมอินโดนีเซียผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2490–2491

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

อามีร์เกิดที่เมืองเมดัน เกาะสุมาตรา เดิมนับถือศาสนาอิสลาม แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ จัดเป็นผู้เคร่งศาสนาคนหนึ่ง เขาสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจาการ์ตาเมื่อ พ.ศ. 2476 เขาสนใจการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นผู้นำองค์กรชาตินิยมที่เรียกว่าปาร์ตินโด และเป็นผู้ร่วมตั้งขบวนการประชาชนอินโดนีเซียหรือเกรินโด องค์การนี้ต้องการเป็นเอกราชแต่ยินดีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอาณานิคมเพื่อต่อต้านฟาสซิสต์

ญี่ปุ่นยึดครอง[แก้]

หลังจากญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นพยายามหาเสียงสนับสนุนจากชาวอินโดนีเซีย ซึ่งผู้นำขบวนการชาตินิยมบางคน เช่น โมฮัมมัด ฮัตตา, ซูการ์โน เป็นต้น ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่อามีร์ไม่ให้ความร่วมมือ เขาตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากเนเธอร์แลนด์ การดำเนินการของขบวนการดังกล่าวไม่ได้ผล เพราะญี่ปุ่นสืบทราบเสียก่อน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 อามีร์และพวกก็ถูกทหารญี่ปุ่นจับ หลายคนถูกประหารชีวิต แต่ฮัตตาและซูการ์โนได้ขอให้ผ่อนผัน อามีร์จึงถูกจำคุกจนสิ้นสุดสงคราม

นายกรัฐมนตรี[แก้]

หลังจากที่ซูการ์โนและฮัตตาประกาศตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 อามีร์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศ ต่อมาอามีร์กับซูตัน ชะฮ์รีร์ได้ยึดอำนาจจากซูการ์โน ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อล้มล้างภาพของผู้นำรัฐบาลที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่น อามีร์นั้นได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารนิเทศและกระทรวงกลาโหม

ในสมัยรัฐบาลของชะฮ์รีร์ ได้ออกกฎหมายพรรคการเมือง ทำให้มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียนจำนวนมาก รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียด้วย แต่อามีร์ไม่ได้เปิดเผยตัวว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อามีร์ได้จัดตั้งกองกำลังสารวัตรทหารที่จงรักภักดีต่อเขา และพยายามสร้างกองทัพอินโดนีเซียตามแบบกองทัพแดงของรัสเซีย ทำให้ทหารที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจอามีร์เท่าใดนัก

ปัญหาของอินโดนีเซียหลังสงครามคือเนเธอร์แลนด์ไม่ต้องการรับรองเอกราชของอินโดนีเซีย และพยายามส่งทหารเข้ามา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 ชะฮ์รีร์ได้ลอบเจรจากับเนเธอร์แลนด์ ให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียมีอำนาจปกครองเกาะชวา มาดูรา และสุมาตรา เกาะอื่นๆให้อยู่ในอำนาจของเนเธอร์แลนด์ และจะตั้งสหพันธรัฐอินโดนีเซียในสหภาพเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซีย เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ชาวอินโดนีเซียผิดหวังมากจนชะฮ์รีร์ต้องลาออกและอามีร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490

ทันทีที่อามีร์ขึ้นรับตำแหน่ง ปัญหาที่ต้องเผชิญคือการสู้รบกับเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์บุกเข้าโจมตีชวา มาดูรา และสุมาตรา แม้จะรุกคืบไปได้อย่างรวดเร็ว แต่เนเธอร์แลนด์ก็เผชิญแรงกดดันจากสหรัฐและสหประชาชาติให้พักรบ และลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 โดยกำหนดเส้นสมมุติตามแนวการรุกคืบของเนเธอร์แลนด์ และให้เนเธอร์แลนด์ได้ดินแดนหลังเส้นนี้ ซึ่งคิดเป็นสองในสามของเกาะ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ อามีร์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เสียชีวิต[แก้]

หลังจากพ้นจากตำแหน่ง อามีร์เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และพยายามจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยประชาชนเพื่อนัดหยุดงานและก่อการจลาจลภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 ที่เมืองมาดีอูน โดนอามีร์นำกองทหารของตนเองเข้าร่วมด้วย ฝ่ายสาธารณรัฐสั่งปราบปรามอย่างเด็ดขาดจนกลายเป็นการสู้รบที่นองเลือด มีคนเสียชีวิตเป็นพันคน ในที่สุด กองกำลังของอามีร์ที่พยายามหนีเข้าในเขตอิทธิพลของเนเธอร์แลนด์ถูกจับได้ อามีร์ถูกประหารชีวิตเมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2491

อ้างอิง[แก้]

สุกัญญา บำรุงสุข. "อามีร์ ซารีฟุดดิน." ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539, หน้า 132–135.