อาการหลงผิดคะกราส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาการหลงผิดคะกราส์
ชื่ออื่นCapgras syndrome
การออกเสียง
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์
อาการDelusion that familiar people or pets have been replaced by identical imposters; aggression with the person suspected as an imposter
ภาวะแทรกซ้อนความรุนแรง, การฆ่าคน
สาเหตุUncertain; exacerbated by head injury
ปัจจัยเสี่ยงNeuroanatomical damage, schizophrenia
การป้องกันไม่ทราบ
การรักษาNo cure; therapy generally used
ยายาระงับอาการทางจิต

อาการหลงผิดคะกราส์ (อังกฤษ: Capgras delusion) หรือ กลุ่มอาการคะกราส์ (อังกฤษ: Capgras syndrome, /ka·'grɑ:/)[2][3]เป็นความผิดปกติที่บุคคลหลงผิดว่า เพื่อน คู่สมรส บิดามารดา หรือสมาชิกสนิทในครอบครัว มีการทดแทนด้วยตัวปลอมที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน อาการหลงผิดคะกราส์จัดว่าเป็นกลุ่มอาการระบุผิดเพราะหลงผิด (delusional misidentification syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มของความเชื่อแบบหลงผิด ที่คนไข้ระบุบุคคล สถานที่ หรือวัตถุ แบบผิด ๆ (โดยปกติไม่ร่วมกัน)[4] ภาวะนี้สามารถเกิดเป็นแบบเฉียบพลัน แบบชั่วคราว หรือแบบเรื้อรังก็ได้ และมีแม้แต่กรณีที่คนไข้เชื่อว่า กาลเวลามีการบิดเบือนหรือมีการทดแทน

อาการนี้มักจะเกิดขึ้นในคนไข้โรคจิตเภทแบบหวาดระแวง (paranoid schizophrenia) แต่ก็เกิดขึ้นด้วยในคนไข้ที่มีความเสียหายในสมอง[5] และที่มีภาวะสมองเสื่อม[6] ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในบุคคลที่มีโรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) โดยเฉพาะในวัยชรา[7] ภาวะนี้มีรายงานด้วยว่าเกิดขึ้นสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย และโรคไมเกรน[8] ที่พิเศษในกรณีหนึ่งก็คือ อาการนี้เกิดขึ้นในคนปกติอย่างชั่วคราว เพราะยาระงับความรู้สึกเคตามีน[9] ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในหญิง โดยอัตราส่วนผู้หญิงต่อผู้ชาย เป็น 3 ต่อ 2 [10]

ข้อมูลที่ได้รวบรวมจากผู้มีอาการหลงผิดคะกราส์ อาจจะมีผลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้ใบหน้า และประสาทกายวิภาค ของทั้งบุคคลปกติและของคนไข้ผู้มีอาการนี้[4]

ประวัติ[แก้]

กลุ่มอาการคะกราส์มีชื่อตามโจเซ็ฟ คะกราส์ (ค.ศ. 1873–1950) แพทย์จิตเวชชาวฝรั่งเศส ผู้ได้พรรณนาถึงความผิดปกตินี้เป็นคนแรก ในปี ค.ศ. 1923 ในผลงานวิจัยที่เขียนร่วมกับชอน เรอโบล-ลาชอซ์[11] ที่กล่าวถึงกรณีของหญิงชาวฝรั่งเศสชื่อว่า นางเอ็ม (Mme M.) ผู้ที่บ่นว่า คนตัวปลอมได้เข้ามาแทนที่สามีของเธอและคนอื่น ๆ ที่เธอรู้จัก[5] คะกราส์และเรอโบล-ลาชอซ์ได้เริ่มต้นเรียกอาการเหล่านี้ว่า "อาการหลอนเห็นตัวปลอม" (ฝรั่งเศส: l’illusion des sosies)[12]

กลุ่มอาการคะกราส์ได้รับการพิจารณาในยุคต้น ๆ ว่า เป็นโรคทางจิตเวช คือ เป็นอาการของโรคจิตเภท และเป็นโรคในหญิงเท่านั้น (แม้ว่า ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ไม่ใช่เป็นแบบนี้[13]) โดยเป็นอาการของโรคฮิสทีเรีย คำอธิบายเกี่ยวกับกลุ่มอาการคะกราส์ที่ได้รับการเสนอหลังจากคำอธิบายของคะกราส์และเรอโบล-ลาชอซ์ เป็นคำอธิบายทางจิตเวชโดยมาก เมื่อมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 เท่านั้น ที่ความสนใจในเหตุเกิดของกลุ่มอาการคะกราส์จึงเริ่มเปลี่ยนไปยังรอยโรคในสมอง ซึ่งความจริงปรากฏร่วมกับโรคมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ได้รับการพิจารณาว่า ไม่มีความสัมพันธ์ หรือเป็นความบังเอิญเท่านั้น ทุกวันนี้ เราเข้าใจกลุ่มอาการคะกราส์แล้วว่า เป็นความผิดปกติทางประสาท ซึ่งอาการหลงโดยหลักเกิดขึ้นจากรอยโรค หรือความเสื่อมในสมอง[14]

อาการปรากฏ[แก้]

กรณีศึกษา 2 กรณีเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของอาการหลงผิดคะกราส์ในจิตเวชศาสตร์ ได้แก่

  • จากงานของพาซเซอร์และวอร์น็อค ปี ค.ศ. 1991[15]

    นางดี ผู้เป็นแม่บ้านวัย 74 ปี ที่เร็ว ๆ นี้เพิ่งออกจากโรงพยาบาลในพื้นที่ หลังจากที่ได้การรับเข้าโรงพยาบาลเพราะเหตุจิตเวช ได้มาที่ศูนย์ของเราเพื่อหาความเห็นที่สอง[16] หลังจากได้การรับเข้าโรงพยาบาลแรก เธอได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคจิตนอกแบบ เพราะความเชื่อของเธอว่า ชายอีกคนหนึ่งผู้ไม่มีความสัมพันธ์กันได้เข้ามาทดแทนสามีของเธอ เธอได้ปฏิเสธที่จะนอนร่วมกับชายตัวปลอมนั้น ได้ล็อกประตูห้องนอนของเธอในยามวิกาล ได้ขอปืนจากบุตรชายของเธอ และในที่สุด ได้ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จะพาเธอไปเข้าโรงพยาบาล ในบางครั้งบางคราวเธอก็เชื่อว่า สามีของเธอเป็นบิดาของเธอที่สิ้นชีวิตไปนานแล้ว เธอสามารถรู้จำสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ ยกเว้นสามีของเธอเท่านั้น

  • จากงานของซิ๊งก์แมน ปี ค.ศ 2008[17]

    ไดแอนเป็นหญิงวัย 28 ปี ผู้หมอพบเพื่อการประเมินเพื่อเตรียมตัวให้ออกจากโรงพยาบาลจิตเวช นี่เป็นการเข้าโรงพยาบาลเพราะเหตุจิตเวชของเธอเป็นครั้งที่ 3 ภายใน 5 ปี ไดแอนเป็นคนขี้อายและไม่สังสรรค์กับใคร และเพิ่งจะปรากฏอาการโรคจิตเมื่อมาถึงวัย 23 ปี หลังจากที่ได้รับการตรวจโดยแพทย์ประจำตัว เธอจึงเริ่มเกิดความวิตกกังวลว่า แพทย์ของเธออาจจะทำความเสียหายภายในแก่เธอ และเธออาจจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ อาการของเธอดีขึ้นเมื่อได้รับการเยียวยารักษาสำหรับโรคจิต แต่แย่ลงหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วเพราะไม่ยอมทานยา เมื่อเธอเข้าโรงพยาบาลอีก 8 เดือนหลังจากนั้น เธอจึงเริ่มมีอาการหลงผิดว่า มีชายผู้หนึ่งกำลังก๊อปปี้ "จอหนัง" ของบุคคลต่าง ๆ และเขาได้ก๊อปปี้จอหนังสองจอที่เป็นของเธอ จอหนึ่งนิสัยชั่วร้าย และจอหนึ่งนิสัยดี เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทพร้อมทั้งอาการหลงผิดคะกราส์ เธออยู่ในสภาพแต่งตัวไม่เรียบร้อย และมีจุดบนหนังศีรษะของเธอที่ไม่มีผม เพราะเหตุแห่งการทำร้ายตัวเอง

ส่วนกรณีต่อมานี้เป็นตัวอย่างของอาการหลงผิดคะกราส์ที่เกิดจากโรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease)

  • จากงานของลูค์เชลลีและสปินน์เลอร์ ปี ค.ศ 2007[18]

    เฟร็ด ชายวัย 58 ปีผู้มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย ได้มาเพื่อการตรวจสอบทางประสาทและทางประสาทจิตวิทยา เพราะมีความผิดปกติในการรับรู้และในพฤติกรรม เขาได้ทำงานเป็นหัวหน้าของหน่วยงานเล็ก ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านพลังงานจนกระทั่งถึงเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ประวัติทางเวชศาสตร์และจิตเวชของเขาไม่มีอะไรผิดปกติ ... ภรรยาขอเฟร็ดรายงานว่า ภายใน 15 เดือนจากที่เริ่มมีอาการผิดปกติ เฟร็ดเริ่มเห็นเธอเป็นตัวปลอม ปรากฏการณ์นี้ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อหลังจากที่กลับมาบ้าน เฟร็ดถามเธอว่า วิลมาอยู่ที่ไหน หลังจากการตอบของเธอว่า เธออยู่ที่นี่ไง ที่ทำให้เฟร็ดแปลกใจ เขาก็ปฏิเสธอย่างเป็นจริงเป็นจังว่า เธอไม่ใช่วิลมาภรรยาของเขา ผู้ที่เขารู้จักเป็นอย่างดีในฐานะมารดาของบุตรของเขา และยังกล่าววิจารต่อไปอย่างปกติธรรมดาว่า วิลมาคงจะออกไปข้างนอก และเดี๋ยวคงจะกลับมาภายหลัง ... เฟร็ดมีความเสื่อมลงของการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว และนอกจากความเสื่อมทางการรับรู้แล้ว ก็ยังปรากฏอาการทางประสาทจิตวิทยา ที่มีความปั่นป่วนของการใช้ภาษาเป็นอาการเด่น ซึ่งบอกเป็นนัยถึงความผิดปกติทางกิจบริหารของสมองกลีบหน้า ความบกพร่องทางการรับรู้ของเขาไปสุดด้วยกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสียหายอย่างรุนแรงและกว้างขวางของสมองส่วนหน้า

เหตุ[แก้]

มีการเห็นพ้องกันโดยทั่ว ๆ ไปว่า อาการหลงผิดคะกราส์มีมูลฐานที่ซับซ้อนในสมอง และจะสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า โดยวิธีการตรวจสอบความเสียหายทางประสาทกายวิภาค ที่สัมพันธ์กับกลุ่มอาการ[19]

หลักฐานแรก ๆ ที่อาจจะชี้เหตุที่ก่อให้เกิดอาการนี้ มาจากงานวิจัยของคนไข้บาดเจ็บทางสมองผู้เกิดมีภาวะไม่รู้ใบหน้า (prosopagnosia) ผู้ไม่มีการรับรู้ใบหน้าแบบเหนือสำนึก ถึงแม้ว่าจะสามารถรู้จำวัตถุทางตาประเภทอื่น ๆ ได้ แต่ว่า งานวิจัยปี ค.ศ. 1984 ของเบาเออร์กลับแสดงว่า ถึงแม้ว่าการรู้จำใบหน้าเหนือสำนึกจะบกพร่อง คนไข้ภาวะนี้กลับแสดงความเร้าทางประสาทที่เกิดขึ้นโดยไม่สมัครใจ (วัดโดยการนำไฟฟ้าของผิวหนัง) เมื่อเห็นใบหน้าของคนที่คุ้นเคย[20] เป็นผลงานวิจัยที่บอกเป็นนัยว่า มีวิถีประสาทสองทางในการรู้จำใบหน้า คือวิถีเหนือสำนึกและวิถีใต้สำนึก

ในบทความปี ค.ศ. 1990 ที่พิมพ์ใน วารสารจิตเวชศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษ (British Journal of Psychiatry) นักจิตวิทยาเฮเด็น เอ็ลลิส และแอนดี้ ยัง ได้ตั้งสมมุติฐานว่า คนไข้อาการหลงผิดคะกราส์อาจจะมีภาวะตรงกันข้ามกันกับภาวะไม่รู้ใบหน้า คือว่า ในอาการหลงผิดคะกราส์ ความสามารถเหนือสำนึกเพื่อรู้จำใบหน้าไม่มีความเสียหาย แต่อาจจะมีความเสียหายในระบบที่ก่อให้เกิดความเร้าความรู้สึกโดยอัตโนมัติ (คือไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ) ต่อใบหน้าที่มีความคุ้นเคย[21] ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่คนไข้สามารถรู้จำบุคคลได้ แต่กลับมีความรู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติในบุคคลนี้ ในปี ค.ศ. 1997 เฮเด็น เอ็ลลิสและคณะ ได้พิมพ์ผลงานวิจัยในคนไข้ 5 คนที่มีอาการหลงผิดคะกราส์ ผู้ล้วนแต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท เอ็ลลิสได้รับรองยืนยันสมมุติฐานของตนว่า ถึงแม้ว่า คนไข้จะสามารถรู้จำใบหน้าโดยจิตเหนือสำนึก แต่กลับไม่แสดงความเร้าทางความรู้สึกที่ควรแสดง[22] คือ คนไข้แสดงความรู้สึกอัตโนมัติเหมือนกับเจอกับคนแปลกหน้า ส่วนงานวิจัยของยัง (ค.ศ. 2008) ได้ตั้งสมมุติฐานว่า คนไข้ที่มีโรคนี้สูญเสียความคุ้นเคย ไม่ใช่บกพร่องความคุ้นเคย[23]

วิลเลียม เฮอร์สไตน์ และรามะจันทรัน รายงานการค้นพบที่คล้าย ๆ กัน ในบทความตีพิมพ์เกี่ยวกับคนไข้คนเดียว ที่มีอาการหลงผิดคะกราส์ หลังจากเกิดความบาดเจ็บในสมอง[24] รามะจันทรันได้กล่าวถึงกรณีนี้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Phantoms in the Brain (แฟนตอมในสมอง)[25] และบรรยายเรื่องนี้ไว้ในงานประชุม TED 2007[26] เนื่องจากว่า คนไข้สามารถรับรู้ความรู้สึกและสามารถรู้จำใบหน้าได้ แต่ไม่ปรากฏความรู้สึกเมื่อรู้จำใบหน้าที่คุ้นเคย รามะจันทรันจึงตั้งสมมุติฐานว่า เหตุของอาการหลงผิดคะกราส์ก็คือการตัดขาดออกจากกันของสมองกลีบขมับ ซึ่งเป็นเขตที่รู้จำใบหน้า และระบบลิมบิก ซึ่งเป็นเขตที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก และถ้าจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว รามะจันทรันเน้นการตัดขาดออกจากกันระหว่างอะมิกดะลา กับรอยนูนสมองกลีบขมับด้านล่าง (inferior temporal gyrus)[5]

ในปี ค.ศ. 2010 วิลเลียม เฮอร์สไตน์ ได้ปรับปรุงทฤษฎีของเขาเพื่อที่จะอธิบายว่า ทำไมผู้มีอาการหลงผิดคะกราส์จึงมีปฏิกิริยาเช่นนั้น คือปฏิเสธบางคนว่าเป็นคนที่คุ้นเคย[27] เฮอร์สไตน์ได้อธิบายทฤษฎีปรับปรุงนี้ว่า[28]

...ทฤษฏีปัจจุบันของผมเกี่ยวกับอาการหลงผิดคะกราส์ มีความเฉพาะเจาะจงกว่ารุ่นที่แล้วที่ผมกล่าวถึงในบทความในปี ค.ศ. 1997 ที่เขียนร่วมกับรามะจันทรัน ตามทฤษฎีปัจจุบัน เรามีแผนที่สำหรับบุคคลที่เรารู้จักดี เป็นแผนที่แบบผสมมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นแผนที่ของรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคล เป็นต้นว่า รูปร่างท่าทางและเสียง อีกส่วนหนึ่งเป็นแผนที่ของลักษณะภายในของบุคคล เป็นต้นว่า บุคคลิก ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ และความชอบใจ อาการหลงผิดคะกราส์เกิดขึ้น เมื่อแผนที่ภายในมีความเสียหาย หรือไม่สามารถจะเข้าถึงได้ นี่ก่อให้เกิดความรู้สึกถึงบุคคลหนึ่งว่า มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ถูกต้อง แต่เหมือนกับเป็นบุคคลอื่นโดยลักษณะภายใน คือเหมือนกับเป็นตัวปลอมนั่นเอง ทฤษฎีนี้ให้คำอธิบายที่เฉพาะเจาะจงกว่า และเข้ากันได้ดีกับสิ่งที่คนไข้พูด เป็นการแก้ปัญหาที่มีอย่างหนึ่งในสมมุติฐานก่อน ซึ่งก็คือ มีคำอธิบายได้หลายอย่าง เกี่ยวกับอาการไร้ความรู้สึกเมื่อเห็นใครคนหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านี้ รามะจันทรันก็ยังเสนอว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาการคะกราส์ กับความยากลำบากโดยทั่ว ๆ ไปในการปะติดปะต่อความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ที่สืบต่อกัน เพราะอารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำ. เนื่องจากว่า คนไข้ไม่สามารถประสานความทรงจำกับอารมณ์ความรู้สึกเข้าด้วยกัน คนไข้จึงเชื่อว่า วัตถุในภาพที่เห็นเป็นวัตถุใหม่ในทุก ๆ ครั้งที่เห็น แม้ว่า วัตถุเหล่านั้นควรที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก (เช่นความรู้สึกว่า เป็นคนสนิท เป็นวัตถุที่คุ้นเคย หรือเป็นวัตถุเกี่ยวกับตน)[29]

นักวิจัยอื่น ๆ เช่นเมอร์ริน และซิลเบอร์ฟาร์บ (ปี ค.ศ. 1976)[13] ได้เสนอความเชื่อมต่อกันระหว่างกลุ่มอาการคะกราส์ กับความบกพร่องของระบบความทรงจำบางส่วน พวกเขาได้เสนอว่า บุคคลที่สำคัญและที่คุ้นเคย (ซึ่งก็คือบุคคลที่เป็นที่ตั้งของความหลงผิดคะกราส์) มีความเกี่ยวข้องกับความทรงจำหลายระดับทางตา หู การกระทบสัมผัส และประสบการณ์อื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับบุคคลเหล่านั้น ดังนั้น กลุ่มอาการคะกราส์สามารถเข้าใจได้ โดยเป็นความเป็นอย่างไม่สัมพันธ์ของวัตถุ (คือของบุคคลเหล่านั้น) ในการรับรู้ในสมองระดับสูง

เป็นไปได้มากว่า ต้องมีความบกพร่องอย่างอื่น นอกจากความเสียหายต่อการตอบสนองอัตโนมัติคือการเร้าความรู้สึก เพราะว่าคนไข้บางพวกมีความเสียหายอย่างนี้ แต่ไม่มีอาการของความหลงผิด[30] เอ็ลลิสและคณะเสนอว่า มีองค์ประกอบที่สอง ที่อธิบายเหตุผลความที่ประสบการณ์ไม่ปกติอย่างนี้ กลับกลายเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยความหลงผิด องค์ประกอบที่สองนี้มีการเสนอว่า เป็นความบกพร่องในการคิดโดยเหตุผล. แม้ว่า ยังไม่มีความบกพร่องที่เฉพาะเจาะจง ที่สามารถอธิบายอาการของความหลงผิดคะกราส์ในทุก ๆ กรณี[31] แต่ก็มีนักวิจัยหลายท่านที่เสนอให้รวมความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัย ในแบบอธิบายของกลุ่มอาการคะกราส์ เพื่อที่จะเข้าใจกลไกที่ยังการสร้างความเชื่อและการดำรงไว้ซึ่งความเชื่อที่ประกอบด้วยความหลงผิดนั้น ให้เป็นไปได้[32][33]

กลุ่มอาการคะกราส์ยังมีความเกี่ยวข้องกับ reduplicative paramnesia[34] ซึ่งเป็นความเชื่อแบบหลงผิดอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกลุ่มอาการทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างสูง จึงมีทฤษฎีที่เสนอว่า เขตสมองเขตเดียวกันมีผลต่ออาการทั้งสอง และดังนั้น อาการทั้งสองจึงมีความเกี่ยวข้องทางประสาทที่เหมือนกัน เนื่องจากมีความเข้าใจว่า สมองกลีบหน้ามีผลต่อ reduplicative paramnesia ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า กลุ่มอาการคะกราส์ก็มีความสัมพันธ์กับสมองกลีบหน้าเช่นกัน[35] และถึงแม้ว่า อาจจะไม่มีความเสียหายโดยตรงต่อสมองกลีบหน้า แต่ว่า แม้แต่การเข้าไปขัดขวางสัญญาณที่เป็นไปในระหว่างสมองเขตอื่น ๆ กับสมองกลีบหน้า ก็ยังสามารถจะให้ผลเป็นกลุ่มอาการคะกราส์เช่นกัน[7]

การรักษา[แก้]

การบำบัดโรคเป็นรายบุคคลอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการรักษาอาการหลงผิดของแต่ละคน ความอดทนบากบั่นของผู้รักษาเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะเห็นใจคนไข้ในขณะบำบัดโรค โดยที่ไม่เข้าไปรับรองระบบความคิดเห็นผิด ๆ ของคนไข้ หรือเข้าไปประจันหน้ากับความหลงผิดนั้นมากเกินไป เทคนิคปรับการรับรู้เช่นการตรวจสอบความจริง (reality testing) และการเปลี่ยนกรอบความจริง (reality reframing) เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการใช้ยารักษาโรคจิตและยารักษาอย่างอื่น ๆ ที่ให้ผลสำเร็จพอสมควร[36]

ดู[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Capgras' delusion patient" – โดยทาง www.youtube.com.
  2. "MediLexicon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-04. สืบค้นเมื่อ 2013-09-09.
  3. ในภาพยนตร์สารคดี "Phantoms in the Brain" ตอน 2 ของ BBC นักวิชาการทั้งชาวอังกฤษและชาวอเมริกันออกเสียงว่า "แค็ปกราส์" โดยไม่ออกเสียง "ส์" ด้านหลัง
  4. 4.0 4.1 Ellis, H. D., & Lewis, M. B. (2001) . Capgras delusion: A window into face recognition. Trends in Cognitive Science, 5 (4), 149-156. http://dx.doi.org/10.1016/S1364-6613 (00) 01620-X
  5. 5.0 5.1 5.2 Ramachandran, V. S. (1998). "Consciousness and body image: Lessons from phantom limbs, Capgras syndrome and pain asymbolia" (PDF). Philosophical Transactions of the Royal Society B: Biological Sciences. 353 (1377): 1851–1859. doi:10.1098/rstb.1998.0337. PMC 1692421.
  6. Förstl, H; Almeida, O.P.; Owen, A.M.; Burns, A.; Howard, R. (November 1991). "Psychiatric, neurological and medical aspects of misidentification syndromes: a review of 260 cases". Psychol Med. 21 (4): 905–10. doi:10.1017/S0033291700029895. PMID 1780403.
  7. 7.0 7.1 Josephs, K. A. (December 2007). "Capgras Syndrome and Its Relationship to Neurodegenerative Disease". Archives of Neurology. 64 (12): 1762–1766. doi:10.1001/archneur.64.12.1762. PMID 18071040.
  8. Bhatia, M.S (1990). "Capgras syndrome in a patient with migraine". British Journal of Psychiatry. 157 (6): 917–918. doi:10.1192/bjp.157.6.917.
  9. Corlett, P.R.; D'Souza, D.C.; Krystal, J.H. (July 2010). "Capgras Syndrome Induced by Ketamine in a Healthy Subject". Biological Psychiatry. 68 (1): e1–e2. doi:10.1016/j.biopsych.2010.02.015.
  10. Giannini AJ, Black HR. The Psychiatric, Psychogenic and Somatopsychic Disorders Handbook. Garden City, NY: Medical Examination. pp. 97–8. ISBN 0-87488-596-5.
  11. Capgras, J.; Reboul-Lachaux, J. (1923). "Illusion des " sosies " dans un délire systématisé chronique". Bulletin de la Société Clinique de Médicine Mentale. 2: 6–16.
  12. "Approche clinique du syndrome de Capgras ou « illusion des sosies » illustrée par un cas" เก็บถาวร 2020-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Gaël Le Vacon, 2006; แปลอย่างคร่าว ๆ คือ "วิธีการรักษากลุ่มอาการคะกราส์ หรือ 'อาการหลอนเห็นตัวปลอม' ดังที่ปรากฏในกรณีหนึ่ง"
  13. 13.0 13.1 Merrin, E. L., & Silberfarb, P. M. (1976) . The Capgras phenomenon. Archives of general psychiatry, 33 (8), 965.
  14. Draaisma D. Echos, doubles, and delusions: capgras syndrome in science and literature. Style 2009b;43:429-41.
  15. Passer, K.M.; Warnock, J.K. (1991). "Pimozide in the treatment of Capgras' syndrome. A case report". Psychosomatics. 32 (4): 446–8. doi:10.1016/S0033-3182(91)72049-5. PMID 1961860.
  16. ความเห็นที่สอง เป็นการไปหาแพทย์ที่เป็นคนละคนกับแพทย์ที่คนไข้ได้ไปหา เพื่อจะหาความเห็นที่สองที่อาจจะแตกต่างกันจากความเห็นแรก
  17. Sinkman, A. (2008) . The syndrome of capgras. Psychiatry, 71 (4), 371-378. Retrieved from http://search.proquest.com/docview/57274935?accountid=10673
  18. Lucchelli F and Spinnler H. The case of lost Wilma: a clinical report of Capgras delusion. Neurological Sciences, 28: 188–195, 2007. http://dx.doi.org/10.1007/s10072-007-0819-8
  19. Young, A. W., Reid, I., Wright, S. I. M. O. N., & Hellawell, D. J. (1993) . Face-processing impairments and the Capgras delusion. The British Journal of Psychiatry, 162 (5), 695-698.
  20. Bauer, R.M. (1984). "Autonomic recognition of names and faces in prosopagnosia: a neuropsychological application of the Guilty Knowledge Test". Neuropsychologia. 22 (4): 457–69. doi:10.1016/0028-3932(84)90040-X. PMID 6483172.
  21. Ellis, H.D.; Young, A.W. (August 1990). "Accounting for delusional misidentifications". The British Journal of Psychiatry. 157 (2): 239–48. doi:10.1192/bjp.157.2.239. PMID 2224375.
  22. Ellis, H.D.; Young, A.W.; Quayle, A.H.; De Pauw, K.W. (1997). "Reduced autonomic responses to faces in Capgras delusion". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 264 (1384): 1085–92. doi:10.1098/rspb.1997.0150.
  23. Young, G. (September 2008). "Capgras delusion: An interactionist model". Consciousness and Cognition. 17 (3): 863–76. doi:10.1016/j.concog.2008.01.006.
  24. Hirstein, W.; Ramachandran, V.S. (1997). "Capgras syndrome: a novel probe for understanding the neural representation of the identity and familiarity of persons". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 264 (1380): 437–444. doi:10.1098/rspb.1997.0062. PMC 1688258. PMID 9107057.
  25. Ramachandran, V.S. (1998). Phantoms in the Brain. Great Britain: Harper Perennial. ISBN 1-85702-895-3.
  26. "VS Ramachandran: 3 clues to understanding your brain". TED. March 2007.
  27. Hirstein, William. "The misidentification syndromes as mindreading disorders." Cognitive Neuropsychiatry, 2010 Jan;15 (1) :233-60 Abstract @ PubMed
  28. Science Satire Serpent web site
  29. Hirstein, William and V.S. Ramachandran. "Capgras syndrome: a novel probe for understanding the neural representation of the identity and familiarity of persons." Proceedings of the Royal Society: Biological Sciences. Vol 264, No 1380/March 22, 1997.
  30. Tranel, D.; Damasio, H.; Damasio, A. (1995). "Double dissociation between overt and covert face recognition". Journal of Cognitive Neuroscience. 7 (4): 425–432. doi:10.1162/jocn.1995.7.4.425.
  31. Davies, M.; Coltheart, M.; Langdon, R.; Breen, N. (2001). "Monothematic delusions: Towards a two-factor account". Philosophy, Psychiatry, and Psychology. 8 (2): 133–158. doi:10.1353/ppp.2001.0007.
  32. Young, G. (2008) . Restating the role of phenomenal experience in the formation and maintenance of the capgras delusion. Phenomenology and the Cognitive Sciences, 7 (2), 177-189. Retrieved from www.scopus.com
  33. Ratcliffe, M. (2008) . The phenomenological role of affect in the Capgras delusion. Continental Philosophy Review, 41 (2), 195-216.
  34. reduplicative paramnesia เป็นความเชื่อแบบหลงผิดว่า สถานที่หรือหรือตำแหน่งสถานที่ได้ถูกก๊อปไปที่อื่น จึงมีอยู่ในสองที่พร้อม ๆ กัน หรือว่าสถานที่หรือตำแหน่งสถานที่นั้น ได้ถูกย้ายให้ไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นกลุ่มอาการระบุผิดเพราะหลงผิด (delusional misidentification syndrome) และถึงแม้ว่า มีน้อย แต่โดยมากเกิดจากความบาดเจ็บเกี่ยวกับสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสียหายที่มีร่วมกันในสมองซีกขวาและสมองกลีบหน้าทั้งสองข้าง
  35. Alexander, M. P., Stuss, D. T., & Benson, D. F. (1979) . Capgras syndrome A reduplicative phenomenon. Neurology, 29 (3), 334-334.
  36. "Capgras (Delusion) Syndrome". PsychNet-UK.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]