อัครบิดร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อัครบิดร[1] (อังกฤษ: patriarch) ชาวออร์ทอดอกซ์ในประเทศไทยเรียกว่า พระอัครบิดร ชาวโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยเรียกว่า อัครปิตา ส่วนชาวโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเรียกว่า พระอัยกา ถือเป็นตำแหน่งมุขนายกชั้นสูงสุดในคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และอื่น ๆ เช่นออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ โรมันคาทอลิก และอัสซีเรียนแห่งตะวันออก

แต่เดิมคัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้เพื่อหมายถึง อับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ผู้เป็นปฐมบรรพบุรุษของวงศ์วานอิสราเอล และเรียกยุคที่ทั้งสามคนนี้มีชีวิตอยู่ว่ายุคอัครบิดร

ประวัติ[แก้]

อัครบิดรคีริลล์แห่งมอสโก อัครบิดรแห่งมอสโกและรัสทั้งปวง องค์ปัจจุบัน

หลังการสังคายนาไนเซียครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 325 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองภายในคริสตจักรออกเป็น 3 เขตอัครบิดร ได้แก่ โรม อะเล็กซานเดรีย และแอนติออก แต่ละเขตมีอัครบิดรเป็นประมุข โดยถือเอาอัครบิดรแห่งกรุงโรมเป็นพระสันตะปาปาหรือประมุขสูงสุดในคริสตจักรสากล ต่อมามีการประชุมสภาสังคายนาแห่งแคลซีดันกำหนดให้มีเขตอัครบิดรเยรูซาเลมและเขตอัครบิดรคอนสแตนติโนเปิล แยกออกมาจากเขตอัครบิดรแอนติออก ทำให้ได้เขตอัครบิดร 5 เขต และมีอัครบิดร 5 คนในคริสตจักร โดยอัครบิดรแห่งโรมยังคงเป็นประมุขสูงสุดในคริสตจักรสากล (Ecumenical church) และอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นรอง แต่ถือว่าเป็นใหญ่สุดในคริสตจักรตะวันออกซึ่งใช้ภาษากรีก ทำให้ในทางปฏิบัติอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลมีอิทธิพลมากกว่า[2]

ต่อมาเขตอัครบิดรแอนติออกยังถูกแบ่งออกเป็น 3 เขตตามภาษาพิธีกรรม คือ เขตอัครบิดรเมลไคต์ (Melkite) เขตอัครบิดรมาโรไนต์ (Maroniite) และเขตอัครบิดรซีเรียน เขตอัครบิดรกรุงโรมก็แบ่งเป็นอีก 3 เขตพิเศษ คือ เขตอัครบิดรเวนิส เขตอัครบิดรลิสบอน และเขตอัครบิดรกัว[1]

เมื่อคริสตจักรแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือฝ่ายตะวันตกกลายเป็นนิกายโรมันคาทอลิก ส่วนฝ่ายตะวันออกเป็นนิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ เมื่อนิกายออร์ทอดอกซ์แพร่หลายไปยังท้องที่อื่นในภูมิภาคตะวันออก จึงเกิดเขตอัครบิดรต่าง ๆ มากขึ้น เช่น กรีก อาร์มีเนีย รัสเซีย เซอร์เบีย โรมาเนีย เป็นต้น โดยให้เกียรติอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นบุคคลอันดับหนึ่งในบรรดาผู้ที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช่เป็นประมุขสูงสุด

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 375-6
  2. กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 164