อักขรวิธี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อักขรวิธี หมายถึงวิธีการเขียนและการใช้ระบบการเขียนของภาษาหนึ่ง ๆ ให้ถูกต้อง (ภาษาหนึ่ง ๆ อาจมีระบบการเขียนมากกว่าหนึ่งแบบก็ได้ เช่นภาษาเคิร์ด) อักขรวิธีเป็นสิ่งที่นิยามหรืออธิบายถึงกลุ่มของสัญลักษณ์ที่ใช้ (คืออักษรหรือเครื่องหมายเสริมอักษรเป็นต้น) และกฎเกณฑ์ที่ว่าจะเรียบเรียงสัญลักษณ์เหล่านั้นอย่างไร กฎเกณฑ์เหล่านั้นอาจมีเรื่องของเครื่องหมายวรรคตอน การสะกดคำ และการขึ้นต้นอักษรตัวใหญ่เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาษา บุคคลทั่วไปมักเข้าใจว่าอักขรวิธีเป็นเรื่องของการสะกดคำเพียงอย่างเดียว ความจริงคือการสะกดคำเป็นส่วนหนึ่งของอักขรวิธีเท่านั้น

ความเพียงพอของอักขรวิธี[แก้]

อักขรวิธีของภาษาจะถูกจัดว่า "เพียงพอ" ถ้าหากมีหน่วยอักขระ (grapheme) กับหน่วยเสียง (phoneme) ที่เท่ากันหนึ่งต่อหนึ่ง อักขรวิธีอาจมีระดับความเพียงพอที่เปลี่ยนแปรไปตามการอ่านและการเขียน ตัวอย่างเช่น อักษรที่ประกอบกันอย่างทวิอักษรและเครื่องหมายเสริมอักษรทำให้เกิดรูปร่างของคำที่สามารถอ่านได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน การใช้อะพอสทรอฟีหรือเครื่องหมายเสริมจำนวนมากก็ทำให้การเขียนทำได้ช้าลง หรือการใช้สัญลักษณ์อื่นที่ไม่มีอยู่บนผังแป้นพิมพ์มาตรฐาน ทำให้การป้อนข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือไม่สะดวก สิ่งเหล่านี้เป็นมูลเหตุพิจารณาในการออกแบบระบบการเขียน

การศึกษาระบบการสะกด[แก้]

อักขรวิธีเชิงหน่วยเสียง[แก้]

อักขรวิธีเชิงหน่วยเสียง (phonemic orthography) เป็นอักขรวิธีที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์เฉพาะตัวหนึ่งตัวใด หรือลำดับของสัญลักษณ์ ต่อหน่วยเสียงแต่ละเสียงที่แตกต่างกัน อักษรพยัญชนะ-สระหลายระบบมักจะมีอักขรวิธีที่ใกล้เคียงชนิดนี้ กล่าวคือสัญลักษณ์บางอย่างอาจให้หน่วยเสียงที่ซ้ำกันบ้าง

อักขรวิธีเชิงหน่วยเสียงแปร[แก้]

อักขรวิธีเชิงหน่วยเสียงแปร (morpho-phonemic orthography) ไม่เพียงแต่จะพิจารณาหน่วยเสียงดังที่กล่าวไว้แล้ว แต่ยังพิจารณารวมไปถึงโครงสร้างของคำด้วย ตัวอย่างเช่น ในภาษาอังกฤษ /s/ และ /z/ เป็นหน่วยเสียงที่ต่างกัน ดังนั้นในอักขรวิธีเชิงหน่วยเสียง พหูพจน์ของ cat และ dog จึงควรจะเป็น cats และ dogz ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอักขรวิธีของภาษาอังกฤษได้ยอมรับว่า /s/ ใน cats กับ /z/ ใน dogs เป็นหน่วยเดียวกัน จึงเป็นอักขรวิธีเชิงหน่วยเสียงแปร ซึ่งจะออกเสียงต่างกันโดยขึ้นอยู่กับคำแวดล้อมโดยอัตโนมัติ และทำให้เกิดกรณีคำที่เขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน ภาษาเยอรมันและภาษารัสเซียก็มีอักขรวิธีเช่นนี้ ในขณะที่ภาษาตุรกีเป็นอักขรวิธีเชิงหน่วยเสียงล้วนๆ