อาโออิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อะโอะอิ)

อาโออิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิAoi) เป็นบทที่ 9 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บทด

ที่มาของชื่อบท อาโออิ[แก้]

อาโออิ (葵) เป็นพืชชนิดหนึ่ง อะโอะอิ ใน ตำนานเก็นจิ นั้น คือ พันธุ์ที่มีชื่อว่า ฟุตะบะอะโอะอิ (双葉葵 Futaba Aoi )หรือ อะโอะอิ 2 ใบ เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลเจ้าคะโมะ แห่งเคียวโตะ เติบโตขึ้นในพื้นป่า ใบคู่เป็นรูปหัวใจ 2 ใบในกิ่งเดียว ในงานเทศกาลคะโมะ หรือ เทศกาลอะโอะอิ นั้น ผู้ร่วมพิธีจะใช้ใบอะโอะอิ ประดับประดาหมวก และ รถเที่ยมวัว

คำว่า อาโออิ(葵) ในสมัยเฮอันอ่านอีกอย่างได้ว่า อะฟุฮิ(afuhi) หมายความว่า วันแห่งการพบเจอ(ของคู่รัก) ซึ่งนี่เป็นการเล่นคำ ใช้ตั้งชื่อ บท ว่า อะโอะอิ เพราะ

  • ในเทศกาลอะโอะอิ คนรักของเก็นจิ ทั้งภรรยา ( ท่านหญิงอะโอะอิ ) กับ อดีตพระชายาโระคุโจ ได้มาเผชิญหน้ากันในวันก่อนงานจริง เป็นพิธีฉลอง ตำแหน่ง ไซอิน ( Saiin)- หญิงพรมจาริณีประจำศาลเจ้าคะโมะ คนใหม่ โดยเก็นจิร่วมนำในขบวนแห่ด้วย
  • เง็นโนะไนชิ ( คนรักชราของเก็นจิ ) พบเห็นเก็นจิกับ มุระซะกิ ( คนรักซึ่งยังเป็นเด็กหญิงของเก็นจิ )ในวันงานจริง และได้ส่งสาส์น

ตัดพ้อให้เก็นจิโดยใช้คำ อะโอะอิ = อะฟุฮิ ในกลอน

「はかなしや人のかざせる ゆゑ   神の許しの今日を待ちける  注連の内には」[1]

"Hakanashi ya hito no kazase ru afuhi yuwe  kami no yurushi no kefu machi keru  Shime no uchi ni ha."[2]

อาโออิพิธีเทพชักพาให้ ดวงหทัยได้พบเจอที่เพ้อหา แต่เหตุใดสวรรค์มิเวทนา แสนบาดตาท่านชิดชื่นหญิงอื่นแทน

  • ยามท่านหญิงอะโอะอิใกล้เสียชีวิต เก็นจิเพิ่งจะเข้าใจถึงความรักที่ทั้งสองมีให้แก่กัน อะโอะอิ หมายถึง หัวใจสองดวงที่เข้าใจกันในที่สุด[3]

เทศกาลอาโออิ[แก้]

เทศกาลอาโออิ (葵祭 Aoi Matsuri) จัดขึ้นทุก 15 พฤกษภาคม ของทุกปี เป็น 1 ใน 3 เทศกาลใหญ่ของเคียวโตะ สามารถนับย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 7 ที่เมืองเคียวโตะจะมีขบวนแห่ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โบราณ พร้อมขบวนรถที่มีพรรณไม้ดอกหลากสีอันสวยหรู พวกเขาจะแห่จากพระราชวังเคียวโตะ สู่ศาลเจ้าชิโมะกะโมะ(下鴨神社, Shimo-gamo-jinja) ไปยังศาลเจ้าคะมิกะโมะ (上賀茂神社, Kami-gamo-jinja) ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่และศักดิสิทธิ์มากแห่งหนึ่ง

ตัวละครหลักในบท[แก้]

  • เก็นจิ  : ตำแหน่งอุไดโช อายุ 22 ถึง 23
  • อดีตจักรพรรดินีฟุจิตสีโบะ  : อายุ 27 ถึง 28
  • คิริสึโบะอิน  : จักรพรรดิผู้สละราชย์ พระราชบิดาของเก็นจิ
  • พระราชชนนี : พระชายาโคกิเด็ง
  • องค์รัชทายาท  : โอรสของฟุจิตสึโบะ ( บุตรชายลับๆของเก็นจิ )อายุ 3 ถึง 4 ปี
  • อดีตพระชายาโระคุโจ ( โระคุโจโนะมิยะสุโดะโคะโระ )  : อายุ 29 ถึง 30
  • ไซกู อะกิโคะโนะมุ ( องค์หญิงผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าใหญ่เมืองอิเสะ ) : บุตรีของอดีตพระชายาโระคุโจ อายุ 13 -14
  • องค์หญิงอะสะงะโอะ
  • อะโอะอิ  : ภรรยาของเก็นจิ อายุ 26
  • ไซอิน( องค์หญิงผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าคะโมะ ) : พระธิดาองค์ที่ 3 ในพระชนนีโคกิเด็ง
  • องค์หญิงโอมิยะ  : มารดาของโทโนะจูโจ และ อะโอะอิ
  • ชิคิบุเคียวโนะมิยะ ( องค์ชายเจ้ากรมราชพิธี ) : บิดาขององค์หญิงอะสะงะโอะ
  • มุระซะกิ : ท่านหญิงน้อยของเก็นจิ อายุ 14 ถึง 15
  • โชนะกอน  : พี่เลี้ยงของมุระซะกิ
  • เง็นโนะไนชิ  : นางกำนัลชรา ตำแหน่ง ไนชิโนะสุเกะ นางหนึ่ง ผู้รักใคร่ชื่นชมเก็นจิ อายุ ต้น 60 ปี
  • สะไดจิน  : เสนาบดีฝ่ายซ้าย พ่อตาของเก็นจิ อายุ 56 ถึง 57
  • โทโนะจูโจ  : เลื่อนยศเป็น ซัมมิโนะจูโจ พลโทขั้น 3 สหายสนิทและพี่ชายภรรยาของเก็นจิ
  • ยูงิริ  : บุตรชายของเก็นจิกับอะโอะอิ แรกเกิดจนถึง 2 ปี
  • จูนะกอน  : นางกำนัลรับใช้สะไดจิน
  • อะเตะกิ  : เด็กหญิงผู้ใช้ของอะโอะอิ
  • โคะเระมิตสึ  : คนสนิท และ พี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ
  • เบ็น  : บุตรสาวของโชนะกอน พี่เลี้ยงของมุระซะกิ
  • โอะโบะโระซึกิโยะ  : ธิดาคนที่ 6 ของอุไดจิน นางในราชสำนักตำแหน่งไนชิโนะคะมิ อีกนัยหนึ่งคือพระสนมของ จักรพรรดิสุซาคุ
  • อุไดจิน  : เสนาบดีฝ่ายขวา ตาของจักรพรรดิสุซาคุ บิดาของพระราชชนนีโคกิเด็ง และ โอะโบะโระซึกิโยะ

เรื่องย่อ[แก้]

แบบลำลอง รถเทียมวัว จอดบนโต๊ะเทียบ ที่พิพิธภัณฑ์ตำนานเก็นจิ ใน อุจิ เคียวโตะ

เทศกาลคะโมะจัดขึ้นในเดือน 4 พระธิดาองค์ที่ 3 ของอดีตจักรพรรดิคิริสึโบะกับพระราชชนนีโคกิเด็ง ขึ้นรับตำแหน่งเป็น ไซอิน ประจำศาลเจ้าคะโมะ เนื่องในโอกาสการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ด้วยมีชาติกำเนิดอันสูงส่ง งานฉลองตำแหน่งของนางจึงยิ่งใหญ่หรูหรากว่าปกติ เก็นจิเป็น 1 ในผู้ร่วมขบวนแห่ด้วย ถนนเต็มไปด้วยผู้คนและพาหนะมากมายแน่นขนัด อดีตพระชายาโระคุโจเองก็มารอร่วมชมงานด้วยโดยปิดบังฐานะไว้ ทว่า บ่าวไพร่ผู้คุมรถเทียมวัวของอะโออิ มาที่หลังแต่กลับเข้าแย่งที่จอดรถเทียมวัวที่พระชายาแห่งโระคุโจนั่งอยู่ ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันจนโต๊ะวางคานรถเทียมวัวของอดีตพระชายาแห่งโระคุโจหัก จนรถไม่สามารถจอดอยู่ได้ อดีตพระชายาถูกทำให้เสื่อมเสียเกียรติ์และอ้บอายขายหน้าจนต้องร่ำไห้

ในวันต่อมา เก็นจิพามุระซะกิขึ้นรถเทียมวัวไปดูเทศกาลด้วยกัน เขาไปหานางที่ห้องในปีกตะวันตก หญิงรับใช้ของนางต่างเตรียมตัวเพื่ออกไปร่วมงานกันเรียบร้อยแล้ว เก็นจิเห็นว่าผมของมุระซะกิยาวเกินไป จึงเรียกซินแสมาดูฤกษ์ยามว่าวันนี้เป็นวันดีเหมาะสำหรับการตัดผมหรือไม่ จากนั้นเขาลงมือตัดแต่งผมให้มุระซะกิด้วยตัวเอง มุระซะกิยืนบนกระดานโกะ เพื่อตรวจสอบความยาวของเรือนผม

ตั้งแต่เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทเรื่องที่จอดรถเทียมวัว อดีตพระชายาโระคุโจก็ไร้ความสงบสุขในจิตใจ เกิดข่าวลือว่า วิญญาณคนเป็นของอดีตพระชายาเอง หรือไม่ก็วิญญาณ บิดาของอดีตพระชายาโระคุโจ สิงสู่รังควานท่านหญิงอะโอะอิ กลายเป็นวิญญาณชั่วร้าย ตัวอดีตพระชายาแห่งโระคุโจเองยังฝันว่า วิญญาณของนางล่องลอยไปหลอกหลอนทรมานท่านหญิงอะโอะอิ นางเชื่อว่าวิญญาณของนางล่องลอยออกจากร่างกลายเป็นวิญญาณคนเป็นเพราะเกลียดชังใครบางคนอย่างถึงขีดสุด ร่างของอดีตพระชายาแห่งโระคุโจบัดนี้ ฉุนไปด้วยกลิ่นเครื่องหอมที่ใช้ในพิธีปัดรังควาน จะอาบน้ำสระผมเช่นไรกลิ่นนั้นก็ไม่ยอมจาง

หลังจากท่านหญิงอะโอะอิคลอดบุตรชายออกมาอย่างปลอดภัย ทุกคนต่างโล่งใจ ทว่า วิญญาณร้ายเข้ามาสิงสู่อะโอะอิจนเสียชีวิตกะทันหัน ผู้คนมากมายต่างมาร่วมพิธีศพที่สุสานโทะริเบะโนะ ในคืนจันทร์เสี้ยวช่วงปลายเดือน 8 เก็นจิกลับไปที่คฤหาสน์ถนนซันโจ ร่ำอาลัยถึงภรรยาที่เพิ่งรู้ใจกันก่อนตายจนจันทร์ตกเมื่อรุ่งสาง

เก็นจิอยู่ไว้ทุกข์ที่คฤหาสน์ซันโจ เขาพร่ำสวดมนต์ ในจิตใจหวนระลึกถึงทุกเหตุการณ์ตลอดวันเวลาที่ทั้งสองมีร่วมกัน เขาคิดถึงมุระซะกิเช่นกัน ทว่าเขาต้องเข้านอนเพียงโดดเดี่ยวและข่มตานอนไม่หลับ รุ่งสางเปี่ยมกระไอหมอกในฤดูใบไม้ร่วง มีสาส์นแสดงความเสียใจที่เขียนบนกระดาษสีเทาหม่นแนบดอกเบจญมาศกึ่งตูมกึ่งบาน เขียนด้วยลายมือของอดึตพระชายาโระคุโจส่งมาถึง เก็นจินั้นผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากการเผชิญหน้ากับวิญญาณคนเป็นของนางระหว่างที่อะโอะอิกำลังจะตาย สาส์นนั้นจึงไม่มีความหมายอันใดสำหรับเขา

หลังเสร็จสิ้นการไว้ทุกข์ 49 วัน เก็นจิออกจากคฤหาสน์ซันโจของสะไดจินพ่อตา กลับไปพำนักที่คฤหาสน์ถนนนิโจของเขาเอง เขาพบว่า มุระซะกิ เติบโตขึ้นจนงดงามเกือบจะเป็นหญิงที่อุดมคติที่สมบรูณ์ของเขาแล้ว เขาสมรสกับมุระซะกิทันทีในต้นฤดูหนาว ไม่มีการจัดพิธีฉลอง มีเพียงการกินขนมโมจิร่วมกันในคืนที่สามของการแต่งงานตามพฤตินัยตามประเพณี ไม่มีงานฉลองยิ่งใหญ่ตามมา แต่เป็นพิธีวิวาห์อันแสนพิเศษที่สงวนไว้เพียงพวกเขาทั้งคู่ โคะเระมิตสึเป็นผู้เตรียมขนมด้วยตัวเอง ส่วนโชนะกอนและเบ็น ผู้เป็นบุตรสาว เป็นคนนำขนมวางไว้บนหมอนของเก็นจิ[4]

อ้างอิง[แก้]