อรอำไพ โกมารกุล ณ นคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อรอำไพ โกมารกุล ณ นคร
บุตรศุภลักข์ โกมารกุล ณ นคร
กุมารี โกมารกุล ณ นคร
ประสูติ6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453
ถึงชีพิตักษัย4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (100 ปี)
คู่สมรสโฉลก โกมารกุล ณ นคร
ราชสกุลเกษมสันต์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
มารดาหม่อมทองสุก เกษมสันต์ ณ อยุธยา
ศาสนาพุทธ

คุณหญิงอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร (เดิม: หม่อมเจ้าอรอำไพ เกษมสันต์; 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 – 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553) เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ กับหม่อมทองสุก เกษมสันต์ ณ อยุธยา

พระประวัติ[แก้]

อรอำไพ โกมารกุล ณ นคร มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าอรอำไพ เกษมสันต์ ประสูติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2453) เป็นพระธิดาลำดับที่ 54 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ลำดับที่ 5 ที่ประสูติในหม่อมทองสุก เกษมสันต์ ณ อยุธยา (พ.ศ. 2416 - พ.ศ. 2487) มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินี 4 องค์ คือ [1]

เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ติดตามหม่อมทองสุก ซึ่งถวายงานเป็นนางต้นเครื่อง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประทับที่พระราชวังพญาไท และในเวลานั้นเอง ท่านหญิงอรอำไพยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ ให้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาอีกด้วย ต่อมา ท่านหญิงอรอำไพได้ตามเสด็จหม่อมเจ้าหญิงจันทรจำรัส ซึ่งเข้าไปถวายงานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไปประทับที่วังสระปทุม และเมื่อหม่อมเจ้าหญิงจันทรจำรัสได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาฯ ให้ไปเรียนการพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านหญิงอรอำไพก็ได้ไปเรียนด้วยเช่นกัน โดยได้ทรงเข้าเรียนกับแหม่มโคล ซึ่งขณะนั้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนวังหลัง โดยโรงเรียนฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณวังหลัง อันเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่ท่านหญิงอรอำไพจะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นจึงได้ตามเสด็จหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ พระเชษฐาไปศึกษาหลักสูตรระยะสั้นต่อที่ประเทศอังกฤษ และนอกจากท่านหญิงอรอำไพ จะเป็นนักเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยรุ่นแรกแล้ว ยังทรงเป็นประธานชมรมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัยองค์แรก ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคมอีกด้วย

การทรงงาน[แก้]

ด้านการทำงาน หม่อมเจ้าอรอำไพเป็นครูมาโดยตลอด โดยเริ่มสอนวิชาภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ก่อนที่จะกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485[2] เพื่อสมรสกับโฉลก โกมารกุล ณ นคร และติดตามสามี ซึ่งไปดำรงตำแหน่งทูตการคลัง ประจำที่ประเทศอังกฤษ ครั้นกลับประเทศไทย อรอำไพได้รับเชิญจากอาจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาอังกฤษในช่วงที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไม่นาน ก่อนที่จะย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสอนวิชาภาษาอังกฤษ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย จนชันษา 80 ปี โดยในระหว่างนั้น ได้รับสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปถวายพระอักษรหลักภาษาอังกฤษแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในการเจริญชันษาครบ 100 ท่านหญิงอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร ณ ห้องประชุมชั้น 7 โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสังข์ และเสด็จพระราชดำเนินไปในงานเลี้ยงฉลองร้อยมงคลเป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อรอำไพยังมีเจ้าพี่ร่วมพระบิดาที่มีชันษาเกินร้อย คือไตรทิพย์สุดา วิเศษกุล (เดิม: หม่อมเจ้าไตรทิพย์สุดา เกษมสันต์) ซึ่งสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 ด้วยชันษากว่า 104 ปี

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

ท่านหญิงอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ด้วยโรคหลอดโลหิตหทัยตีบ สิริชันษา 100 ปี การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ณ ศาลาสุวรรณวณิชกิจ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ต่อมาอรอำไพ โกมารกุล ณ นคร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เลื่อนชั้นเกียรติยศประกอบศพจากหีบทองทึบ เป็นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถ ฉัตรเบ็ญจาตั้งประดับ ณ ศาลาภาณุรังษี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์พระราชทานเพลิงศพ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สถานที่อันเนื่องจากนาม[แก้]

  • ห้องสมุดอรอำไพ
  • วิชชาคารอรอำไพ
  • นุสรณ์ โฉลก-อรอำไพ โกมารกุล ณ นคร

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
  2. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  3. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 (ว.ป.ร.4)