อนุพยัญชนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อนุพยัญชนะ คือลักษณะน้อยๆ หรือลักษณะอันเป็นข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ หรือ มหาปุริสลักขณะ นิยมเรียกกันว่า "อสีตยานุพยัญชนะ" หรือ อนุพยัญชนะ"

องค์ประกอบ[แก้]

อนุพยัญชนะมีทั้งหมด 80 ประการด้วยกัน ดังนี้ คือ

  1. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
  2. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
  3. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
  4. พระนขาทั้ง 20 มีสีอันแดง
  5. พระนขาทั้ง 20 นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
  6. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย
  7. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
  8. พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากัน มาตรว่าเท่าเมล็ดงา
  9. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
  10. พระดำเนินงามดุจสีหราช
  11. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
  12. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
  13. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
  14. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
  15. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
  16. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
  17. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
  18. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ
  19. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
  20. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
  21. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้
  22. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย
  23. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
  24. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
  25. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
  26. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
  27. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
  28. มีพระนาสิกอันสูง
  29. สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม
  30. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
  31. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
  32. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
  33. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
  34. พระอินทรีย์ทั้ง 5 มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
  35. พระเขี้ยวทั้ง 4 กลมบริบูรณ์
  36. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
  37. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
  38. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
  39. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
  40. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
  41. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
  42. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
  43. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
  44. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
  45. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง 5 มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
  46. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
  47. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
  48. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม
  49. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
  50. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
  51. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
  52. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
  53. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
  54. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
  55. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม
  56. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
  57. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
  58. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
  59. พระโขนงนั้นใหญ่
  60. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
  61. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
  62. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
  63. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
  64. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
  65. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
  66. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
  67. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
  68. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
  69. ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
  70. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
  71. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล
  72. พระเกสาดำเป็นแสง
  73. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
  74. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
  75. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
  76. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
  77. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
  78. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
  79. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น
  80. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ [1]

อนุพยัญชนะในคัมภีร์สันสกฤต[แก้]

ทั้งนี้ ในคัมภีร์ลลิตวิสตระ ซึ่งเป็นพระพุทธประวัติภาษาสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาส ได้บรรยายถึงอนุพยัญชนะในภาษาสันสกฤตไว้อย่างละเอียด ดังนี้

  1. ตุงฺคนขะ เล็บนูน
  2. ตามฺรนขะ เล็บแดง
  3. สนิคฺธนขะ เล็บอ่อนเป็นเงางาม
  4. วฺฤตฺตางฺคุลิ นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทกลม
  5. อนุปูรฺวจิตฺรางฺคุลิ นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทงามเรียว
  6. คูฒศิระ พระเศียรราบเรียบ
  7. คูฒคุลฺผะ พระโคปกะ (ตาตุ่ม) ราบเรียบ
  8. ฆนสนฺธิ ข้อต่อมั่นคงแข็งแรง
  9. อวิษมปาทะ ฝ่าพระบาทเสมอกัน
  10. อายตปารฺษฺณิศะ ส้นพระบาทยาว
  11. สนิคฺธปาณิเลขะ ลายพระหัตถ์ละเอียดงาม
  12. ตุลยปาณิเลขะ ลายพระหัตถ์เหมือนกัน (ทั้งสองข้าง)
  13. คัมภีรปาณิเลขะ ลายพระหัตถ์ลึก
  14. อชิหฺมปณิเลขะ ลายพระหัตถ์ไม่หักคด
  15. อนุปูรฺวปาณิเลขะ ลายพระหัตถ์เรียวตามลำดับ
  16. พิมฺโพษฺฐะ ริมพระโอษฐ์แดงดั่งผลตำลึงสุก
  17. โนจฺจาวจศพฺทะ พระสุรเสียงไม่ดัง
  18. มฺฤทุตรุณตามฺรชิหวะ พระชิวหาอ่อนและแดงสด
  19. คชครชิตาภิสฺตนิตเมฆสวฺรมธุรมญฺชุโฆษะ มีพระสุรเสียง ก้องเหมือนช้างร้อง และเมฆกระหึ่ม แต่หวานและอ่อนโยนไพเราะ
  20. ปริปูรฺณวฺยญชนะ ตรัสได้ชัดเจนถูกต้องเต็มตามพยัญชนะ
  21. ปฺรลมฺพพาหุ พระพาหา (แขน) ยาว
  22. ศุจิคาตฺรวสฺตุสํปนฺนะ สมบูรณ์ด้วยพระวรกายวัสดุอันสะอาดบริสุทธิ์
  23. มฺฤทุคาตฺระ พระวรกายนิ่ม
  24. วิศาลคาตฺระ พระวรกายกว้าง
  25. อทีนคาตฺร พระวรกายไม่ซูบซีดแลดูเป็นสง่าบ่งว่าเป็นผู้มีบุญ
  26. อนุปูรโวนฺนตคาตฺร พระวรกายสูงเรียวขึ้นเป็นลำดับ
  27. สุสมาหิตคาตฺระ พระวรกายตั้งขึ้นมั่นคงเป็นอย่างดี
  28. สุวิภกฺตคาตฺระ พระวรกายได้ส่วนสัดดี
  29. ปฺฤถุวิปุลสุปริปูรฺณชานุมณฺฑละ พระชานุมณฑล (ตัก) หนา กว้าง เต็ม เป็นอันดี
  30. วฺฤตฺตคาตฺระ พระวรกายกลม
  31. สุปริมฺฤษฺฏคาตฺระ พระวรกายเกลี้ยงเกลาดี
  32. อชิหฺมวฺฤษภคาตฺระ พระวรกายเหมือนโคเพศผู้
  33. อนุปูรฺวคาตฺระ พระวรกายเรียวไปเป็นลำดับ
  34. คมฺภีรนาภิ พระนาภีลึก
  35. อชิหฺมนาภิ พระนาภีไม่บิดเบี้ยว
  36. อนุปูรฺวนาภิ พระนาภีมีกลีบเป็นชั้น ๆ ลึกลงไปโดยลำดับ
  37. ศุจฺยาจาระ พระจริยาวัตรเป็นระเบียบและพระมารยาทงดงาม
  38. ฤษภวตฺสมนฺตปฺราสาทิกะ พระจริยาวัตรงามเหมือนโคเพศผู้
  39. ปรมสุวิศุทฺธวิติมิราโลกสมนฺตปฺรภะ พระวรกายบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนดวงอาทิตย์ฉายแสงในที่มืด
  40. นาควิลมฺพิตคติ ทรงพระดำเนินแช่มช้อยเหมือนช้างเดิน
  41. สึหวิกฺรานฺตคติ ทรงย่างกรายองอาจเหมือนสิงห์
  42. ฤษภวิกฺรานฺตคติ ทรงย่างกรายองอาจเหมือนโคเพศผู้
  43. หํสวิกฺรานฺตคติ ทรงย่างกรายละมุนละม่อมเหมือนหงส์ย่างก้าว
  44. อภิปฺรทกฺษิณาวรฺต คติทรงพระดำเนินมีมรรยาทแสดงท่าเคารพอย่างดียิ่ง
  45. วฺฤตฺตกุกฺษิ พระอุทร (ท้อง) กลม
  46. มฺฤษฺฏกุกฺษิ พระอุทรเกลี้ยงเกลา
  47. อชิหฺมกุกฺษิ พระอุทรไม่คดค้อม
  48. จาโปทระ พระอุทรนูนโค้งเหมือนคันธนู
  49. วฺยปคตฉนฺทโทษะนีลกาลกาทุษฺฏศรีระ พระวรกายปราศ จากเครื่อง ทำให้รัก และเครื่องทำให้ชัง(คือปราศจากเครื่องประทินโฉมเสริมสวยและสิ่งเปรอะเปื้อน)และปราศจากเครื่องประทุษร้ายผิว คือ ปานและไฝ
  50. วฺฤตฺตทํษฺฏระ พระทาฐะ (เขี้ยว) ซี่กลม
  51. ตีกฺษณทํษฺฏฺระ พระทาฐะคม
  52. อนุปูรฺวทํษฺฏระ พระทาฐะเรียวเป็นลำดับ
  53. ตุงคนาสะ พระนาสิก (จมูก) โด่ง
  54. ศุจินยนะ พระเนตรแจ่มใสสะอาด
  55. วิมลนยนะ พระเนตรไม่ขุ่นมัว
  56. ปฺรหสิตนยนะ พระเนตรยิ้มแย้มร่าเริง
  57. อายตนยนะ พระเนตรยาว
  58. วิศาลยนะ พระเนตรกว้าง
  59. นีลกุวลยทลสทฺฤศนยนะ พระเนตรเหมือนกลีบบัวเขียว
  60. สหิตภฺรู พระขนง (คิ้ว) ดก
  61. จิตฺรภฺรู พระขนงงาม
  62. อสิตภฺรู พระขนงดำ
  63. สํคตภฺรู พระขนงต่อกัน
  64. อนุปูรวภฺรู พระขนงเรียวเป็นลำดับ
  65. ปีนคณฺฑะ พระกโปล (แก้ม) เต็ม
  66. อวิษมคณฺฑะ พระกโปลเท่ากันทั้งสองข้าง
  67. วฺยปคตคณฺฑโทษะ พระกโปลปราศจากโทษ (คือไม่เป็นริ้ว รอยสิวฝ้า)
  68. อนุปหตกฺรุษฺฏะ ไม่แสดงพระพักตร์เหี้ยมเกรียม
  69. สุวิทิเตนฺทฺริยะ ประสาทอินทรีย์รับรู้ไว
  70. สุปริปูรฺเณนฺทฺริยะ อินทรีย์ครบบริบูรณ์ (คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือผิวหนัง ใจ บริบูรณ์ดี)
  71. สํคตมุขลลาฏะ พระนลาฏ (หน้าผาก) รับกับพระพักตร์
  72. ปริปูรฺโณตฺตมางฺค พระเศียรอูมเต็ม
  73. อสิตเกศะ พระเกศาดำ
  74. สหิตเกศะ พระเกศาดก (สุสํคตเกศะ มีพระเกศารวมกันเป็นเกลียว)
  75. สุรภิเกศะ พระเกศาหอม
  76. อปรุษเกศะ พระเกศาไม่หยาบ
  77. อนากุลเกศะ พระเกศาไม่ยุ่ง
  78. อนุปูรฺวเกศ พระเกศาเรียงเส้นเป็นลำดับ
  79. สุกุญฺจิตเกศะ พระเกศางอหงิกเป็นอันดี
  80. ศฺรีวตฺส สฺวสฺติก นนฺทฺยาวรฺต วรฺธมานสํสฺถานเกศะ พระเกศา เจริญงามขมวดเวียนขวาเหมือนรูปสวัสติกะซึ่งเป็นศรีวัตสะ (เครื่องหมายกากบาทปลายหักมุมเวียนขวา) [2]

บทวิเคราะห์[แก้]

ทั้งนี้ มีผู้การวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับ มหาปุริสลักขณะ และอนุพยัญชนะในแง่มุมต่างๆ ว่า เป็นบุคลาทิษฐานอันสะท้อนถึงพระจิรยาวัตร และพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือ พุทธทาสภิกขุ เขียนไว้ในหนังสือ “พุทธจริยา” เนื้อหากล่าวถึงพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าถือเอาตามตัวหนังสือนั้นแล้วจะผิดมากจนดูเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างประหลาดที่สุดก็ได้ แต่หากเมื่อมองให้ละเอียดจะพบว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงพระมารยาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งทางวาจา การพูดจา การกระทำนี้ก็ล้วนแต้ละเอียดประณีต เป็นลักษณะทางกายทางวาจา ลักษณะทางกายในประเภทนี้เราก็จะเห็นได้ว่ามันรวมอยู่ในคำว่า ศีล มีศีล คือการประพฤติทางกาย ทางวาจาถูกต้องบริสุทธิ์สะอาด น่ารัก เลื่อมใส พระพุทธลักษณะทางกายเป็นอย่างนี้" [3]

ผู้เชี่ยวชาญดังเสนอการตีความอนุพยัญชนะไว่ในทำนองเดียวกันโดยยกตัวอย่าง การมีพระรัศมีรอบพระวรกาย ว่า อาจสะท้อนถึงนัยยะหลายแง่กล่าวคือ

  1. อาจหมายถึงรัศมีแห่งพระบริสุทธิคุณของพระองค์ที่ทรงเป็นผู้ปราศจากมลทินหรือกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
  2. อาจหมายถึง รัศมีแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่แผ่กระจายสู่สรรพสัตว์ในทิศทั้งปวงอย่างไร้ขอบเขตจำกัดในเรื่องชนชั้น วรรณะ ผิวพรรณ หรือเพศ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาจิตที่เป็นสากล
  3. อาจหมายถึงรัศมีแห่งปัญญาของพระองค์ที่แผ่กระจายสู่ทิศทั้งปวงเพื่อกำจัดความมืดแห่งอวิชชาที่ครอบงำสรรพสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอันไร้เบื้องต้นและเบื้องปลายนี้
  4. อาจหมายถึงรัศมีแห่งธรรมที่แผ่กระจายไปสู่ทุกทิศและกว้างไกลไร้พรมแดน เพื่อให้แสงสว่างชี้ทางพ้นจากความทุกข์แก่สรรพสัตว์การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่แห่งใด รัศมีแห่งพระบริสุทธิคุณ รัศมีแห่งพระมหากรุณาธิคุณ รัศมีแห่งพระปัญญาธิคุณและรัศมีแห่งพระธรรม ก็แผ่กระจายไปถึงที่นั้นและยังแสงสว่างแห่งปัญญาและประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์สมกับเป็นภควา คือผู้เสด็จไปดีแล้วหรือผู้เสด็จไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). หน้า 486 - 488
  2. แสง มนวิทูร. (2512). หน้า 600 – 602
  3. พุทธทาสภิกขุ. (2517)
  4. ฟองสมุทร วิชามูล. (2550)

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550) .พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร : คณะผู้ษรัทธาร่วมกันจัดพิมพ์เป็นธรรมทาน
  • แสง มนวิทูร. (2512). ลลิตวิสตระ คัมภีร์พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน. พระนคร : กรมศิลปากร.
  • ฟองสมุทร วิชามูล. (2550). ศึกษามหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้า." วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พุทธทาสภิกขุ. (2517). "พุทธจริยา." กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์.