อนุญาโตตุลาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งลอนดอน

อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด

ประวัติ[แก้]

กฎหมายตราสามดวง

การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเริ่มมีขึ้นมายาวนานตามวิวัฒนาการของกฎหมาย ดังหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดยในกฎหมายสิบสองโต๊ะได้บัญญัติให้มีคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในกฎหมายอังกฤษ

ความจำเป็นในการที่ต้องมีการควบคุมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้เริ่มขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยในประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดวิธีดำเนินงานของอนุญาโตตุลาการไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2240 ต่อมาใน พ.ศ. 2397 ได้มีการรวบรวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ มาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ และเมื่อจำนวนข้อพิพาททางแพ่งมากขึ้นตามพัฒนาการของกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐสภาอังกฤษจึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2432 มีเนื้อหาเป็นการประมวลหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตุลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตุลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล โดยมีการจัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม[1] ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 และมีการจัดตั้ง สถาบันอนุญาโตตุลาการ Thailand Arbitration Center (THAC)[2] ขึ้นตาม พรบ.สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558

ความหมาย[แก้]

อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของกระบวนการระงับข้อพิพาทได้ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (อังกฤษ: conciliator) คือ บุคคลที่สามซึ่งคู่กรณีพิพาทตกลงกันให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความกัน โดยคู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายต่างยินยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตน และแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแทน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีหน้าที่เพียงไกล่เกลี่ยให้มีการประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีอำนาจบังคับหรือตัดสินการใด ๆ ในการเจรจานั้น แต่อาจเสนอแนวทางในการตกลงกันของคู่กรณีพิพาทได้
  2. อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่างๆ มาสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจนสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้งคู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาทได้
  3. ตุลาการ (อังกฤษ: justice) หรือผู้พิพากษา (อังกฤษ: judge) คือ ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติให้ชี้ขาดข้อพิพาทใดๆ ด้วยการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีที่มาสู่ศาลในกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทกันได้ นอกจากนี้ ในกรณีพิพาทซึ่งไม่เป็นกรณีอันต้องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด และคู่ความได้ยื่นฟ้องศาลแล้ว ตุลาการหรือผู้พิพากษาอาจไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลหรืออาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาใช้บังคับก็ได้ ตามแต่เห็นสมควร

การอนุญาโตตุลาการเป็น[แก้]

การอนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" (อังกฤษ: arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกันและจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน

สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI)[แก้]

 สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (Thai Arbitration Institute, Office of the Judiciary) เป็นผู้ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเดิมก่อตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 302/2532 ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ในชื่อของ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ ภายใต้สังกัดของสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมในขณะนั้น และมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท บุคคลทั่วไปจะรู้จักสำนักงานอนุญาโตตุลาการในนาม “สถาบันอนุญาโตตุลาการ” พร้อมกันกับที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับ หลังจากนั้นจึงมีการออกข้อบังคับกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นข้อบังคับฉบับแรกที่ใช้ในการบริหารจัดการคดีของสถาบัน

              เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลใช้บังคับ โดยบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระแยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ภารกิจการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ จึงแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสำนักระงับข้อพิพาทในขณะนั้น มีภารกิจดำเนินการระงับข้อพิพาททางเลือกทั้งการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท และการอนุญาโตตุลาการ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2559 สำนักงานศาลยุติธรรมได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายใน ภารกิจการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ จึงอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

              ประเภทของข้อพิพาทที่อยู่ในการบริหารจัดการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (Thai Arbitration Institute: TAI) มีทั้งข้อพิพาททางพาณิชย์ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญา เช่น สัญญาก่อสร้าง เป็นต้น เป็นจำนวนกว่า 2,500 เรื่อง รวมทุนทรัพย์กว่าล้านล้านบาท ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนาสถาบันอนุญาโตตุลาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบในการบริหารจัดการข้อพิพาทและการบริการต่าง ๆ

               สำหรับการบริหารจัดการข้อพิพาทภายใต้ ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยสถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งมีการปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2560 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566  เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และมีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

                 นอกจากนี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (TAI) ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับมาตรฐานการบริการและระบบการบริหารจัดการคดีให้มีความรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากที่สุด เช่น ระบบอนุญาโตตุลาการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Arbitration) การชำระเงินผ่านระบบ E-Payment เป็นต้น

สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ให้บริการ อนุญาโตตุลาการ 2 รูปแบบ คือ[แก้]

  1. การอนุญาโตตุลาการนอกศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ
  2. การอนุญาโตตุลาการในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 210 - 222
  3. การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในฐานะผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (Appointing Authority) ภายใต้ข้อบังคับ UNCITRAL Rules หรือข้อบังคับอื่น

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-14. สืบค้นเมื่อ 2018-11-14.
  2. https://tai.coj.go.th/

บรรณานุกรม[แก้]

  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2543). รายงานประจำปี 2542 ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 138-145.
  • คัมภีร์ แก้วเจริญ. (2540). "การปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยหน่วยงานภาครัฐ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • จรัญ ภักดีธนากุล. (2537, มิถุนายน). "การอภิปรายเรื่องบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมของอนุญาโตตุลาการ". บทบัณฑิตย์, (เล่ม 50, ตอน 2).
  • ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2521). คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.
  • พระนิติการณ์ประสม. (2515). คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง . พระนคร : แสงทองการพิมพ์.
  • พิชัยศักดิ์ หรยางกูร. (2540). "การอนุญาโตตุลาการ : ความรู้เบื้องต้นในทางทฤษฎี". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • วิชัย อริยะนันทกะ. (2540). "การระงับข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาการค้าขายระหว่างประเทศ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • วุฒิพงษ์ เวชยานนท์. (2540). "จริยธรรมของอนุญาโตตุลาการ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • เสาวนีย์ อัศวโรจน์. (2540). "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • Eric Lee. (1986). Dictionary of Arbitation Law & Practice. London : Mansfield Law Publishers.
  • Enid A. Marshall. (1983). Gill : the Law of Arbitration. London : Sweet & Maxwell.
  • J.G. Merrills. (1984). International Dispute Settlemwent. London : Sweet & Maxwell.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]