อทิตยา ศิริภิญญานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อทิตยา ศิริภิญญานนท์

รองศาสตราจารย์ อทิตยา ศิริภิญญานนท์ เกิดวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2516 ที่ กรุงเทพมหานคร เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี ประจำปี พ.ศ. 2550 [1] ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิจัยทางเคมีวิเคราะห์และอนินทรีย์ประยุกต์ อทิตยา ศิริภิญญานนท์ เป็นบุตรสาวคนเดียวของนายชวลิต และนางปิยรัตน์ ศิริภิญญานนท์ เนื่องจากบิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากมารดา รวมทั้งจาก พิศมัย และ พิศศรี ศิริภิญญานนท์ ผู้เป็นคุณป้า

ประวัติ[แก้]

อทิตยา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 จากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ จากนั้นสอบเทียบเข้าศึกษาต่อที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2537 และระดับปริญญาโท สาขาวิชาเคมีวิเคราะห์และอนินทรีย์ประยุกต์ ในปี พ.ศ. 2539 โดยได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผ่านโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบันฯ ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ Direct electrothermal atomic absorption spectrometric determination of cadmium in solid samples by slurry introduction โดยมี ศ.ดร. ยุวดี เชี่ยววัฒนา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ต่อมาได้ลาราชการไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2540 ด้วยทุนการศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปัจจุบัน) ทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ Flow field-flow fractionation - inductively coupled plasma mass spectrometry โดยมี Professor Ramon M. Barnes เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2545

การทำงาน[แก้]

งานวิจัย[แก้]

ผศ.ดร.อทิตยา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์แยกขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตรและไมโครเมตร โดยอาศัยเทคนิคการแยกแบบไหลภายใต้สนาม (Field-Flow Fractionation) การประยุกต์ใช้เทคนิคการแยกแบบไหลภายใต้สนามร่วมกับเทคนิคทางสเปกโทรสโคปี (Inductively Coupled Plasma Spectroscopy) และการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ในการวิเคราะห์ปริมาณและรูปฟอร์มของธาตุ เพื่ใช้ในการประเมินความเป็นพิษหรือการนำไปใช้ได้ของธาตุในตัวอย่างที่มีความสำคัญทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม มีผลงานตีพิมพ์หลังปริญญาเอก จำนวน 9 เรื่อง โดยเป็นผู้นิพนธ์หลัก (Corresponding Author) จำนวน 6 เรื่อง

เกียรติคุณและรางวัล[แก้]

  • ได้รับรางวัลผลการศึกษายอดเยี่ยมชั้นวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคมีวิเคราะห์และอนินทรีย์ประยุกต์ จากมูลนิธิ ศ.ดร. แถบ นีละนิธิ
  • ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2550
  • ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็น JAAS International Advisory Board วารสารระดับนานาชาติ Journal of Analytical Atomic Spectrometry ของสมาคม Royal Society of Chemistry ประเทศสหราชอาณาจักร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-30. สืบค้นเมื่อ 2007-08-04.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๖๙, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๗ ข หน้า ๒๐๙, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐